ภาษาที่เป็นวาจาสุภาษิต

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2567

ภาษาที่เป็นวาจาสุภาษิต

670811_b140.jpg


                ภาษาหรือถ้อยคำที่ใช้พูดสื่อสารกันทั่วไปมีทั้งดีและไม่ดี คือมีทั้งที่เป็นวาจาสุภาษิตและเป็นวาจาทุพภาษิต ในพระพุทธศาสนาท่านแสดงลักษณะของภาษาทั้งสองอย่างนี้ไว้ค่อนข้างจะชัดเจน ดังนั้นย่อมถือเป็นแนวทางการใช้ภาษาได้เป็นอย่างดีในส่วนของภาษาที่ดี ท่านแสดงไว้ว่ามีลักษณะ ๕ ประการ คือ
 

(๑) เนฬา เป็นภาษาที่ไม่มีโทษ คือไม่มีข้อตำหนิทางภาษา โดยไม่เป็นคำเท็จ ไม่เป็นคําหยาบคาย ไม่เป็นคำส่อเสียด ไม่เป็นคำเพ้อเจ้อ
ฟังแล้วไม่กระด้าง ไม่รุนแรง

(๒) กัณณสุขา เป็นภาษาที่ฟังแล้วสบายหู รื่นหู ชวนฟัง ไม่ระคายเคืองหู ไม่กระโชกโฮกฮาก มีพยัญชนะดี คือออกเสียงง่ายชัดเจน พูดแล้วไม่สะดุดหู อ่านแล้วไม่สะดุดปาก ไม่ตะกุกตะกัก

(๓) เปมนียา เป็นภาษาที่น่ารัก สละสลวย งดงาม ทำให้รักคนพูด ไม่ทำให้เกิดความไม่พอใจเมื่อฟังเมื่ออ่าน

(๔) หทยังคมา เป็นภาษาที่เข้าถึงใจ มีสำนวนที่ถูกต้อง มีสำเนียงอ่อนหวาน ฟังแล้วโดนใจ ประทับใจ จับใจ ดื่มต่ำ รู้สึกเย็นใจสบายใจ คลายทุกข์คลายกังวลได้

(๕) โปรี เป็นภาษาของชาวเมือง เป็นภาษาผู้ดี ผู้ที่เขาพูดเขาใช้กัน เป็นคำสุภาพ เรียบร้อย ไม่หยาบโลน มีความหมายชัดเจน

ภาษาถ้อยคำที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นภาษาที่ดี ใช้เป็นภาษาเทศน์ก็ได้ใช้เป็นภาษาเขียนก็ดี หรือใช้เป็นภาษาพูดก็ยิ่งประเสริฐ นำให้คนพูดเป็นคนน่ารัก พูดจาน่าฟัง คำพูดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เป็นมงคลแก่ผู้พูดเพราะพูดจาถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต

 

ภาษาที่เป็นวาจาทุพภาษิต

ภาษาหรือถ้อยคำที่เข้าข่ายเป็นภาษาไม่ดีเป็นวาจาทุพภาษิตนั้น มีลักษณะ ๕ ประการ คือ

(๑) หีนา เป็นคำชั้นต่ำ เป็นคำรุนแรง กระโชกโฮกฮาก ไม่น่าฟังฟังแล้วระคายเคืองหู

(๒) คัมมา เป็นคำของชาวบ้าน เป็นคำตลาด ผสมปนเปกันไประหว่างคำจริงคำเท็จ คำหยาบคาย ส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ ไม่คำนึงถึงความถูกหรือไม่ถูก ขอให้สื่อกันได้เป็นใช้ได้ เป็นคำชนิดที่นำมาเขียนเป็นอักษรแล้วก็ยังหยาบอยู่

(๓) โปถุชชนิกา เป็นคำของคนหยาบ เป็นคำที่มีโทษ ไม่น่าฟังไม่น่าจับใจ ไม่ดูดดื่มใจ

(๔) อนริยา เป็นคำของอนารยชน ไม่ใช่ของอารยชน ไม่ใช่ภาษาชั้นสูง คือไม่ใช่ภาษาผู้ดี ที่ผู้ที่เขาไม่ใช้พูดจากัน

(๕) อนัตถสัญหิตา เป็นคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นคำเพ้อเจ้อ หาสาระไม่ได้ ฟังแล้วจับประเด็นความอะไรไม่ได้ ไม่ให้ประโยชน์อะไรจากการฟัง

 

                 ภาษาถ้อยคำที่ลักษณะอย่างนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นภาษาเทศน์หรือเป็นภาษาเขียน เพราะจะทำให้บทเทศน์และข้อเขียนด้อยลงไปอย่างที่ไม่ควรเป็น เหมือนมีแมลงวันตกลงไปในชามแกงที่ส่งกลิ่นหอมฉุยน่ารับประทาน ทำให้เสียอารมณ์ที่จะรับประทานแกงชามนั้นไปฉะนั้นมิใช่เท่านั้น แม้จะนำมาใช้พูดก็ไม่ควรเพราะเป็นวาจาทุพภาษิต ไม่นำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้พูดด้วยประการทั้งปวง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026362180709839 Mins