นางบาปและนางบุญ

วันที่ 12 กย. พ.ศ.2567

นางบาปและนางบุญ

2567%2009%2012%20b.jpg

 

         แลแล้ววันอันตื่นเต้นที่สุดก็มาถึง  มันเป็นประดุจวันตัดสินความคงอยู่หรือความดับสูญแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าเรื่องของนางจิญจมาณวิกาเป็นเรื่องจริงก็เป็นความดับสูญแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าเรื่องของนางจิญจมาณวิกาเป็นเรื่องเท็จ ก็เป็นนิมิตว่าพระพุทธศาสนาจะรุ่งโรจน์ต่อไป ทั้งนี้เสมือนคนโง่นำมูลค้างคาวไปสาดต้นข้าว ด้วยเจตนาที่จะให้ต้นข้าวตาย แต่บังเอิญมูลค้างคาวเป็นปุ๋ยอย่างดีของต้นข้าว ยิ่งทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามเขียวสดยิ่งขึ้น

              วันนั้นพระตถาคตเจ้าประทับแสดงธรรมอยู่  ณ  ธรรมสภา  สง่าปานดวงจันทร์ในท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก ขณะที่พุทธบริษัทกำลังทอดกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาอยู่นั้นเอง นางจิญจมาณวิกาก็ปรากฏกายขึ้นท่ามกลางพุทธบริษัท นางยืนท้าวสะเอวด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งชี้พระพักตร์พระตถาคตเจ้าด้วยอาการเกรี้ยวกราด

            “แสดงธรรมไพเราะจริงนะ   พระโคดม!   เสียงของท่านกังวานซึ้งจับใจของมหาชน  ฟันของท่านเรียบสนิท วาจาที่เปล่งออกล้วนแต่ให้คนทั้งหลายสละโลกียวิสัย แต่ตัวพระสมณโคดมเองเล่าสละได้หรือเปล่า บทบาทแสดงธรรมช่างทำได้ไพเราะหวานชื่นไม่แพ้บทประโลมนางในห้องนอน!”

         พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรม  พุทธบริษัทเงียบกริบ  บรรยากาศรอบ ๆ  ช่างวิเวกวังเวงเสียสุดประมาณ  ต้นไม้ทุกต้นในวัดเชตวันยืนต้นนิ่งเหมือนไม้ตายซาก...

            “ช่างดีแต่จะอภิรมย์!”  นางจิญจมาณวิกาพล่ามต่อไป  “พระโคดมหันมาดูข้าพเจ้าให้ชัดเจนซิ  ท้องของข้าพเจ้าบัดนี้ ๙ เดือนเศษแล้ว ตั้งแต่ตั้งท้องมาจะห่วงใยสักนิดหนึ่งก็มิได้มี ตอนแรก ๆ เมื่อเริ่มอภิรมย์ ช่างสรรมาเล่าแต่คำหวานให้เพลินใจ แต่พอท้องแก่แล้วจะจัดหาหมอหายาเพื่อลูกของตนเองสักนิดหนึ่งก็มิได้มี เมื่อไม่ทำเองจะมอบภาระให้สานุศิษย์ผู้ศรัทธา เช่นนางวิสาขาหรืออนาถปิณฑิกะหรือพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ ช่วยจัดเรือนคลอดและสวัสดิภาพอื่น ๆ มิใช่เพียงแต่เพื่อคนที่ตนเคยพร่ำว่ารักเท่านั้น แต่เพื่อเด็กอันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนด้วย” ว่าจบลงนางกวาดสายตาไปทั่ว

“ดูก่อนน้องหญิง” พระตถาคตเจ้าตรัสด้วยพระสุรเสียงกังวานซึ้งอย่างเดิม

“เรื่องนี้เราสองคนเท่านั้นที่รู้กันว่า จริงหรือไม่จริง”


            พระจอมมุนีตรัสเพียงเท่านั้นแล้วทรงดุษณีอยู่  แต่พระดำรัสสั้น ๆ  กินความลึกซึ้งนี่เองพุ่งเข้าเสียบความรู้สึกของนางอย่างรุนแรง เสมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษโดยไม่รู้สึกตัวนางสะดุ้งอย่างแรง ข้อเท้าและปากเริ่มสั่นอยู่ครู่หนึ่ง พอรวบรวมสติให้มั่นคงดังเดิม แล้วนางก็โต้ตอบออกมาทันทีว่า

“แน่ละซิ พระโคดม! ก็ในพระคันธกุฎีอันมิดชิดนั้นใครเล่าจะไปร่วมรู้เห็นด้วย นอกจากเราสองคน ช่างพูดได้อย่างไม่สะทกสะท้านเทียวนะว่า เราสองคนเท่านั้นรู้กัน” นางพูดไปเต้นไปด้วยอารมณ์โกรธอันค่อย ๆ พลุ่งขึ้นมาทีละน้อย

“แน่นอนทีเดียวน้องหญิง ตถาคตขอยืนยันคำนั้น”

            ดูก่อนภราดา! 
จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญ หรือเป็นเพราะวิบากแห่งกรรม อันสุกรอบของนางก็สุดจะอนุมานได้ เมื่อนางร้องด่าพระตถาคตไปและเต้นไป เชือกซึ่งนางใช้ผูกท่อนไม้ ซึ่งพันด้วยผ้าเก่าบาง ๆ ก็ขาดลง เรื่องทั้งหลายก็แจ่มแจ้ง การมีท้องของนางปรากฏแก่ตามหาชนอย่างชัดเจนยิ่งกว่าคำบอกเล่าใด ๆ ทั้งหมด นางได้คลอดบุตรคือท่อนไม้และผ้าเก่า ๆ แล้วท่ามกลางมหาชนนั่นเอง คนทั้งหลายตะลึงพรึงเพริด แต่มีแววแห่งปีติปราโมชอย่างชัดเจน นางจิญจมาณวิกาตกใจสุดขีด หน้าซีดเผือดเหมือนคนตาย ประชาชนได้เห็นเหตุการณ์ประจักษ์ตาเช่นนั้นต่างก็โล่งใจที่พระตถาคตเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง แล้วอารมณ์ใหม่ก็พลุ่งขึ้นในดวงใจแทบจะทุกดวง นั่นคือความเคียดแค้นชิงชังนางจิญจมาณวิกา ต่างก็สาปแช่งให้นางประสบทุกข์สมแก่กรรมชั่วร้ายของตน บางคนถือท่อนไม้และก้อนดินขับไล่ออกไปจากวัดเชตวัน ต่อมานางได้สิ้นชีพลงด้วยอาการที่น่าสังเวช อนิจจา! เรือนร่างที่สวยงามแต่ห่อหุ้มใจที่โสมมไว้ ย่อมทำให้เจ้าของเรือนร่างใช้เป็นเครื่องมือประหารตนเองอย่างไม่มีใครช่วยได้

              ลาภสักการะของเดียรถีย์ทั้งหลายเสื่อมลง และเกิดขึ้นแก่พระทศพลเจ้ามากหลาย


            วันต่อมาภิกษุสงฆ์ได้ประชุมกัน ณ ธรรมสภากล่าวกถาว่าด้วยเรื่องนางจิญจมาณวิกาพระตถาคตเจ้าเสด็จมาทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อยังไม่พิจารณา หรือยังไม่เห็นโทษของผู้อื่น โดยชัดเจนแล้ว ก็ไม่พึงลงโทษผู้ใด อนึ่ง บุคคลผู้ละคำสัตย์เสียแล้ว และชอบพูดแต่มุสา ไม่สนใจในเรื่องปรโลก จะไม่ทำบาปนั้นเป็นอันไม่มี”

               ดูก่อนภราดา! เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธองค์ เป็นเรื่องที่รู้กันแพร่หลายในหมู่ชนทุกชั้น ผู้เฒ่าผู้แก่พยายามสั่งสอนลูกหลานว่า อย่าเอาอย่างนางจิญจมาณวิกาและผูกเป็นคำพังเพยว่า “อย่าปาอุจจาระขึ้นฟ้า”

               ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท!  ก็พระตถาคตเจ้าเคยตรัสไว้เสมอไม่ใช่หรือว่า  คนที่เกิดมาแล้วทุกคนมีขวานติดปากมาด้วย  สำหรับให้คนพาลผู้ชอบพูดชั่ว ๆ ไว้ฟาดฟันเชือดเฉือนตัวเอง อนึ่งผู้ใดติเตียนคนที่ควรสรรเสริญหรือสรรเสริญคนที่ควรติเตียน ผู้นั้นชื่อว่าแส่หาโทษใส่ตัวเพราะปากเขาย่อมหาความสุขไม่ได้เพราะโทษนั้น การแพ้การพนันสิ้นทรัพย์หมดเนื้อหมดตัว ยังถือว่ามีโทษน้อยเมื่อนำไปเทียบกับการทำใจให้คิดประทุษร้ายในพระสุคต การกล่าวใส่ร้ายพระพุทธเจ้านี้แล มีโทษมากอย่างยิ่ง

              ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ไม่มีกิเลส ย่อมได้รับบาปเอง เหมือนคนปาผงธุลีขึ้นฟ้าหรือปาธุลีทวนลม

              ผู้โลภจัด ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่เคยใส่ใจในคำขอร้องวิงวอนของผู้ทุกข์ยาก ชอบส่อเสียด มักจะชอบด่าผู้อื่นเสมอ ๆ

              เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นบทเรียนดีพอสำหรับผู้ปองร้ายต่อพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาเรื่องใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ จึงเงียบไปหลายปี ต่อมามีเรื่องเกิดขึ้นอีก คราวนี้เกี่ยวกับการฆาตกรรม พวกเดียรถีย์ตามเคย จ้างนักเลงสุราให้ฆ่าหญิงคนหนึ่งชื่อสุนทรี แล้วนำไปหมกไว้ที่กองดอกไม้แห้งใกล้พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาค แล้วทำทีเป็นเที่ยวโฆษณาว่านางสุนทรีหายไปไม่ทราบหายไปไหน มีการค้นหากันมาก ในที่สุดก็มาพบที่ใกล้พระคันธกุฎี คราวนี้พวกเดียรถีย์ผู้ริษยาก็เที่ยวโฆษณาต่อมหาชนว่าพระผู้มีพระภาคร่วมหลับนอนกับนางสุนทรีแล้วฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จับผู้ร้ายฆ่านางสุนทรีได้ในร้านสุราแห่งหนึ่ง เพราะพวกนั้นเมาสุราแล้วทะเลาะกันเอง และกล่าวถึงเรื่องที่ตนตีนางสุนทรีกี่ครั้ง ๆ

ภราดา! ข้าพเจ้ากล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาค้างอยู่ จึงขอย้อนพรรณนาถึงมหาอุบาสิกาผู้มีอุปการะมากต่อพระศาสนาอีกครั้งหนึ่ง

             เมื่อนางกำลังเตรียมสร้างอารามนั่นเอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเสด็จสู่ภัททิยนคร ดังนั้น วันหนึ่ง เมื่อเสวยที่บ้านของท่านอนาถปิณฑิกะแล้ว ก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ข้าพเจ้าขอแจ้งรายละเอียดในเรื่องนี้เล็กน้อย คือตามปกติ พระศาสดาเมื่อเสวยที่บ้านของนางวิสาขาเสร็จแล้ว จะเสด็จออกจากประตูทักษิณและเสด็จสู่วัดเชตวัน ถ้ารับภิกษาที่บ้านของท่านอนาถปิณฑิกะ เมื่อเสร็จแล้วจะเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก และประทับ ณ ปุพพารามของนางวิสาขา แต่ถ้าคราวใดที่พระพุทธองค์เสวยที่บ้านของอนาถปิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร ก็เป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงประสงค์จะเสด็จจาริกในที่อื่น ๆ ซึ่งนาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง

 

              คราวนี้เมื่อนางวิสาขาทราบว่า  พระพุทธองค์เสวยพระกระยาหาร  ที่บ้านของอนาถปิณฑิกะ  แล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร จึงรีบไปเฝ้าโดยเร็ว ถวายบังคมแล้วทูลว่า “พระองค์จะเสด็จจาริกไปที่อื่นหรือพระเจ้าข้า” เมื่อพระศาสดาทรงรับแล้วจึงกราบทูลอีกว่า “พระองค์ผู้เจริญ!ข้าพระองค์สละทรัพย์มากหลายเพื่อสร้างอารามถวายพระองค์ ขอพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิดพระเจ้าข้า อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย”

              “ดูก่อนวิสาขา!  อย่าเลย  อย่าให้ตถาคตกลับเลย  ให้ตถาคตทำกิจของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์เถิด”

                นางวิสาขาดำริว่า พระพุทธองค์น่าจะทรงมีเหตุพิเศษเป็นแน่แท้ จึงทราบทูลว่า

“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์รับสั่งให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รู้กิจที่ควรทำและไม่ควรทำกลับเถิด พระเจ้าข้า”

                “ดูก่อนวิสาขา! เธอพอใจภิกษุรูปใด ขอให้เธอนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไว้เถิด”

              นางวิสาขาคิดว่า  ก็พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมาก  ถ้าอาราธนาท่านอยู่จะสามารถให้การสร้างอารามสำเร็จโดยเร็ว จึงได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะกลับ พระมหาเถระมองดูพระศาสดาเป็นเชิงทูลปรึกษาและฟังพุทธบัญชา พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้พระเถระพร้อมด้วยบริวารกลับ

 

           ในความอำนวยการของพระอัครสาวกเบื้องซ้าย   ปราสาทสองชั้นสำเร็จไปโดยเร็ว   มีทั้งหมด  ๑,๐๐๐  ห้อง  คือชั้นล่าง  ๕๐๐  ห้อง และชั้นบนอีก ๕๐๐ ห้อง พระศาสดาเสด็จจาริกไป ๙ เดือนจึงเสด็จกลับ การก่อสร้างปราสาทก็สำเร็จในเวลา ๙ เดือนเช่นกัน

               นางได้อาราธนาพระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประทับอยู่  ณ  ปราสาทนั้นเป็นเวลา ๔ เดือนเพื่อทำการฉลองปราสาท เมื่อพระตถาคตเจ้ารับแล้วนางก็เตรียมการถวายอาหาร เครื่องอุปโภคอื่น ๆ แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข

                ครั้งนั้น  มีสตรีผู้เป็นสหายของนางวิสาขาคนหนึ่ง  นำผ้าซึ่งมีค่าถึง  ๑,๐๐๐  กหาปณะเพื่อจะปูพื้นปราสาท  จึงบอกนางวิสาขาว่า “สหาย! ข้าพเจ้านำผ้ามาผืนหนึ่ง ท่านจะให้ปู ณ ที่ใด” นางวิสาขาตอบว่า “สหาย! ข้าพเจ้าจะตอบว่าไม่มีสถานที่จะให้ปู ท่านก็จะเข้าใจว่า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะให้ท่านร่วมกุศล เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านดูเอาเองเถิด เห็นสมควรปูลง ณ ที่ใดก็ปลง ณ ที่นั้น”

               นางเดินสำรวจทั่วปราสาทก็มองไม่เห็นที่ใด  ที่จะปูด้วยผ้ามีราคาน้อยกว่า  ๑,๐๐๐  กหาปณะเลย  นางรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ส่วนแห่งบุญในปราสาทนั้น จึงไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง

              ข้าพเจ้าเดินไปพบเธอเข้าโดยบังเอิญ เมื่อไต่ถามทราบความแล้ว ข้าพเจ้าจึงแนะให้นางปูลาดผ้านั้นลงในที่แห่งหนึ่ง พร้อมด้วยปลอบโยนว่า

“น้องหญิง! ผ้าซึ่งปูที่เชิงบันไดนี้ ย่อมอำนวยผลมากมีอานิสงส์ไพศาล เพราะภิกษุทั้งหลายเมื่อล้างเท้าแล้ว ย่อมเช็ดเท้าด้วยผ้าซึ่งอยู่ตรงนี้แล้วเข้าไปข้างใน”

              นางดีใจอย่างเหลือล้นที่สามารถหาที่ปูลาดผ้าได้สมปรารถนา ได้ยินว่านางวิสาขาลืมกำหนดที่ตรงนั้นไป

         นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดเวลา  ๔  เดือน  ในวันสุดท้าย ได้ถวายจีวรเนื้อดีมีราคามาก เฉพาะจีวรที่ถวายแก่พระซึ่งอ่อนพรรษาที่สุดก็มีราคาถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ในสมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีสตรีใดทำบุญเกินหรือแม้แต่เพียงเท่านางวิสาขาเลย

               ในวันที่ฉลองปราสาทนั่นเอง  เวลาบ่ายนางวิสาขาผู้อันบุตร  และหลานแวดล้อมแล้วเดินเวียนรอบปราสาท เปล่งถ้อยคำออกมาด้วยความเบิกบานใจว่า

-บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายวิหารทานเป็นปราสาทใหม่มีเครื่องฉาบทาอย่างดีสําเร็จแล้ว

-บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเสนาสนภัณฑ์ มีเตียงตั่งและหมอนเป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

-บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายสลากภัตด้วยอาหารที่สะอาดประณีต สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

-บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายจีวรทานด้วยผ้าที่ทำจากแคว้นกาสี ผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้ายเป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

-บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเภสัชทานมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็สำเร็จบริบูรณ์แล้ว


               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังเสียงของนาง แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า

“พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นนางวิสาขาขับร้องเลย มาวันนี้นางพร้อมด้วยบุตรและหลานเดินวงเวียนปราสาทขับร้องอยู่ ดีของนางจะกำเริบหรือนางเป็นบ้าประการใด”

              พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย!  ธิดาของเราหาได้ขับร้องไม่   แต่เพราะอัธยาศัยในการที่จะบริจาคของนางเต็มบริบูรณ์แล้ว จึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ” พระธรรมราชาผู้ฉลาดในการแสดงธรรมเมื่อจะทรงแสดงธรรมให้พิสดารออกไป จึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! วิสาขาธิดาของเรา น้อมจิตไปเพื่อทำกุศลต่าง ๆ เมื่อทำได้สำเร็จสมความปรารถนาก็ย่อมบันเทิงเบิกบาน ปานประหนึ่งนายมาลาการผู้ฉลาดรวบรวมดอกไม้นานาพันธุ์ไว้แล้วร้อยเป็นพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น”

                แล้วพระจอมมุนีทรงย้ำอีกว่า

            “นายมาลาการผู้ฉลาดย่อมทำพวงดอกไม้เป็นอันมากจากกองดอกไม้ที่เก็บรวบรวมไว้ฉันใด สัตว์ผู้เกิดมาแล้วและจะต้องตาย ก็พึ่งสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มากฉันนั้น”

               “อาวุโส!  บุคคลผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์  และสมบูรณ์ด้วยศรัทธานั้นค่อนข้างจะหาได้ยาก  ผู้มีศรัทธามักจะมีทรัพย์น้อย ส่วนผู้มีทรัพย์มากมักจะขาดแคลนศรัทธา อุปมาเหมือนนายช่างผู้ฉลาดแต่ขาดดอกไม้ ส่วนผู้มีดอกไม้มากมูล แต่ก็ขาดความสามารถในการจัดเสียอีก ส่วนนางวิสาขาพรั่งพร้อมสมบูรณ์ทั้งศรัทธาและทรัพย์ เธอจึงมีทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในบริบูรณ์”

            วันหนึ่ง นางวิสาขาได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไว้ เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านของนาง เมื่อถึงเวลาแล้ว นางจึงให้หญิงคนใช้ไปนิมนต์พระ แต่หญิงคนใช้มารายงานว่า ในวัดเชตวันไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย มีแต่นัคคบรรพชิต (นักบวชเปลือย) ทั้งสิ้นกำลังอาบน้ำฝนอยู่ วันนั้นฝนตกหนักมาก

             เวลานั้นพระศาสดายังมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบท   ห้ามพระเปลือยกายอาบน้ำ   เมื่อฝนตกใหญ่ ภิกษุทั้งหลายก็ดีใจกันใหญ่ เปลือยกายอาบน้ำเกลื่อนเชตวนาราม หญิงคนใช้ไม่รู้จึงเข้าใจว่าภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นนักบวชเปลือยสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร (พระในศาสนาเชน-ผู้เขียน)

                 นางวิสาขาเป็นผู้ฉลาด  เมื่อได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจเรื่องโดยตลอด  จึงให้คนรับใช้ไปนิมนต์ภิกษุอีกครั้งหนึ่ง นางกลับไปครั้งนี้ภิกษุได้อาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วและครองจีวรแล้ว คนรับใช้จึงเห็นภิกษุอยู่เต็มเชตวนาราม และอาราธนาว่าถึงเวลาภัตกิจแล้ว

                 วันนั้นเองนางวิสาขาปรารภเรื่องนี้  ทูลขอพรพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  เมื่อถึงฤดูฝนเข้าพรรษา นางขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุทั้งหลายเพื่อใช้อาบน้ำ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ถวายได้ ประชาชนทั้งหลายพากันเอาอย่าง ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนจึงมีมาจนกระทั่งหลังพุทธปรินิพพาน

                 ดูก่อนอาวุโส! ผู้ฉลาดย่อมหาโอกาสทำความดีได้เสมอ พุทธบริษัทในรุ่นหลังเป็นหนี้ความดีของนางวิสาขา ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่ดีงามไว้ให้คนทั้งหลายถือเป็นเยี่ยงอย่างดำเนินตามมากหลาย ด้วยประการฉะนี้

                เมื่อพระอานนท์กล่าวจบลงเห็นพระกัมโพชะยังคงนั่งนิ่งอยู่  ท่านจึงกล่าวต่อไปว่า “ภราดา! เรื่องพุทธจริยาและบุคคลผู้เกี่ยวข้องอันน่าสนใจนั้นมีมากหลายเหลือที่จะพรรณนาให้หมดในครั้เดียวได้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเท่าที่นำมาเล่าแก่ผู้มีอายุก็พอสมควรแล้ว ท่านยังมีโอกาสที่จะรับทราบและศึกษาในโอกาสต่อไปอีก อนึ่ง เวลานี้ก็เย็นมากแล้ว ท่านและข้าพเจ้ายังมิได้สรงน้ำชำระกายให้สะอาดเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ทิฏบธรรมสุขวิหารและพิจารณาธรรมตลอดปฐมยามแห่งราตรี”

                พระกัมโพชะลุกขึ้นนั่งกระโหย่ง ประณมมือเปล่งวาจาสาธุสามครั้งแล้วกล่าวว่า

 

“ข้าแต่พระพุทธอนุชา!  เป็นลาภอันประเสริฐแห่งโสตของข้าพ  เจ้าที่ได้ฟังพุทธจริยาจากท่าน  ผู้เป็นเสมือนองค์แทนแห่งพระศาสดา  ข้าพเจ้าขอจารึกพระคุณ  คือ  ความกรุณาของท่านไว้ด้วยความเคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง” แล้วพระกัมโพชะก็กราบลง ณ บาทมูลแห่งพระอานนท์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029067917664846 Mins