รัฐศาสตร์เชิงพุทธในยุคพุทธกาล

วันที่ 19 มิย. พ.ศ.2567

670619_b27.jpg

บทที่ ๑
รัฐศาสตร์เชิงพุทธในยุคพุทธกาล

กูฏทันตสูตร
 

          กูฎทันตสูตร เป็นพระสูตรเชิงรัฐศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการสนทนาธรรมระหว่าง พระผู้มีพระภาคกับกูฏทันตพราหมณ์ โดยกูฏทันตพราหมณ์เข้าไปเฝ้าเพื่อทูลขอคำอธิบายจากพระผู้มีพระภาค โดยที่พระองค์ ได้ทรงอธิบายด้วยการยกตัวอย่างรูปแบบการบริหารบ้านเมืองของอดีตมหาราชองค์หนึ่งคือ

 

พระเจ้ามหาวิชิตราช

ซึ่งประสบความสำเร็จในการปกครองบ้านเมืองจนพสกนิกรมีความร่มเย็นเป็นสุข

 

เนื้อหาหลักของการปฏิรูปบ้านเมืองที่ปรากฏในพระสูตรนี้คือ

          พราหมณ์ปุโรหิตได้ให้คำแนะนำแก่พระเจ้ามหาวิชิตราชให้ทรง แบ่งกลุ่มบุคคลระดับยุทธศาสตร์สำคัญ

เป็น ๒ ระดับ ที่เป็นเป้าหมายในการบริหารประเทศ คือ

๓ กลุ่มระดับล่าง และ ๔ กลุ่มระดับบน

 

กลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์สำคัญระดับล่าง

           คือ การมุ่งเป้าปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเป็นการปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนและเพื่อขจัดความยากจนของแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าแรกไปที่ประชากร ๓ กลุ่ม ระดับล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน คือ


๑. กลุ่มเกษตรกร

           ได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา ผู้ทำการเกษตรและกสิกรรม

 

๒. กลุ่มพ่อค้าย่อย
 

           ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายในระดับล่าง กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้รับจ้างในวงราชการ น่าสังเกตว่า กลุ่มระดับล่างซึ่งเป็นฐานหลักแห่งการปกครองของแผ่นดิน แม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้วนานกว่าสองพันปี แต่ก็ยังเป็นกลุ่มใหญ่ของแผ่นดินในปัจจุบัน

           เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็อาจจะรวมอยู่ในกลุ่มที่ ๑ ของระดับล่างคือกลุ่มเกษตรกรหรือถือว่าเป็น

 

กลุ่มที่ ๓ ของระดับล่าง คือบรรดาผู้รับจ้างชั้นผู้น้อยที่มิใช่ข้าราชการ

          ซึ่งในยุคโบราณยังมีไม่มาก แต่ปัจจุบันมีภาคเอกชนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมาก แต่เมื่อเทียบเคียงแล้วก็ยังนับอยู่ในกลุ่มระดับล่างนี้ด้วย

 

กลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ระดับบน

      คือ การแสวงหาการมีส่วนร่วมของกลุ่มอิทธิพล ๔ กลุ่มใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งในยุคนั้นได้กล่าวถึงบรรดาเจ้าผู้ครองเมืองต่าง ๆ

ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราชบรรดาอำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่ พวกพราหมณ์มหาศาล และพวกคหบดีมหาศาล

ในพระสูตรใช้คำว่า อนุมัติ ๔ กล่าวคือพระองค์มีรับสั่งถึงบุคคลสำคัญในพระราชอาณาเขต ๔ กลุ่ม

ในระดับบนดังกล่าวที่จะต้องให้ความเห็นชอบในการปฏิรูปเศรษฐกิจถ้าจะประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับบ้านเมืองปัจจุบัน น่าจะได้แก่กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง ๔ กลุ่มในระดับบน คือ


๑. กลุ่มนักการเมือง (ในอดีตคือเจ้าเมืองประเทศราช) ปัจจุบันได้แก่ กลุ่มนักการเมืองระดับชาติที่เป็นตัวแทนประชาชนในแต่ละท้องถิ่น
สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองในทุกระดับซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจปัญหาสำคัญและอนาคตของบ้านเมืองซึ่งบางคนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีช่วย เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ประธานสภา กรรมาธิการ
และผู้มีตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมือง

 

๒. กลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ในอดีตคือ อำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่) ซึ่งหมายถึงบรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนในระดับสูง
ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่า เสนาธิการ ผู้ว่าการ ผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ซึ่งถือว่า
เป็นกลุ่มผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ

 

๓.กลุ่มผู้นำทางความคิด นักวิชาการใหญ่ สื่อมวลชนใหญ่ (ในอดีตคือกลุ่มพราหมณ์มหาศาล) ปัจจุบันกลายเป็นสถาบันทางความคิดที่มีบทบาทถ่วงดุลอำนาจรัฐ ชี้นำประชาชน ได้แก่ กลุ่มนักวิชาการนักคิดในสังคม ปัจจุบันมีศัพท์ใหม่เรียกว่า NGO (Non Government Organization) หรือองค์กรที่มิใช่รัฐบาลตามแนวคิดโลกตะวันตก และที่สำคัญที่สุดในกลุ่มนี้คือ สื่อมวลชน นักหนังสือพิมพ์ นักสื่อสารโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งเป็นกระจกส่องให้รัฐบาล คอยชี้แนะ สนับสนุนวิเคราะห์ และวิจารณ์

 

๔. กลุ่มพ่อค้าคหบดีใหญ่ (ในอดีตคือคหบดีมหาศาล) ซึ่งทุกยุคทุกสมัยจะมีพ่อค้าที่ทรงอิทธิพล เพราะมีทรัพย์มหาศาล มีอำนาจมีบริวาร กลายเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดินที่จะมองข้ามไปมิได้ จะต้องให้ได้รับความร่วมมือด้วย

 

ข้อสังเกต

            พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายทาง ยุทธศาสตร์ระดับล่างเป็นกลุ่มสำคัญที่สุด ที่จะต้องมุ่งช่วยเหลือเป็นอันดับแรกสุด

            เพราะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ระดับบนเป็นกลุ่มมีความเป็นอยู่ดี มีความมั่งคั่งอยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนในเรื่องการหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีความเป็นอยู่สุขสบาย ยิ่งไปกว่านั้นผลแห่งการสร้างมหากุศลเพื่อบุคคลระดับล่าง ยังจะสามารถทำให้เกิดความประทับใจและทำให้กลุ่มระดับบนเห็นพ้องด้วย ถึงกับทนนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องนำข้าวของทรัพย์สมบัติส่วนของตนจำนวนมากมาถวาย เพื่อร่วมในพิธีบูชามหายัญแบบใหม่

             ซึ่งถ้าเป็นภาษาปัจจุบันก็คือการกระจายรายได้สู่ระดับรากหญ้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องทั้งหลักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ไปพร้อมกัน

 

            ด้วยยุทธศาสตร์ทางรัฐศาสตร์ในการปกครองประเทศยุคพระเจ้ามหาวิชิตราชจึงถือเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงเจตคติ แนวคิดของการปกครองแบบธรรมรัฐ ที่ปัจจุบันเขียนเป็นทฤษฎีใหม่ของตะวันตกที่เรียกว่า “Good Governance” นั่นคือการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบควบคุมได้และให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 

น่าเสียดายที่นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการยุคใหม่ไม่ได้มีการศึกษาต้นแบบของการบริหารการปกครองในอดีตกาล ซึ่งมีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก

 

           เป็นหลักรัฐศาสตร์เชิงเศรษฐศาสตร์หรือในปัจจุบันเรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ลึกซึ้งแยบยลกว่ามาก เพราะนำเสนอโดยพราหมณ์ปุโรหิตผู้เพียบพร้อมด้วยศีลธรรมและจริยธรรมไม่เพียงแต่ได้มีการแยกกลุ่มยุทธศาสตร์ไว้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนของโครงสร้างรวมในการบริหารปกครองประเทศที่ถูกต้อง (ซึ่งแม้ในโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินในยุคต่อมาก็มิได้แยกแยะให้เห็นชัดเจนเช่นนี้) แต่ก็ยังมีรายละเอียดของกลยุทธ์ในการพัฒนาคน

 

           ซึ่งประกอบด้วยการคัดคน การเลือกคน การอบรม การพัฒนาจิตใจ การกำหนดวิธี การควบคุม ก่อนที่จะดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันมองข้ามไป

 

           นั่นก็คือการมุ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยมิได้มีการปฏิรูปมนุษย์ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดมหันต์ของนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้นำประเทศทุกยุคทุกสมัย

 

หลักรัฐศาสตร์ยุคโบราณ

           พระผู้มีพระภาคทรงเล่าว่า พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชทรัพย์มหาศาล มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลจากนั้นก็ทรงต้องการปฏิรูปประเทศให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคนเพื่อมิให้กลับมาเป็นเสี้ยนหนามเบียดเบียนประชาราษฎร์ต่อไปอีก แต่แทนที่จะทรงใช้อาวุธและกำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามแต่อย่างเดียวตามที่ผู้นำทั้งหลายนิยมกัน

 

พระองค์กลับทรงแก้ที่ต้นเหตุของความทุกข์ยากของประชาชน นั่นคือ ความยากจนของแผ่นดิน

 

          จึงทรงปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่าจะทำอย่างไร พราหมณ์ปุโรหิตได้แนะนำยุทธศาสตร์พิธีบูชามหายัญที่ถูกต้องเพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองและอาณาประชาราษฎร์พราหมณ์ปุโรหิตผู้ทรงภูมิธรรมในยุคนั้นได้วางยุทธศาสตร์การบูชามหายัญอย่างแยบยลถวายพระเจ้ามหาวิชิตราช จนประสบความสําเร็จทำให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย เศรษฐกิจรุ่งเรืองประชากรมีความสุขถ้วนหน้ากันตรงนี้เองคือจุดพลิกผันของแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจในแบบโบราณเพราะตามความเชื่อโบราณยิ่งในยุคที่มีพราหมณ์เป็นใหญ่ การจะให้บ้านเมืองเจริญสุขสวัสดีก็จะต้องมีการทำพิธีบูชายัญครั้งใหญ่ ในพิธีต้องมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมหาศาลและถือว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ต้องทำต่อหน้าประชาชนทั้งเมืองตลอดแว่นแคว้น


พระเจ้ามหาวิชิตราชต้นแบบการปฏิรูปพิธีบูชามหายัญแบบใหม่

 

          เรื่องราวที่เล่าตามพระสูตรนี้เริ่มต้นจากกูฏทันตพราหมณ์ซึ่งเป็นพราหมณ์ผู้มีทรัพย์สินมั่งคั่ง เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านขาณุมัต แคว้นมคธ

ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารได้พระราชทานหมู่บ้านนี้เป็นพรหมไทย (ทรัพย์พระราชทานส่วนพิเศษ) ให้กูฏทันตพราหมณ์ปกครอง มีบริวารมากเป็นที่นับหน้าถือตาในอาณาเขตนั้น เพราะเป็นทั้งพราหมณ์และเป็นผู้ที่มีสมบัติมั่งคั่ง กำลังจะทำพิธีบูชามหายัญตามความเชื่อในยุคนั้นนั่นก็คือ มีการเตรียมวัวเพศผู้ ลูกวัวเพศผู้ ลูกวัวเพศเมียแพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว เพื่อทำพิธีฆ่าบูชายัญแต่บุญของกูฏทันตพราหมณ์ที่เฉลียวทัน

         และเคราะห์ดีจะไม่ต้องทำบาปใหญ่เหมือนคนอื่น เพราะความไม่รู้ว่าคำว่าพิธีบูชามหายัญองค์ประกอบ ๑๖ นั้นที่แท้คืออะไร กลัวว่าจะทำไม่ถูกต้อง จะไม่เป็นสิริมงคลตามตำรา เมื่อถามบริวารก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดแจ้ง

 

          พอดีได้ข่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่สวนอัมพลัฏฐิกาในเขตหมู่บ้านของตนเอง จึงดำริที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคท่ามกลางเสียงคัดค้านอึงคะนึงของพราหมณ์หลายร้อยคนที่มาพักเพื่อรับทานในพิธีบูชามหายัญ

 

           แต่ในที่สุดกูฏทันตพราหมณ์ก็สามารถเอาชนะเสียงคัดค้านได้อย่างงดงาม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันสูงและระบบฐานข้อมูลที่พร้อมมูลมีความรู้เกี่ยวกับพระผู้มีพระภาคอย่างละเอียดถูกต้อง มีการประเมินเปรียบเทียบฐานบารมี บุคลิก ฐานันดร ภูมิธรรม ลักษณะของมหาบุรุษสามารถแจกแจงอธิบายให้กับบรรดาพราหมณ์ผู้คัดค้านจนแจ่มแจ้งและยินยอมตามไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทั้งที่บางคนก็ยังมีทิฐิค้างอยู่ แต่ตัวกูฏทันตพราหมณ์ไปด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม

 

          และนี่เองคือที่มาของกูฏทันตสูตรซึ่งเป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงเล่าเรื่องพระมหาวิชิตราช กับคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตในอดีตขึ้นมา เป็นคำตอบเรื่องการทำพิธีบูชามหายัญที่เต็มไปด้วยหลักธรรม หลักรัฐศาสตร์ หลักเศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์อย่างแยบยลอย่างยิ่ง
 

            ผลที่สุดแห่งการสนทนา ถาม-ตอบนี้ พราหมณ์กฏทันตะได้ประจักษ์ในพระธรรมแล้วประกาศตนเป็นอุบาสก โดยกราบทูลว่า“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า

 

          คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต

 

          ข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้น จงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น กระแสลมอ่อน ๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด"

 

           รายละเอียดและกลยุทธ์ของพราหมณ์ปุโรหิตที่ถวายต่อพระเจ้ามหาวิชิตราช เกี่ยวกับปฏิรูปการบูชามหายัญแบบใหม่ จนเป็นที่ซาบซึ้งสว่างใจแก่กูฏทันตพราหมณ์เป็นอย่างยิ่งจนถึงกับยกเลิกพิธีบูชามหายัญแบบเดิม และกลายเป็นหลักรัฐศาสตร์เชิงพุทธอย่างไรนั้น ขอได้ติดตามในบทต่อไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052995582421621 Mins