สไตรค์ท้อง
ณ กาลวันหนึ่ง ปากตั้งตัวเองเป็นหัวโจก ปลุกระดมอวัยวะน้อยใหญ่วางแผนกำจัดท้อง
“เพื่อนที่รักทั้งหลาย พวกเราลำบากกันมานานแล้ว เท้าต้องเดินไปหาของมาทำกิน ตาก็ต้องคอยดูทาง หูก็ต้องคอยฟังเสียง มือก็ต้องหยิบต้องทำอาหารแล้วป้อนเข้ามาในตัวข้า ฟันก็ต้องเคี้ยวให้ละเอียด ลิ้นก็ต้องตวัดไปมาให้อาหารลงคอ คอก็ต้องกลืนลงท้องแต่ท้องช่างสบายเหลือเกิน ไม่ต้องทำอะไร รอแต่อาหารที่พวกเราช่วยกันส่งไปให้ อิ่มแล้วก็สบายใจเฉิบ อย่างนี้แล้วพวกเรายังจะทนต่อไปอีกหรือ”
มือ เท้า ตา หู ฟัน ลิ้น คอ ต่างเห็นด้วยตามที่ปากพูด จึงถามปากว่า
“แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี”
“เอางี้นะ เราจะสไตรค์ท้องกัน นับแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เท้าก็ไม่ต้องเดินไปไหน มือก็ไม่ต้องทำอะไร ตาก็ไม่ลืมขึ้นมา หูก็ไม่ต้องฟัง ข้าก็จะไม่อ้า ฟันก็ไม่ต้องเคี้ยว คอก็ไม่ต้องกลืนอะไร เอางี้นะ ท้องมันจะอยู่ได้ให้มันรู้ไป”
รุ่งขึ้นทุกส่วนทำตามข้อตกลง ทุกอย่างหยุดหมด ร่างนอนแช่ว อยู่บนที่นอน ไม่ลุกไปไหน ปากจึงถามพรรคพวกว่า
“สบายดีไหมพวกเรา ไม่ต้องทำงานอะไรเลย น่าจะเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้วนะ”
ครึ่งวันผ่านไป ท้องเริ่มร้องจ๊อกๆ เพราะไม่มีอะไรตกถึงตน ปากจึงโพนทนากับพวกอีก
“ได้ยินไหมพวกเรา ท้องมันเริ่มร้องแล้ว ให้มันรู้สึกเสียบ้าง สบายมานานแล้ว”
ผ่านไปวันหนึ่ง ท้องยิ่งร้อง ผ่านไปคืนหนึ่ง ท้องเริ่มเงียบเพราะหมดแรงร้อง ปากจึงบอกพวกอีก
“เป็นไงพวกเรา เห็นหรือยัง ท้องมันต้องตายแน่ จะอยู่ได้ให้มันรู้ไป”
ผ่านไปอีกวันหนึ่ง มือและเท้าเริ่มหมดแรง ตาดื่มไม่ขึ้น หูเริ่มอื้อ คอแห้งผากเป็นผง ปากเองก็เริ่มซีด จะพลิกตะแคงตัวก็ไม่มีแรงทำ ท้ายที่สุดก็เป็นลมหมดสติ
ตื่นขึ้นมาอีกที ร่างนั้นนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ใจจึงสั่งสอนว่า
“พวกเราเอาแต่อารมณ์แค้นไม่พอใจท้อง และเชื่อปากที่คอยยุแหย่ ไม่ได้คิดให้รอบคอบเลย เกือบตายกันไปทั้งหมด วันหลังอย่าทำกันอย่างนี้อีก”
ทุกอวัยวะนิ่งเงียบ ไม่กล้าโต้แย้งใจ เพราะเห็นฤทธิ์ของการสไตรค์ท้องกันดีแล้ว
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
ในการอยู่ร่วมกันนั้นก็เหมือนกับอวัยวะในร่างกายที่แตกต่างกันไป และต่างก็มีหน้าที่ทำแตกต่างกันไป ทำมากบ้างน้อยบ้าง หนักบ้างเบาบ้าง สุดแล้วแต่หน้าที่ จะให้เหมือนกันหรือเท่ากันคงไม่ได้ แต่เมื่อทำงานอย่างสอดประสานกันแล้วก็จะพาให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ทำได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรคิดรังเกียจหรืออิจฉาริษยาอีกคนหนึ่งหรือหลายคนที่ทำหน้าที่เบาๆ และทำไม่มากเท่าตน ธรรมชาติสร้างสรรค์อวัยวะในร่างกายมาให้ทำหน้าที่สอดประสานกันดีอยู่แล้ว หากส่วนใดชำรุดหรือไม่ทำหน้าที่ก็จะพากันวิบัติล้มตายไปด้วยกัน ที่อายุยืนอยู่ได้เพราะอวัยวะสามัคคีพร้อมเพรียงกันทำหน้าที่ของตนไปนั่นเองคนในสังคมในหมู่ในคณะก็เช่นเดียวกัน ย่อมแตกต่างกันเป็นปกติทั้งหน้าที่การงาน ความรู้ความสามารถ ตลอดถึงความคิดความอ่าน ถ้าใช้ความต่างกันนั้นมาสอดประสานกัน อยู่กันด้วยความเอื้อเฟื้อ ให้อภัย ยินยอม ผ่อนปรน อดทนต่อกันได้ก็ย่อมอยู่สุขสบายด้วยกันทั้งหมด