บทที่ ๔
การศึกษาและการสอน
ความหมายของการศึกษา
ก่อนจะศึกษาเนื้อหาสาระของการศึกษาอย่างละเอียด ควรรู้ความหมายและความเกี่ยวเนื่องกันของคำทั้ง ๓ คำก่อน คือคำว่า การศึกษา การจัดการศึกษาและการสอน ซึ่งทั้ง ๓ คำมีความหมายดังนี้
๑. การศึกษา คือ การพัฒนาผู้เรียนทั้งทางกาย วาจา ใจให้เป็นผู้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพ การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีนิสัยดังกล่าวได้นั้นจะต้องมีการจัดการศึกษาและการสอนอย่างเหมาะสม
๒. การจัดการศึกษา คือ การดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนมีระเบียบแบบแผนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีนิสัย ๓ ประการ คือใฝ่เรียนรู้ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพ
โดยใช้กำลัง ๓ ประเภท คือ
๑) กำลังบุคลากร ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู พ่อแม่ พระภิกษุและชุมชน
๒) กำลังทรัพยากร ประกอบด้วยเงิน อาคาร สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ และ
๓) กำลังความรู้ ประกอบด้วยนโยบาย หลักสูตร การบริหารจัดการ การติดตามและประเมินผล ผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาก็คือผู้บริหาร
๓. การสอน ในที่นี้หมายถึงการดูแลเอาใจใส่แนะนำ สั่งสอน ฝึกฝนอบรมผู้เรียนให้มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตให้เหมาะสมต่อการประกอบคุณงามความดีต่างๆได้เต็มที่ในฐานะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ผู้รับผิดชอบการสอนโดยตรงก็คือครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนต่างๆ โดยมีพ่อแม่ พระภิกษุ ชุมชนให้การสนับสนุน
วัตถุประสงค์ของการศีกษา
เพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริงจึงกำหนดวัตถุประสงค์ในการศึกษา ไว้ดังนี้
๑. เพื่อพัฒนานิสัยใฝ่เรียนรู้ให้มีประสิทธิผล ด้วยการฝึกหัดอบรมผู้เรียนให้
๑) รู้จักวิธีแสวงหาความรู้จากสาระการเรียนรู้
๒)เมื่อรู้แล้วก็นำความรู้นั้นมาพิจารณาไตร่ตรองจนเกิดความเข้าใจ๓)เมื่อเข้าใจแล้วก็ฝึกลงมือปฏิบัติตามที่เข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการทํางานอย่างแท้จริงตามสาระการเรียนรู้นั้นๆจนเกิดทักษะและความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้โดยฝึกตามหลักวุฒิธรรม ๔ ให้เหมาะกับเพศและวัยของผู้เรียน
๒. เพื่อพัฒนานิสัยใฝ่ทำดีให้มีประสิทธิผล ซึ่งประกอบด้วยนิสัยรับผิดชอบ ๔ ประการคือ
๒.๑ นิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมในตน โดยไม่ทําลายตนเองด้วยการเว้นกรรมกิเลส ๔ คือ
๑) ไม่ฆ่าสัตว์
๒) ไม่ลักทรัพย์
๓)ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔) ไม่พูดเท็จ
๒.๒ นิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมสังคม โดยไม่ทำลายสังคมด้วยการเว้นอคติ ๔ คือ
๑) ไม่ลำเอียงเพราะรัก
๒) ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓) ไม่ลำเอียงเพราะเขลา
๔) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๒.๓ นิสัยรับผิดชอบต่อศีลธรรมเศรษฐกิจ โดยไม่ทำลายเศรษฐกิจตนเองด้วยการเว้นอบายมุข ๖ คือ
๑) ไม่เสพสุรายาเสพติด
๒) ไม่เที่ยวกลางคืน
๓) ไม่เที่ยวดูมหรสพ
๔) ไม่เล่นการพนัน
๕) ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร
๖) ไม่เกียจคร้านการงาน
๒.๔ นิสัยรับผิดชอบต่อการสร้างมิตรแท้ให้สังคม โดยร่วมสร้างสังคมดีด้วยการปฏิบัติหน้าที่ประจำทิศ ๖ ได้แก่ ทิศเบื้องหน้าคือบิดมารดาทิศเบื้องขวาคือครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องหลังคือบุตร-ธิดาและภรรยา-สามี ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่างคือบริวารทิศเบื้องบนคือสมณะ โดยอาศัยสังคหวัตถุ ๔ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกๆ คนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
๓. เพื่อพัฒนานิสัยใฝ่รักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิผล เหมาะต่อการประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ ได้เต็มที่
ธรรมชาติการอยู่ร่วมกันในสังคมกับการปลูกฝังคุณธรรม
เพื่อให้ผู้เรียนมีนิสัยดีทั้ง ๓ ประการตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ นิสัยใฝ่เรียนรู้นิสัยให้ทำดี และนิสัยใฝ่รักษาสุขภาพ ขณะดำเนินการเรียนการสอนอยู่นั้นผู้สอนจำเป็นต้องฝึกหัดอบรมผู้เรียนให้เปิดใจให้กว้างและเต็มใจยอมรับความจริงตามธรรมชาติในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วยการบริหารจิตหรือเจริญภาวนาซึ่งเป็นความดีสากลเป็นประจำ เพื่อให้สามารถประจักษ์แจ้งความจริงด้วยตนเองว่า
๑. ไม่มีบุคคลใดในโลกที่สมบูรณ์พร้อม กล่าวคือ แต่ละคนต่างยังมีข้อบกพร่องทั้งการกระทำและความประพฤติไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ซึ่งต้องการการแก้ไข เพราะต่างยังเป็นปุถุชนคือคนมีกิเลสหนาด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นทุก ๆ คนจึงต้องฝึกตนไม่ให้ดูถูก ดูหมิ่นใคร ไม่ว่าจะอยู่ในเพศ ภาวะหรือฐานะใด ๆ รวมทั้งไม่ดูถูกตนเองอีกด้วย
๒. ทุกชีวิตอยู่ตามลำพังตนเองไม่ได้ ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ยิ่งกว่านั้นหากมีเหตุการณ์สำคัญๆ หรือรุนแรงใดๆเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชาวโลกทั้งโลกย่อมต้องการความร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น
นอกจากฝึกการเจริญภาวนา เพื่อประสิทธิผลในการเห็นความเป็นจริงตามธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคมทั้ง ๒
ประการดังกล่าว
ครูยังต้องฝึกหัดอบรมผู้เรียนด้วยความจริงจังและจริงใจให้ผู้เรียนมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมประจำใจขั้นพื้นฐานให้มั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ๓ ประการ คือ
๑) ความเคารพ
๒) ความอดทน
๓) ความมีวินัย
๑) ความเคารพ หมายถึง ความยอมรับและนับถือในคุณความดีที่มีอยู่จริงในตัวบุคคล วัตถุ ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆแล้วประพฤติต่อบุคคล วัตถุ และเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยอาการยกย่อง เชิดชู เลื่อมใส
สิ่งที่ควรแก่การฝึกอบรมผู้เรียนให้มีความเคารพตั้งแต่ยังเยาว์คือ
๑. เคารพพระรัตนตรัย ซึ่งประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แล้วยึดถือไว้เป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุดอย่างแท้จริงตลอดชีวิต
๒. เคารพบิดา มารดา ครู อาจารย์
๓. เคารพการศึกษา
๔. เคารพสมาธิ
๕. เคารพความไม่ประมาท
๖. เคารพการปฏิสันถาร
ต้องฝึกผู้เรียนให้เปิดใจค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในสิ่งหรือบุคคลที่พึงเคารพนั้นๆ ให้พบ ครั้นพบแล้วก็ไม่อยู่นิ่งเฉยต้องแสดงออกถึงความยอมรับและนับถือด้วยการแสดงความอ่อนน้อมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจในทุกๆโอกาส พร้อมทั้งหมั่นบันทึกความดีนั้นๆเอาไว้เตือนใจ และน้อมเอาความดีนั้นๆไปปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณความดีเช่นนั้นขึ้นในตนด้วย
นิสัยมีความเคารพนี้ ถ้าปลูกฝังให้เกิดขึ้นแก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยย่อมเกิดคุณแก่เด็ก คือ มีความน่ารัก น่าเอ็นดู น่าทะนุถนอม ใครเห็นก็มีความรักใคร่เอ็นดูในความนอบน้อม ไม่จับผิดผู้ใด ทุกคนจึงมีกำลังใจที่จะอบรม สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้วิชาการ และนิสัยดีงามให้เมื่อเด็กได้รับการทุ่มเทดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทั้งในด้านความรู้และความดีจากผู้ใหญ่และผู้อยู่รอบข้าง ก็จะมีโอกาสสั่งสมความรู้และความดีไว้ได้แต่เยาว์วัย ครั้นเติบใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ใครๆ ต่างก็มอบความเคารพความไว้วางใจ และความยกย่องนับถือให้ ด้วยมั่นใจว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่เป็นพิษภัยใดๆ มีแต่จะสร้างคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นตลอดไป
๒) ความอดทน หมายถึง ความสามารถในการรักษาใจให้ปกติไม่ว่าจะประสบกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ยังยืนหยัดสร้างคุณงามความดีที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพราะมีนิสัยไม่ท้อถอยไม่ยอมล้มเลิกกลางคันเมื่อประสบอุปสรรค
ความอดทนที่ทําให้สามารถรักษาใจให้ปกติได้มี ๔ ลักษณะ คือ
๑. อดทนต่อความลำบาก ได้แก่ อดทนต่อความไม่เอื้ออำนวยของธรรมชาติ เช่น แดด ลม ฝน ฯลฯ แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป
๒. อดทนต่อความทุกขเวทนา ได้แก่ อดทนต่อความทุกข์อันเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป
๓. อดทนต่อความเจ็บใจ ได้แก่ อดทนต่อการกระทําล่วงเกินของผู้อื่นด้วยการปล่อยวางและให้อภัย ไม่ผูกใจเจ็บ แล้วตั้งใจทำความดีต่อไป
๔. อดทนต่อความเย้ายวน ได้แก่ อดกลั้นต่อความอยากหรือกิเลสของตนเอง เช่น อยากเล่นการพนัน อยากเที่ยวกลางคืน ฯลฯ แล้วตั้งใจทําความดีต่อไป
เพื่อให้ผู้เรียนมีความอดทนต้องฝึกอบรมผู้เรียนให้
๑) พิจารณาคุณ โทษ และประโยชน์ของความอดทน
๒) ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
๓) ทำใจยอมรับความบกพร่องทางนิสัยใจคอ ความรู้ความสามารถของผู้อื่นแล้วให้อภัย
๔) เร่งฝึกฝนตนเองให้ใฝ่รู้ใฝ่ดีมีความสามารถรอบด้านยิ่งๆ ขึ้น
๕) ทำสมาธิภาวนามากๆ เพื่อเพิ่มกำลังใจตนเองให้สามารถหักห้ามใจไม่ยอมทำความผิด ความชั่วใด ๆ
นิสัยอดทนเป็นบ่อเกิดแห่งความขยัน และความสงบเยือกเย็นเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เด็กมีความเข้มแข็ง ทนต่อการรองรับคำสั่งคำสอน และความยากลำบากในการประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีงามของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้รู้ทั้งหลาย รวมทั้งอดกลั้นใจต่ออบายมุขและสิ่งมอมเมาทั้งปวง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้าย่อมเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใครพร้อมที่จะเป็นเสาหลักแห่งความดีงามให้แก่มหาชนเพราะเป็นผู้ฝึกตนมาดี มีความอดกลั้นและทนทานต่ออำนาจกิเลส ทั้งจากภายนอกและภายใน
๓) ความมีวินัย คือ ความเต็มใจปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ
ของหมู่คณะที่กำหนดไว้ดีแล้ว เพื่อประโยชน์เหล่านี้คือ
๑. เพื่อความสงบเรียบร้อยดีงามของตนเอง และหมู่คณะ
๒. เพื่อปกป้องคุ้มครองตนเอง มิให้ทำความผิด ความชั่วรวมทั้งมิให้เกิดความกระทบกระทั่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้
๓. เพื่อความยอมรับและเลื่อมใสของมหาชนต้องฝึกให้ผู้เรียนขวนขวายหาความรู้ และปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ห้ามและที่อนุญาตทั้งของประเทศชาติ พระพุทธ ศาสนา วัด โรงเรียน สถานที่ราชการตลอดจนการสมาทานรักษาศีล๕อุโบสถศีลและการเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามโอกาสอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไข กำจัดความประพฤติบกพร่องเสียหายทางกาย ทางวาจาและทางใจตั้งแต่ยังเยาว์ ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้เรียนเกิดความรับผิดชอบต่อความเจริญรุ่งเรือง ทั้งส่วนตนและส่วนรวม โดยยึดประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่ และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกำจัดกิเลสให้ยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย
นิสัยมีวินัยนี้ เป็นศีลธรรมพื้นฐานที่ต้องปลูกฝังแต่เยาว์วัย เพราะผู้มีวินัยย่อมประพฤติตนอยู่ในระเบียบเป็นผู้พร้อมที่จะรองรับการฝึกฝนและการอบรมชี้แนะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์และผู้รู้ทั้งหลาย ความมีวินัยทำให้จิตสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย เป็นสมาธิได้รวดเร็วเด็กที่มีวินัยจึงมีสมาธิดีนำไปสู่การเป็นผู้มีความตั้งใจเรียนและขวนขวายแสวงหาความรู้อยู่เสมอเป็นการเพาะนิสัยใฝ่เรียนรู้ให้เจริญงอกงามเมื่อเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ย่อมเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ ผู้ทรงวิชาความรู้ และอุดมด้วยความดีงาม เป็นเข็มทิศนําส่วนรวมให้ดำเนินชีวิตตามหลักมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่อง
หากผู้เรียนได้รับการฝึกหัดอบรมให้ประพฤติปฏิบัติกิจวัตร และกิจกรรมที่ส่งเสริมศีลธรรม ความดีงามต่างๆ ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมพื้นฐาน คือ ความเคารพ ความอดทนและความมีวินัย ย่อมบังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง เหมาะกับเพศและวัยตั้งแต่ยังเยาว์ นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องง่ายที่จะพัฒนาองค์คุณอื่นๆให้บังเกิดขึ้นอีกด้วย
ข้อควรระวังในการจัดการศึกษา
เนื่องจากความรู้ทางวิชาการหากเกิดกับคนนิสัยเป็นพาล ย่อมมีแต่จะนำความเสียหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดตรงกันข้ามความรู้นั้นๆหากเกิดกับผู้มีนิสัยดีงามเป็นบัณฑิตย่อมมีแต่คุณเพราะคนดีมีวินัยย่อมเลือกที่จะนำความรู้ที่ตนฝึกฝนอบรมมาด้วยความเหนื่อยยากไปใช้เฉพาะในสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมเท่านั้นในการจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้ คือ
๑. ต้องไม่ถ่ายทอดความรู้ความสามารถเพียงเฉพาะด้านวิชาการให้แก่ผู้ใดเป็นอันขาด แต่ต้องพัฒนานิสัยผู้เรียนให้มีศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมอย่างมั่นคงควบคู่กับความรู้ความสามารถทางวิชาการเพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาแล้วจะนำความรู้ความสามารถที่ได้รับไปเลือกประกอบแต่คุณงามความดีเท่านั้น
๒. ต้องพัฒนานิสัยผู้เรียนให้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมด้วยการสอดแทรกหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเหมาะสมกับเพศและวัยไว้ในทุกๆสาระการเรียนรู้แต่ละวิชาและแต่ละขั้นตอนการทํางานตามสาระการเรียนรู้นั้นๆอย่างเข้มงวดตลอดจนจัดกิจกรรมและกิจวัตรส่งเสริมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติเป็นประจำทั้งที่บ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนสถานที่ราชการและสถานที่ทั่วไป เป็นการปลูกฝังศีลธรรมลงในใจจนเป็นนิสัยใฝ่ดีของผู้เรียน
๓. ต้องฝึกหัดอบรมศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมให้ผู้เรียนเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยยึดการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เป็นแม่บทเพื่อป้องกันผู้เรียนให้พ้นจากบาปเพราะใครกระทำความดีช้าไปใจย่อมกลับไปยินดีในความชั่วซึ่งจะเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก
๔. ต้องกำหนดให้ผู้บริหารการศึกษา ผู้สอน และบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนานิสัยผู้เรียนในสถานศึกษานั้นๆด้วยการปฏิบัติตนเป็นต้นแบบความประพฤติที่ดีงาม ให้แก่ผู้เรียนตามสมควรแก่ฐานะของตน
การฝึกนิสัยให้รักการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘
ตามธรรมดาเมื่อมีการฝึกงานใด ย่อมต้องมีสถานที่สําหรับใช้ฝึกงานนั้น พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการฝึกอย่างครบถ้วนเช่นนักเรียนฝึกหัดครูเมื่อถึงคราวฝึกสอนก็จำเป็นต้องทำการฝึกสอนนักเรียนในโรงเรียนต่างๆตามสถานการณ์จริงมิใช่สถานการณ์จำลองจึงจะทำให้อาจารย์ผู้ประเมิน สามารถประเมินผลการสอนของนักเรียนฝึกหัดครูแต่ละคนได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
ในทำนองเดียวกัน การฝึกปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน จนเกิดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพของแต่ละคน ก็จำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับฝึก แต่การฝึกปฏิบัติมรรคมีองค์๘จะแตกต่างกับการฝึกงานประเภทอื่นๆโดยมีหลักการดังนี้
๑. ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก มิฉะนั้น เมื่อโตขึ้นจะมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิ ซึ่งแก้ไขยาก
๒. ต้องฝึกกันทุก ๆ คน ทุกเพศ ทุกวัย
๓. ต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้เกิดความคุ้นจนเป็นนิสัย แม้คุ้นจนเป็นนิสัยแล้วก็จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมิฉะนั้นความเกียจคร้านจะชักนำนิสัยเลวๆเข้ามาแทนที่แล้วกลายเป็นมิจฉาทิฐิไปในที่สุด
๔. ครูฝึกหรือผู้ควบคุมการฝึกต้องเป็นแบบอย่างที่ดีได้ โดยไม่มีข้อบกพร่องหรือหย่อนยาน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การนินทาว่าร้ายผู้ฝึก การกระทบกระทั่งกันในกลุ่มสมาชิกที่อยู่ร่วมกัน ฯลฯ
สถานที่ฝึกนิสัย
สถานที่ใช้ฝึกนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพตามหลักมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้เกิดนิสัยดีอื่นๆตามมาอีกนั้นเรียกสั้นๆ ว่า ๕ ห้องชีวิต ซึ่งมีอยู่พร้อมแล้วทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน หรือสถานศึกษา ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องครัวหรือห้องอาหาร และห้องทำงาน แม้บ้านหลังเล็กๆก็สามารถจัดสรรพื้นที่ โดยแบ่งเป็นมุมต่างๆให้ครบทั้ง ๕ ห้องได้
ที่โรงเรียนสำหรับเด็กเล็กหรือเด็กอนุบาลย่อมมีครบทั้ง ๕ ห้องส่วนเด็กโตจะขาดห้องนอนแต่ก็อาจปลูกฝังได้ด้วยการให้ความรู้ภาคทฤษฎี
โดยสรุปก็คือ สถานที่สำหรับฝึกนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพ ของทั้งผู้เป็นครูและนักเรียน ก็คือ ๕ ห้องชีวิตทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษานั่นเอง
หน้าที่หลักของ ๕ ห้องชีวิต
เพื่อให้เข้าใจง่ายและรวดเร็ว จึงได้จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับหน้าที่หลักหรือวัตถุประสงค์หลักของ ๕ ห้องชีวิต ไว้ในรูปแผนภูมิต่อไปนี้
จากภาพแสดงหน้าที่หลักของแต่ละห้องใน ๕ ห้องชีวิต คุณครูย่อมเห็นความจริงของโลกและชีวิตว่า หากปฏิบัติตามหน้าที่หลักใน ๕
ห้องชีวิตเป็นกิจวัตรแล้ว ย่อมจะสามารถพัฒนานิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพให้เกิดขึ้นได้จริงตามหลักมรรคมีองค์ ๘ เช่น ห้องอาหาร เมื่อสมาชิกในบ้านเข้ามารับประทานอาหารพร้อมกัน หากมีสมาชิกคนใดแสดงกิริยามารยาท ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือวาจาที่ไม่งามบรรยากาศในห้องอาหารอาจตึงเครียดทันที ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้ามีการอบรมตักเตือนหรือชี้โทษ ปัญหาอาจยุติลงแน่นอนว่าสมาชิกทุกคนย่อมรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกที่ถูกตำหนิเพียงกรณีเดียวเท่านี้ท่านก็พอจะเห็นแนวทางและความจำเป็นในการปลูกฝังอบรมสมาชิกในบ้านของตนให้มีสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะเพื่อป้องกันมิให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นอีก เมื่อมีการปลูกฝังอบรมนิสัยกันบ่อยๆสมาชิกทุกคนก็จะได้นิสัยพูดดี ทำดีคือปฏิบัติสัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้ห้องอาหารอย่างถูกหลักการ
ยิ่งกว่านั้น ขณะที่สมาชิกร่วมรับประทานอาหารพร้อมเพรียงกัอย่างมีความสุข ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวย่อมสามารถถือโอกาสอบรมธรรมเรื่องอื่นๆได้อีกหลายเรื่องเช่นเรื่องการรู้จักประมาณในการบริโภคเรื่องสุขอนามัยตลอดจนเรื่องธาตุ๔ที่สัมพันธ์กับสุขภาพให้แก่สมาชิกท่ามกลางบรรยากาศที่ทุกคนยอมรับได้ด้วยความสบายใจ
จากเรื่องห้องอาหารที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ครูย่อมเห็นวิธีการที่จะใช้กิจกรรมในห้องอื่น ๆ เป็นบทฝึกนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดี และใฝ่รักษาสุขภาพควบคู่ไปกับการปลูกฝังภาคทฤษฎีให้แก่สมาชิกในครอบครัวของตนได้อย่างกว้างขวางประสบการณ์จากการฝึกนิสัยตามหลักมรรคมีองค์๘จากครอบครัวของครูเองย่อมจะเป็นแนวทางให้ครูสามารถนำไปใช้ฝึกนักเรียนของครูที่โรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิผลในที่สุดก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำโรงเรียน ที่ทั้งเด็กและครูต่างพากันปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนคุ้นเป็นนิสัย ต่อๆกันไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่ขาดสาย ครั้นแล้วนักเรียนที่มีนิสัยเกะกะเกเรก็จะสูญพันธุ์ไปเอง
องค์ประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดนิสัย ๓
การที่จะปลูกฝังนิสัยใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพกายและใจใน ๕ ห้องชีวิตได้สำเร็จนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบและแนวคิดต่อไปนี้คือ
๑. มีสถานที่สะอาดและสงบ การที่นักเรียนจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่เรียนอย่างแท้จริงถึงขั้นลงมือทำเองได้นั้น จำเป็นต้องได้ลงมือปฏิบัติจริง นั่นคือ เมื่อเรียนภาคทฤษฎีแล้ว ก็ต้องฝึกงานในภาคปฏิบัติเป็นลำดับต่อไป ผู้เรียนจึงจะเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง
แม้มีความเข้าใจแล้ว ก็ยังไม่ถือว่ามีความสามารถในการทํางานนั้นจึงจำเป็นจะต้องได้ลงมือทำงานนั้นซ้ำๆ อีกหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความชำนาญไม่มีผิดพลาด จึงจะถือว่ามีความสามารถ ยิ่งชำนาญเท่าใด ความสามารถก็ยิ่งทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว
การปลูกฝังนิสัยใน ๕ ห้องชีวิตก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องมีสถานที่คือห้องต่าง ๆ ทั้ง ๕ ห้องไว้ให้นักเรียนลงมือทำกิจกรรมจริงๆ กล่าวคือเมื่อครูได้อธิบายหลักธรรมประจำห้องใดห้องหนึ่งใน ๕ ห้องชีวิตแล้วก็จะต้องจัดเวลาให้นักเรียนแต่ละคน ได้ลงมือฝึกทำกิจกรรมประจำห้องนั้นเป็นการเรียนภาคปฏิบัติ
ขณะที่นักเรียนทำกิจกรรมกัน ครูจะต้องควบคุมดูแลให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งต้องมีการทำกิจกรรมบ่อย ๆ ชนิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดเด็กๆ ก็จะคุ้นกับการทำกิจกรรมนั้นๆ และติดเป็นนิสัยตลอดไป
อย่างไรก็ตาม สําหรับสถานที่ที่โรงเรียนหรือแม้แต่ที่บ้านของนักเรียนแต่ละคน ส่วนใหญ่อาจจะมีห้องจริงๆ ไม่ครบทั้ง ๕ ห้อง แต่โดยสภาพการใช้งานแล้วทุกบ้านก็จะมีห้องครบทั้ง ๕ ห้อง ซึ่งทุกห้องอาจจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้ๆ กัน แต่ใช้งานตามแต่วัตถุประสงค์ของแต่ละห้อง โดยเฉพาะห้องน้ำ (ห้องส้วม) และห้องอาหาร ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนต้องมีอย่างแน่นอน
การสอนในภาคทฤษฎีนั้น ครูสามารถสอนได้ครบทั้ง ๕ ห้องส่วนการเรียนภาคปฏิบัตินั้น ก็อาจให้นักเรียนที่โรงเรียนได้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันลงทำกิจกรรมในห้องน้ำเป็นระยะๆตลอดปีการศึกษาโดยมีครูควบคุมดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเด็กนักเรียนก็จะพัฒนานิสัยดีๆได้หลายอย่าง รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมอีกด้วย
สำหรับห้องอื่นๆที่โรงเรียนไม่มีสถานที่ให้นักเรียนฝึกภาคปฏิบัติครบทุกขั้นตอนครูก็สามารถใช้วิธีติดตามและประเมินผลด้วยการซักถามนักเรียนหรือให้นักเรียนเล่าเรื่องการทำกิจกรรมตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณประโยชน์หรือข้อดีที่ตนได้รับจากการทำกิจกรรมในห้องต่าง ๆ ที่บ้านของตนแทนได้
๒. มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม ห้องต่างๆใน ๕ ห้องชีวิตนั้น แต่ละห้องต่างมีหน้าที่หลักและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละห้องจึงต้องมีอุปกรณ์ประจำห้องแตกต่างกันไปด้วย
สําหรับที่โรงเรียนแม้ไม่สามารถจัดเตรียมห้องไว้ให้ทำกิจกรรมได้ครบทั้ง ๕ ห้องก็ตาม แต่สำหรับห้องที่สามารถจัดเตรียมได้ ก็ควจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสมไว้ให้ครบบริบูรณ์
โดยเฉพาะห้องน้ำ ซึ่งเป็นห้องที่จำเป็นสำหรับทุกๆ คน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในห้องน้ำแตกต่างจากห้องอื่นๆ ดังนั้นเมื่อทางโรงเรียนไม่สามารถจัดเตรียมห้องสำหรับให้นักเรียนฝึกภาคปฏิบัติได้ครบทั้ง๕ห้องทางโรงเรียนก็น่าจะให้ความสำคัญแก่ห้องน้ำมากที่สุดโดยการติดตั้งอุปกรณ์ประจำห้องน้ำแต่ละห้องที่โรงเรียนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน๒ประการคือการใช้ประโยชน์ตามหน้าที่หลักของห้องน้ำประการหนึ่ง และการใช้เป็นห้องฝึกกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อปลูกฝังนิสัยแก่นักเรียนอีกประการหนึ่ง
ในขณะที่ใช้ห้องน้ำเป็นห้องฝึกกิจกรรมภาคปฏิบัติของนักเรียนแต่ละกลุ่มนั้น ถ้าครูมีการวางแผนให้นักเรียนฝึกกิจกรรมภาคปฏิบัติอย่างรอบคอบ และตัวครูเองก็ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดทุกๆครั้งย่อมจะประสบผลสําเร็จในการพัฒนานิสัย๓ ของนักเรียนเป็นอย่างมากทีเดียว
๓. มีครูดีอบรมสั่งสอน ครูดีในที่นี้หมายถึง ครูที่มีความสนใจในเรื่องการปลูกฝังนิสัยที่ดีงามตามหลักการหรือแนวคิดเรื่อง ๕ ห้องชีวิตเป็นอย่างดี ตัวครูเองก็มีประสบการณ์ในการปลูกฝังและพัฒนานิสัยที่ดีงามของตนและสมาชิกในครอบครัวจนเห็นคุณค่าของเรื่อง ๕ ห้องชีวิตเนรมิตนิสัยที่ดีงามแล้ว อนึ่งครูดีในที่นี้มิได้บ่งชี้เฉพาะครูคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ผู้มีอาชีพครูทุกคน ไม่ว่าจะสอนนักเรียนระดับใดหรือเชี่ยวชาญการสอนวิชาใด จึงมีคุณสมบัติเป็นครูดีทั้งสิ้น
ขอให้คุณครูทั้งหลายพึงระลึกไว้เสมอว่า ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองของบรรดาลูกศิษย์ของครูนั้น น้อยคนนักที่จะได้รับการปลูกฝังอบรมนิสัยดี ๆ ในลักษณะ ๕ ห้องชีวิตที่นำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้
ครูทั้งหลายจึงต้องไม่ละเลยในการปลูกฝังอบรม เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ของท่านมีนิสัย ๓ ดังกล่าวไว้แล้ว จากการเรียนภาคทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่อง ๕ ห้องชีวิตที่โรงเรียนแล้วนำไปทำกิจกรรมจริงใน ๕ ห้องชีวิตที่บ้านของแต่ละคน ถ้าเป็นเช่นนั้นนอกจากลูกศิษย์ของครูจะมีนิสัยดีๆ แล้ว พ่อแม่ของลูกศิษย์ของครูก็อาจจะมีโอกาสเรียนรู้จากลูก ๆ ของตน และสามารถพัฒนานิสัยดี ๆ ให้เกิดขึ้นในตนได้อีกด้วย
๔. ผู้เรียนเข้าไปหา นักเรียนทุกคนเมื่อเรียนวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีหรือปฏิบัติ ย่อมมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ครูอธิบายไม่มากก็น้อย ลูกศิษย์ทุกคนย่อมมีความคิดว่า ครูของตนเท่านั้นที่จะให้ความกระจ่างในข้อสงสัยของตนได้ดีที่สุด และปรารถนาที่จะเข้าไปขอความกระจ่างจากครูด้วยตนเอง
เป็นความจริงอยู่เสมอว่า มีครูจำนวนไม่น้อยที่เด็ก ๆ นักเรียนไม่กล้าหรือไม่อยากเข้าไปหา ด้วยสาเหตุต่างๆกัน ทั้งฝ่ายครูและฝ่ายตัวลูกศิษย์เอง เช่น ครูบางคนชอบดุ ตำหนิติเตียน บ่นว่าลูกศิษย์ ทำให้ลูกศิษย์กลัว ไม่กล้าเข้าไปพบ หรือครูบางคนมิได้มีนิสัยดังกล่าว แต่มีบุคลิกหน้าตาเคร่งขรึมเสมือนหนึ่งอารมณ์ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา ไม่แสดงความเอาใจใส่หรือเอ็นดูเด็กๆ ครูประเภทนี้เด็กๆ ก็ไม่กล้าเข้าไปหานอกจากนี้ก็มีครูบางคนที่มีปัญญาฉลาดเฉลียวเสมือนหนึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนดังนั้นในการสอนหรืออธิบายบทเรียนต่างๆก็มักจะอธิบายสั้นๆเฉพาะประเด็นที่สำคัญ ขาดการขยายความ ไม่มีการยกตัวอย่างชนิดชักแม่น้ำทั้ง ๕ ครั้นเมื่อเด็กไม่เข้าใจ จึงซักถาม เมื่อครูตอบคำถามก็มักจะมีการ
กระแนะกระแหนตามมาในทำนองที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองโง่เขลาหรือไม่ฉลาดครูประเภทนี้เด็กๆก็ไม่อยากเข้าไปขอความกระจ่างในสิ่งที่ตนสงสัย
จากตัวอย่างที่ยกมานี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์อันดีสำหรับครูทุกคนที่จะต้องสำรวจตนเอง และหาวิธีพัฒนาตนเพื่อให้เด็กๆรู้สึกว่าครูของตนคือกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดที่ตนสามารถยึดเป็นที่พึ่งทั้งในด้านวิชาการด้านศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรมได้ตลอดเวลา
๕. ครูดีพร่ำสอนวิชาการและศีลธรรมครบตามมาตรฐาน โดย
ยึดหลักวุฒิธรรม ๔ และผู้เรียนต้องมีความเคารพ อดทนและวินัย คุณครูทั้งหลายคงจำได้ว่า ศีลธรรมครบตามมาตรฐานนั้นมีอยู่ ๔ คือการเว้นขาดจากกรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ และอบายมุข ๖ นอกจากนั้นก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อทิศ ๖ ให้ครบถ้วน
ดังได้กล่าวไว้ในบทที่ ๒ แล้วว่า การศึกษาที่สมบูรณ์ คือกำหนดให้มาตรฐานวิชาการสมดุลกับมาตรฐานด้านศีลธรรม ดังนั้นความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของครูผู้สอนก็คือ ต้องพร่ำสอนวิชาการที่ตนรับผิดชอบอยู่พร้อมทั้งศีลธรรมให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน ๑๔ ข้อ อีกทั้งต้องตอกย้ำให้ศิษย์ปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อทิศ ๖ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนด้วยหลักวุฒิธรรม ๔ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในบทที่ ๕ แล้ว จึงขอให้คุณครูทุกท่านได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของครูดีได้สัมฤทธิผล
ในส่วนของผู้เรียนนั้น ก็จำเป็นจะต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการ คือ ความเคารพ ความอดทนและความมีวินัยถ้าผู้เรียนขาดตกบกพร่องในเรื่องคุณธรรมพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ย่อมก่อให้เกิดผลเสียอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑. ครูดีย่อมรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะสอนนักเรียนประเภทนี้
๒. แม้ครูจะมีกำลังใจพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะไม่เกิดผลดีคุ้มค่ากับความวิริยะ อุตสาหะ ที่ครูสละให้แก่นักเรียน กล่าวโดยสรุปก็คือ การสอนไม่บรรลุเป้าหมาย
๓. นักเรียนประเภทนี้ย่อมไม่สามารถพัฒนาตนให้มีนิสัยดีๆหรือนิสัย ๓ ได้ ผลต่อไปก็คือ จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็ด้วยการทำมิจฉาอาชีวะ หรือมิจฉาวณิชชา ทำให้ต้องก่อบาปกรรมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะก่อปัญหาเลวร้ายในสังคมปัจจุบันแล้ว ยังจะต้องรับผลกรรมชั่วของตนในภพชาติต่อๆ ไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเด็กๆ จะสมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการ ก็เพราะได้รับการปลูกฝังอบรมพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกจากคุณครูทั้งหลาย ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเรื่อยมาทุกระดับชั้น จนกว่าจะจบหลักสูตรการศึกษาระดับสูงสุด
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คุณธรรมพื้นฐาน ๓ ประการของเด็กนักเรียนตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ล้วนเกิดจากความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างครูอาจารย์ในโรงเรียนต่าง ๆ ทุกระดับชั้นนั่นเอง
์ ๖. ผู้เรียนเกิดนิสัยใฝ่เรียนรู้ นิสัยใฝ่ทำดีและนิสัยใฝ่รักษาสุขภาพสมควรแก่เพศและวัย ถ้าองค์ประกอบของการเรียนการสอนตามแนวคิดในการปลูกฝังหรือเนรมิตนิสัยใน ๕ ห้องชีวิตดำเนินตาม ๕ ข้อที่กล่าวมาแล้ว โดยไม่ขาดตกบกพร่อง การเรียนการสอนก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการที่ตั้งไว้ในตอนต้นอย่างแน่นอน นั่นคือผู้เรียนสมบูรณ์พร้อมด้วยนิสัย ๓ คือ ใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำดีและใฝ่รักษาสุขภาพกายและใจตามสมควรแก่เพศและวัย
ผู้เรียนที่มีคุณลักษณะดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จะเป็นประชากรที่มี ปัญญา สามารถสร้างสันติสุขให้แก่สังคม ประเทศชาติ และโลกได้อย่างแท้จริงและนี่คือผลผลิตของการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์แบบซึ่งมีความสมดุลระหว่างมาตรฐานวิชาการทางโลกกับมาตรฐานศีลธรรมหลักการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ด้วย ภาพที่ ๔-๖