พระพุทธรูป

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2567

 

2567_07_10_b_02.jpg

 

พระพุทธรูป


             หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายต่างมีความระลึกถึงพระองค์ จึงได้สร้างรูปจำลองของพระองค์ขึ้นอย่างประณีตบรรจง ถูกต้องตามพุทธลักษณะ ไว้สำหรับเคารพสักการะบูชา เรียกว่า พระพุทธรูป ปรากฏว่า พระพุทธรูปที่สร้างนั้นสามารถบันดาลใจให้ผู้พบเห็นเกิดศรัทธาในพระองค์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ประดุจว่าพระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่ เมื่อเกิดศรัทธาขึ้นแล้วก็ยอมรับฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์เอาใจใส่ศึกษาอบรมจนกระทั่งเกิดความเข้าใจเพิ่มพูนขึ้น สามารถมองเห็นเหตุผลแห่งความดีความชั่วที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยแต่โบราณเมื่อสร้างวัดขึ้นแล้ว จึงนิยมสร้างพระพุทธรูปไว้เพื่อเคารพสักการะบูชาประจำวัดนั้น ๆ เป็นการปลูกศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เข้ามาสู่ศาสนาใหม่ ๆ และเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาแก่ผู้มีศรัทธาอยู่แล้วให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น ยังได้อาศัยพระพุทธรูปสำหรับเจริญธรรมานุสติให้จิตใจเป็นสมาธิอีกด้วย

 

          วัดโดยทั่วไปจะมีอาคารที่สำคัญๆ อยู่ 2 แห่ง คือ


             1. อุโบสถ เป็นศูนย์กลางสำหรับพระภิกษุใช้เป็นที่ทำศาสนกิจเป็นประจํา


                2. ศาลาสอนธรรม เป็นศูนย์กลางสำหรับอบรมสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป


                ในทั้งอุโบสถและศาลาสอนธรรม จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานเด่นเป็นประธาน เมื่อทุกคนเข้าไปภายในอาคารแล้ว จึงเท่ากับว่าหรือในเวลาทำได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ศาสนกิจต่าง ๆ เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธานร่วมทำพิธีนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น พระพุทธรูปที่เป็นประธานจึงนิยมสร้างอย่างพิถีพิถัน ให้งดงาม ถูกต้องตามพุทธลักษณะ ทั้งแบบและขนาดขององค์พระก็ให้พอเหมาะพอดีกับอาคาร ทั้งปฏิมากรก็คิดอย่างชนิดมีฝีมือเป็นเลิศในยุคในถิ่นนั้น ๆ วันเททองก็นิยมกำหนดในวันสำคัญทางศาสนาวันใดวันหนึ่ง และในวันนั้นทั้งผู้เป็นประธานในพิธี และประชาชนผู้มาร่วมพิธี ก็นิยมแต่งกายด้วยชุดขาวล้วน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ แล้วสมาทานอุโบสถศีล (ศีล 8) รักษาอย่างเคร่งครัด และตั้งใจให้เป็นสมาธิ ในขณะเททอง ทั้งนี้เพื่อรวมพลังใจพลังความดี พลังความบริสุทธิ์ทั้งหมดไปสู่องค์พระ เพื่อให้พระพุทธรูปนั้นเป็นศูนย์รวมจิตใจ และศรัทธาปสาทะของทุกคนไว้แต่เบื้องต้น


         พระโบราณาจารย์สร้างพระพุทธรูปไว้ทำไม


         นับตั้งแต่วันถือกำเนิดจากครรภ์มารดาออกมาดูโลกกว้าง ปรากฏว่าใจมนุษย์ไม่เคยหยุดดิ้นรนแม้วินาทีเดียว ถ้าจะให้หยุดต้องหาอุบายมาทรมาน พระโบราณาจารย์จึงออกอุบายให้สร้างพระพุทธรูปใหญ่น้อยไว้เป็นเครื่องผูกใจ ทำด้วยโลหะบ้าง ดินบ้าง ไม้บ้าง เกสรดอกไม้บ้างฯลฯ ตามแต่จะเห็นว่าเป็นเครื่องจูงใจให้เกิดศรัทธาได้ดี


         ขณะที่โขลก บด ผสมวัตถุที่จะสร้างพระพุทธรูป ตลอดจนขณะปั้นหรือพิมพ์ จะต้องอยู่ในอาการสำรวม ห้ามพูดคุยเล่นตลกคะนองสมาทานศีลอย่างเคร่งครัด ครั้นพิมพ์พระพุทธรูปจำนวนมากเข้า ก็จำลักษณะได้ติดตาติดใจ จะยืนเดินนั่งนอนใจก็จดจ่อหยุดอยู่กับองค์พระครั้นใจหยุดถูกส่วนเข้า ท่ามกลางความหยุดความนิ่งนั้น จะมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นให้เห็น เป็นองค์พระใสสะอาดสวยงามนัก เห็นได้ทั้งลืมตาหลับตาสิ่งนั้นคือ ธรรมกาย


          เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ก็นำพระพุทธรูปเหล่านั้นไปบรรจุไว้ในถ้ำบ้าง พระเจดีย์บ้าง ฯลฯ เพื่อให้ชนรุ่นหลังรู้จักลักษณะรูปพรรณสัณฐานธรรมกาย จะได้นำไปกราบไหว้บูชาก่อให้เกิดศรัทธาปฏิบัติเจริญรอยตาม (แต่น่าเสียดายที่ประชาชนชาวไทยในยุคต่อมา ไม่ทราบความเป็นมาของพระพุทธรูปเหล่านี้ แทนที่จะนำมาเพื่อการปฏิบัติธรรม กลับนำมาใช้เป็นเครื่องลางของขลัง พาให้ลุ่มหลงของติดในวัตถุนับว่าเป็นยุคมืดของพุทธศาสนิกชน)


           เพื่อไม่ให้เกิดความหลงผิด ผู้ที่มีพระพุทธรูปอยู่ในครอบครอง จะไว้ที่บ้านก็ดี ห้อยคออยู่ก็ดี พึงระลึกเสมอดังนี้ว่า


           1. เราเป็นชาวพุทธ มีที่พึ่งที่แท้จริงอยู่อย่างเดียวคือ พระรัตนตรัย ซึ่งก็มีอยู่แล้วในตน วัตถุหรือสิ่งอื่นนอกนี้ย่อมไม่ใช่ที่พึ่ง


            2. พระพุทธรูปเป็นเพียงวัตถุ คุ้มครองเราไม่ได้ แต่คุณธรรมคือความดีที่เรากระทำแล้ว มีแล้วในตัวต่างหาก ที่จะคุ้มครองตัวเราให้

ปลอดภัย
            3. พระพุทธรูปเป็นรูปเปรียบของธรรมกายมีไว้เป็นเครื่องหมายให้ใจยึดเหนี่ยว เป็นผลให้ใจหยุดและเข้าถึงธรรมกายได้ง่ายขึ้น มิได้มีไว้เพื่อความขลัง


            4. พระพุทธรูปเป็นรูปเปรียบของธรรมกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปลุกเสก การใช้พระพุทธรูปเป็นนิมิตในการฝึกสมาธิ เป็นการปลุกเสกตนเองให้ตื่นจากความหลงงมงาย


               5. ผู้ที่ยังนิยมทำความชั่ว ไม่ทำทาน ไม่ถือศีล ไม่เจริญภาวนาถึงจะมีพระพุทธรูปห้อยคออยู่ก็ยังห่างพระเขาไม่สามารถเข้าถึงพระ (ภายใน) ได้ และต้องประสบความทุกข์อีกตลอดกาลนาน ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากพระพุทธรูปนั้นเลย


            6. ในการฝึกหัดทําสมาธิให้ยึดพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่ถูกพุทธลักษณะเท่านั้นเป็นนิมิต อย่าเปลี่ยนกลับไปกลับมา ยิ่งกว่านี้การสะสมพระพุทธรูปแปลก ๆ แพง ๆ นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองแล้วยังทําให้จ่านิมิตได้ยากด้วย

 


พระพุทธรูปแบบรูปกายและแบบธรรมกาย
 ธรรมกายมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร


             สามัญชนทั่วไปไหนเลยจะตอบได้ เพราะใจไม่เคยหยุดนิ่ง แต่นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่บรรพบุรุษของไทย ซึ่งสามารถทำให้ใจหยุดได้ตามพุทธโอวาท ได้ร่วมใจกันจำลองถอดแบบธรรมกายสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือพระปฏิมาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังดูเป็นแบบอย่าง ปฏิมาแปลว่า รูปเปรียบ หรือรูปเหมือน คือเหมือนรูปธรรมกาย


               ธรรมกาย เป็น ธาตุเป็น มีญาณคือปัญญาหยั่งรู้ธรรมตามเป็นจริง ต่างกับกายมนุษย์ซึ่งรู้ได้ด้วย วิญญาณ


               ธรรมกายนั้นใสเป็นแก้วทั้งองค์ เป็น แก้วเป็น จึงได้ชื่อว่า พุทธรัตนะ รูปกายพระสิทธัตถะราชกุมารนั้นประกอบด้วยเลือด เนื้อ
กระดูก ฯลฯ ยังเน่าเปื่อยผุพังอยู่ จึงไม่ใช่พุทธรัตนะ


               สร้างพระพุทธรูป นิยมสร้างกัน 2 แบบ คือแบบรูปกายและแบบธรรมกาย


               พระพุทธรูปแบบรูปกาย เป็นรูปเปรียบของเจ้าชายสิทธัตถะ ทําเป็นรูปอย่างสามัญมนุษย์ มีพระเกศายาว กระหมวดมุ่นเป็นเมาลีไว้บนพระเศียรอย่างเกศากษัตริย์ เช่น พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกกิริยา ปางปฐมเทศนา ฯลฯ

             
  พระพุทธรูปแบบธรรมกาย เป็นรูปเปรียบของธรรมกาย ซึ่งบรรพบุรุษผู้ถึงธรรมได้ถอดแบบมา พระพุทธรูปแบบนี้นิยมสร้างกันมากในประเทศไทย ถ้าสถาปนิกสร้างอย่างถูกต้องแล้ว เกตุย่อมเป็นรูปดอกบัวตูม มีพระลักษณะงดงามประทับใจ ต่างไปจากสามัญมนุษย์ไม่มีเครื่องประดับตกแต่งอย่างใด ๆ เช่นพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรก ๆ ฯลฯ


           ฝึกนานเท่าไร จึงถึงธรรมกาย


                 ของจริงต้องคู่กับคนจริง ถ้าฝึกไม่จริง ฝึก ๆ หยุด ๆ โล ๆ เล ๆ ยอมแพ้มารตั้งแต่ต้น ทำไปร้อยปีก็ไม่เห็นผล ถ้าตั้งใจสู้จริง ๆ ไม่ช้าเลยบางคนชั่วโมงเดียวบ้าง คืนเดียวบ้าง ไม่เกินเจ็ดวันบ้าง ใจก็หยุดได้ ที่ว่าจริง คือ จริงแค่ชีวิต เหมือนพระสิทธัตถะราชกุมาร ตั้งใจจริงลงไปว่า“ถ้าหนัง เอ็น กระดูก เนื้อและเลือดในร่างกายแห้งก็แห้งไป ตายก็ตายไป ถ้าใจไม่หยุด ไม่ถึงธรรมกายจะไม่ยอมลุกจากที่” เพราะสู้จริงอย่างนี้ครึ่งคืนเท่านั้น ใจพระสิทธัตถะหยุดนิ่งสว่างถึงธรรมกาย เราเป็นศิษย์ทำตามครูอย่างนี้จึงใช้ได้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029187814394633 Mins