เลี้ยงลูกด้วยลูกยอ
สามีภรรยาคู่หนึ่งช่วยกันทำมาหากินจนมีฐานะค่อนข้างดีและช่วยกันเลี้ยงลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวอย่างทะนุถนอมตั้งใจไว้ว่าโตขึ้นจะให้เป็นหมอ จึงพยายามหาวิธีให้ลูกเรียนเก่งๆ จะได้เรียนเป็นหมออย่างที่ต้องการ โดยหาหนังสือการ์ตูนบ้าง นิทานสนุกๆ บ้าง วารสารทางวิชาการบ้าง นิตยสารบ้าง มาวางไว้ตรง นั้นตรงนี้เพื่อฝึกให้ลูกรักการอ่าน เขาชอบอ่านอะไรก็พยายามหามาให้อ่าน จนกระทั่งลูกติดนิสัยรักการอ่าน ทำอย่างนี้จนลูกเข้าเรียนชั้นมัธยมวันหนึ่งมีเพื่อนของพ่อมาเยี่ยมที่บ้าน เพื่อนถามถึงลูกชายพ่อรู้อยู่ว่าลูกชายอยู่ในห้องใกล้ๆ และกำลังเล่นอะไรเพลินอยู่ จึงตอบเพื่อนด้วยเสียงดังพอที่ลูกที่อยู่ในห้องจะได้ยินว่า
“คงอยู่ในห้องมั้ง ลูกคนนี้เขาเก่ง ชอบอ่านหนังสือ ท่าทางจะเรียนหมอ เขาไม่ชอบไปสุงสิงกับใคร ไม่ชอบเที่ยวเตร่ แม่เขาภูมิใจลูกคนนี้นักหนา ไอ้เราก็พลอยปลื้มไปด้วยที่จะได้เห็นลูกเป็นหมอกะเขาสักคน”
ลูกชายที่อยู่ในห้องได้ยินพ่อพูดอย่างนั้นก็พลอยตื่นเต้นไปด้วย “นี่คุณพ่อคุณแม่ของเราคงอยากให้เราเป็นหมอแน่นอน เราท่าจะขี้เกียจและเอาแต่เล่นไม่ได้เสียแล้ว ไม่งั้นคุณพ่อคุณแม่จะเสียใจแย่” เขาคิดด้วยสำนึกที่ดี ต่อมาเพื่อนของแม่มาหา แม่ก็พูดชมลูกของตนต่อหน้าเพื่อนไม่ขาดปาก “นี่เธอรู้ไหม ลูกของฉันคนนี้คงไม่ทำให้ฉันผิดหวังแน่ๆ เขาเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ ฉันสบายใจจริงๆ ที่มีลูกคนนี้” เพื่อนได้ฟังก็พลอยยินดีไปด้วยและหันมาชื่นชมลูกของเพื่อน “ให้มันได้อย่างนี้สิหลานฉัน ฉันจะคอยดูหลานเป็นหมอ เพื่อ ฉันเจ็บป่วยจะได้อาศัยให้ช่วยดูแล ขยันอย่างนี้ เรียนเก่งอย่างนี้ ต้องเรียนหมอจบได้แน่ๆ” ลูกได้ยินคำยกย่องเยินยอจากปากพ่อปากแม่อย่างนี้เป็น ประจำ แทนที่จะทำให้อึดอัดคับข้องใจ เพราะตนไม่อยากเป็นหมอ แต่กลับเป็นเข็มทิศให้ตนตัดสินใจที่จะเรียนหมอให้ได้ ตามที่พ่อแม่ ต้องการ แล้วในที่สุดก็สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยและเรียน จบเป็นแพทย์ได้ ซึ่งนำความปลาบปลื้มมาให้แก่พ่อแม่พี่น้องยิ่งนัก
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
การต้องการให้ลูกเป็นอย่างไร มิใช่สำเร็จได้เพียงแค่ ต้องการเท่านั้น แต่วิธีการที่จะให้ลูกเป็นตามที่ต้องการต่างหาก ที่สำคัญกว่าทุกอย่าง การปลูกฝังบ่มเพาะความต้องการของตนให้เจริญเติบโตอยู่ในความคิดของลูกอย่างฉลาด การหาอุบายให้ลูกได้ซึมซับความรู้สึกของตนไปทีละเล็กทีละน้อยด้วย คำพูดบ้าง ด้วยกิริยาอาการบ้าง ด้วยการชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อเขาได้รับความสำเร็จในการเรียนบ้าง ด้วยการให้กำลังใจ หรือปลอบใจ เมื่อเขาได้คะแนนต่ำ ในบางวิชาบ้าง ล้วนเป็นเครื่อง กระตุ้นให้ลูก เป็นอย่างที่ต้องการได้ทั้งสิ้น ส่วนการบังคับ เคี่ยวเข็ญ การดุด่า การดูถูกดูแคลน การยกเด็กอื่นมาข่มลูกตัวเอง เป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องปั่นทอนจิตใจลูก และทำให้คิดต้านไม่อยากทำตามที่พ่อแม่ต้องการ การใช้ “ลูกยอ” กับลูกนั้น ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเหลิง ขอเพียงใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกกาลเทศะ ไม่พร่ำเพรื่อ และใช้ให้สมจริงสมจังเท่านั้น เป็นได้ผลทุกรายไป