น้ำใจและจริยา

วันที่ 16 กย. พ.ศ.2567

น้ำใจและจริยา

2567%2009%2016b.jpg

 

               เช้าวันหนึ่ง  พระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี  ได้พบพราหมณ์นามว่าสังครวะ  ผู้มีความเชื่อถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาวันละสามครั้ง คือเช้า กลางวัน และเย็น บาปอันใดที่ทำในเวลาราตรี บาปนั้นย่อมล้างได้ลอยได้ด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า และอาบน้ำในเวลากลางวันเพื่อล้างบาปที่ทำตั้งแต่เช้าจนเที่ยง อาบน้ำในเวลาเย็นเพื่อล้างบาปอันอาจจะเกิดขึ้นในเวลาหลังเที่ยง น้ำที่จะอาบนั้นต้องเป็นน้ำในแม่คงคา โดยถือว่าได้ไหลมาจากแดนสวรรค์ ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้ามาแล้วไม่เพียงแต่ล้างบาปอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถบำบัดโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย และเมื่ออาบน้ำในแม่น้ำคงคาทุกวัน ตายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ได้สถิตอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นของธรรมดาที่จะมองเห็นโยคีและผู้บำเพ็ญพรตนิกายต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือแถบภูเขาหิมาลัย ทรมานตนอยู่ด้วยวิธีแปลก ๆ ตามแต่ตนจะเห็นว่าอย่างไหนดีและสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ บางพวกนอนบนหนาม บางพวกคลุกตนด้วยขี้เถ้า บางพวกยืนยกขาข้างเดียวอ้าปากกินลมชมจันทร์ บางพวกยืนเอามือเหนี่ยวกิ่งไม้จนเล็บยาวออกมาแทบจะทะลุหลังมือ บางพวกบูชาไฟและบูชาพระอาทิตย์ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โยคีบางพวกบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้บรรลุฌานขั้นต่าง ๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต เหมือนประสบมาเอง บางคนสามารถได้เจโตปริยญาณ คือรู้วาระจิตของผู้อื่น ตอบปัญหาได้ โดยที่ผู้ถามเพียงนึกถามอยู่ในใจเท่านั้น

               พระอานนท์ได้เห็นสังครวะพราหมณ์ ผู้ถือการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเป็นอาจิณวัตรดังนั้นแล้ว มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“พระองค์ผู้เจริญ! สังครวะพราหมณ์เวลานี้อยู่ในวัยชรา มีอัธยาศัยงามพอสนทนาได้อยู่ แต่อาศัยความเชื่อถือเก่า ๆ จึงยังมองไม่เห็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปโปรดสังครวะพราหมณ์สักครั้งเถิด”

          พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระอานนท์ด้วยอาการดุษณี  วันรุ่งขึ้นเสด็จไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้นเหมือนเสด็จเยี่ยมอย่างธรรมดา เมื่อสัมโมทนียกถาล่วงไปแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“พราหมณ์! เวลานี้ท่านยังอาบน้ำดำเกล้าในแม่น้ำคงคาวันละ ๓ ครั้งอยู่หรือ?”

“ยังทำอยู่พระเจ้าข้า” พราหมณ์ทูลด้วยอาการนอบน้อม

“ท่านเห็นประโยชน์อย่างไรนะพราหมณ์ จึงต้องอาบน้ำดำเกล้าเฉพาะแต่ในแม่น้ำคงคาเท่านั้น ที่อื่นจะอาบได้หรือไม่ ที่ตถาคตถามนี้ ถามเพื่อต้องการความรู้ความเห็นเท่านั้น อย่าหาว่าตถาคตละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัวเลย”

“พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าได้รับฟังมาตั้งแต่อายุยังเยาว์ว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาปมลทินทั้งปวงได้ เพราะได้ไหลผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้าลงมา เป็นแม่คงคาสวรรค์ ข้าพเจ้าจึงเลื่อมใสและปฏิบัติตามบุรพชนซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมา และข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถชำระบาปได้จริงๆ ” พราหมณ์ทูลด้วยความมั่นใจ

“พราหมณ์!” พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนโยนนิ่มนวลและอย่างกันเอง “ขอให้ท่านนึกว่าเราสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันเถิด ตถาคตจะขอถามท่านว่าบาปมลทินนั้นอยู่ที่กายหรืออยู่ที่ใจ?”

“อยู่ที่ใจ พระโคดม”

“เมื่อบาปมลทินอยู่ที่ใจ การลงอาบน้ำชำระกายน้ำนั้นจะสามารถซึมซาบลงไปล้างใจด้วยหรือ?"

“แต่พระโคดมต้องไม่ลืมว่าน้ำนั้นมิใช่น้ำธรรมดา มันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปมลทินภายในได้”

“ท่านคิดว่าความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ให้เป็นอีกอย่างหนึ่งตามที่เราเชื่อหรือ?”

“เป็นไปมิได้เลย พระโคดม ความเชื่อมิอาจบิดเบือนความจริงได้ ความจริงย่อมทรงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม”

“เป็นอันท่านยอมรับว่า ความเชื่อไม่อาจไปบิดเบือนความจริงได้ ก็การที่ท่านเชื่อว่าแม่น้ำคงคาสามารถล้างบาปมลทินภายในได้นั้น มันจะเป็นจริงอย่างที่ท่านเชื่อละหรือ? ดูก่อนพราหมณ์! อุปมาเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่า แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นทิศตะวันออก แต่ความจริงมันเป็นทิศตะวันตก ความเชื่อของเขาไม่อาจจะไปเปลี่ยนทิศตะวันตกให้เป็นทิศตะวันออกได้ ฉันใด ความเชื่อของพราหมณ์เป็นอันมากที่เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถล้างบาปได้ ก็ไม่อาจทำให้แม่น้ำนั้นล้างบาปได้จริง จึงชวนกันเข้าใจผิดเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่านั้น

                   ดูก่อนพราหมณ์!  เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง  มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างเฉพาะภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?”

                “เป็นไปมิได้เลย  พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า  ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้  สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น”

                    “ดูก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว

                     นี่แน่ะพราหมณ์!  มาเถิด มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก

               เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้  พราหมณ์กล่าวด้วยความเบิกบานใจว่า  “แจ่มแจ้งจริงพระโคดม แจ่มแจ้งจริงเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระองค์พร้อมด้วยพระธรรมและพระสงฆ์เป็นผู้นำทางตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จวบจนสิ้นลมปราณ”

                  พระอานนท์  พุทธอนุชาเป็นผู้มีน้ำใจปรารถนาความสุขความสำเร็จแก่ผู้อื่น  ในฐานะที่พอช่วยเหลือได้ ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งของท่าน ซึ่งน่าประทับใจยิ่งนัก คือมีความเคารพยำเกรงต่อพระเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ซึ่งพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว มีพระสารีบุตรและพระมหากัสสปเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากัสสปนั้น พระอานนท์ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยชื่อท่าน

                   คราวหนึ่ง   พระมหากัสสปเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบทแก่กุลบุตรผู้หนึ่ง  จึงส่งทูตไปนิมนต์พระอานนท์เพื่อสวดอนุสาวนา คือสวดประกาศเพื่อขอความยินยอมจากสงฆ์ ในการสวดนี้จะต้องระบุชื่อผู้เป็นอุปัชฌายะด้วย พระอานนท์ไม่รับ ท่านอ้างว่าท่านไม่สามารถเอ่ยชื่อพระมหากัสสปต่อหน้าท่านได้ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาระบุชื่อโคตรกันได้

                   อีกครั้งหนึ่งท่านมีหน้าที่ต้องให้โอวาทภิกษุณี  ท่านขอร้องวิงวอนให้พระมหากัสสปไปกับท่าน  เพื่อให้โอวาทภิกษุณีแทนท่าน เพราะเห็นว่าพระมหากัสสปเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัด โอวาทของท่านคงจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุณีผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติ พระมหากัสสปปฏิเสธถึงสองครั้งเมื่อพระอานนท์อ้อนวอนเป็นครั้งที่สาม ท่านจึงไปอย่างขัดพระอานนท์ไม่ได้ โดยปกติท่านเป็นผู้อยู่ป่าไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อถึงสำนักภิกษุณีและให้โอวาทพอสมควรแล้ว ท่านก็ลากลับต่อมาท่านได้ทราบว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งติเตียนท่านว่า พระมหากัสสปไม่น่าจะกล่าวธรรมต่อหน้าเวเทหมุนี คือนักปราชญ์อย่างเช่นพระอานนท์เลย การกระทำเช่นนั้น เหมือนพ่อค้าขายเข็ม นำเข็มมาขายแก่นายช่างผู้ทำเข็ม ช่างน่าหัวเราะ พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์ว่า

“อานนท์! เธอหรือเรากันแน่ที่ควรจะเป็นพ่อค้าขายเข็ม ก็พระศาสดาเคยยกย่องเธอบ้างหรือว่ามีวิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ประจำวันเสมอด้วยพระองค์ แต่เรานี่แหละพระ
ศาสดายกย่องในท่ามกลางสงฆ์เสมอว่ามีธรรมเสมอด้วยพระองค์ เช่นเดียวกับที่ยกย่องพระสารีบุตรว่า สามารถแสดงธรรมได้เสมอด้วยพระองค์”


“ท่านผู้เจริญ” พระอานนท์กล่าวด้วยเสียงเรียบปกติ “อย่าคิดอะไรเลย สตรีส่วนมากเป็นคนโง่เขลา มักขาดเหตุผล พูดพล่อย ๆ ไปอย่างนั้นเอง”

               การที่พระมหากัสสปกล่าวกับพระอานนท์อย่างนั้น  มิใช่เพราะท่านน้อยใจหรือเสียใจ  ในการที่ภิกษุณีกล่าวดูหมิ่นท่าน  แต่ท่านกล่าวด้วยคิดว่า คำพูดของท่านคงจะถึงภิกษุณีและเธอจะได้สำนึกตนแล้วกลับความเห็นเสีย การที่ภิกษุณีกล่าวเช่นนั้นเป็นการไม่สมควร จะเกิดโทษและทุกข์แก่เธอเอง ด้วยจิตคิดจะอนุเคราะห์อย่างนี้ พระมหากัสสปจึงกล่าวอย่างนั้น

                  โดยความเป็นจริงแล้ว พระมหากัสสปมีความสนิทสนม และกรุณาพระอานนท์ยิ่งนักกล่าวกันว่า แม้พระอานนท์จะมีอายุย่างเข้าสู่วัยชรา เกศาหงอกแล้ว พระมหากัสสปก็เรียกท่านว่า “เด็กน้อย” อยู่เสมอและพระอานนท์เล่าก็ประพฤติตนน่ารักเสียจริง ๆ

พระอานนท์เป็นองค์แทนธรรมรัตนะ

                    คราวหนึ่ง มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกนั้น เขาได้บูชาแล้วด้วยการถวายอาหารบ้าง ถวายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้บ้างเวลานี้เขาต้องการจะบูชาพระธรรม ควรจะทำอย่างไรจึงเรียกได้ว่าบูชาพระธรรม พระศาสดาตรัสให้บูชาภิกษุผู้เป็นพหูสูตทรงธรรม เขาจึงทูลถามว่าก็ใครเล่าเป็นพหูสูตทรงธรรม พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พราหมณ์ไปถามภิกษุทั้งหลาย เมื่อพราหมณ์ไปถามภิกษุทั้งหลายก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้เป็นพหูสูตทรงธรรมดังกล่าวนั้นคือ พระอานนท์พุทธอนุชาพราหมณ์จึงได้นำจีวรไปถวายพระอานนท์เป็นการบูชาพระธรรม พระอานนท์จึงเป็นสาวกที่เป็นองค์แทนธรรมรัตนะ

                  กล่าวอีกปริยายหนึ่ง ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยชอบ ไม่ดูแคลนธรรม ให้ความยำเกรงแก่ธรรม ไม่เหยียบย่ำธรรม ชื่อว่าเป็นผู้บูชาพระธรรม โดยความหมายอย่างสูง แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเคารพนับถือธรรม

                 ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ  พระพุทธองค์ประทับอยู่  ณ  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราใต้ต้นไทรอันคนเลี้ยงแพะชอบมาพักอาศัยเสมอ ซึ่งมีชื่อว่า อชปาลนิโครธ ทรงปริวิตกว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่ลำบาก ผู้ไม่มีที่เคารพที่เกรงใจก็อยู่ลำบาก ก็พระองค์จะถือใครเป็นที่เคารพยำเกรง ได้ทรงตรวจดูบุคคลทั้งหลายที่พระองค์จะพึงเคารพยำเกร่ง แต่ไม่ทรงเห็นใครที่เสมอด้วยพระองค์หรือยิ่งกว่าพระองค์ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทัสสนะ แต่ยังทรงตระหนักอยู่ว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งที่เคารพยำเกรงย่อมอยู่ลำบาก พระองค์ควรจะมีใครหรืออะไรหนอเป็นที่เคารพ ในที่สุดก็ทรงมองเห็นพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั่นแลว่า เป็นธรรมที่ประณีตลึกซึ้ง ควรแก่การเคารพ พระพุทธองค์จึงทรงอธิษฐานพระทัย ถือเอาธรรมเป็นที่เคารพแห่งพระองค์ พระธรรมจึงเป็นสิ่งสูงสุด แม้พระพุทธเจ้าเองยังต้องทรงเคารพ

                    กล่าวโดยรวบยอด พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์จะต่างกันก็แต่เพียงชื่อเท่านั้นส่วนโดยเนื้อความแล้ว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกออกจากกันไม่ได้ เปรียบเหมือนแก้วหรือเพชร ๓ เหลี่ยม ซึ่งอาศัยอยู่ในเม็ดเดียวกันนั่นเอง พระธรรมเป็นความจริงซึ่งเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เป็นกฎแห่งความจริงซึ่งมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงค้นพบกฎแห่งความจริงนั้น แล้วนำมาตีแผ่ชี้แจงแสดงเปิดเผย พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมและรักษาธรรม ทรงธรรมไว้ และแสดงต่อ ๆ กันมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก เหมือนผู้รับช่วงดวงประทีปสำหรับส่องทางแก่มวลมนุษย์ผู้สัญจรอยู่ในป่าแห่งชีวิตนี้

                 ครั้งหนึ่งพระอานนท์นั่งพักอยู่ ณ ที่พักกลางวัน ท่านมีความคิดขึ้นว่า พระศาสดาเคยตรัสเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เช่นเรื่องมารดาบิดาของพระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ เรื่องกำหนดพระชนมายุ เรื่องการตรัสรู้ เรื่องสาวกสันนิบาต เรื่องอัครสาวกตลอดถึงเรื่องอุปัฏฐาก แต่เรื่องอุโบสถของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ พระพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสให้ทราบเลย อุโบสถของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ จะเหมือนกับของพระศาสดาของเราหรือไม่ เมื่อท่านสงสัยดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลถามข้อความนั้น

                  พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กำหนดอุโบสถของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน  ส่วนโอ-วาทปาฏิโมกข์ คือ พระโอวาทที่เป็นหลักของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์เหมือนกันทั้งสิ้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ทรงกระทำอุโบสถ ๗ ปี ต่อ ๑ ครั้ง ทั้งนี้เพราะพระโอวาทที่ทรงประทานวันหนึ่งเพียงพอสำหรับ ๑ ปี ส่วนพระสิขีและพระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกระทำอุโบสถ ๖ ปีต่อ ๑ ครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ และโกนาคมนะทรงกระทำปีละครั้ง พระกัสสปทสพล ทรงกระทำทุก ๆ ๖ เดือน ส่วนพระองค์เอง ทรงกระทำทุก ๆ ๑๕ วัน กาลเวลาที่ทำอุโบสถแตกต่างกันอยู่อย่างนี้ แต่พระโอวาทนั้นเหมือนกันทุกประการดังนี้

ตอนแรก ทรงแสดงหลักทั่ว ๆ ไปว่า

                    ตีติกขาขันติ   คือ   ความอดทน  อดกลั้นต่ออารมณ์ที่มายั่วเย้าให้โลภ  ให้โกรธ  และให้หลง อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่น จัดเป็นตบะธรรมที่ยอดยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นบรมธรรม คือ จุดหมายปลายทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ผู้บวชแล้ว แต่ยังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนอยู่ หาชื่อว่าสมณะคือผู้สงบไม่

ตอนที่สอง ทรงวางแนวการสอนพระพุทธศาสนาว่า

                     ศาสนาของพระองค์สรรเสริญการไม่ทำความชั่วและสรรเสริญการทำความดี ยกย่องการทำจิตให้ผ่องใสสะอาด เพราะฉะนั้นในการสอนธรรม จึงพุ่งเข้าหาจุดทั้งสามจุดนี้ พูดให้เขาเห็นโทษของความชั่ว ให้เห็นคุณของความดีและการทำใจให้ผ่องแผ้ว ประการหลังเป็นจุดมุ่งหมาย

ตอนที่สาม ทรงกำหนดคุณสมบัติของผู้เผยแผ่ว่า

                      -ต้องไม่ว่าร้ายใคร คือเผยแผ่ศาสนาโดยไม่ต้องรุกรานใคร
                      -ต้องไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าผู้ที่ไม่เชื่อถือ ไม่ข่มเหงใคร
                      -ต้องสำรวมระวังในสิกขาบทปาฏิโมกข์ สำรวมตนด้วยดี ทำตนให้เป็นตัวอย่างทางสงบ
                      -ต้องไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง พยายามรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งสมณะไว้
                      -ต้องอยู่ในที่สงบสงัด ไม่จุ้นจ้านพลุกพล่าน
                     -ต้องประกอบความเพียรทางจิตอยู่เสมอ   เพื่อละอกุศลธรรมที่ยังมิได้ละ  เพื่อบำเพ็ญกุศลที่ยังมิได้ทำให้เจริญ

                    โดยที่โอวาทปาฏิโมกข์  คือ  พระโอวาทที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธเจ้า  ทุกพระองค์เหมือนกัน และลงกันได้อย่างสนิทอย่างนี้เอง พระคันถรจนาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์ จึงกล่าวไว้โดยบุคคลาธิษฐานว่า

                   เมื่อพระศากยมุนีเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา  ในตอนเช้าแห่งวันเพ็ญเดือนวิสาขะแล้ว  พระองค์ได้นำถาดทองคำที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยเสียในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปหน่อยหนึ่งแล้วจมลงไปซ้อนกับถาดของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ เสียงดังกริก พญานาคราชซึ่งนอนหลับเป็นเวลานานก็ตื่นขึ้นพลางนึกในใจว่า เร็วจริงยังนอนหลับไม่เต็มตื่นเลย พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นอีกองค์หนึ่งแล้ว มองดูถาดที่ลงไปซ้อนกันอยู่ครู่หนึ่งแล้วหลับต่อไปพญานาคราชนี้ จะตื่นขึ้นเฉพาะเวลาที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเท่านั้น

เรื่องนี้ถอดเป็นธรรมาธิษฐานได้ความดังนี้ :-

                   ถาดทองคำเปรียบด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า  ที่ว่าลอยทวนกระแสน้ำนั้น  หมายถึงลอยทวนกระแสจิตของคนธรรมดา สภาพจิตของคนมักไหลเลื่อนลงสู่ที่ต่ำ คืออารมณ์อันน่าใคร่ น่าพอใจ แต่ธรรมของพระพุทธองค์เน้นหนักไปในทางให้ฝึกฝนจิต เพื่อละความใคร่ ความพอใจ ความเมาต่าง ๆ จึงเรียกว่า ทวนกระแส ดังที่พระองค์ทรงปรารภเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ และทรงดำริจะโปรดเวไนยสัตว์ว่า

“ธรรมที่เราได้บรรลุนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่งตรรก คือ คิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมากยินดีในอาลัย คือกามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้นยากนักที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทและพระนิพพาน ซึ่งมีสภาพบอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ เราจะพึงแสดงธรรมหรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้วคนอื่นรู้ตามไม่ได้ เราก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้อันบุคคลผู้เพียบแปร้ไปด้วยราคะ โทสะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ยังยินดีพอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืดคือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิตอันละเอียดประณีตลึกซึ้ง เห็นได้ยากนี้”

                    ทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงน้อมพระทัยไปเพื่อเป็นผู้อยู่สบาย  ขวนขวายน้อย  ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00416259765625 Mins