สิ่งเล็กน้อยที่ควรระวัง
“อย่าดูถูกไฟแม้เล็กน้อย”
“อย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก”
“อย่าดูถูกกษัตริย์ว่ายังเยาว์”
“อย่าดูถูกพระภิกษุว่ายังหนุ่ม”
สี่ประการนี้ ฟังเผิน ๆ แล้วเป็นเรื่องเล็กทั้งนั้น แต่ว่าเอาจริง ๆ เข้าแล้วเป็นเรื่องใหญ่
ไฟแม้เล็กน้อย เผาเมืองมานักต่อนักเผาป่าข้ามภูเขาหลาย ๆ ลูก ไฟไหม้นับเป็นวัน ๆ กว่าจะดับลงได้
งูพิษแม้ตัวเล็กก็มีพิษ อาตมาเคยพบไข่งูเห่า ตอนสร้างวัดพระธรรมกายใหม่ ๆ ก็เลยทุบทิ้ง พอทุบ เจ้าลูกงูเห่าตัวเล็กยาวไม่ถึงคืบออกมาจากไข่ ทันทีที่เลื้อยคลานออกมาจากไข่ ขู่ฟ่อขึ้นมาทันที เห็นแล้วยังตกใจ ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าอย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก ตัวมันนิดเดียว ออกจากไข่ทันทีไม่มีอยู่ช้าคลานออกมาเลื้อยออกมา แล้วชูหัวขู่ฟ่อ ๆ กัดก็ตาย !
อย่าดูถูกกษัตริย์แม้ยังเยาว์ ลูกกษัตริย์จะมีลักษณะพิเศษถ้าถือกำเนิดมาจากราชวงศ์ที่เคร่งครัดละก็ ท่านมีวิธีสร้างกำลังใจให้ลูกของท่านตั้งแต่แบเบาะ อย่านึกว่าเด็กแบเบาะฝึกไม่ได้ เด็กแบเบาะฝึกได้ มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเป็นเครื่องยืนยัน ชาวญี่ปุ่นเขียนเอาไว้ เป็นวิธีฝึกเด็กของคน ตามหนังสือของเขา เขาตั้งชื่อว่า“รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” พวกเราส่วนมากคิดว่าเมื่อมีลูกรอให้โตสักหน่อย แล้วเราค่อยสอน แต่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้ว่าอย่างนั้นรอจนถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว แสดงว่าเด็กอยู่ในเบาะสอนได้ มีรายงานจากทั่วโลกบอกว่า ไม่ใช่อยู่ในเบาะก็สอนได้ เด็กที่อยู่ในครรภ์ก็สอนได้ หนักข้อเข้าไปอีก กษัตริย์เขามีวิธีฝึกลูกของเขาพอโตขึ้นมา เขาจะมีกำลังใจพิเศษ แม้อายุจะ ๕ ขวบ ๑๐ ขวบอย่าดูถูกว่าก็ยังเยาว์อยู่ อย่าไปคิดอย่างนั้น ความสามารถของท่าน ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้ อย่างรัชกาลที่ ๕ พระปิยมหาราชท่านขึ้นครองราชย์อายุก็ประมาณ ๑๕ ชันษา ขึ้นครองราชย์อยู่ได้ประมาณ ๖-๗ ปี ก็อายุ ๒๐ เศษ ประมาณนั้น ท่านทำในสิ่งที่ใครก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ คือ ท่านเลิกทาส ประเทศไหน ๆ
มีการเลิกทาสประเทศนั้นจะต้องฆ่ากันเป็นเบือ อเมริกาต้องการจะเลิกทาสปุ๊บปั๊บก็สั่งสงครามกลางเมืองจึงเกิดขึ้น ฆ่ากันตายนับไม่ถ้วนประเทศไหน ๆ เลิกทาสก็ฆ่ากันตายแต่กษัตริย์ของเราพระองค์นี้ พระปิยมหาราชหรือรัชกาลที่ ๕ ซึ่งใคร ๆ ก็วิตกว่ายังเยาว์เหลือเกิน แต่ปรากฏว่าพระองค์กลับทำในสิ่งที่ชาวโลกทำได้ยาก คือ การเลิกทาสโดยไม่เสียเลือดเนื้อไม่เสียน้ำตา พระองค์ทำอย่างไร เมื่อพระองค์ทรงพระชนม์พรรษาได้ ๒๒ ประมาณนั้น ก็ปรารภขอให้เลิกทาส ทั้งแผ่นดินไม่มีใครยอมเพราะว่าอ้อยเข้าปากช้าง ใครจะคายอ้อยถ้าเข้าปากช้าง ใครไปดึง ไม่มีปล่อย มันเข้าไปแล้วปากมันใหญ่ เสนาบดี ข้าราชการทั้งหลาย ต่อต้านกันชนิดหัวชนฝา พวกผู้ใหญ่ ๆ มีข้าทาสมาก ร้อยทั้งร้อยต่อต้านไม่ยอม ไม่ยอมให้เลิกทาส แต่พระองค์ก็ทรงทำในสิ่งที่ทำได้ยาก ทำอย่างไรพระองค์ก็บอกว่า ไม่ให้ท่านก็ไม่ว่า แต่ว่ามีข้อแม้ ในฐานะที่พระองค์ท่านได้ชื่อว่าเป็นพ่อของคนทั้งชาติ
ขอให้เห็นหัวอกพ่อเถอะ คือเด็กไทยคนไหน ซึ่งเกิดเมื่อพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์แล้ว อย่าเอาไปเป็นทาสใครเลย ให้เห็นหัวอกของท่าน ซึ่งเป็นพ่อของชาติเมื่อท่านขอมาแล้ว คนทั้งประเทศก็ให้ เสนาบดีทั้งหลายให้พระองค์ท่านเป็นเอกฉันท์อีกเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้มติก็ออกมาเป็นเอกฉันท์มาว่า เด็กตั้งแต่อายุ ๗ ขวบลงไปจนกระทั่งยังแบเบาะอยู่ แล้วที่จะเกิดต่อมาภายหน้าจะไม่เป็นทาส พระองค์รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ซึ่งดูแล้ว เด็ก ๗ ขวบจะเอาไปใช้เป็นทาส จะไปทำงานอะไรได้ มีแต่จะต้องเลี้ยงดูด้วยซ้ำแต่เงื่อนไขมีอยู่ พอเสนาบดีอนุมัติว่า ๗ ขวบลงไปไม่ต้องเป็นทาสเมื่อโตท่านขออีกหน่อย ไม่มาก แล้วพวกทาสซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วท่านขอต่อว่า ค่าตัวน่ะให้ลดลง ใช้เป็นข้าทาสกันมาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้ว ให้ค่าตัวมันลดลงสักที เอาว่าอีก ๑๐ ปีต่อไปข้างหน้าปลดเกษียณหมด
แล้วแทนที่พระองค์ท่านจะพูดถึงทาสหนุ่ม ๆ พระองค์ท่านไม่พูด พูดถึงทาสที่อายุ ๕๐-๖๐ ปี อีก ๑๐ ปีก ๗๐ นะจะเอาอะไรกันหนักหนา ส่วนทาสที่อายุเพิ่ง ๒๐ ปีท่านไม่พูดพอสัก ๑๐ ปีต่อมา ทาสอายุ ๖๐, ๒๐ ก็อาจจะตายก่อนแต่ที่อายุสัก ๒๐ กว่า อายุ ๔๐ เป็นกำลังให้ประเทศชาติได้ดี โดยเฉพาะปลดออกมา ยิ่งพวกที่อายุ ๒๐ กว่า ๓๐ นั้น เป็นกำลังของประเทศชาติได้ดีส่วนเด็กอายุประมาณ ๑๗ ปี กำลังวัยรุ่น เหมาะที่จะนำมาฝึกทหาร ฝึกอะไรก็ฝึกไป ประเทศไทยเลิกทาสด้วยการไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเสียน้ำตา ด้วยฝีมือของกษัตริย์หนุ่ม เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า อย่าดูถูกกษัตริย์แม้ว่ายังเยาว์
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ขณะอายุประมาณ ๑๗-๑๘ ท่านคุมกองทัพออกรบ อายุได้ ๓๐ ก็เป็นมหาราช เมื่อตอนพระองค์อายุ ๑๔, ๑๕ ได้ข่าวว่าพ่อไปรบศึกชนะที่ไหน ประชาชนทั้งเมืองดีอกดีใจมีแต่อเล็กซานเดอร์นั่งร้องไห้อยู่คนเดียวพ่อเข้าไปถามว่าร้องไห้ทำไม? อเล็กซานเดอร์บอกว่า พ่อปราบไปหมดแล้วพอตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์จะไปรบกับใครล่ะ อย่าดูถูกกษัตริย์ว่ายังเยาว์ นิสัย ความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ถูกฝึกต่างจากคนทั่วไป เพราะฉะนั้น สามารถให้คุณให้โทษได้
ต้องระวังอย่าดูถูกภิกษุว่ายังหนุ่ม ทำไม อย่าว่าแต่ภิกษุ ในสมัยพุทธกาล หลักฐานยืนยันว่า แม้สามเณรเพียงอายุ ๗ ขวบ ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ดูถูกไม่ได้ ในสมัยพุทธกาล มีสามเณรที่เป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ ๗ ขวบ มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่ามีสามเณรรูปหนึ่ง อายุ ๗ ขวบ เป็นพระอรหันต์แล้ว พระภิกษุที่บวชเมื่ออายุมากเป็นหลวงปู่ หลวงตา เมื่อเห็นเป็นสามเณรเล็ก ๆ ก็มาลูบหัวไต่ถามด้วยความเอ็นดู “เณร ตอนเย็นหิวบ้างไหม” ก็รัก...ก็ล้อเล่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นเข้า จึงมีรับสั่งว่า ภิกษุ เธออย่าจับงูพิษมีเขี้ยวนะ เธอมาลูบหัวพระอรหันต์แล้วนะ มีโทษยิ่งกว่าเอามือไปจับเขี้ยวงูพิษนะเธอนะ สามเณรที่อายุ ๗ ขวบในสมัยพุทธกาล ได้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระศาสนาจนพระพุทธศาสนารุ่งเรืองสืบต่อมาจนกระทั่งถึงพวกเราก็มีหลายรูปฉะนั้น ๔ สิ่งนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เป็นสิ่งที่ดูถูกไม่ได้
ถ้าเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยละก็ อันตรายที่สุดพวกเราในฐานะที่ทำหน้าที่ปกป้องรักษาประเทศชาติบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษแม้ในสิ่งที่เล็กน้อย อาตมาจึงขอนำเรื่องนี้มาขยายความตามสมควร แล้วสิ่งที่จะยกเป็นตัวอย่าง ก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่เรียกว่า มีอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา รวมทั้งบทฝึกด้วย