บทนำ

วันที่ 18 มิย. พ.ศ.2567

670619_b22.jpg
 

บทนํา


          โลกได้ประจักษ์ว่า หลังจากที่ตรัสรู้สรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการเผยแผ่พระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบเพื่อช่วยชาวโลกให้พ้นจากบ่วงทุกข์ ซึ่งแน่นอนพระองค์จะต้องเอาชนะอุปสรรค ทางด้านการต่อต้านทางความคิด ความไม่เห็นด้วย เริ่มตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด ไปจนถึงบรรดาผู้นำแคว้น กษัตริย์พราหมณ์ ชฎิล ฤาษี นักรบ นักบวช และหนักที่สุดก็คือการถูกปองร้ายจากพระเทวทัตทั้งที่เป็นพระประยูรญาติของพระองค์เองพระองค์ทรงต้องใช้ยุทธศาสตร์ทั้งวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จนในที่สุดก็สามารถครองใจชาวชมพูทวีปทุกระดับ


          ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปีแห่งการจาริกไปทั่วชมพูทวีปเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน อันเป็นสัจธรรมแห่งการดำรงชีวิตให้สงบสุขและมีเป้าหมายชีวิตอันงดงามแด่มวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงสามารถสั่งสอน ตอบคำถาม แสดงธรรมอันลึกซึ้งเอาชนะใจบรรดาผู้นำแคว้นผู้ครองนคร กษัตริย์ มหาราช ไปจนถึงบรรดาพราหมณ์ ฤาษี ครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและบารมีเป็นอย่างยิ่งในแต่ละแคว้นจนเป็นที่เลื่องลือไกล แม้กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทรงอำนาจยิ่งก็ต้องมาขอเข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระพุทธวจนะ เพื่อไขข้อข้องใจ เพื่อปรึกษา และนำไปปฏิบัติ มีทั้งเรื่องเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ นั่นคือ ยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญสูงสุด และต่อมาได้ขยายความเจริญ ไปนอกชมพูทวีป จนถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียและดินแดนตะวันตก

 

          ไม่เพียงแต่ความรู้แจ้งในอริยสัจอันเป็นหัวใจสำคัญของการรู้ต้นเหตุแห่งทุกข์ และหนทางสู่ความพ้นทุกข์ แต่พระปรีชาสามารถ ในเชิงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะกรณีศึกษาที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ได้เสวนากับพระราชาผู้ครองนคร บรรดาอำมาตย์ราชครู ไปจนถึงบุคคลธรรมดา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ครอบคลุมหลักวิชาดังกล่าวอย่างน่าอัศจรรย์ สะท้อนถึงภูมิปัญญาในเชิงผู้นำ รวมถึงวิชา ๑๘ ประการระหว่างเตรียมตัวเป็นกษัตริย์ ที่ทรงได้รับมาในช่วงที่ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อเตรียมตัวขึ้นครองราชย์ซึ่งพระราชบิดาทรงปูทางให้เป็นมหาจักรพรรดิแห่งชมพูทวีป

 

          หนังสือ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ เล่มนี้ ถือเป็นงานค้นคว้าศึกษาที่ใหม่ที่สุดของพระภาวนาวิริยคุณ ต่อจากหนังสือเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ คัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ และ เข้าไปอยู่ในใจ ซึ่งเปรียบเสมือนวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ทำให้ภาพการศึกษาพระพุทธศาสนาในมุมมองจากนักวิชาการภายนอกมีความสมบูรณ์ครบถ้วน เป็นเสมือนหนึ่งดวงประทีปที่มีแรงไฟครบเต็มสมบูรณ์ ที่ทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดในการใช้พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมุ่งผลปฏิรูปมนุษยชาติ ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมือง และสร้างสังคมใหม่ในอุดมคติที่มนุษย์มุ่งใฝ่ฝันหามานับล้านๆ ปี

 

          ไม่น่าเชื่อว่า กุญแจสำคัญในการไขความลับแห่งมนุษยชาติ อันเป็นวิชาจักรวาล จะอยู่ที่การศึกษาพระไตรปิฎกด้วยความสุขุมลุ่มลึกนั่นเอง เมื่อนำศาสตร์ที่ซ่อนไว้อย่างลึกซึ้งมานานกว่าสองพันปีในพระไตรปิฎกมาประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบัน จะพบว่าพระองค์ได้สอนวิชามนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ไว้อย่างลึกซึ้งครบถ้วน ยิ่งกว่านั้นยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกยุคใหม่อย่างไม่มีคำว่าล้าสมัย และสามารถเทียบเคียงได้กับวิชาการสมัยใหม่ ซึ่งปรัชญาเมธีตะวันตกยุคหลังพระพุทธองค์ได้เขียนเป็นตำรับตำราไว้มากมายแล้วกลายเป็นหลักวิชารัฐศาสตร์ (Political Science) ซึ่งเกี่ยวกับการปกครองประเทศ
และวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศที่ร่ำเรียนกันในปัจจุบัน

 


          และไม่น่าเชื่อว่าเมื่อได้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ปรากฏว่าคำสอนของพระพุทธองค์ช่างสั้น กระชับรัดกุม ลุ่มลึกเป็นไปตามลำดับ เมื่อนำมาตีความเข้ากับสังคมปัจจุบัน ก็สามารถอธิบายหลักรัฐศาสตร์ หลักเศรษฐศาสตร์ และหลักสังคมศาสตร์ได้ลึกล้ำกว่าอย่างน่าทึ่ง


           หนังสือ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ นี้ เกิดขึ้นจากผลงานการค้นคว้าพระไตรปิฎกของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จทตตชีโว) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย รองประธานมูลนิธิธรรมกาย ซึ่งบรรดาคณาจารย์ นักวิชาการ ทีมงานสานุศิษย์ได้รวบรวมบันทึกจากการบรรยายธรรม การเสวนา และจากการตอบปัญหาของหลวงพ่อในวาระต่างๆ แล้วเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งชัดแจ้งยิ่งขึ้น

 

          ที่สำคัญคือเป็นหนังสือรัฐศาสตร์เชิงพุทธเล่มแรก ที่แสดงถึงพระปรีชาญาณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงให้หลักรัฐศาสตร์ หลักรัฐประศาสนศาสตร์ ไว้อย่างสุขุมลุ่มลึกน่าอัศจรรย์รวมไปถึงยุทธศาสตร์การปกครอง การบริหารบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักรัฐศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์ยุคใหม่ก็คือ หนังสือ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ เล่มนี้จะจุดประกายให้เกิดการค้นคว้าพระไตรปิฎกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป


          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่นักวิชาการ วงการศึกษาของเราทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กำลังมุ่งศึกษาตามหลักวิชาของโลกตะวันตก ตามวิธีการและแนวความคิดของโลกตะวันตก ซึ่งสุดท้ายก็มาถึงทางตันคือยังไม่สามารถสร้างสังคมที่สันติสุขยั่งยืน สังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สังคมแห่งคนดีสังคมแห่งคุณธรรม เพราะไปหลงเดินตามรอยปรัชญาการปกครอง(Political Philosophy) ในโลกตะวันตก ภูมิปัญญาตะวันตก และยังคงดำเนินติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน


          น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาแห่งตะวันออก ปรัชญาเมธีตะวันออกซึ่งเป็นอู่อารยธรรมแรกๆ ของโลก และมิได้น้อยหน้าชาติตะวันตก
กลับถูกลืมและมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่เรามีนักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่มากมายมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี

 

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดใจละทิ้งมหาสมบัติ บัลลังก์กษัตริย์แล้วตั้งประณิธานออกผนวชเพื่อค้นหาสัจธรรมที่แท้แห่งมนุษยชาติจนกระทั่งตรัสรู้ จากนั้นก็ทรงจาริกเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนอันเป็นสัจธรรมแห่งมนุษยชาติอยู่ตลอดเวลาถึง ๔๕ ปีเต็มกว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นการรวมพระปัญญาบารมีที่สร้างสมไว้เต็มเปี่ยมนับอสงไขยกัป เป็นคลังปัญญาแห่งมนุษยชาติที่ทรงคุณค่า น่าสนใจ น่าค้นคว้า เป็นภูมิปัญญาอันอมตะ สามารถครอบคลุมลึกซึ้งทุกสรรพศาสตร์ และยังคงความทันสมัยและใช้ได้กับเหตุการณ์ปัจจุบันทุกประการ


          ในยุคที่ประเทศไทยกำลังมุ่งปฏิรูปประเทศเพื่อเข้าสู่เมืองไทยยุคใหม่ยุคที่ทัดเทียมและก้าวหน้าไม่แพ้ชาติใดๆ แนวความคิดแบบภูมิปัญญาตะวันออก เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบ “ทักษิโณมิกส์”ที่ต่างชาติกำลังให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการ “คิดใหม่ทำใหม่” ที่นำเสนอโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร และทีมนักคิด นักวิชาการ นักบริหาร และนักปกครองยุคใหม่ ไม่น่าเชื่อว่าจะสอดคล้องกับแนวความคิดการบริหารบ้านเมืองตามแนวพระสูตรเรื่อง “กูฏทันตสูตร” ในพระสูตรนี้ได้ชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างกลุ่มบุคคลระดับบน กับกลุ่มประชาชนระดับล่าง ซึ่งจึงทำให้ผู้นำแต่ละประเทศมักจะมองข้ามและไม่มีการปิดช่องว่างนี้เกิดช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจ ช่องว่างแห่งระดับรายได้ ช่องว่างแห่งการแก้ปัญหา และทำให้การบริหารประเทศวนเวียนอยู่ในความสับสนวุ่นวายไม่เข้าใจที่ไม่รู้จบ
 

          เพราะประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าระบอบการปกครอง บริหารบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ถ้าขาดการปฏิรูปคนให้เป็น “สัมมาทิฏฐิ” ให้มนุษย์มีความเข้าใจที่ตรงกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีค่านิยมแห่งชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และมุ่งเป้าหมายแห่งมนุษยชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เป็นฟันเฟืองหลักของการปฏิรูป สุดท้ายระบบการเมืองและแผนปฏิรูปทุกแผนก็จะถูกทำลายด้วยกิเลสมนุษย์ ด้วย “มิจฉาทิฏฐิ” ที่เป็นนิสัยหรือสันดานที่บางคนมีติดตัวมาข้ามภพข้ามชาติ
 

อันที่จริง ความเห็นอันเป็นมิจฉาทิฏฐินี้สามารถแก้ไขได้ปรับปรุงได้

 ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา


          หนังสือ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ นี้ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสอายุ ๖๓ ปีเต็มของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ โดยที่หลวงพ่อได้มอบหมายให้บรรดาสานุศิษย์พร้อมใจกันรวบรวม เรียบเรียงบันทึกคำเทศน์สอนและคำตอบปัญหาในวาระต่างๆ ของท่านขึ้น เพื่อเป็นธรรมทานและเปิดภูมิปัญญาตะวันออกสู่โลกภายนอกยุคใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งจะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้แตกฉานยิ่งๆ ขึ้นต่อไป


          คณะผู้จัดทำขอกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อในความวิริยอุตสาหะค้นคว้าเรื่องรัฐศาสตร์เชิงพุทธนี้มานานหลายปีและเมตตาอนุญาตให้นำออกพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นธรรมทานในวาระวันคล้ายวันเกิดของพระคุณท่านในปีนี้ด้วย
 

 

 

คณะผู้จัดทำ
๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029071382681529 Mins