ความหมายของคำว่า "ตีความ"

วันที่ 04 กค. พ.ศ.2567

670704_b68.jpg

 

ความหมายของคำว่า "ตีความ"


             คำว่า “ตีความ” อาจมีความหมายหลายอย่างและอาจอธิบายได้หลายแบบแต่เพื่อความเข้าใจตรงกันในทางวิชาการและในการให้ความหมายเพื่อสื่อให้เห็นภาพในฐานะเป็นหัวข้อของเรื่องนี้ ขอยกความหมายที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักในเบื้องต้นก่อน คือท่านให้คำจำกัดความดังนี้ “ตีความ ก.(กริยา) ชี้หรือกำหนดความหมาย, ให้ความหมายหรืออธิบาย, ใช้หรือปรับให้เข้าใจเจตนาและความมุ่งหมายเพื่อความถูกต้อง (กฎ) วิเคราะห์ถ้อยคำหรือข้อความในบทกฎหมาย นิติกรรม สัญญา หรือเอกสารอื่นๆ ที่มีปัญหาสงสัย หรือที่มักมีความหมายไม่ชัดเจน เพื่อกำหนดความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำหรือข้อความนั้นๆ เช่นตีความกฎหมาย”ตามนิยามความหมายข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่า  คำว่า  ตีความนี้มีขอบเขตความหมายหลากหลาย แต่ก็พอจับหลักจับประเด็นได้ว่าหมายถึงอะไร แค่ไหนแต่ในที่นี้ขอให้ความหมาย 

 

              คำว่า “ตีความ” ไว้เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการตีความแบบครบวงจรว่า “ตีความ คือความพยายามล้วงลึกไปถึงเจตนารมณ์ของผู้แสดงความนั้นๆ ไว้ โดยแยกแยะประเด็นออกมา  อธิบายขยายความ   ให้เห็นประจักษ์ชัด แล้วกำหนดความหมายอันแท้จริง  ของข้อความนั้น  ตามความเข้าใจของผู้ตีความไว้ นิยามความหมายนี้ หมายรวมทั้ง การตีความพุทธศาสนสุภาษิตและการตีความคำ  หรือข้อความทั่วไป และในคำนิยามข้างต้นนี้  มีคำสำคัญอยู่หลายคำที่น่าจะมีรายละเอียดเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอขยายความเพิ่มเติมดังนี้
 

             คำว่า พยายามล้วงลึก หมายถึง   เจตนาของผู้ตีความที่จะทำความเข้าใจและเข้าถึงสาระสำคัญของข้อความนั้นๆ ส่อถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และความพากเพียรคิดวิเคราะห์เพื่อไขความให้กระจ่างเพื่อให้เข้าถึงสาระสำคัญแห่งข้อความอันนี้ถือว่าเป็นบุรพภาคเบื้องต้น  ที่ทำให้เกิดมีการตีความขึ้น   หากไม่มีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วย่อมจะไม่มีการตีความเกิดขึ้น
         

            คำว่า เจตนารมณ์ของผู้แสดงข้อความนั้นๆ หมายถึงวัตถุประสงค์หรือสาระสำคัญที่ผู้แสดงข้อความนั้นๆ ต้องการให้เป็นไปและสื่อให้คนอื่นเข้าใจเช่นนั้นกล่าวคือผู้กล่าวหรือผู้แสดงคำหรือข้อความนั้นๆ ไว้ย่อมมีวัตถุประสงค์แฝงอยู่เสมอแต่แสดงไว้เฉพาะหัวข้อหรือถ้อยคำสั้นๆ ยังมิได้อธิบายขยายความอะไร ซึ่งตรงกับคำว่า “อุเทศ” ในเรื่องเทศนานั่นเอง อันวัตถุประสงค์นี้แหละที่ผู้มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจและเข้าให้ถึงคำว่า แยกแยะประเด็น หมายถึงคิดวิเคราะห์ประเด็นข้อความอย่างมีระบบ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพื่อจับประเด็นได้
 

             อย่างถูกต้องชัดเจน ซึ่งตรงกับคำว่า “นิเทศ” หรือ “วิเคราะห์” ในเรื่องเทศนาคำว่า อธิบายขยายความให้เห็นประจักษ์ หมายถึงอธิบายประเด็นความที่แยกแยะไว้แล้วตามหลักและวิธีการที่ถูกต้องแล้วนั้นโดยอ้างเหตุผล ข้อมูล หลักฐาน และทัศนะของผู้ที่ความประกอบ ซึ่งข้อนี้ก็ยังอยู่ในหลักของ “นิเทศ” และ “วิเคราะห์” อยู่คำว่า กำหนดความหมายตามความเข้าใจ หมายถึงสรุปความคิดรวบยอดของผู้ตีความหรือรวบรวมประเด็นและสาระสำคัญตามที่ได้แล้วไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งตรงกับคำว่า “ปฏินิเทศ” หรือ “สังเคราะห์” ในเรื่องเทศนาเมื่อมีการให้นิยามความหมายหลากหลายและค่อนข้างละเอียดเช่นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า การตีความนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์มิใช่เรื่องเล็กน้อย มิใช่เรื่องง่ายที่ควรจะมองข้ามความสำคัญ ที่ว่า
 

             การตีความเป็นศาสตร์ นั้น เพราะเรื่องนี้เป็นระบบวิชาความรู้ มีระเบียบวิธีเกี่ยวกับการรวบรวมความรู้และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนให้เข้าลำดับประสานกันเป็นอันเดียวตามหลักเหตุผลทางวิชาการ และที่ว่า

             การตีความเป็นศิลป์ นั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของฝีมือ เป็นเรื่องของความรู้ความฉลาด เป็นเรื่องของการแสดงออกให้ปรากฏประจักษ์ชัดเป็นรูปธรรม จนสามารถโน้มน้าวใจผู้อื่นให้ชื่นชมยินดี ยอมรับ และคล้อยตามจนคิดจะนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตน เรื่องนี้ขอยกการตีความพุทธศาสนสุภาษิตเป็นตัวอย่าง หากผู้ใดสามารถตีความอธิบายขยายความข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่งได้แจ่มแจ้งชัดเจน จะด้วยคำพูดหรือข้อเขียนก็ตามที่ประกอบด้วยลีลา สำเนียง หรือภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้ง น่าประทับใจ ชวนฟังชวนอ่าน เป็นต้น คำอธิบายของผู้นั้นย่อมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ฟังผู้อ่าน จนถึงติดใจและสนใจที่จะจดจำหรือนำไปปฏิบัติตาม หากถึงขั้นติดอันดับย่อมกลายเป็นคำอมตะที่ผู้คนจดจำนำไปเอ่ยอ้าง หรือสั่งสอนต่อๆ กันไป กลายเป็นคำสุภาษิตใหม่ขึ้นมาอย่างที่ปรากฏเห็นกันอยู่ทั่วไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027045714855194 Mins