ตาลปัตรปริศนา

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2567

ตาลปัตรปริศนา

670801_b118.jpg

                  อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีญาติผู้ใหญ่เสียชีวิตและตั้งศพอยู่ที่วัดต่างจังหวัด จึงเดินทางไปร่วมบำเพ็ญกุศลฟังพระสวดพระอภิธรรมตามธรรมเนียมของพุทธ พอถึงเวลาสวดพระอภิธรรม พระ ๔ รูปที่ตั้งพัดหรือตาลปัตรแล้วสวดเป็นปกติเหมือนวัดทั่วไป แต่ที่แปลกกว่า

                   ที่อื่นก็คือที่ใบพัดหรือหน้าตาลปัตรของแต่ละรูปมีข้อความประหลาดๆ ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน อาจารย์เห็นเข้าก็อดขำในใจไม่ได้ แทบจะปล่อยหัวเราะออกมาแต่ก็ต้องสำรวมกลั้นไว้ คือที่หน้าตาลปัตรแต่ละเล่มมีข้อความเรียงไปตามลำดับว่า
 

“เตาะแตะ เต่งตึง โตงเตง ต้องตาย”
 

                  อาจารย์คิดว่าที่วัดอื่นๆ จะมีข้อความแตกต่างกัน เช่นข้อความว่าอนุสรณ์ในงานนั้นๆ บ้าง อุทิศให้ผู้นั้นผู้นี้บ้าง หรือที่เห็นกันดาดตื่นคือข้อความว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” แต่
 

                   ที่วัดนี้มีข้อความแปลกกว่าเขา “เตาะแตะ เต่งตึง โตงเตง ต้องตาย” เมื่อสวดจบที่ ๓ แล้วและมีการเลี้ยงอาหารว่างกัน อาจารย์ท่านนั้นยอมไม่ทานอาหารว่าง แต่เข้าไปหาพระที่เป็นหัวหน้า กราบเรียนถามถึงที่มาที่ไปและความหมายของคำเหล่านั้น พอดีพระรูปนั้นคงถูกถามเช่นนี้มาประจำจึงตอบได้คล่องแคล่ว

 

                      “ที่ใช้คำเหล่านี้เพราะทางวัดเห็นว่าข้อความว่าไปไม่กลับหลับไม่ตื่น เป็นต้นนั้นมีอยู่ทั่วไปแล้ว จึงคิดข้อความใหม่ แต่ให้โดนใจและได้ความหมายไปในทางให้คนเราได้สติ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้นึกถึงความตาย และความเป็นไปของชีวิต ซึ่งเริ่มต้นก็คลานเตาะแตะก่อน เมื่อโตขึ้นร่างกายก็เต่งตึงแข็งแรง ต่อมาถึงยามแก่อะไรๆก็หย่อนยานโตงเตง และที่สุดก็ต้องตายจากโลกนี้ไปทุกคน เป็นอย่างนี้แหละโยม”

 

อาจารย์จึงถึงบางอ้อด้วยประการฉะนี้


เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
                    คำสอนทางศาสนานั้นสามารถเผยแผ่ให้แพร่หลายกระจายออกไปได้หลายรูปแบบ หลายข้อความ และหลายเนื้อหา ข้อสำคัญคือ เพื่อสื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังได้เข้าใจข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนถูกต้องเป็นใช้ได้ เช่นอาจเขียนไว้บนแผ่นไม้แล้วนำไปติดไว้ตามต้นไม้ทำนองต้นไม้พูดได้ก็ได้ เขียนไว้ตามผนังศาลา ตามฝาห้อง หรือตามเสาโบสถ์เสาศาลาก็ได้ แต่ถ้อยคำที่ใช้นั้นต้องเป็นคำสุภาพ เรียบร้อย ดูดี น่าสนใจ และได้ความหมายที่ชัดเจนเป็นอันใช้ได้ทั้งสิ้น หากเป็นคำที่คล้องจอง เป็นโคลงเป็น กลอนที่มีรสแห่งกวีปนอยู่ด้วย ก็นับว่าเด่นที่เดียวแต่แม้จะเป็นคำปริศนา คำถาม หรือคำที่ซ่อนความหมายให้คนคิด ก็ใช้ได้เช่นกัน เพราะสามารถเรียกต่อมความสนใจของผู้ใฝ่รู้ได้ไม่น้อย เมื่ออ่านแล้วหากไม่เข้าใจหรือตอบไม่ได้ก็จะไปแสวงหาคำตอบจากที่ต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ความกระจ่างขึ้นเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทางธรรมได้ดีอีกแบบหนึ่งที่นิยมกันอยู่ในที่หลายแห่ง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025627899169922 Mins