คิดอย่างพระ
เราโชคดีที่ได้มาบวช เราจึงต้องมีสมณสัญญา คือ “คิดอย่างพระ พูดอย่างพระ ทำอย่างพระ” พระคิดอยู่ ๒ อย่าง ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกตรง ได้แก่ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒. สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง คือ
๒.๑ ดำริในการออกจากกาม กาม คือ การครองเรือน ความกำหนัด ความใคร่ ความผูกพันทางจิตใจ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ที่เราถูกต้อง
๒.๒ ดำริในการไม่พยาบาท ไม่จองเวรใคร ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่จองล้าง ไม่จองผลาญ
๒.๓ ดำริในการไม่เบียดเบียน ไม่คิดที่จะตีใคร ด่าใคร เอาเรื่องใคร
ถ้าดำริในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในการเบียดเบียนนั่นไม่ใช่พระ เป็นแค่คนที่ห่มผ้าเหลือง เหมือนปูเสฉวนที่เป็นปู แต่อยู่ในกระดองหอยจึงนึกว่าตัวเองเป็นหอย คนที่ดำริในกาม ดำริในพยาบาทดำริในการเบียดเบียน เขาไม่ใช่พระ แม้ห่มผ้าเหลืองก็ยังไม่ใช่ กลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยกามพยาบาทและเบียดเบียนเพราะฉะนั้นเมื่อเรามาบวชเป็นพระแล้วเราควรหมั่นพิจารณาสิ่งที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ดังบทสวดที่เราสวดกันทุกวันว่า
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า บัดนี้ เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะเราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า อาการกาย วาจาอย่างอื่น ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีกไม่ใช่เพียงเท่านี้
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจะได้ดี ทำชั่วจะได้ชั่ว
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรายินดีในที่สงัดหรือไม่
- บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง
เราต้องหมั่นพิจารณาทั้ง ๑๐ ข้อนี้ให้ดี พิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะผู้สงบ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ พิจารณาเนืองๆ ว่า
อาการกาย วาจา อย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราจะต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย คือ เขาถวายอะไรมาก็พอใจและใช้แบบนั้นไม่ว่าจะเป็นภัตตาหาร จีวร ที่พัก หรือยารักษาโรค ก็พอใจตามที่เขาถวายเท่านั้น ไม่ร้องขออย่างอื่นที่จะทำให้ผู้ถวายหนักใจ ให้มักน้อย สันโดษ ตามแบบอย่างบรรพชิตผู้สงบให้คิดอย่างพระ
คือ ๑. มีสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ได้แก่ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ๒. มีสัมมาสังกัปปะ คือ คิดออกจากกาม ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อบวชแล้วเราจะไม่หมกมุ่นในกาม ไม่พยาบาท ไม่จองเวร ไม่เบียดเบียนสัตว์ แม้จะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็ตาม การที่เราคิดอย่างพระแบบนี้ จะทำให้ใจสงบ หยุดนิ่งได้อย่างรวดเร็ว คือ คิดที่จะออกจากกามอย่างเดียว ไม่คิดที่จะเข้าไปในกาม คิดที่จะออกจากพยาบาท ไม่จองเวร ให้อภัย มีเมตตา หวังบุญจากการให้อภัย หวังบุญจากการเมตตาให้มากๆ ทุกคนมีวิบากกรรมมีทุกข์อยู่แล้ว มีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องแก่ต้องตาย มีทุกข์อยู่แล้ว เราก็ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ทุกคนและสัตว์ทั้งหลายมีทุกข์อยู่แล้ว มีเวรมีภัยมีผลกรรมชั่วอันเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์พันเวรพ้นภัยมีเมตตา ให้อภัย มองเขาในแง่ดี จะได้ไม่พยาบาท ไม่ผูกโกรธไม่จองเวร ไม่จองล้างจองผลาญกัน ใจของเราจะได้เป็นสมาธิได้เร็ว ถ้าคิดอย่างพระจะเห็นทุกข์ เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงทรงออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ หลังจากบวชแล้วพระองค์ทรงคิดอย่างพระ พูดอย่างพระ ทำอย่างพระ เรื่อยมาจนสุดท้ายสามารถค้นพบทางสายกลางแล้วบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด ดังนั้นการคิดอย่างพระ พูดอย่างพระ ทำอย่างพระ จึงเป็นหนทางไปสู่ “พระนิพพาน”
ต่อไปเราจะมาลงรายละเอียดในเรื่องของ “สัมมาสังกัปปะ” คือ คิดออกจากกาม ไม่พยาบาท และไม่เบียดเบียน
“กาม” เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้างโทษของกามอย่างยิ่ง กามเป็นที่ดับแห่งปัญญา เป็นไปในฝักใฝ่แห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เราจึงต้องดำริในการออกจากกามพิจารณาให้เห็นโทษอันแสบเผ็ดโหดร้ายทารุณของกาม เพื่อจะได้เบื่อหน่ายในกามและออกจากกามได้
“เนกขัมมะ” คือการออกจากกาม เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วย่อมไม่เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง คุณของเนกขัมมะอย่างยิ่ง เนกขัมมะเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักใฝ่แห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
“ความพยาบาท” เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้างเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง โทษของพยาบาทอย่างยิ่ง พยาบาทเป็นที่ดับปัญญา เป็นฝักใฝ่แห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
“ความไม่พยาบาท” เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมไม่เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นฝักใฝ่แห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
“ความเบียดเบียน” เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้างเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง โทษของเบียดเบียนอย่างยิ่ง เบียดเบียนเป็นที่ดับปัญญา เป็นฝักใฝ่ความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
“ความไม่เบียดเบียน” เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมไม่เบียดเบียนตนเองบ้าง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง ไม่เป็นฝักใฝ่แห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
เพราะฉะนั้น เราต้องคิดอย่างพระ พูดอย่างพระ ทำอย่างพระ เพราะจะเป็นไปเพื่อนิพพาน ตอนเราบวชเราพูดว่า “สัพพะทุกขะนิสสะระณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะฯ” แปลว่า “ข้าพเจ้าจะสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง” ฉะนั้นเราต้องคิดอย่างพระ ต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ สอนตนเองบ่อยๆ ดำริในการออกจากกาม ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน