ครูคือใคร
ครู มาจากคำว่า ครุ ซึ่งแปลว่า หนัก
ครุ เป็นคำเดียวกับคารวะ ซึ่งแผลงเป็นเคารพ แปลว่าตระหนักหรือซาบซึ้ง คือรู้ได้ด้วยปัญญา
คําแปล
๑. ครูแปลว่าหนัก ครู ย่อมเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างหนักเพื่อสะสมความรู้เอาไว้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ และครูย่อมเป็นผู้ที่ต้องอดทนอย่างหนัก ในการสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์
๒. ครูแปลว่ตาระหนัก ครูเป็นผู้ที่มีปัญญามากเมื่อจะกระทำสิ่งใดครูจึงสามารถตระหนักได้ว่า สิ่งนั้นผิดหรือถูก ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควรเมื่อทำแล้วจะเป็นบุญหรือเป็นบาปเมื่อตระหนักอย่างนี้แล้วครูก็จะเลือกทำแต่ในสิ่งที่เห็นว่าดีว่าถูกว่าควรทำและเมื่อทำไปแล้วก็ให้แต่ผลบุญเท่านั้น
ความหมาย
ครู คือ ผู้จุดดวงประทีปทางปัญญาให้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์พ้นจากความมืดคือ ความโง่ โดยพยายามอดทน ประคับประคอง ส่งเสริมให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าในทุกวิถีทาง ครู คือ ผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อความเหนื่อยยากความลำบาก ทั้งทางกายและทางใจ ครูยอมทุ่มเทเสียสละได้เต็มที่ทุกอย่าง ด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้ขอเพียงให้ศิษย์ได้ดี ครูก็พอใจ แม้ว่าต่อไปในภายหน้า ศิษย์จะเก่งกล้าก้าวหน้าเกินครูอย่างไรก็ตาม น้ำใจของครูนั้นมีแต่จะพลอยยินดีและเป็นสุขใจด้วย ครูไม่เคยมีจิตริษยาคิดจะกดศิษย์ไว้ให้ต่ำกว่าตนหรือคอยเบียดเบียน ทวงบุญทวงคุณเมื่อศิษย์ได้ดี
คุณสมบัติของครู
ครูที่แท้จริง คือผู้ให้สำหรับศิษย์ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะหัวใจและวิญญาณของครู บรรจุสิ่ง ๓ ประการต่อไปนี้อยู่เต็มเปี่ยม คือ
๑. ปัญญา คือ ความสว่างที่เกิดจากการสะสมความรู้ความสามารถ คุณธรรม ความดี มาตลอดชีวิตของท่าน ทำให้ท่านเป็นผู้รู้จักโลก รู้เท่าทันโลก รู้วิธีการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขความปลอดภัยเหมือนกับบุคคลผู้เดินทางในป่ากว้างมีคบไฟดวงใหญ่อยู่ในมือไว้ส่องทางยามเมื่อสิ้นแสงของดวงอาทิตย์ในเวลาค่ำคืนบุคคลเช่นนี้ย่อมสามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้ตามใจปรารถนาเพราะแสงสว่างจากประทีปในมือนั้น
ประทีปแห่งปัญญาซึ่งสว่างจ้าอยู่กลางใจของครูนั้นเป็นประทีปดวงโตที่ครูพร้อมจะจุดต่อให้กับผู้ที่มีความต้องการดวงสว่างนั้นแล้วขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน
๒. กรุณา คือ พลังแห่งความปรารถนาดีที่คอยผลักดันให้ครูพร้อมที่จะจุดดวงประทีปทางปัญญาต่อให้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์พ้นจากความโง่ และพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เพื่อศิษย์จะได้รับแต่ประโยชน์ความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้าอย่างครูหรือมากยิ่งกว่าครู
๓. บริสุทธิ์ หากครูจำเป็นต้องว่ากล่าว ดุด่า เฆี่ยนตี หรือลงโทษศิษย์ ก็เพราะว่าท่านมุ่งหมายอยากให้ลูกศิษย์เป็นคนดี ครูไม่เคยมีเจตนาที่จะคดโกง หลอกลวง มุ่งร้าย คิดจะทำลาย หรือเบียดเบียนศิษย์ความกรุณาที่ครูมีต่อศิษย์ มีแต่ความบริสุทธิ์ใจ คือ ไม่มีความประสงค์ร้ายแอบแฝงอยู่เลย