การตีความพุทธศาสนสุภาษิต

วันที่ 03 กค. พ.ศ.2567

 

670703_b64-1.jpg

 

การตีความพุทธศาสนสุภาษิต


ความนํา

              พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในโลกกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วคำสอนในทางศาสนาซึ่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ได้มีการรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่หลังจากพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วไม่กี่เดือนที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำสอนที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ผิดเพี้ยนจากที่ตรัสไว้ ทั้งยอมรับกันว่าเป็นองค์แทนพระบรมศาสดาตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสสั่งไว้กะพระอานนท์ว่า“ดูก่อนอานนท์ พระธรรมวินัยอันใดที่เราแสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วสำหรับเธอทั้งหลาย พระธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายเมื่อสิ้นเราไป” ดังนี้ จึงเป็นเหตุให้จำเป็นต้องรักษาเนื้อแท้และสาระสำคัญของคำสอนเหล่านี้ไว้แต่เนื่องจากว่ากาลเวลาได้ล่วงเลยมานานมาก ภาษามคธหรือภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้จารึกพระไตรปิฎกนั้นมีการสืบทอดและใช้สื่อกันค่อนข้างน้อยลงทั้งอยู่ในวงแคบ ประกอบกับความเก่าของภาษาที่คนรุ่นหนึ่งสามารถเข้าใจได้ชัดเจน แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่งมิได้ใช้คำเช่นนั้น หากแต่ได้คิดคำใหม่มาใช้สื่อความในลักษณะนั้นแทนคำที่มีลักษณะความหมายอย่างเดียวกันจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกภาษาในโลก

             ดังนั้น คำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่จารึกไว้เป็นภาษามคธจึงต้องอาศัยอาจารย์ผู้รู้ภาษามคธและความหมายที่แท้จริงของคำสอนมาอธิบายขยายความและจารึกไว้เป็นคัมภีร์ด้วยคำใหม่ที่ร่วมสมัยใช้กันอยู่ในยุคนั้นๆ และเกิดมีการแบ่งคัมภีร์ที่จารึกคำอธิบายของอาจารย์ผู้รู้เหล่านั้นออกไปตามยุคสมัย โดยสมมติเรียกคัมภีร์เหล่านั้นว่าอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา สัททาวิเสส เป็นต้น และเรียกผู้แต่งคัมภีร์ว่า พระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ พระอนุฎีกาจารย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีในแวดวงวิชาการพระพุทธศาสนาในยุคสมัยนี้ เราเรียกการอธิบายขยายความของท่านอาจารย์เหล่านั้นว่า “การตีความ” ซึ่งการตีความนี้เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุที่ว่า
 

             คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ผ่านกาลเวลามานานมากแล้ว ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาเก่า ประจวบกับพระพุทธศาสนามิได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในถิ่นของผู้รู้ภาษามคธเหมือนก่อน หากแต่ไปเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนที่มิได้รู้ภาษามคธอย่างถ่องแท้ คำสอนบางคำบางประโยคจึงต้องอาศัยการตีความเป็นสำคัญจึงจะสามารถเข้าใจและเข้าถึงเนื้อแท้อันเป็นสาระแห่งธรรมได้ ถึงกระนั้นก็ยังมีท่านผู้รู้ที่เรียกว่าอาจารย์จำนวนไม่น้อยได้มีวิริยะอุตสาหะแรงกล้าศึกษาเล่าเรียนภาษามคธกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนสามารถใช้ภาษามคธสื่อความหมายได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษา เราจึงมีคัมภีร์มากมายที่เป็นผลงานของท่านเหล่านั้นดังกล่าวข้างต้นแม้ว่าจะมีการอธิบายขยายความคำสอนทางพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย

             แต่คัมภีร์ส่วนใหญ่อันเป็นผลงานของบุรพาจารย์เหล่านั้นจะเน้นหนักไปในเชิงปริยัติหรือในเชิงวิชาการคืออธิบายขยายความเพื่อให้รู้ถึงสาระเนื้อหาของคำสอนตามอักษรมากกว่าเชิงปฏิบัติคืออธิบายขยายความในรายละเอียดเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือเพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับให้เข้าถึงสาระแห่งธรรมนั้นๆ เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นเหตุให้มีการตีความหรืออธิบายขยายความคำสอนในเชิงปฏิบัติกันตามภูมิของผู้ที่ความซึ่งเรียกกันว่า“อัตโนมัติ” ขึ้น การตีความแบบนี้ย่อมเสี่ยงต่อความผิดพลาดและผิดเพี้ยนไม่น้อย หากแต่ผู้ที่ความมีภูมิในระดับสูง มีหลักมีเกณฑ์ในการตีความ ไม่อาศัยอัตโนมัติจนเกินไป และมีเหตุผลมีหลักเทียบเคียงก็สามารถอธิบายขยายความคำสอนได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของคำสอน
 

            ด้วยเหตุดังนี้ การตีความจึงมิอาจหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีในการตีความไปได้ แต่ก็มิอาจที่จะตีความไปตามใจชอบด้วยประการทั้งปวง การเรียนรู้ถึงแนววิธีการตีความจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นคำสอนทางศาสนาจะถูกละเลงให้เปรอะเปื้อนปกปิดจนไม่เห็นสาระที่แท้จริง หรือถูกดึงลงมาจนติดพื้นด้วยการอธิบายแบบง่ายๆ หรือแบบมักง่าย ทำให้คนทั่วไปที่เพิ่งศึกษาเข้าใจไม่วิเศษหลักคำสอนบางข้อบางประการว่าเป็นคำสอนธรรมดาอัศจรรย์อะไร ทำให้ปฏิบัติไปอย่างพื้นๆ จึงมิได้บรรลุผลสูงสุดตามที่ควรได้เพราะปฏิบัติไปอย่างพื้นๆ ไม่มุ่งตรงไปตามที่เป็นจริง เหมือนอย่างเช่นการอธิบายเรื่องนรกสวรรค์ไปในเชิงว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” ซึ่งเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดว่านรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิที่แท้จริงนั้นไม่มี ทำให้เกิดเป็นมิจฉาทิฐิไปโดยไม่รู้ตัว ดังนี้เป็นต้น


            อนึ่ง คำสอนหลักๆ ในพระพุทธศาสนาที่ยอมรับกันว่าเป็นสุภาษิต คือเป็นคำสอนที่มีสาระแก่นสาร มีประเด็นที่สามารถอธิบายขยายความ นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลเป็นความสุขความเจริญหรือให้ได้บรรลุธรรมได้โดยตรงนั้นนอกจากจะเป็นพระพุทธพจน์คือเป็นคำตรัสของพระพุทธองค์แล้ว ยังรวมไปถึงคำภาษิตของพระเถระ พระเถรี เทวดา เป็นต้นด้วย จึงเรียกรวมๆ ไปว่า “พุทธศาสนสุภาษิต”ซึ่งสุภาษิตเหล่านี้แหละที่มีการตีความกันอย่างแพร่หลายแต่หากจะกล่าวโดยรวบยอด การตีความนั้นย่อมใช้ได้กับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทั้งปวง โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญ เป็นหลักฐานสำหรับอ้างอิงระดับปฐมภูมิ เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์เพราะผ่านการสังคายนาตรวจสอบความถูกต้องมาแล้วตามลำดับ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024347301324209 Mins