วัตถุประสงค์ของการตีความพระพุทธพจน์

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2567

670708_b80.jpg

 

วัตถุประสงค์ของการตีความพระพุทธพจน์


                  เมื่อจะกล่าวในเชิงวิชาการ เนื่องจากการตีความเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ดังกล่าวแล้ว การตีความจึงย่อมมีความสำคัญ มีคุณค่าควรแก่การศึกษาเรียนรู้ ทั้งผู้ศึกษาเรียนรู้เองก็พึงมีจุดยืนหรือวัตถุประสงค์ในการศึกษาเรียนรู้ของตนว่าจะศึกษาเรียนรู้ไปทำไมศึกษาเรียนรู้ไปแล้วจะได้อะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการตั้งเข็มทิศไว้ล่วงหน้าเพื่อนำทางให้บรรลุถึงจุดหมายการศึกษาเรียนรู้เรื่องการตีความโดยเฉพาะการตีความพระพุทธพจน์อันเป็นสุภาษิตนั้นควรมีวัตถุประสงค์หลักอย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน คือ
 

                    (๑) มุ่งเกิดปัญญา คือศึกษาเรียนรู้เพื่อความรู้ความเข้าใจและความแตกฉานในพระพุทธพจน์ จนสามารถเก็บประเด็นสาระหรือองค์ธรรมแห่งข้อธรรมนั้นๆ ได้ สามารถเข้าถึงอรรถรสของภาษาความหมาย และบริบทต่างๆ ของข้อธรรมนั้นๆ ได้ เป็นต้นแน่นอนที่สุดเมื่อได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการตีความอย่างถูกต้องตามแนววิธีแล้ว มิใช่แต่จะได้ปัญญาความรู้เรื่องการตีความเท่านั้นแต่ยังจะได้ความรู้ในสาระสำคัญของข้อธรรมต่างๆ โดยละเอียดด้วยเพราะในกระบวนการตีความนั้นมีการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลการเทียบเคียง ตลอดถึงการฝึกฝนทดลองด้วยการปฏิบัติจริงเข้าผสมผสานอยู่ด้วย ทำให้เกิดปัญญาทั้งในระดับปริยัติและระดับปฏิบัติควบคู่กันไป
 

                    (๒) มุ่งแก้ข้อกังขา คือศึกษาเรียนรู้เพื่อคลายความสงสัยแคลงใจตลอดถึงความคลุมเครือในประเด็นพระพุทธพจน์บางคำบางบท บางตอน ที่ได้ฟังมาบ้าง ได้อ่านผ่านตาบ้าง หรือมีผู้ใดผู้หนึ่งอธิบายแล้วแต่ยังไม่หายสงสัย ทำให้เกิดความต้องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ศึกษาเรียนรู้เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้มักจะตั้งธงแห่งเรื่องไว้เป็นเบื้องหน้าว่าจะศึกษาคำนี้ บทนี้ ตอนนี้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ให้หายสงสัย แล้วก็ศึกษาจากครู ดูจากตำรา ค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่างๆ อันเป็นเหตุให้ได้ความรู้อื่นๆ มีความแตกฉานเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว เหมือนคนที่ตั้งใจจะไปค้นหาต้นไม้ชนิดหนึ่งในป่าจึงเดินเข้าป่าไป ในขณะที่เดินไปนั้นย่อมเห็นต้นไม้และพืชพันธุ์ที่เกิดอยู่ข้างทางไปด้วย บางครั้งไปพบต้นไม้ พืชพันธุ์แปลกๆ ก็จะหยุดดูหยุดพิจารณา ทำให้ได้ความรู้เรื่องต้นไม้ใบหญ้าเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะไปถึงและพบต้นไม้ที่มุ่งค้นหา
 

                     (๓) มุ่งรักษา คือศึกษาเรียนรู้เพื่อรักษาพระพุทธพจน์ รักษาเนื้อแท้แห่งพรหมจรรย์คือพระธรรมวินัยไว้ มิให้ถูกบิดเบือนหรือปลอมปน รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะเหมือนเดิมเพราะเมื่อได้ศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้พระพุทธพจน์ตามแนวแห่งการตีความแล้วย่อมเข้าใจสาระเนื้อแท้แห่งพระพุทธพจน์อย่างชัดเจนจนสามารถแสดงชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจได้เหมือนตนในขณะเดียวกันก็สามารถแก้ข้อกังขา ไขข้อข้องใจตลอดถึงข้อโต้แย้งต่างๆ ที่เห็นไม่ตรงกันได้ชัดเจน เป็นเหตุให้สามารถรักษาเนื้อแท้แห่งพระพุทธพจน์ไว้ได้ และสามารถป้องกันพระพุทธพจน์ที่อาจถูกนำไปตีความหรือบิดเบือนเพื่อประโยชน์ส่วนตนมิให้เกิดความมัวหมองผิดเพี้ยนได้อีกทางหนึ่ง การศึกษาเรียนรู้แบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภัณฑาคาริกปริยัติ - การศึกษาเรียนรู้แบบขุนคลัง”
 

                     (๔) มุ่งถ่ายทอด คือศึกษาเรียนรู้เพื่อนำพระพุทธพจน์ไปถ่ายทอดให้แพร่หลายขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง กล่าวคือศึกษาเรียนรู้เพื่อการเผยแผ่ศาสนา เพื่อดำเนินตามแบบอย่างแห่งพระสาวกในอดีตที่ท่านศึกษาเรียนรู้จนจบกระบวนแล้วออกจาริกไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ โดยอาศัยจิตใจที่มั่นคง เสียสละ และทุ่มเทกำลังกายกำลังใจลงไปในงานนี้เพื่อผลสัมฤทธิ์คือความแพร่หลายและความมั่นคงแห่งพระศาสนา ซึ่งการนี้จะเป็นไปได้ดีก็ด้วยอาศัยการศึกษาเรียนรู้พระพุทธพจน์และวิธีการตีความจนช่ำชองชำนาญดี พร้อมที่จะถ่ายทอดพระพุทธพจน์ได้อย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธประสงค์ ปฏิปทาเช่นนี้เป็นปฏิปทาของพระธรรมทูตทั่วไป
 

                     (๕) มุ่งเสริมศรัทธาปสาทะ คือศึกษาเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป ตลอดถึงเพื่อเพิ่มพูนความเลื่อมใสแห่งจิตและความดื่มซาบซึ้งในอรรถรสแห่งพระพุทธพจน์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาเรียนรู้การตีความแบบนี้มุ่งความดื่มดำซาบซึ้งส่วนตนเป็นหลัก เพราะปกติก็มีศรัทธาปสาทะในพระรัตนตรัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากแต่ต้องการจะเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมให้ยิ่งขึ้นไป อันจะทำให้ศรัทธาปสาทะในพระรัตนตรัยมั่นคงยิ่งขึ้น
 

                      (๖) มุ่งบรรลุธรรม คือศึกษาเรียนรู้โดยมุ่งแสวงหาแนวทางที่ถูกต้องแห่งการปฏิบัติธรรมที่ปรากฏอยู่ในหลักพระพุทธพจน์ และมุ่งเช้าถึงมรรคผลนิพพาน กล่าวคือเป็นผู้ใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมเป็นทุนเดิม แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าวิธีปฏิบัติแบบไหนจึงจะเหมาะสำหรับตน จึงศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติแบบต่างๆจนเห็นว่าแบบนี้มีความชัดเจน มีรายละเอียด และเหมาะแก่จริตของตน จึงศึกษาเรียนรู้แบบวิธีนั้นตามหลักแห่งการตีความ จนสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ตามประสงค์ และได้บรรลุผลตามสมควรแก่การปฏิบัติการศึกษาเรียนรู้แบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นิสสรณัตถปริยัติ - ศึกษาเพื่อการหลุดพ้น”
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034591583410899 Mins