ศีลข้อที่ ๔ มุสาวาทา เวรมณี
คำว่า มุสาวาท ในศีลข้อนี้แปลว่า การพูดเท็จ หรือ การพูดคำเท็จ
คำว่า มุสาวาทา เวรมณี แปลได้ว่า เจตนาเป็นเครื่องกำจัดเวร จากการพูดเท็จ แต่แปลกันโดยทั่วไปว่า ห้ามพูดเท็จ
ศีลข้อนี้กำหนดขึ้นด้วยหวังจะให้ผู้คนที่อยู่ร่วมกันพูดกันด้วยคำที่เป็นจริง เป็นความจริง ไม่โกหกหลอกลวงหรือพูดมีเลศนัยมีแง่มุมต่างๆ ทำให้เสียหายต่อการประกอบอาชีพหรือการติดต่อสื่อสารกัน
การรักษาศีลข้อนี้เป็นการไม่ทำสิทธิในการรับฟังข้อเท็จจริงของคนอื่นให้เสียไป เป็นการรักษาสิทธิในการฟังของคนอื่นไว้ เพราะปกติคนเราทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับฟังความจริงจากคนที่มาพูดให้ฟัง จะชอบและไว้วางใจคำจริงและคนที่พูดคำจริงด้วยกัน จะไต่ถามอะไรกับใคร จะตั้งใจฟังใครเขาพูดก็เพื่อรับรู้ความจริงทั้งสิ้น ไม่มีใครยอมเสียเวลาไปไต่ถามคนที่พูดไม่จริง หรือตั้งใจฟังคนที่เขาพูดโกหกให้ฟังเป็นแน่นอน โดยที่สุดแม้ตัวเองเมื่อต้องการให้ใครเชื่อถือถ้อยคําของตน ก็จะยกความจริงเรื่องจริงเป็นหลักอ้าง
เมื่อเป็นดังนี้ ย่อมตัดสินได้ว่าทุกคนชอบความจริง ชอบคนพูดจริงผู้ใดพูดไม่จริง พูดเป็นเท็จ เมื่อรู้เข้าก็จะรังเกียจไม่อยากพูดด้วย ไม่อยากคบหา ไม่อยากเข้าใกล้ด้วย
มุสาวาทการพูดเท็จหรือการพูดไม่จริงนั้นย่อมเป็นที่รังเกียจอย่างนี้ เมื่อผู้ใดพูดขึ้นจึงเป็นการล่วงละเมิดที่น่ารังเกียจ เป็นการผิดข้อกำหนดเป็นการทำให้คนฟังเสียสิทธิเบื้องต้นในการฟัง และเป็นบาปเพราะส่งผลให้ผู้พูดเข้าถึงอบายได้อย่างแน่นอน
คำพูดที่จัดว่าเป็นมุสา เป็นคำพูดต้องห้ามในศีลข้อนี้นั้น เมื่อแยกประเภทแล้ว มีลักษณะใหญ่ๆ ๓ ประเภท คือ มุสา อนุโลมมุสา และ ปฏิสสวะ
คำพูดที่เป็น มุสา
คำว่า มุสา นั้นหมายความถึง คำพูดอันเป็นเท็จ เป็นการแสดงความเท็จด้วยกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด และมิใช่เฉพาะทางวาจาอย่างเดียว ยังหมายรวมไปถึงการแสดงมุสาทางกายเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดด้วย เช่น เขียนหนังสือโกหกเขา สั่นศีรษะไม่ยอมรับทั้งที่ทำจริงทำให้เข้าใจผิดไปว่าไม่ได้ทำจริง อย่างนี้ก็เป็นมุสาเหมือนกัน
ดังนั้น คำว่ามุสาจึงเป็นได้ทั้งทางวาจาและทางกาย แม้จะไม่พูดด้วยปากแต่แสดงด้วยกายเพื่อให้เขาเข้าใจผิด ก็จัดเป็นมุสาวาทเหมือนกัน
มุสานั้นสามารถแยกประเภทให้ละเอียดออกไปได้หลายอย่าง เช่น
ปด คือพูดเท็จตรงๆ ไม่มีเหตุไม่มีมูลอะไรเลยก็พูดออกไปโดยไม่เป็นความจริงใดๆ ทั้งสิ้น เช่น รู้อยู่แต่พูดว่าไม่รู้ เห็นอยู่แต่พูดว่าไม่เห็น
ส่อเสียด คือพูดยุแยงเพื่อให้เขาแตกกัน
หลอก คือพูดเพื่อจะโกงเขา พูดให้เขาเชื่อ พูดให้เขาเสียของให้ตน
ยอ คือพูดเพื่อจะยกย่องเขา พูดให้เขาลืมตัวและหลงตัวผิด
กลับคำ คือพูดไว้แล้ว แต่ตอนหลังไม่ยอมรับ ปฏิเสธว่าไม่ได้พูด
ทนสาบาน คือการที่เสี่ยงสัตย์ว่าจะพูดความจริงหรือจะทำคำสาบานแต่ใจไม่ถือตามนั้น เมื่อถึงคราวเข้ากลับพูดเท็จหรือปฏิเสธ
ทำเล่ห์กระเท่ห์ คือการอวดอ้างความวิเศษศักดิ์สิทธิ์ของตัว เพื่อให้เขานิยมยกย่องหรือเพื่อได้ลาภผล แต่ความจริงไม่ได้วิเศษศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น
มารยา คือการหลอกลวงแสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น แสดงอาการเคร่งครัดเพื่อให้เขารู้ว่ามีศีล ทั้งที่เป็นคนทุศีล
ทำเลศ คือการพูดมุสาเล่นสำนวน เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดจริง หรือไม่ต้องการให้ต้องพูดเท็จ จึงพูดวกวนให้เข้าใจผิดไปอีกทาง
เสริมความ คือพูดคำเท็จอาศัยเรื่องเดิม แต่เสริมแต่งให้มากกว่าที่เป็นจริง เป็นการพูดเกินความเป็นจริง
อำความ คือพูดคำเท็จอาศัยเรื่องเดิม แต่ตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เพื่อให้คนฟังเข้าใจผิดคิดเป็นอย่างอื่นไปเสีย
มุสาประเภทต่างๆ ที่ยกมานี้ จะพูดออกมาด้วยวาจาหรือแสดงกิริยาอาการออกมาด้วยกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้อื่นรู้แล้ว เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามจัดเป็นมุสาทั้งสิ้น ผู้ทำได้ชื่อว่าทำมุสาวาทแล้ว
เรื่องของมุสาวาทนั้นละเอียดอ่อน มีโทษทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรในฝ่ายพุทธจักรท่านปรับถึงขาดจากความเป็นพระภิกษุก็มี ในกรณีพูดอวด อุตริมนุสสธรรม คืออวดคุณวิเศษที่มนุษย์ทั่วไปไม่มีไม่เป็น ว่าตัวเองมีตัวเองเป็นตัวเองได้บรรลุแล้ว ทั้งที่ตัวเองไม่มีจริงไม่เป็นจริง เช่น อวดว่ามีหูทิพย์ตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษรู้อะไรเป็นพิเศษได้ และปรับโทษที่เบาลงมาในกรณีที่พูดเท็จตามปกติธรรมดา
ในฝ่ายอาณาจักรหรือในทางโลกมีโทษทั้งหนักและเบาตามกรณีเป็นไปตามวัตถุ คือเรื่องราวเป้าหมายที่พูด ตามเจตนาคือมุ่งผลอะไรอย่างไร และตามประโยคคือการพูดเช่นนั้นหากทำให้เขาเชื่อได้สำเร็จ อย่างนี้มีโทษหนัก
โทษในฝ่ายอาณาจักรนี้ มิใช่ว่าคนพูดจะต้องติดคุกติดตะรางเสมอไปโทษที่พึงได้รับในทางนี้อีกอย่างหนึ่งคือโทษในทางสังคม ในทางความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน คนที่พูดมุสาเสมอนั้นย่อมได้รับโทษทางนี้เสมอเช่นกันเช่น ไม่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลอื่น หรือต้องแตกแยกกันไป
เช่นในครอบครัว เพียงพ่อบ้านไม่รักษาสัจจะที่ให้ไว้ต่อแม่บ้านว่าจะจริงใจซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป กลับไปประพฤติล่วงใจแม่บ้านของตน ไปมีหญิงอื่นสอดเข้ามา เท่านี้ก็ถือว่าเสียสัตย์คือมุสาแล้ว และยังเสียศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารอีกส่วนหนึ่ง มิใช่จะเสียเพียงเท่านั้น หากยังจะเสียหายต่อการใช้ชีวิตคู่ไปตลอดด้วย ต้องอยู่กันอย่างไม่ไว้วางใจกัน อย่างหวาดระแวงอย่างหวานอมขมกลืน หรือไม่อย่างนั้นก็บ้านแตกสาแหรกขาด แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องลูกเต้าตามมาอีกมากมาย
นี่คือโทษของมุสาวาทที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการติดคุกติดตะรางมากนัก
คำพูดที่เป็น อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสา หมายถึง การพูดถึงเรื่องที่ไม่เป็นความจริง แต่พูดไปโดยมิได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด เพียงต้องการให้ผู้ฟังเสียหายหรือเจ็บใจเล่น คือการพูดเสียดแทงและการพูดสับปลับ
เสียดแทง คือพูดให้เขาเจ็บใจ เสียดเข้าไปในความรู้สึก เช่น การด่า โดยพูดว่าคนอื่นด้วยถ้อยคำหยาบช้าเลวทราม กดเขาให้ต่ำกว่าพื้นเพจริงของเขา การพูดประชด คือพูดแดกดันด้วยความไม่พอใจ ยกเขาให้สูงกว่าพื้นเพจริงของเขา
สับปลับ คือพูดกลับกลอกเชื่อไม่ได้ พูดด้วยความคะนองปาก แต่ไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้ฟังเข้าใจผิดอะไร
มีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่จัดเป็นอนุโลมมุสา คือคำส่อเสียดที่เป็นเรื่องจริง แต่ผู้ฟังได้ฟังแล้วเก็บไปเล่าให้คนที่ถูกกล่าวถึงฟังว่าคนนั้นคนนี้พูดอย่างนี้เพื่อหวังประโยชน์หรือหวังให้เขาชอบใจ คำที่นำไปเล่านั้นทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่สบายใจ เจ็บใจ หรือไม่พอใจผู้ที่พูดถึงตน ทำให้เขาแตกกันได้ คำส่อเสียดลักษณะนี้จัดเป็นอนุโลมมุสา
การพูดอนุโลมมุสานี้ควรเว้น ไม่ควรพูด เช่นเดียวกับการพูดมุสา จัดว่าเป็นกิริยาที่หยาบช้า เป็นวจีทุจริต มีโทษหนักเบาตามลักษณะของเรื่องที่พูดเจตนา และความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่พูด
อนุโลมมุสานี้แม้จะมิได้เป็นมุสาคือคำโกหกคำเท็จโดยตรง แต่ก็นับเข้าในมุสา ไม่ควรพูด พูดแล้วมีโทษ คนที่นิยมความสุภาพจะไม่พูดทั้งมุสาทั้งอนุโลมมุสา เพราะเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร แม้จะสอนลูกหลานเมื่อลูกหลานทำผิดก็ไม่ด่า ไม่เสียดแทง แต่จะใช้คำสุภาพ พูดให้เข้าใจเหตุผลถึงการกระทำว่าผิดอย่างไร ไม่ควรอย่างไร และควรจะทำอย่างไรจึงจะถูกจึงจะดี
แท้ที่จริงคำด่าและคำเสียดแทงเป็นต้นนั้น ล้วนเป็นไปตามความโกรธความไม่พอใจของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ใหญ่มิได้มีเจตนาร้าย หวังสั่งสอนให้หลาบจำ เป็นแต่ใช้คำพูดที่รุนแรงเหมือนคำด่า ลูกหลานก็เข้าใจเจตนานั้นดีบางครั้งถึงกับทำให้ลูกหลานพากันหัวเราะชอบใจที่ตนถูกด่าเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ผู้ใหญ่เกิดหมั่นไส้ขึ้นได้เหมือนกัน
คำพูดที่เป็น ปฏิสวะ
ปฏิสวะ หรือ ปฏิสสวะ หมายถึง การรับคำแล้วไม่ทำตามรับ คือตอนแรกรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าจะทำตามที่รับคำไว้ แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจบิดพลิ้วไม่ทำตามอย่างนั้น
ปฏิสวะมีลักษณะต่างๆ เช่น
ผิดสัญญา คือสองฝ่ายทำสัญญาตกลงกันว่าจะทำอย่างนี้ๆ ต่อมาภายหลังฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้วไม่ยอมทำตามสัญญาด้วยเหตุผลที่อ้างขึ้นมา เช่นกรณีสัญญาจ้างต่างๆ
เสียสัตย์ คือการให้สัตย์ไว้แก่ผู้อื่นว่าตนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือจะไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ภายหลังกลับคำไม่ทำสิ่งที่ตนรับปากไว้ว่าจะทำ หรือไปทำสิ่งที่ตนรับปากไว้ว่าจะไม่ทำ เช่น กรณีทำทัณฑ์บนไว้กับศาลว่าจะไม่ประพฤติชั่ว ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียทรัพย์สินอีก แต่ก็กลับไปทำเช่นนั้นอีก
ปฏิสวะนี้เป็นเรื่องของความเสียสัตย์ ไม่ตั้งอยู่ในคำสัตย์ เป็นเครื่องทำลายชื่อเสียงของผู้ประพฤติ ผู้รักสัตย์จึงละเว้นไม่ประพฤติ
แต่ปฏิสวะนี้ มีข้อน่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย เช่น เผลอสติไปรับปากรับคำกับเพื่อนไว้ว่าจะไปลักทรัพย์มากินมาเที่ยวกันให้สนุกสนาน ต่อมาเกิดได้สติรู้สึกตัวว่าถ้าไปทำเข้าจะทำให้เสียหาย ถ้าถูกจับได้ก็จะมีความผิด หรือได้มาแล้วก็จะประพฤติเสียหาย จึงไม่ไปหรือบอกเลิกเสีย อย่างนี้ถึงไม่พ้นจากปฏิสวะ แต่ก็ยังดีกว่าไปทำตามที่รับปากไว้ ยอมผิดปฏิญญาดีกว่าไปเสียอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจเสียอนาคตไปด้วย ทำนองเสียมีน้อยซึ่งดีกว่าเสียมาก
หรือในกรณีรับปากว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้เสร็จในวันนั้นวันนี้ ซึ่งเป็นงานปกติไม่มีโทษผิดอะไร แต่เกิดเจ็บไข้เสีย ไม่อาจทำให้เสร็จทันกำหนดนัดได้ จึงได้บอกเลื่อนวันไปหรือไม่ได้บอกเลื่อนเพราะไม่มีโอกาสไม่นับเข้าในปฏิสวะ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย
คําพูดที่ไม่เป็นโทษ
คำพูดที่ไม่เป็นโทษ คือไม่มีโทษแก่ผู้พูด ได้แก่คำที่เป็นวจีสุจริตไม่เป็นวจีทุจริต คือคำที่จริง คำที่ไม่หยาบ คำที่ไม่ส่อเสียด คำที่ไม่เพ้อเจ้อคำเหล่านี้นอกจากไม่มีโทษแล้วยังเป็นคำที่เป็นประโยชน์ เป็นบุญกุศลแก่ผู้พูดและผู้ฟังด้วย
ยังมีคำอีกประเภทหนึ่งที่หาโทษแก่ผู้พูดมิได้ คำเหล่านี้เป็นเรื่องไม่จริงไม่เป็นไปตามที่พูด แต่ผู้พูดมีเจตนาที่บริสุทธิ์ พูดตามวิสัยหรือตามธรรมเนียมปกติทั่วไป ไม่จัดว่าเป็นมุสาหรืออนุโลมมุสาแต่ประการใด คำประเภทนี้ได้แก่คำเหล่านี้คือ
โวหาร คือถ้อยคำที่เล่นเป็นสำนวนซึ่งใช้กันเป็นธรรมเนียม ตามแต่เหตุการณ์หรือเรื่องที่กำลังเป็นไปกำลังพูดถึง เช่น การเขียนลงท้ายจดหมายว่า ขอแสดงความนับถือ สุดแล้วแต่จะโปรด ซึ่งความจริงอาจจะไม่นับถือเลยหรือไม่อยากจะให้โปรดเลย แต่ต้องลงท้ายหนังสืออย่างนั้นเพื่อให้ถูกธรรมเนียม
หรืออย่างการพูดว่า ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจด้วย ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีต่อท่านด้วยใจจริง หรือ ข้าพเจ้าขอขอบคุณพวกท่านมากที่เสียสละเวลามาแสดงความยินดีต่อข้าพเจ้าในโอกาสนี้ คำเหล่านี้ถือว่าเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติในสังคม ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างที่พูดจริงหรือไม่คำเช่นนี้ถึงเรื่องจะไม่จริงหรือมากกว่าจริง แต่ผู้พูดมิได้จงใจจะกล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิด และผู้ฟังเองก็ไม่ได้สนใจว่าคำพูดนั้นจริงหรือเท็จ อ่านและฟังไปตามธรรมเนียม แต่จะสนใจไปในเรื่องว่าเป็นคำพูดสุภาพหรือไม่สุภาพเป็นส่วนใหญ่
นิยาย คือเรื่องที่เล่ากันมา เรื่องที่นำมาอ้างเพื่อเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ใจความที่เป็นหลัก ในนิยายนั้นจะมีคำพูดที่ไม่น่าเป็นไปได้หรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง เช่น คนพูดกับสัตว์ หรือสัตว์พูดกันอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องเช่นนี้รู้กันว่าไม่เป็นได้จริง แต่ผู้เล่าหรือผู้แต่งนิยายมุ่งจะให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจเรื่องหรือเกิดความรู้สึกคล้อยตามเรื่องได้ง่าย คำในนิยายเช่นนี้ก็ไม่มีโทษอะไรแก่ผู้เล่าหรือผู้แต่งนิยายนั้น
สำคัญผิด คือคำพูดที่สำคัญผิดไปว่าเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เช่น เขาถามว่าวันนี้เป็นวันอะไร ตนเข้าใจว่าเป็นวันเสาร์ จึงตอบไปว่าวันเสาร์ทั้งที่วันนี้เป็นวันศุกร์ ที่ตอบไปเช่นนี้เพราะเข้าใจว่าเป็นวันเสาร์จริงๆ ไม่ได้จงใจจะพูดเท็จแต่ประการใด ความสำคัญผิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้แก่คนทั่วไป จึงเป็นคำพูดที่ไม่มีโทษอะไร ในเมื่อไม่มีความจงใจจะพูดเท็จ
พลั้ง คือคำพูดที่พลาดไป โดยตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่งแต่กลับไปพูดเสียอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อรู้ตัวแล้วว่าพูดพลาดไปจึงพูดใหม่ให้ถูกต้อง การพูดพลั้งไปในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้บ่อยในเมื่อพูดเร็วตอบเร็วหรือยังไม่ทันได้ตั้งสติดี แต่เมื่อนึกได้แล้วพูดใหม่ ก็เป็นอันได้ใจความ
การเขียนและการพูดลักษณะเหล่านี้มีให้พบเห็นกันบ่อยๆ เราเองก็เคยเขียนเคยพูดและเคยได้อ่านได้ฟังการเขียนและการพูดลักษณะนี้มาเช่นกันเมื่อได้อ่านได้ฟังหรือได้ทำเองมาย่อมรู้สึกเป็นปกติ เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ มิได้ถือเป็นเรื่องผิดหรือเรื่องใหญ่โตอะไร นอกจากจะเขียนผิดหรือพูดผิดธรรมเนียมปฏิบัติเท่านั้นจึงจะถือเป็นผิดกัน แต่เป็นการผิดที่มิใช่ผิดที่มีโทษทางโลกหรือทางธรรมอะไร
องค์ของศีลข้อที่ ๔
ศีลข้อที่ ๔ มีองค์สำหรับเป็นเครื่องตัดสินว่าศีลขาดหรือไม่ เหมือนกับศีลข้ออื่นๆ องค์ของศีลข้อนี้มี ๔ ประการ คือ
๑. เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง ไม่มีจริง
๒. จงใจจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๓. พูดคำนั้นออกไป
๔. ผู้ฟังเข้าใจความหมายเหมือนอย่างที่พูดออกไปนั้น
ศีลข้อ ๔ นี้เมื่อพิจารณาตามองค์ศีลแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นมุสาวาทได้ยาก เพราะเรื่องไม่จริงนั้น ถ้ามุ่งให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็ค่อนข้างยากจะต้องคิดและเลือกถ้อยคำที่จะพูดออกมาให้มีเหตุผลน่าเชื่อถือ จนฟังแล้วยอมเชื่อยอมคล้อยตาม หากพูดไปโดยไม่คิดอะไรมาก เขาก็จะจับได้ว่าพูดเท็จทำให้คนพูดเสียหายเอง
แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งท่านว่า การพูดมุสาวาทนั้นง่ายกว่าการละเมิดศีลข้ออื่นๆ เพราะคำพูดเป็นเพียงลมปาก สามารถพูดได้ทันทีไม่ต้องเตรียมการอะไรมาก แค่นึกแล้วก็พูดต่อได้เลย ดังนั้น การพูดโกหกจึงไม่ยาก แทบจะไม่ต้องคิดอะไรมาก คนที่พูดโกหกบ่อยสามารถพูดได้คล่องปากแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย และหากเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นคนมีหน้ามีตาด้วยแล้ว พูดโกหกไปคนก็เชื่อโดยง่ายเพราะนับถือและเชื่อใจในความเป็นผู้ใหญ่
แต่การพูดมุสาจะมีโทษอย่างไรนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งจำต้องอาศัยองค์ศีลเป็นข้อตัดสินว่าการพูดมุสาเช่นนั้นจะเป็นมุสาวาทหรือไม่คือศีลจะขาดหรือไม่ หรือจะทะลุ จะด่างพร้อยอย่างไรหรือไม่
องค์ศีลเป็นเครื่องมือสำหรับตัดสินความผิดอย่างนี้
โทษของมุสาวาท
การพูดเท็จหรือมุสาวาทนั้นมีโทษทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างที่รู้กัน และการพูดเท็จนั้นนอกจากมีโทษเพราะผิดศีลแล้ว ยังมีโทษที่เป็นเวรกรรมอีก กล่าวคือผู้พูดเท็จจะมีกรรมติดตัวไปตลอด แม้ล่วงลับดับชีพไปแล้วก็จะไปเกิดในอบายภูมิ หลุดจากอบายภูมิแล้วเศษกรรมยังตามให้ผลในขณะที่เป็นมนุษย์อีก ในตำนานพระศาสนาท่านแสดงโทษของการพูดเท็จอันเป็นผลในปัจจุบันชาติไว้หลายประการ คือ
๑. เกิดเป็นคนพูดไม่ชัด
๒. เป็นคนมีฟันไม่เสมอกัน โย้เย้ไปมา
๓. เป็นคนมีกลิ่นปากเหม็นเหมือนคู
๔. กายมีไอร้อนผิดจากคนธรรมดา
๕. มีตาไม่เป็นปกติ คือมีตาเหลือกโปน
๖. มีวาจาไม่ไพเราะ
๗. มีท่าทางไม่สง่า
๘. คล้ายกับคนวิกลจริต
ที่แสดงมานี้เป็นผลที่เห็นได้เมื่อผู้นั้นเกิดเป็นคน แม้เราเองก็อาจเป็นเช่นนั้นบ้างในบางประการ หากเป็นอย่างนั้นมาแต่เกิด แก้ไขอย่างไรก็ไม่หายก็พึงรู้และยอมรับเถิดว่าเมื่อชาติก่อนนั้นเราชอบพูดเท็จ ชอบพูดให้คนอื่นเสียประโยชน์ หรือพูดแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ จึงเกิดโทษเช่นนั้น กล่าวคือให้คิดว่านี่เป็นผลของกรรม เป็นผลที่ติดตามมา เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็จะทำให้ยอมรับและทำใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะหาทางแก้ไขอย่างไรจะรักษาอย่างไรในทางรูปธรรม เพื่อให้หายก็เป็นเรื่องที่จะเจ้าตัวต้องปฏิบัติจัดการเอง
หากได้ประสบผลเช่นนั้นเข้าแล้วไปโทษนั่นโทษนี่ เช่น โทษพ่อโทษแม่โทษเทวดาฟ้าดินที่ทำให้ตนเกิดมาพิการทางการพูด ทางตา ทางสติปัญญา ก็จะทำให้ชอกช้ำหนักขึ้นไปอีก เพราะอันที่จริงไม่มีพ่อแม่คนไหนหรือเทวดาฟ้าดินท่านใดต้องการให้ลูกเกิดมาพิการเช่นนั้น ที่เกิดมาเป็นอย่างนี้ก็ต้องโทษกรรมของตัวที่เคยทำไว้ประการเดียว และต้องโทษตัวเองเพิ่มขึ้นในฐานะที่เกิดมาเป็นอย่างนี้แล้วทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ที่มีลูกไม่สมบูรณ์
แต่ถึงอย่างไรพ่อแม่ก็อาจคิดเสียใจในตอนแรกเท่านั้น ต่อมาก็จะรักและเอาใจใส่อย่างเต็มที่เพราะเราคือลูกของท่าน บางครั้งอาจจะรักและเอาใจใส่มากกว่าลูกที่เป็นปกติเสียด้วยซ้ำไป น้ำใจของพ่อแม่ประเสริฐอย่างนี้ตลอดกาล
ข้อสำคัญ เมื่อทราบชัดอย่างนี้แล้ว ควรป้องกันตัวเองไว้ก่อนดีกว่าก่อนที่จะเกิดมาได้รับผลกรรมเช่นนั้น ด้วยการไม่พูดมุสา ไม่พูดอนุโลมมุสาพูดแต่คำสัตย์คำจริง ตั้งสติก่อนที่จะพูดอะไร จะได้ไม่ผิดพลั้ง จะได้ไม่ต้องมารับโทษแล้วเกิดทุกข์ภายหลัง
วัตถุประสงค์ของศีลข้อที่ ๔
ศีลว่าด้วยการงดเว้นจากการพูดเท็จนี้ ท่านกำหนดวัตถุประสงค์ไว้เพื่อให้ถือปฏิบัติกันอันจะทำให้อยู่กันอย่างสุขสงบ ไม่ต้องมาทะเลาะ มาฟ้องร้องหรือมามีเรื่องราวอะไรกัน อันวัตถุประสงค์ที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ
๑. เพื่อป้องกันการตัดประโยชน์ของผู้อื่นทางวาจา คือการพูดเท็จนั้นย่อมเป็นการตัดประโยชน์ของผู้อื่นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เขาไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ ทำให้เขาเสียประโยชน์ที่ไม่ควรเสีย ทำให้เสียหายต่อการประกอบอาชีพหรือการติดต่อสื่อสารกัน ทำให้เขาเข้าใจผิด ทำให้ทำผิดพูดผิดไปตาม ซึ่งเมื่อพูดเท็จในลักษณะต่างๆ เข้าก็เป็นการตัดประโยชน์ของผู้อื่นทั้งสิ้น เมื่อพูดจริง ตรงไปตรงมาก็จะไม่ทำให้เขาเสียประโยชน์อะไร ทำให้เกิดประโยชน์ทำให้ได้รับประโยชน์เสียด้วยซ้ำไป
๒. เพื่อให้เกิดความไว้วางใจเชื่อใจกันได้ คือเมื่อคนเราอยู่ร่วมกันโดยไม่พูดเท็จ พูดคำสัตย์คำจริงต่อกัน ก็จะทำให้ไว้วางใจกัน เชื่อใจกันได้ ไม่หวาดระแวงด้วยความไม่สบายใจ เมื่ออยู่กันด้วยอาการอย่างนี้ก็จะมองหน้ากันสนิท ช่วยเหลือกันได้สนิทใจ ความสงบสุขก็จะตามมา ทั้งสังคมที่อยู่ก็จะสง่างาม มีศักดิ์ศรี เพราะไม่มีคนที่วางใจไม่ได้ เชื่อใจไม่ได้อยู่ในหมู่คณะ
๓. เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในหมู่คณะ คือเมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นคณะหรือทำงานร่วมกันในที่เดียวกัน สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องระวังคือคำพูด หากไม่ระวังก็จะทำให้เกิดความแตกร้าวไม่พอใจกัน ถึงทะเลาะเบาะแว้งกันจนอยู่ด้วยกันไม่ได้ เมื่อระวังคำพูดไม่ให้เป็นเท็จ ไม่ให้หยาบคาย พูดแต่คำสัตย์คำจริง ไพเราะเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองขึ้นไม่รู้จืดจางในหมู่คณะ
๔. เพื่อให้รักษาคำสัตย์คำจริง คือเป็นการฝึกฝนให้คนที่อยู่ร่วมกันมีหลักสำหรับอยู่ด้วยกัน คือรักษาคำสัตย์ พูดจริง ไม่โกหกหลอกลวง ไม่พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง เมื่อฝึกฝนจนเกิดความเคยชินกันแล้วก็จะไม่พูดเท็จ มีความละอายที่จะพูดเท็จ จะมีแต่ความหวังดีปรารถนาดีต่อกัน โดยเว้นจากการพูดเท็จอันจะไปทำลายประโยชน์ของเขาให้เสียหาย