บทที่ ๗ บทส่งท้าย
ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู
เหตุปัจจัยให้ประสบความสําเร็จในทุกอาชีพ
การทำงานทุกอย่างจะใช้เฉพาะศาสตร์หรือความรู้อย่างเดียวยังไม่พอ จําเป็นต้องมีศิลป์ด้วย ผลงานจึงจะสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น แม่ครัว ๒ คน ทำอาหารอย่างเดียวกัน คือแกงส้มปลาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีเครื่องปรุงครบเครื่องเหมือนกัน มีปริมาณเท่ากัน มีคุณภาพเหมือนกันทุกประการ แต่ผลผลิตคือแกงส้มทั้ง ๒ หม้อ มีรสชาติหรือความอร่อยชวนให้รับประทานต่างกัน คือหม้อหนึ่งมีรสชาติดี และไม่มีกลิ่นคาวปลาเลย แต่อีกหม้อหนึ่งมีกลิ่นคาวปลารุนแรงจนไม่มีใครอยากรับประทาน เป็นต้น
หรือในกรณีวิทยากร ๒ คนที่ทำหน้าที่บรรยายเรื่องเดียวกันในเวลาเท่ากันให้แก่ผู้ฟัง ๒ กลุ่ม ในสถานที่ ๒ แห่ง ครั้นเมื่อการบรรยายสิ้นสุดลง ผู้ฟังกลุ่มหนึ่งรู้สึกประทับใจวิทยากรมาก เพราะได้รับความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี รู้สึกสนุกสนานชวนให้ติดตามทุกขั้นตอน และอยากมีโอกาสฟังคำบรรยายจากวิทยากรคนนี้อีก ในขณะที่ผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่งพากันบ่นว่า จะไม่ขอฟังการบรรยายจากวิทยากรคนนี้อีกแล้ว เพราะพูดวกไปวนมา ฟังไม่รู้เรื่องน่าเบื่อ ชวนให้ง่วงนอน เป็นต้น
ถามว่าอะไรเป็นเหตุให้ผลงานของแม่ครัวและวิทยากรเหล่านั้นแตกต่างกันอย่างมาก คำตอบที่น่าจะถูกต้องตรงประเด็นที่สุดก็คือศิลปะนั่นเองกล่าวคือแม่ครัวที่ขาดศิลปะในการปรุงอาหารย่อมท่าอาหารไม่อร่อยวิทยากรที่ขาดศิลปะในการบรรยายหรือการสื่อสารย่อมไม่สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้ฟังได้ ผู้ฟังจึงรู้สึกเบื่อหน่าย ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังเท่าที่ควร
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำงานทุกอย่างจะเกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดีก็เพราะผู้ทำมีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์ดังนั้นครูผู้ได้ชื่อว่าปูชนียาจารย์ก็ต้องมีคุณสมบัติสมบูรณ์พร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์ด้วยเช่นกัน
ครูผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์
ความรู้ที่จัดเป็นศาสตร์ ที่ครูทุกคนต้องมีทั้งความรู้และความเข้าใจเป็นอย่างดี ในด้านวิชาการแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทคือ
๑. วิชาการทางโลก คือวิชาความรู้ที่ครูแต่ละท่านสอนเป็นประจำซึ่งอาจจะเป็นวิชาสามัญทั่วไป เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ฯลฯ หรือวิชาการอาชีพ เช่น วิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ วิชาการตลาด เป็นต้น
วิชาการทางโลกนี้ ครูอาจารย์แต่ละคนย่อมมีความรู้ ความเข้าใจและความถนัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการศึกษาเล่าเรียนและความสนใจของครูเอง
๒. วิชาการทางธรรม คือวิชาความรู้เกี่ยวกับศีลธรรมคุณธรรมจริยธรรมในพระพุทธศาสนาครูอาจารย์ทุกคนจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจทางธรรมอย่างถูกต้องลึกซึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เรื่องมรรคมีองค์๘เพื่อยึดเป็นหลักในการครองชีวิตของตนให้ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิเป็นคนดีมีศีลธรรมและคุณความดีต่างๆซึ่งครูผู้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติจะขาดเสียมิได้
ส่วนที่เป็นศิลป์ของครูหรือวิชาครูก็คือ ทั้งความรู้ผนวกกับความสามารถของครูในการทำหน้าที่เหล่านี้ คือ
๑) ปลูกฝังอบรมศิษย์ให้เกิดคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการ คือ ความเคารพ ความอดทน ความมีวินัยจนติดเป็นนิสัย
๒) ปลูกฝังอบรมศิษย์ให้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพ
๓) ครูต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมได้ทุกเรื่องที่ครูสั่งสอนศิษย์ มิฉะนั้นไม่เฉพาะคำสั่งสอนในด้านคุณธรรมเท่านั้นแม้คำสอนด้านวิชาการทางโลกของครูก็พลอยไม่ศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วยเพราะศิษย์ขาดความเคารพและความศรัทธาในตัวครูเช่นครูที่ตำหนิศิษย์ซึ่งพูดจาหยาบคายด้วยผรุสวาจาคำตำหนิของครูย่อมทำให้ศิษย์ของครูทุกคนที่ได้ยินได้ฟังรู้สึกขบขันอยู่ในใจและศิษย์ที่ถูกตำหนิก็อาจจะไม่คิดแก้ไขปรับปรุงวาจาของตนทั้งนี้เพราะศิษย์ทั้งหลายได้ประเมินจากพฤติกรรมของครูตามที่ครูได้แสดงออกเรียบร้อยแล้ว
อนึ่ง ครูที่สอนวิชาการทางโลก ต้องคิดว่าการปลูกฝังอบรมศิษย์ให้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมล้วนเป็นหน้าที่ของครูทุกคนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามิใช่เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาหรือวิชาศีลธรรมเพียงลำพังเท่านั้น
ตามธรรมดาการเรียนการสอนวิชาการทางโลกนักเรียนจะคิดว่าเรียนเพื่อให้สอบได้ก็พอแล้วเพราะในขณะที่เรียนก็ยังไม่รู้ว่าตนจะเอาความรู้นั้นไปใช้อย่างไรต่อเมื่อจบการศึกษาเข้าไปสู่อาชีพการงานแล้วจึงจะรู้ว่าตนจะต้องใช้ความรู้ทางวิชาการเรื่องใดบ้างเมื่อถึงเวลานั้นจึงค่อยย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่เคยเรียนมาหรือค้นหาจากอินเทอร์เน็ตซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากดังนั้นการสอนวิชาการทางโลกครูจึงไม่จําเป็นต้องพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงแต่อธิบายให้ศิษย์เข้าใจความคิดรวบยอดแต่ละเรื่องแต่ละบทก็เป็นอันยุติได้
แต่สำหรับเรื่องการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์เป็นคนดี มีคุณธรรมพื้นฐานครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นคนใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพของตนเองจนเป็นนิสัยนั้นครูประจำวิชาทุกคนต้องร่วมมือกันสละแรงกายแรงใจพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกพร้อมทั้งต้องให้ทำกิจกรรม๕ห้องชีวิตตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบระดับอุดมศึกษาจึงจะมั่นใจได้ว่าศิษย์แต่ละคนจะมีนิสัยเป็นคนดีที่โลกต้องการตามปรารถนาสามารถตั้งตนได้พึ่งตนได้ไม่เป็นกาฝากสังคมขณะเดียวกันก็สามารถเป็นที่พึ่งให้พ่อแม่ญาติพี่น้องได้และถ้ามีศักยภาพสูงพอย่อมเป็นที่พึ่งให้แก่สังคมและประเทศชาติได้พร้อมกันนั้นก็มีความเข้าใจถูกว่าการละเว้นบาปกรรมทุกชนิดและการบำเพ็ญกุศลกรรมทุกรูปแบบ คือ การปิดนรกและเปิดสวรรค์ให้แก่ตนเองหลังจากละโลกไปแล้วด้วย
ศักยภาพของครูที่สามารถปลุกปั้นให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายมีคุณลักษณะดังกล่าวนี้แหละคือ ศิลป์ของครู ครูผู้ได้ชื่อว่าปูชนียาจารย์ก็คือครูผู้ที่มีศิลป์หรือมีฝีมือปั้นบรรดาศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าให้มีทั้งความรู้และความประพฤติดีงามออกมาเป็นมิตรแท้แก้ไขสังคมให้สงบร่มเย็นศาสตร์และศิลป์ของครูจึงมีความแตกต่างกับอาชีพอื่นๆดังแสดงในตารางต่อไปนี้
ตารางที่ ๗-๑ ความแตกต่างระหว่างศาสตร์และศิลป์ของครูกับอาชีพอื่นๆ
ศาสตร์ | ศิลป์ | ||
อาชีพครู | อาชีพอื่น | อาชีพครู | อาชีพอื่น |
ต้องมีวิชาความรู้ | ต้องมีวิชาความรู้ | สามารถใช้ความรู้สร้างงานและรักษาสุขภาพได้ | สามารถใช้ความรู้สร้างงานและรักษาสุขภาพได้ |
ต้องมีวิชาธรรม | ไม่บังคับวิชาธรรม | นำธรรมมาปฏิบัติจนเป็นต้นแบบแก่ศิษย์ได้ | ไม่บังคับ |
ต้องมีวิชาครู | ไม่บังคับวิชาครู |
สามารถใช้วิชาชีพครู ๑) อบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ๒) อบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีนิสัยใฝ่ทำดี ๓) อบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีนิสัยใฝ่รักษาสุขภาพ |
ไม่บังคับ |
ตามทรรศนะและความคิดเห็นของผู้คนส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาในปัจจุบันมักจะมองว่าสภาพสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบันความรู้ด้านวิชาการทางโลก มีความสำคัญและจำเป็นต่อผู้คนมากกว่าความรู้ทางธรรมแต่จากธรรมบรรยายเรื่อง ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู ที่กำลังจะจบลงนี้ ท่านผู้อ่านคงพอจะมองเห็นแล้วว่า ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ความรู้ทางธรรมย่อมมีความสำคัญมากกว่าความรู้ทางโลกมากมายนักเพราะความรู้ทางธรรมสามารถส่งเสริมบุคคลให้นำความรู้ทางโลกที่ตนมีมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ความรู้ทางโลกแทบจะไม่สามารถส่งเสริมความรู้ทางธรรมได้เลย ดังนั้นคนที่มีความรู้ทางโลกมากมาย แต่ขาดความรู้ทางธรรม จึงมีลักษณะดังสำนวนที่ว่า มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด นั่นเอง
การถ่ายทอดความรู้ของพระบรมครู
ตลอดเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการที่พระบรมครูคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงอุทิศพระวรกายตระเวนไปยังท้องถิ่นต่างๆในชมพูทวีปเพื่อตรัสเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงถ่ายทอดความรู้อะไรบ้าง
สิ่งแรกที่ชาวพุทธต้องรู้คือ พระองค์ทรงถ่ายทอดความรู้ที่ทรงค้นพบจากการตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีครูสั่งสอนความรู้ที่ตรัสรู้นั้นเป็นความรู้แจ้งเห็นแจ้งอันวิเศษเหนือสัตวโลกทั้งปวงทรงรู้และเชี่ยวชาญในวิธีปฏิบัติเป็นอย่างดีอีกทั้งได้พิสูจน์ด้วยพระองค์เองแล้วว่ามีอานิสงส์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติถึง ๓ ระดับ คือ
๑. ระดับต้น ผู้ปฏิบัติย่อมมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขในโลกนี้ เพราะตั้งตนตั้งฐานะได้ สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ตนและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
๒. ระดับกลาง ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถไปสู่สุคติเพื่อเสวยสุขอันเป็นทิพย์อยู่ในสวรรค์อย่างแน่นอน หลังจากละโลกไปแล้ว
๓. ระดับสูง ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถกำจัดกิเลสที่แอบแฝงแนบแน่นอยู่ในใจตนมานานแสนนาน ให้หมดสิ้นไปได้โดยเด็ดขาด นั่นคือบรรลุความหลุดพ้น เข้าถึงพระนิพพาน พ้นจากวงจรแห่งวัฏสงสารชั่วนิรันดร์
ครูพึงดำเนินรอยตามพระบรมครู
การถ่ายทอดความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พุทธบริษัททั้งหลายนั้น พระองค์ทรงดำเนินตามหลักการที่ว่า ทรงรู้ทรงเห็นอะไรก็สอนเรื่องนั้น ทรงปฏิบัติอย่างไรได้ผลจริงก็สอนให้ปฏิบัติอย่างนั้นมิได้ทรงยึดหลักฐานจากแหล่งข้อมูลใดๆมาอ้างอิงโดยมิได้เคยปฏิบัติให้ทรงเห็นผลจริงมาก่อนเลย
การทำหน้าที่ปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยดีๆให้แก่ศิษย์ของครูก็เช่นเดียวกัน จึงดำเนินรอยตามพระบรมครู โดย
๑. ฝึกอบรมตนให้สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรมพื้นฐานและการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพจนเป็นนิสัยประจำใจทั้งนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณธรรมและสั่งสมบุญบารมีให้แก่ตนเองแล้วยังเป็นการเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับนำไปปลูกฝังอบรมคุณธรรมให้แก่ศิษย์จนเกิดเป็นนิสัยให้สำเร็จอีกด้วย
๒. ชี้แนะให้ศิษย์เข้าใจถึงเป้าหมายของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ว่า ต่างเกิดมาเพื่อสั่งสมแต่บุญบารมีโดยไม่ยอมสร้ากงบาปรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อปิดประตูนรกให้แก่ตนเองโดยสิ้นเชิง
๓. ปลูกฝังอบรมศิษย์ให้ปฏิบัติตามสัมมาทิฐิ ๑๐ อยู่เป็นนิจ ซึ่งจะช่วยให้ศิษย์เกิดปัญญาเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมได้ดียิ่งขึ้นอันจะยังผลให้ศิษย์เกิดหิริโอตตัปปะเกิดโยนิโสมนสิการแล้วตั้งใจสั่งสมบุญบารมีอย่างต่อเนื่องเต็มที่
๔. ฝึกให้ศิษย์รักการทำสมาธิจนเป็นนิสัย ย่อมจะทำให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายมีจิตใจบริสุทธิ์สะอาดยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งดีๆตามมาอีกหลายประการ ที่สำคัญคือคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการ ได้แก่ ความเคารพ ความอดทนและความมีวินัยตลอดจนนิสัยใฝ่เรียนรู้ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพซึ่งนอกจากจะทำให้ครูเบาใจในเรื่องการฝึกฝนอบรมแล้วเด็กๆยังจะมีความเคารพรักและเชื่อฟังครูมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะฝึกศิษย์ให้รักการทําสมาธิภาวนาครูต้องมีประสบการณ์ในการทำสมาธิภาวนามามากพอสมควร เพื่อให้สามารถชี้แนะหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนาให้แก่ศิษย์ได้
๕. ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักตั้งเป้าหมายชีวิตให้ครบทั้ง ๓ ระดับ เพื่อเป็นแผนผังในการดำเนินชีวิตตลอดไปทุกภพทุกชาติ
มรรคมีองค์ ๘ คือหนทางอันเกษม
ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนยากจนข้นแค้นหรือร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีระดับใดก็ตาม คงประจักษ์แก่ใจแล้วว่า การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มีทุกข์มากกว่าสุข บางคนก็อาจจะได้พบแต่ความระทมทุกข์จนไม่เคยรู้จักว่าความสุขเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องสู้ทนทุกข์เรื่อยไปเพราะไม่รู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ บางคนที่ทนไม่ไหวก็ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี
นับแต่ก่อนสมัยพุทธกาลนานมาแล้ว ได้มีนักคิดนักปราชญ์มากมายเฝ้าคิดหาวิธีดับทุกข์เรื่อยมา แต่ก็ยังไม่มีท่านใดค้นพบวิธีดับทุกข์หรือพาตนให้พ้นไปจากทุกข์ได้เลย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงเป็นบุคคลหนึ่ง ซึ่งแสวงหาวิธีพ้นทุกข์มาเป็นเวลานานกว่า ๒๐ อสงไขยกัป ในที่สุดก็ทรงพบว่า การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ สามารถทำให้พระองค์กำจัดกิเลสที่แฝงแนบแน่นอยู่ในพระทัยให้หมดสิ้นไปได้ ยังผลให้ทรงบรรลุความหลุดพ้นหรือพ้นทุกข์ หยุดการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้โดยเด็ดขาดด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงเรียก มรรคมีองค์ ๘ ว่าทางอันเกษม นั่นคือ ทรงรับประกันว่าบุคคลที่ดำเนินชีวิตตามหลักมรรคมีองค์ ๘ แม้จะยังกำจัดกิเลสได้ไม่หมดก็ย่อมประสบกับความสุขมากกว่าความทุกข์อย่างแน่นอน
มรรคมีองค์ ๘ นั้นมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ๑) ระดับต้นหรือระดับโลกิยะ
๒) ระดับสูงหรือระดับโลกุตตระ
มรรคมีองค์ ๘ ระดับโลกิยะเป็นหลักปฏิบัติสำหรับปุถุชนคนทั่วไปที่ยังมีกิเลสหนาส่วนระดับโลกุตตระเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพระอริยบุคคลที่มีกิเลสเบาบางลงมากแล้วและอาจบรรลุอรหัตผลได้ในชาติใดชาติหนึ่งอย่างแน่นอน
สําหรับมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นระดับโลกิยะที่ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยประจำใจย่อมสามารถกำจัดทุกข์ให้เบาบางลงได้แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของแต่ละคน
ดังนั้นจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้หันมาสนใจศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ให้เข้าใจอย่างถูกต้องลึกซึ้งแล้วลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องหากมีปัญหาประการใดก็พึ่งแก้ปัญหาตามหลักวุฒิธรรม ๔
ครั้นเมื่อได้รับความกระจ่างแล้วก็พึงปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้ต่อเนื่องรอบแล้วรอบเล่าในที่สุดท่านก็จะได้ประจักษ์แก่ใจตนว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษมจริง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านมุ่งมั่นปฏิบัติยิ่งๆขึ้น
แน่นอนเหลือเกินว่าเมื่อท่านประสบผลดีและความสุขจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประสบการณ์ภายในอันวิเศษจากการเจริญสัมมาสมาธิแล้วท่านก็มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่สมาชิกในครอบครัวให้แก่บรรดาเพื่อนครูและลูกศิษย์ในโรงเรียนของท่าน
ขอรับรองว่าการทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่บรรดาลูกศิษย์นั้นง่ายกว่าบรรดาสมาชิกในครอบครัวมาก เพราะลูกศิษย์ทั้งหลายย่อมมีความเคารพครูเป็นทุนเดิมอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง
หากครูในโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศของเราเป็นผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์มีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้จริงและทำหน้าที่กัลยาณมิตรควบคู่กับการทำหน้าที่ครูตลอดเวลาด้วยคิดว่าตนเองกำลังสร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ประเทศชาติอีกไม่นานเกินรอเราคงจะได้เห็นเยาวชนทั่วประเทศเป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีความเคารพ ความอดทนและมีวินัย เป็นคลื่นลูกใหม่ตามกันมาไม่ขาดสายและในบั้นปลายชีวิตเราก็จะอยู่อย่างเป็นสุขสดชื่นท่ามกลางบุคคลเหล่านี้ซึ่งเรามีส่วนอย่างมากในการสร้างเขาขึ้นมาอย่างทะนุถนอม
ด้วยเหตุนี้ ความสงบสุขก็จะเข้ามาแทนที่ ความเป็นมิตรแท้ก็จะเข้ามาแทนมิตรเทียมทั้งหลาย ทำให้สภาพสังคมไทยที่สับสนวุ่นวายดังทุกวันนี้อันตรธานไปอย่างแน่นอน
ความคิดนี้จะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั่วประเทศ เลิกคิด เลิกเชื่อ เลิกยึดถือถ้อยคำที่ขาดความสร้างสรรค์ว่าอาชีพครูเสมือนคนพายเรือจ้างแต่มีความคิดใหม่ว่าครูคือผู้เดินตามรอยพระโพธิสัตว์แล้วพร้อมใจกันลุกขึ้นมาปฏิรูปการทำงานแบบเดิมๆของตนเสียใหม่ตามหลักมรรคมีองค์ ๘
แนวคิดสำหรับการฟื้นฟูการศึกษา
หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงบทสุดท้ายนี้แล้วเชื่อมั่นว่าผู้อ่านทุกคนคงจะมองเห็นตรงกันแล้วว่า ปัญหาสับสนวุ่นวายต่างๆในสังคมไม่เฉพาะในบ้านเมืองเราแม้ในประเทศต่างๆทั่วโลกล้วนมีเหตุปัจจัยพื้นฐานสำคัญยิ่งมาจากการที่ผู้คนส่วนใหญ่ขาดศีลธรรมหรือจะขอเรียกว่า มีปัญหาศีลธรรม และเหตุปัจจัยสำคัญของปัญหาศีลธรรมก็คือ ปัญหาการจัดการศึกษา มิใช่ปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองอย่างที่ผู้คนทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์กัน
แต่ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองตลอดจนปัญหาสังคมนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการจัดการศึกษา ได้แก่ การจัดการศึกษาที่ขาดความสมดุลระหว่างวิชาการทางโลกและทางธรรมกล่าวคือเน้นความสําคัญด้านวิชาการทางโลกมากกว่าด้านวิชาการทางธรรมผลิตผลของการจัดการศึกษาเช่นนี้ก็คือ มิตรเทียมที่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงทุกอย่างในสังคมปัจจุบัน
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคมปัจจุบันเกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ตราบใดที่ยังหาต้นตอปัญหาที่แท้จริงไม่พบ ได้แต่คาดเดาว่าน่าจะเป็นปัญหานั้นปัญหานี้ แล้วลงมือแก้ไขก็จะไม่มีทางสำเร็จได้เลยมีแต่จะเพิ่มปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก เข้าทำนองลิงติดตังฉะนั้น
อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ขอยืนยันว่า ปัญหาที่ทำให้สังคมโลกวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ปัญหาศีลธรรม ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาศีลธรรมด้วยการฟื้นฟูการศึกษาอย่างจริงจัง ปัญหาอื่นๆจะค่อยๆลดลงและจะหมดไปในที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ใครบ้างจะเข้ามาร่วมมือในการฟื้นฟูการศึกษา
ความสำเร็จของผู้ฟื้นฟูการศึกษา
ก่อนอื่นขอเรียนว่า การแก้ปัญหาการศึกษาหรือฟื้นฟูการศึกษาไม่สามารถกระทำได้สำเร็จตามลำพังบุคคลหรือคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้นจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างบุคคลในทิศ ๖ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับอาชีพทุกๆ ชุมชนทั่วทั้งประเทศและกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มครู ๓ ประเภท คือครูที่บ้าน วัดและโรงเรียน
อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูการศึกษาจะสัมฤทธิผลได้จริงย่อมขึ้นอยู่กับแนวคิดและวิธีปฏิบัติของครูทั้ง ๓ ประเภท ดังนี้
๑. ครูที่บ้าน คือผู้เป็นบิดามารดา แนวคิดที่บรรดาพ่อแม่ทั้งหลายจึงยึดเป็นหลักปฏิบัติคือ
๑) ต้องรู้หน้าที่ของกลุ่มบุคคลในทิศ ๖ แต่ละทิศเป็นอย่างดีเพื่อว่าตนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเมื่ออยู่ในฐานะทิศต่างๆได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่บุตรของตน
๒) ต้องรู้หน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นทิศเบื้องหน้าของบุตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ในข้อ ๑ และ ๒
หน้าที่ในข้อ ๑ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว หน้าที่ในข้อ ๒ คือ ให้ตั้งอยู่ในความดี
การทําหน้าที่ทั้ง ๒ ข้อนี้อาจทำได้พร้อมกัน กล่าวคือเมื่อห้ามบุตรไม่ให้ทำความชั่ว ก็คือห้ามทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ในขณะเดียวกันก็สอนให้ทำกุศลกรรมบถ ๑๐ ไปพร้อมๆกันเช่นเมื่อพ่อแม่ต้องการอบรมสั่งสอนบุตรมีให้พูดเท็จหรือแก้ไขบุตรที่พูดเท็จให้บุตรรู้ถึงโทษภัยและบาปกรรมทั้งในปัจจุบันและภพชาติต่อไปของการพูดเท็จและคุณของวจีสุจริตที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันพร้อมทั้งอานิสงส์ก็พึงสอนที่ตนจะได้รับในภพชาติต่อไป
ถ้าพ่อแม่พร่ำสอนบุตรอยู่เสมอ ในที่สุดบุตรก็จะเข้าใจและไม่เผลอสติที่จะกล่าวเท็จหรือวจีทุจริต นั่นคือนิสัยดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับบุตร
การพร่ำสอนทั้งอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถข้ออื่นๆในทำนองเดียวกันนี้ ในที่สุดบุตรก็จะประพฤติแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นนิสัย
๓) ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง กรอบมาตรฐานศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ๑๔ ประการ คือ กรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ และอบายมุข ๖
กล่าวคือผู้เป็นพ่อแม่ต้องละเว้นจากพฤติกรรมที่ต้องห้ามทั้ง๑๔ ประการ เพราะตระหนักถึงโทษภัยเป็นอย่างดีพร้อมกันนั้นก็ต้องชี้โทษภัยที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันตลอดจนผลของบาปกรรมที่จะบังเกิดขึ้นในภพชาติต่อไปให้บุตรเข้าใจขณะเดียวกันก็ต้องคอยติดตามสังเกตอยู่เสมอว่าบุตรมีพฤติกรรมที่ต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๔ ประการหรือไม่ ถ้ามีก็จําเป็นต้องรีบแก้ไข
๔) แนวคิดในการปฏิบัติของพ่อแม่ทั้ง ๓ ข้อดังกล่าวต้องนำมาปฏิบัติจริงใน ๔ ห้องแห่งชีวิต (ไม่รวมห้องทำงาน) ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
สำหรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติทั้ง ๔ ข้อดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของครูประเภทที่ ๑ คือพ่อแม่
นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันในห้องต่างๆอีกมากมายหลายอย่างสำหรับกิจกรรมเหล่านี้มีแนวคิดสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑)ต้องฝึกให้บุตรลงมือทำด้วยตนเองตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆเนื่องจากเด็กวัยนี้อยู่ในวัยซุกซนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้เด็กซุกซนอย่างไร้ประโยชน์พ่อแม่ก็พึงหันเหความสนใจให้บุตรมาทำกิจกรรมเป็นเรื่องสนุกสนาน
๒) ต้องให้บุตรลงมือทำกิจกรรมพร้อมกับผู้ใหญ่ คือผู้เป็น พ่อหรือแม่ หรือคนใดคนหนึ่งแล้วแต่กรณี เช่น การสวดมนต์ ไหว้พระฯลฯก็ชวนให้บุตรทำพร้อมกับพ่อแม่หรือสมาชิกทุกคนในบ้านการทำความสะอาดห้องน้ำก็ชวนให้บุตรทำพร้อมกับพ่อหรือแม่ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่เด็กจะได้เรียนรู้วิธีทำความสะอาดอย่างถูกต้องเหมาะสมขณะเดียวกันก็รู้สึกสนุกสนานในการทำความสะอาดห้องน้ำโดยไม่มีความคิดว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
ถ้าบุตรได้ฝึกทำกิจกรรมประจำห้องต่างๆ ในบ้านร่วมกับผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เป็นประจำ ในที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัย ครั้นเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะเกิดสํานึกว่าเป็นหน้าที่และเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งตนจะต้องกระทำโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เข้ามาช่วยเหลือหรือเคี่ยวเข็ญให้ทำ
การฝึกให้บุตรทำกิจกรรมดังกล่าวนี้จนเกิดเป็นนิสัยที่ดีงามถือได้ว่าเป็นศิลป์ของครูประเภทที่ ๑ อย่างแท้จริงสิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างสมาชิกทั้งหมดในครอบครัวตราบใดที่ครอบครัวเป็นครอบครัวอบอุ่นปัญหาครอบครัวแตกสลายย่อมไม่เกิดขึ้น นั่นคือครอบครัวมีความสงบสุขอย่างแท้จริงผลที่สืบเนื่องตามมาก็คือสังคมสันติสุขและสันติภาพโลกในที่สุด
๒. ครูที่โรงเรียน
เนื่องจากมีคำอธิบายเกี่ยวกับครูประเภทที่ ๒ อย่างสมบูรณ์แล้วจึงไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้อีก
๓. ครูที่วัด ได้แก่ พระภิกษุ
เพราะเหตุที่พระภิกษุทั้งหลายอยู่ในฐานะทิศเบื้องบน มีหน้าที่ตามพุทธกำหนดในข้อ ๑ และข้อ ๒ เหมือนกับครูที่บ้านแต่หน้าที่ที่พิเศษสูงส่งกว่าทิศอื่นๆก็คือเป็นผู้ชี้ทางสวรรค์โดยหน้าที่ดังกล่าวนี้ย่อมเป็นเสมือนหนึ่งกฎกติกาที่บังคับให้พระภิกษุทั้งหลายจำเป็นต้องพากเพียรฝึกตนให้สมบูรณ์พร้อมด้วยภูมิรู้ภูมิธรรมมีวิชชาจรณะสมควรแก่การได้รับความเคารพนับถือยกย่องกราบไหว้บูชาจากทิศทั้ง ๖ ดังนั้นพระภิกษุจึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งต้นแบบและที่ปรึกษาด้านศีลธรรมให้แก่ญาติโยม
จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ครูประเภทที่ ๒ หลังจากที่ค้นพบว่าพระภิกษุรูปใดสมบูรณ์พร้อมด้วยภูมิรู้ภูมิธรรมก็พึ่งพาบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายไปขอรับการอบรมสั่งสอนจากท่านหรือในบางครั้งก็อาจนิมนต์ท่านมาเทศนาสั่งสอนที่โรงเรียนในกรณีนี้ทั้งครูและนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาหรือได้รับการอบรมสั่งสอนพร้อมกันซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากภูมิรู้ภูมิธรรมตลอดจนเทคนิควิธีในการแสดงพระธรรมเทศนา ย่อมถือได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของครูประเภทที่ ๓
อนึ่งแม้พระพุทธศาสนาจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุและผลพระธรรมคำสั่งสอนสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักแห่งเหตุและผลก็ตามแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิรู้ภูมิธรรมของผู้พิสูจน์ด้วย ขณะที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็อาจเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องกฎแห่งกรรมเรื่องนรกสวรรค์ เป็นต้น
ถึงแม้ครูประเภทที่ ๑ และ ๒ จะมีความรู้ความเข้าใจและมีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนาก็ตามแต่คำสอนในเรื่องดังกล่าวของครู ๒ ประเภทนี้ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าของครูประเภทที่ ๓ ซึ่งจะเป็นผู้ยืนยันเรื่องการออกผลของกรรม เรื่องโลกนี้ โลกหน้า นรก สวรรค์ นิพพานตลอดจนพระคุณของมารดาบิดาเหล่านี้คือหน้าที่อันวิเศษของครูประเภทที่ ๓ ซึ่งจะสามารถสร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้แก่เด็กๆไปตลอดชีวิต เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นศิลป์ของครูประเภทที่ ๓ โดยแท้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวการทำกิจกรรมต่างๆบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นการพานักเรียนไปฟังเทศน์ที่วัดหรือการนิมนต์พระภิกษุมาแสดงพระธรรมเทศนาที่โรงเรียนย่อมเป็นการปลูกฝังศรัทธาในพระรัตนตรัยและพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีและเพื่อให้การปลูกฝังศรัทธาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ครูก็ควรพานักเรียนไปบำเพ็ญประโยชน์ที่วัด ซึ่งมีกิจกรรมที่เด็กนักเรียนจะสามารถช่วยกันทําได้อย่างมากมาย
ต่อไปในภายภาคหน้าเด็กเหล่านี้ไม่ว่าหญิงหรือชายจะเป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในฐานะพุทธบริษัทที่แท้จริงซึ่งนอกจากจะยังผลให้พระพุทธศาสนายั่งยืนถาวรต่อไปนานแสนนานแล้วยังจะเป็นการสร้างความสงบร่มเย็นหรือสันติสุขให้แก่ประเทศชาติและโลกอย่างแน่นอนทั้งหมดนี้คือความสำเร็จของผู้ฟื้นฟูการศึกษา
สรุป
จากคำบรรยายในแต่ละบทที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่าคนเราจะดีได้และได้ดี จำเป็นต้องมีครูดี และครูจะดีได้ ก็เพราะได้ครูดีเป็นต้นแบบ
ครูดีที่สามารถเป็นต้นแบบให้แก่มนุษย์ทั้งหลายคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมครูของโลกซึ่งไม่มีผู้ใดในโลก ๓ เทียบเทียมพระพุทธองค์ได้
อนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายลองคิดทบทวนถึงผู้เผด็จศึกในการสู้รบในแต่ละแว่นแคว้นในประวัติศาสตร์โลกก็จะพบว่าเฉพาะผู้ที่รู้เขารู้เราเท่านั้นที่สามารถรบชนะศึกทุกครั้ง
ในการทำหน้าที่ปลูกฝังอบรมสั่งสอนศิษย์ก็มีหลักการเดียวกัน กล่าวคือ ผู้เป็นครูจำเป็นต้องรู้เขา ได้แก่ รู้จักกิเลส ซึ่งเป็นศัตรูที่แท้จริงของทุกคน และต้องรู้เรา ได้แก่ บุญ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญสำหรับปราบกิเลสโดยตรง
ดังนั้นในบรรดาคุณสมบัติ ๓ ประการของแม่พิมพ์ของชาติซึ่งกล่าวไว้ในบทที่ ๒ คือ
๑) การเป็นต้นแบบความรู้วิชาการทางโลก
๒) การเป็นต้นแบบด้านความประพฤติหรือด้านศีลธรรม
๓) การมีวิชาครูคุณสมบัติข้อ ๓ คือการมีวิชาครูถือว่าสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้อย่างถูกต้องลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องบุญและบาป หรือถ้าใช้สำนวนของนักรบก็คือสามารถรู้เขารู้เรานั่นเอง
ครูที่ขาดความรู้ในเรื่องนี้ย่อมยากที่จะเป็นครูดีผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพครูได้เพราะไม่รู้วิธีปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดคุณค่าอย่างยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติจึงมองไม่เห็นคุณค่าแห่งความเป็นครูของตนซ้ำร้ายกว่านั้นยังมองว่าอาชีพครูก็คล้ายๆกับคนพายเรือจ้างที่พาผู้คนข้ามฟากแม่น้ำยิ่งได้เห็นพฤติกรรมของผู้คนในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆและวัยรุ่นทั้งหลายซึ่งถูกครอบงำด้วยค่านิยมของมิตรเทียมอันสืบเนื่องมาจากวิชาการในระบบทุนนิยมของโลกปัจจุบันที่ปราศจากศีลธรรมกำกับสภาพการณ์เช่นนี้ในสังคมย่อมจะทำให้ครูบาอาจารย์ที่ขาดความรู้เรื่องบุญและบาปอย่างลึกซึ้ง รู้สึกท้อแท้ ทนปฏิบัติหน้าที่ไปวันต่อวันอย่างละเหี่ยเพลียใจ
อย่างไรก็ตามสำหรับคุณครูที่มีความรู้สึกดังกล่าว ขอเสนอแนะให้ท่านอ่านหนังสือเล่มนี้หลายๆเที่ยวแล้วท่านจะพบว่าอรรถาธิบายจากหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ท่านสามารถพัฒนาศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครูของตนเอง ให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นได้อย่างรวดเร็วอีกไม่นานนัก ท่านก็จะกลายเป็นคุณครูคนใหม่ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู ผู้มีความสุขในวิชาชีพของตนอย่างแน่นอน