ประการที่ ๒ ขาดกำลังใจ

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2567

 

2567_07_31_b_02.jpg

 

 

ประการที่ ๒ ขาดกำลังใจ



      ทำงานไปๆแล้วกำลังใจมันจะขาด อะไรทำให้กำลังใจขาดเคยถามตัวเองบ้างไหม อะไรทอนกำลังใจเรามากที่สุด คำพูดเป็นคำพูดประเภทไหน ก็ที่บาดๆใจกันน่ะ แล้วอะไรที่ให้กำลังใจกันมากที่สุด ก็คำพูดอีกนั่นแหละ เป็นเรื่องที่แปลกนะ อะไรจะทอนกำลังใจกันก็ไม่เกินคำพูด แล้วให้กำลังใจกันก็ไม่เกินคำพูด

 


           สามีภรรยาแต่งงานกันเมื่ออายุ ๒๐ ปี อยู่ด้วยกันมาจนกระทั่งอายุ ๖๐ ปีแล้ว มาหย่าร้างกันเมื่ออายุ ๖๐ ปีก็มี ถามไปถามมาก็เรื่องคำพูด แล้วหย่ากันไปตั้งหลายปีมาคืนดีกันก็มี ก็เรื่องคำพูดอีกนั่นแหละ คำพูดแม้ไม่มีตัวไม่มีตน แต่ว่ามีฤทธิ์ที่จะยกใจก็ได้ มีฤทธิ์ที่จะเหยียบใจให้ตกต่ำก็ได้อีกเหมือนกัน

 

 
          ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงฝากเอาไว้ว่า หัดกรองคำพูดกันเสียก่อน เพราะคำพูดที่ไม่ได้กรองมันบาดใจคนได้ และ
หากบาดแล้วก็เป็นแผลลึกเสียด้วยซิ หากเรากรองคำพูดแล้วจะสามารถยกใจได้ หมดเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจจะไปทำงาน พูดดีๆไม่กี่คำ ไปทำงานได้
 


           แม้ที่สุดพระภิกษุว่าจะสึกอยู่แล้วเชียวนะ อุปัชฌาย์พูดไม่กี่คำ บวชต่อจนเป็นสมภารได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ฝากเรื่องคำพูดกันไว้ให้ดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่า ปิยะวาจา ซึ่งส่วนมากเรามักจะแปลกันว่า วาจาไพเราะ ถ้าแปลอย่างนี้ บางทีหลายๆ ท่านที่ทำงานในสนามบอกว่าไม่เชื่อ เพราะเวลาทำงานเร่งๆ รีบๆ มัวมาพูดหวานๆ บางทีคลื่นไส้เอาด้วย เคยมีอาการอย่างนี้ไหม ในกรณีอย่างนี้ละก็ปิยะวาจาที่พระองค์ทรงใช้ ทรงหมายถึง “พูดภาษาคนรักคนชอบกัน” อาจจะ เฮ้ย! ไฮ้! กันบ้างก็ยังจัดเป็นปิยะวาจาสำหรับเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะพวกเราเข้าใจกันแล้ว
 


           แต่ว่าที่เป็นปัญหาซึ่งอาตมาขอฝากไว้กับผู้บังคับบัญชาทุกระดับ คือ ได้มีการทดลองเอาไว้ว่า ถ้าผู้บังคับบัญชาเรียกลูกน้องมาว่าหรือด่าสัก ๑ เรื่อง ว่า คือ ชี้โทษ ด่า คือใช้คำหนักๆ กดเขาให้ต่ำลง แล้วตอนเย็นเรียกมาชมสักเรื่อง จากนั้นส่งคนไปแอบถามหลังจากเลิกงานแล้ว


“เป็นไงเพื่อนทำงานวันนี้”
“เฮ้ย...แย่ โดนด่าไม่รู้จักจบ”

 

         คือ คนเรานี่ หากไปว่าสักครั้งหนึ่ง พอเรามาชมกลับ จะชดเชยไม่คุ้มกันหรอก จึงได้ทดลองใหม่ ตอนเช้าเรียกมาว่าสัก ๑ เรื่อง ตอนเย็นเรียกมาชมสัก ๒ เรื่อง พอเลิกงานส่งคนไปแอบถาม



“เป็นไงทำงานวันนี้”
“เฮ้อ....มันก็ไม่วายโดนด่าว่าอยู่นั่นแหละ ชะตามันยังไงก็ไม่รู้”



        นี่ขนาดชม ๒ เรื่อง ก็ยังมีความฝังใจว่าโดนว่า จึงได้ทดลองกันใหม่ ตอนเช้าเรียกมาว่าสัก ๑ เรื่อง ตอนเย็นเรียกมาชมสัก ๓ เรื่อง เสร็จแล้วส่งคนไปถาม
 


“เป็นไงเพื่อน”
“อือม!! มันก็มีโดนด่าโดนชมกันบ้างนะ”



       อ้อ...ต้อง ๑ ต่อ ๓ เชียวนะถึงจะพอตู้กันได้ ดังนั้นจึงขอฝากไว้ด้วยว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องดุด่าว่ากล่าวลูกน้องละก็ วันหนึ่งว่ากล่าวเพียงเรื่องเดียวก็เต็มกลืนแล้ว เพราะกว่าจะฟื้นความรู้สึกได้ต้องชมถึง ๓ เรื่องถึงจะหมดไปได้เชียวนะ

 

          ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาหากมีความจำเป็นจะตำหนิลูกน้องละก็ถ้าให้ดีมีข้อแนะนำว่า ให้พยายามหาเรื่องชมเสียก่อนเท่าที่เขาจะให้เราชมได้แล้วค่อยว่ากันแล้วหากมีความจำเป็นจะต้องว่ากล่าวมีข้อแม้ว่าวันหนึ่งตำหนิสัก ๒ เรื่องก็พอแล้ว ถ้าจะมีข้อผิดพลาดอะไรเพิ่มเติม หากไม่จนใจจริงๆช่วยยกข้ามวันเถอะนะ เพราะสภาพใจของคนเราจะเป็นอย่างนี้ และเพราะเหตุนี้เอง ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวดของเรา ท่านได้เตือนเอาไว้ว่า เวลาดุด่าว่ากล่าวใคร ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นลูกน้อง จะเป็นเพื่อนร่วมงาน จะเป็นสามีภรรยาหรือบุตรก็ตามหากจะต้องว่าต้องมีใครละก็ ท่านให้กฎเกณฑ์ไว้ ดังนี้
 


           วิธีติคน ๕ ประการ
 


             ๑. เลือกจังหวะให้เหมาะสม คนเราขึ้นอยู่กับ เวลาและอารมณ์ ถ้าจังหวะไม่เหมาะ อย่าว่าแต่ไปว่าอะไรเลย ไปขออะไรบางทียังไม่ได้เลยนะ อารมณ์ดีลูกมาขออะไรให้หมด พ่อบ้านจะเอาอะไรยกให้หมด อารมณ์ไม่ดีขออะไรก็ไม่ให้ ลูกน้องบางคนหวังดีต่อเจ้านายมาก เห็นท่านกำลังจะพลาดจึงไปเตือน แต่ไม่ดูจังหวะไปเตือนต่อหน้าธารกำนัล เลยถูกไล่ออกซะก็มี



              ๒. ชมก่อนแล้วค่อยเตือน เพื่ออะไร เพื่อให้เขามั่นใจว่าที่เราจะติจะว่าต่อไปนี้ เป็นการติการว่าที่เกิดจากความเมตตา มิใช่แกล้งด่าแกล้งว่า
 


         ๓. ยิ้มก่อนติ เพื่ออะไร เพื่อให้ผู้ที่ถูกติ ผู้ที่ถูกว่ากล่าวเกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่เราว่ากล่าวนั้นไม่ใช่เพราะจับผิด แต่ทำด้วยความปรารถนาดี ลองฝึกดูเถอะ แล้วทำได้เอง ที่พูดมาทั้งหมดนี้เพราะทำได้แล้วจึงกล้าพูด ถ้าเราเองก็ยังยิ้มไม่ออก อย่าเพิ่งไปติใครเลย เดี๋ยวจะพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาทำงานใหญ่ๆ



              ๔. ต้องเป็นเรื่องจริง เรื่องที่เราติลงไปขอให้แน่ใจว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่จริงด้วยนะ ไม่ใช่เราเข้าใจผิด สอบถามให้แน่ใจเสียก่อน ไม่อย่างนั้นจะยุ่งวันหลัง



                  ๕. เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ เรื่องที่เราจะตินั้น ต้องเห็นด้วยว่าจะเกิดประโยชน์ต่อไปภายภาคหน้า



          เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าการจะติจะว่าใครสักคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อเริ่มสร้างวัด อาตมาอาศัยความเป็นกันเองกับเพื่อนร่วมงานก็ติก็ว่ากัน มีอะไรก็พูดกันโครมๆ โดยมิได้กรองคำพูดและดูองค์ประกอบทั้ง ๕ ตามที่กล่าวมา ผลปรากฏว่าเพื่อนร่วมงานค่อยๆหายไปทีละคนสองคน ถามว่ารักกันไหม รัก รักกันคิดถึงกัน แต่ว่าอย่ามาทำงานร่วมกันเลย เขารู้ว่าเรามีความจริงใจให้ แต่เขาทนอารมณ์เราไม่ได้ แล้วต่างคนก็ต่างไป มันอยู่ด้วยกันไม่ได้
 


          รักจริงจึงเตือน

          พวกเราเคยมีประสบการณ์อย่างนี้บ้างไหม พี่ๆ น้องๆ ของเรานี่แหละ เมื่อเวลาที่อยู่ห่างกันก็คิดถึงกัน แต่พอมาอยู่ใกล้กัน เดี๋ยวเถอะเริ่มขัดคอกันแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่า การที่จะติลูกน้องแต่ละครั้ง เตือนเพื่อนร่วมงานแต่ละครั้ง มันยากเย็นอย่างนี้แหละ สำหรับคนที่ถูกเตือน จะเป็นเพื่อนเตือน จะเป็นผู้บังคับบัญชาเตือน หรือเวลาเราพลาดอะไรลูกน้องมาเตือน แม้ที่สุดจะเป็นพ่อบ้านแม่บ้านของเรา ช่วยฝากเป็นข้อคิดว่า ให้รีบขอบคุณเขาเสีย ไม่ว่าจะเตือนผิดเตือนถูก รีบยกมือไหว้ขอบคุณได้ยิ่งดีเพราะนั่นแสดงว่า ถ้าไม่รักจริงจะไม่กล้าเตือนนะ



       ทำไมจึงพูดเช่นนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเวลาจะเตือน ดูซิจะต้องทำถึง ๕ อย่างดังที่กล่าวไปแล้ว แต่เมื่อเขาถึงกับมาเตือนเราจะเตือนผิดจะเตือนถูกก็ตาม รีบยกมือไหว้ขอบคุณเขาเสีย หรือถ้าเป็นลูกน้องให้รีบขอบใจเสีย เพราะนั่นแสดงว่า เขาเห็นเราเป็นคนมีคุณค่า เขาจึงกล้าลงทุนมาเตือน ขอบคุณเขาเถอะ แม้เขาเตือนผิดเอาละ! ก็ยังขอบคุณอยู่ ขอบคุณในฐานะที่ว่า เขายังใจจริงกับเราอยู่ เมื่อเขาเตือนผิดก็อธิบายให้เขาฟังเสียว่าจริงๆเป็นอย่างไรแต่ถ้าเขาเตือนผิดแล้วเราไปตวาดกลับวันหลังเขาไปเจอข้อผิดพลาดของเราเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเตือนเราได้ไหม
 


           ในกรณีที่เขาเตือนถูก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ว่า ขอให้มองผู้ที่เตือนเราเหมือนเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะไม่ทราบข้อบกพร่องของเรา แล้วเราจะหลงตัวเอง เข้าใจตัวเองผิด แต่เมื่อเขาเตือนให้แล้ว เราจะได้แก้ไขตัวเองเสียแต่วันนี้ โชคดีจริงๆ ที่เขามาขุมทรัพย์ให้ ถ้าใครทำตัวได้อย่างนี้ อยู่ที่ไหน ก็จะมีคนรักทั้งเมือง เพราะว่าเป็นคนไม่มีทิฐิมานะ น่ารักจริงๆ



       สำหรับเรื่องการเตือนตรงนี้ถ้าใครทำได้จะเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งแล้วจะรักกันยึดอีกด้วย คือ เมื่อถูกเตือนด้วยเรื่องอะไรก็ตามนอกจากจะยกมือไหว้หรือขอบคุณเขาแล้ว มีข้อแม้นิดหนึ่ง หากเห็นข้อบกพร่องของเพื่อนที่มาเตือนเหมือนกัน แต่เป็นคนละเรื่อง อย่าเพิ่งรีบเตือนเขาตอนนั้น เดี๋ยวจะหน้าชาด้วยกันทั้งคู่ หากจะเตือนเขากลับ ขอให้พ้นข้ามชั่วโมงไปก็ยังดี ยกเว้นเป็นเรื่องหน้า-สิ่วหน้าขวานจริงๆ จะต้องเตือนกันทันควันละก็ ขอให้รักษามารยาทกันให้ดี ไม่อย่างนั้นขาดความเป็นเพื่อนกันทีเดียว



ที่หยิบยกมาพูดนี้ เพราะได้ประสบมากับตัวเอง เราเตือน

 

เขา ว่าเขาผิดอย่างนั้น ๆ เขาก็ขอบใจ แล้วเขาเตือนเรากลับ เราเกิดอาการ ตั้งตัวไม่ทันเหมือนกัน เหมือนอย่างกับกินส้มตำ เราดูแล้วว่าไม่มีพริกเคี้ยวกินอย่างสบายใจ แต่บังเอิญเคี้ยวไปโดนพริกกรวมเบ้อเร่อ มันเผ็ดจนน้ำตาร่วงเชียวนา แต่ถ้าวันนี้เราเตรียมตัวแล้วว่าอยากกินเผ็ดๆ แม้จะกินพริกเข้าไป ก็ไม่รู้สึกเผ็ดถึงขนาดน้ำตาร่วง เพราะได้เตรียมตัวไว้แล้ว แล้วที่มีความรู้สึกว่า ผู้บังคับบัญชาก็พูดไม่รู้เรื่อง ลูกน้องก็พูดไม่รู้เรื่อง เพื่อนร่วมงานก็พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ก็อยู่ตรงที่วาจาของเราที่บางครั้งขาดความระมัดระวังในสิ่งเหล่านี้ หากมีปิยะวาจาแล้ว กำลังใจที่หมดไปมันจะฟูกลับขึ้นมาเอง

 

 

23762.jpg

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.039707481861115 Mins