มหาอุบาสิกานามวิสาขา

วันที่ 09 กย. พ.ศ.2567

มหาอุบาสิกานามวิสาขา

2567%2009%2009%20b.jpg

 

“ดูก่อนภราดร!” พระอานนท์กล่าวต่อไป

              เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง  ท่านมิคารเศรษฐีก็ก้มหน้านิ่ง  ไม่รู้จะตอบนางประการใดพราหมณ์ชำระความระหว่างสะใภ้และพ่อผัวจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านเศรษฐี! เรื่องทั้งหมดนี้นางหามีความผิดไม่ นางเป็นผู้บริสุทธิ์” เศรษฐีจึงกล่าวขอโทษนางวิสาขาที่ท่านเข้าใจผิดไปนางวิสาขาจึงกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านบิดา! บัดนี้ข้าพเจ้าพ้นจากความผิดทั้งปวงแล้ว จึงสมควรจะกลับไปสู่เรือนแห่งบิดาตน”

           “อย่าเลยลูกรัก”  มิคารเศรษฐีพูดกับลูกสะใภ้ด้วยสายตาวิงวอน  นางวิสาขาจึงกล่าวว่าเมื่อนางอยู่เรือนตน ณ นครสาเกต ได้มีโอกาสทำบุญและฟังธรรมตามโอกาสที่ควร แต่เมื่อนางมาอยู่ที่นี่แล้วนางไม่มีโอกาสทำได้เลย จิตใจกระวนกระวายใคร่จะทำบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่หาได้กระทำไม่ ถ้าบิดาจะอนุญาตให้นางทำบุญกุศลตามต้องการนางก็จะอยู่ แต่ถ้าท่านบิดาไม่อนุญาตนางก็จะขอลากลับไปสู่นครสาเกตตามเดิม เศรษฐีจึงกล่าวว่า

“ลูกรัก! ทำเถิด ทำบุญได้ตามปรารถนา พ่อไม่ขัดข้อง และปุณณวัฒนกุมารสามีของเจ้าก็คงไม่ขัดข้องเช่นกัน”

             ดูก่อนภราดร!   เมื่อเศรษฐีกล่าวอนุญาตเช่นนี้  หัวใจของนางวิสาขาที่เคยเหี่ยวแห้งก็กลับชุ่มชื่นเบิกบาน  ประหนึ่งติณชาติซึ่งขาดน้ำมาเป็นเวลานานและแล้วกลับได้อุทกธารา เพราะพิรุณหลั่งในต้นวัสสานฤดู หรือประดุจประทุมมาลย์เบ่งบานขยายกลีบเมื่อต้องแสงระวีแรกรุ่งอรุณความสุขใดเล่าสำหรับผู้ใคร่บุญจะเสมอเหมือนการมีโอกาสได้ทำบุญ หรือเพียงแต่ได้ฟังข่าวว่าจะได้ทำบุญ เฉกนักเลงสุราบานซึ่งชื่นชมยินดีข่าวแห่งการดื่มสุราเมื่อทราบว่ามีผู้เชื้อเชิญ

            วันรุ่งขึ้น  นางวิสาขาได้ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสาวก  เพื่อเสวยภัตตาหารที่บ้านตน  พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จสู่บ้านของนางวิสาขา เมื่อเสวยเสร็จแล้วมีพระพุทธประสงค์จะทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมพอเป็นเครื่องปลื้มใจแห่งผู้ถวาย นางวิสาขาจึงให้คนไปเชิญบิดาสามีมาเพื่อร่วมฟังอนุโมทนาด้วย ตามปกติเศรษฐีไม่เลื่อมใสในพุทธศาสนา เวลานั้นยังศรัทธาคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรอยู่ ไม่ปรารถนาจะมาเฝ้าพระศาสดาเลย แต่ด้วยความเกรงใจลูกสะใภ้จึงมา พระผู้มีพระภาคทรงทราบอุปนิสัยและความรู้สึกของเศรษฐีดีอยู่แล้ว จึงทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยเหตุผล แพรวพราวไปด้วยเทศนาโวหารและอุทาหรณ์ พระองค์ตรัสว่า

               “ข้าวเปลือก   ทรัพย์   เงินทองหรือของที่บุคคลหวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง   รวมทั้งทาสกรรมกร   คนใช้และผู้อาศัยอื่น ๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัวเพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

              พระองค์ตรัสว่า ทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวของบัณฑิตผู้หนึ่งว่า “เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่นำออก ไม่ได้ถูกไฟไหม้วอดวายอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟ คือ ความแก่ ความตาย ไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คือผู้ฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้วเป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ”

             พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า   “ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา  เหมือนชาวนาผู้ไม่ฉลาดไม่ยอมหวานพันธุ์ข้าวลงในนา  เขาเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้จนเน่าและเสียไม่สามารถจะปลูกได้อีก ข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้ว ๑ เม็ด ย่อมได้ผล ๑ รวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้น ย่อมมีผลมากผลไพศาล การรวบรวมทรัพย์ไว้โดยมิได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ทรัพย์นั้นจะมีคุณแก่ตนอย่างไร เหมือนผู้มีเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตา แต่หาได้ประดับไม่ เครื่องประดับนั้นจะมีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อความหนักใจในการเก็บรักษา”

             “นกชื่อมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขาและที่ต่าง ๆ  มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า  ของกู  ของกู ในขณะที่มันร้องอยู่นั่นเอง หมู่นกเหล่าอื่นบินมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไปนกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า ของกู ของกู อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวบรวมสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิได้ใช้สอยเองให้ผาสุก มัวเฝ้ารักษาและภูมิใจว่า ของเรามี ของเรามี ดังนี้ เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่าง ๆ มากหลาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้วเพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ มีญาติเป็นต้น”

             “ดูก่อนท่านทั้งหลาย!”  พระศาสดาตรัสต่อไป  “ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้น  ไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร  เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิทเย็นดี มีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่ม อาบ หรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นมีอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใคร ๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย

             ส่วนคนดี  เมื่อมีทรัพย์แล้ว  ย่อมบำรุงมารดา  บิดา  บุตร  ภรรยา  บ่าวไพร่ให้เป็นสุข  บำรุงสมณพราหมณาจารย์ให้เป็นสุข  เปรียบเสมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อย สะอาด เยือกเย็น น่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัย นำไปอาบ ดื่ม และใช้สอยตามต้องการโภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่”

               “ดูก่อนท่านทั้งหลาย!  นักกายกรรมผู้มีกำลังมาก  หรือนักมวยปล้ำซึ่งมีพลังมหาศาลนั้น  ก่อนที่จะได้กำลังมาเขาก็ต้องออกกำลังไปก่อน การเสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลายผู้ไม่ยอมเสียสละอะไร ย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิด! มนุษย์ทั้งหลายย่อมรดน้ำต้นไม้ที่โคน แต่ไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูความจริงตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเถิด คือ แม่น้ำสายใดเป็นแม่น้ำตาย ไม่ไหลไม่ถ่ายเทไปสู่ที่อื่น หยุดนิ่ง ขังอยู่ที่เดียว แม่น้ำสายนั้นย่อมพลันตื้นเขินและสกปรก เพราะมิได้ถ่ายเท นอกจากนี้บริเวณใกล้ ๆ แม่น้ำสายนั้น จะหาพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สวยสดก็หายาก แต่แม่น้ำสายใดไหลเอื่อยลงสู่ทะเล หรือแตกสาขาออกไปไหลเรื่อยไปไม่รู้จักหมดสิ้น คนทั้งหลายได้อาศัย อาบดื่ม และใช้สอยตามปรารถนา มันจะใสสะอาดอยู่เสมอ ไม่มีวันเหม็นเน่าหรือสกปรกได้เลย พืชพันธุ์ธัญญาหาร ณ บริเวณใกล้เคียงก็เขียวสดสวยงาม”

          “บุคคลผู้ตระหนี่    เมื่อได้ทรัพย์แล้วก็เก็บตุนไว้ไม่ถ่ายเทให้ผู้อื่นบ้าง    ก็เหมือนแม่น้ำตายไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร ส่วนผู้ไม่ตระหนี่เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเอื่อยอยู่เสมอ กระแสก็ไม่ขาด ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สาธุชนได้ทรัพย์แล้วจึงบำเพ็ญตนเสมือนแม่น้ำ ซึ่งไหลใสสะอาดไม่พึงเป็นเช่นแม่น้ำตาย

                ยัญญสัมปทา หรือ ทาน จะมีผลมากอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ ๖ กล่าวคือ

๑. ก่อนให้ ผู้ให้ก็มีใจผ่องใส ชื่นบาน
๒. เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใส
๓. เมื่อให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่เสียดาย
๔. ผู้รับปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากราคะ
๕. ผู้รับปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโทสะ
๖. ผู้รับปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อปราศจากโมหะ


              ทานที่ประกอบด้วย องค์ ๖ นี้แล เป็นการยากที่จะกำหนดผลแห่งบุญว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ อันที่จริงเป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ไม่มีประมาณ เหลือที่จะกำหนด เหมือนน้ำในมหาสมุทรย่อมกำหนดได้โดยยากว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้”

              “ดูก่อนท่านทั้งหลาย!  คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลราชาแห่งแคว้นนี้เข้าไปหาตถาคตและถามว่า บุคคลควรจะให้ทานในที่ใด เราตอบว่า ควรให้ในที่ที่เลื่อมใส คือเลื่อมใสบุคคลใด คณะใดก็ควรให้แก่บุคคลนั้น คณะนั้น พระองค์ถามต่อไปว่า ให้ทานในที่ใดจึงจะมีผลมาก เราตถาคตตอบว่าถ้าต้องการผลมากกันแล้วละก็ควรจะให้ในท่านผู้มีศีล การให้แก่บุคคลผู้ทุศีลหามีผลมากไม่

              สถานที่ทำบุญเปรียบเหมือนเนื้อนาเจตนา   และไทยธรรมของทายกเปรียบเหมือนเมล็ดพืชถ้าเนื้อนาบุญ  คือบุคคลผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรม และประกอบด้วยเมล็ดพืช คือเจตนาและไทยธรรมของทายกบริสุทธิ์ ทานนั้นย่อมมีผลมาก การหว่านข้าวลงในนาที่เต็มไปด้วยหญ้าแฝกและหญ้าคาต้นข้าวย่อมขึ้นได้โดยยากฉันใด การทำบุญในคณะบุคคลผู้มีศีลน้อยมีธรรมน้อยก็ฉันนั้น คือย่อมได้บุญน้อย ส่วนการทำบุญในคณะบุคคลซึ่งมีศีลดีมีธรรมงาม ย่อมจะมีผลมาก เป็นภาวะอันตรงกันข้ามอยู่ดังนี้”

               พระศาสดา ยังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยปัจฉิมพจน์ว่า

          “เพราะฉะนั้น  บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผลหยาดน้ำไหลลงทีละหยด  ยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปร์ไปด้วยบาป”

          พระธรรมเทศนา  เป็นเสมือนจุดแสงสว่างให้โพลงขึ้นในดวงใจของเศรษฐี  เขาคลานเข้ามาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาพร้อมด้วยกล่าวสรรเสริญว่า

              “แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้า! แจ่มแจ้งจริง เหมือนทรงหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนที่หลงทาง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้ผู้มีนัยน์ตาได้มองเห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอถึงพระองค์ พร้อมด้วยพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่เคารพสักการะ เป็นแนวทางดำเนินชีวิตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจวบสิ้นลมปราณ”

             “ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท!”  พระอานนท์กล่าวต่อไป  “ตั้งแต่บัดนั้นมา  มิคารเศรษฐีก็นับถือนางวิสาขาในสองฐานะ  คือฐานะสะใภ้และฐานะ แม่ จึงเรียกนางวิสาขาว่า แม่ แม่ ทุกคำไปเพราะถือว่านางวิสาขาเป็นผู้จูงให้ท่านเดินเข้าทางถูก จูงออกจากทางรก เมื่อคนทั้งหลายพูดถึงนางวิสาขาก็มักจะเติมสร้อยคำตามมาข้างหลังว่า มิคารมารดา แม้พระสาวกซึ่งเป็นภิกษุ เมื่อกล่าวถึง
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่าประทับอยู่ที่ปุพพารามก็กล่าวว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดาในปุพพาราม”

             ด้วยเหตุที่บิดาแห่งสามีเรียกตนว่า   แม่   และคนทั้งหลายพากันเรียกนางว่า   มิคารมารดา   นางวิสาขารู้สึกละอายและกระดาก แต่ไม่ทราบจะทำประการใด เมื่อมีลูกชายในระยะต่อมา จึงตั้งชื่อลูกชายให้เหมือนชื่อปู่ของเด็กว่ามิคาระ เพื่อจะได้แก้ความขวยอายและกันความละอาย เมื่อมีผู้เรียกนางว่ามิคารมารดา จะได้หมายถึงมารดาแห่งมิคาระลูกชายของตน

            ตั้งแต่มีคารเศรษฐีเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว   ประตูบ้านของนางวิสาขาก็เปิดออกสำหรับต้อนรับพระสงฆ์สาวกแห่งพระผู้มีพระภาค มีเสมอที่นางนิมนต์พระสงฆ์จำนวนร้อย มีพระพุทธองค์เป็นประมุข เพื่อรับภัตตาหารและเสวยที่เรือนของนาง มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำบัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยคำสุภาษิต ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม ย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธา จะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่านางทำบุญทำกุศลโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ความสุขใจเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐที่สุด ก็ความสุขใจอันใดเล่าจะเสมอด้วยความสุขความอิ่มใจ เพราะรู้สึกว่าตนได้ทำความดี เป็นความสุขที่ผ่องแผ้วสงบและชื่นบาน เหมือนสายน้ำที่กระเซ็นจากหุบผา ก่อความชื่นฉ่ำให้แก่กรัชกาย ฉันใดก็ฉันนั้น

              ตลอดเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่  ณ  กรุงสาวัตถี นางจะไปเฝ้าพระองค์วันละ  ๒  เวลา  คือเวลาเช้าและเวลาเย็น  เมื่อไปเวลาเช้าก็ถือยาคูและอาหารอื่น ๆ ติดมือไปด้วย เมื่อไปเวลาเย็น ก็มีน้ำปานะชนิดต่าง ๆ ที่ควรแก่สมณบริโภคไป นางไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทั้งภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พร้อมใจกันเรียกนางว่า มหาอุบาสิกา เพื่อเป็นเกียรติแก่นางผู้มีใจประเสริฐ

              คราวหนึ่ง   นางกลับจากงานมงคลในกรุงสาวัตถี ข้าพเจ้าลืมเล่าแก่ท่านไปว่า งานมงคลทุกงานในกรุงสาวัตถี เจ้าของงานจะถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ถ้านางวิสาขาได้ไปร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้น เขาจะเชิญนางแทบจะทุกงาน การไปของนางวิสาขาถือกันว่าเป็นการนำมงคลมาสู่บ้านสู่งาน นี่แหละท่าน! พระศาสดาจึงตรัสว่า เกียรติย่อมไม่ละผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ เมื่อไปในงานมงคล นางก็ต้องสวมเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์อันสวยงามและเลิศค่า กลับจากงานแล้ว นางต้องการจะแวะไปเฝ้าพระศาสดา แต่เห็นว่าไม่ควรจะสวมเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์เข้าไป จึงถอดแล้วห่อให้หญิงคนใช้ถือไว้ เมื่อเฝ้าพระศาสดาพอสมควรแก่เวลาแล้วนางก็ถวายบังคมลากลับออกมา ถึงหน้าวัดเชตวันนางจึงเรียกเครื่องประดับนั้นจากหญิงคนใช้เพื่อจะสวม แต่ปรากฏว่าหญิงคนใช้ลืมไว้ ณ ที่ประทับของพระศาสดานั่นเอง พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ข้าพเจ้าเก็บไว้เพื่อนางมาในวันรุ่งขึ้นจะได้ส่งคืน สักครู่หนึ่งหญิงรับใช้กลับมาเพื่อจะรับคืน ข้าพเจ้าจึงนำห่อเครื่องประดับนั้นมาจะมอบให้ หญิงคนใช้มีท่าทางตื่นตกใจอย่างมาก

“นี่เครื่องประดับของนายเธอ รับไปเถิด” ข้าพเจ้าพูดพร้อมด้วยวางของลง

“ข้าแต่พระคุณเจ้า!” นางคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าของข้าพเจ้าด้วยเสียงสั่นเครือ มีอาการเหมือนจะร้องไห้ “แม่นายสั่งไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าจับต้องและเก็บเครื่องประดับไว้แล้วก็ไม่ต้องรับคืน แม่นายบอกว่า พระคุณเจ้าเป็นที่เคารพของแม่นายอย่างยิ่ง แม่นายไม่สมควรจะสวมเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ารับคืนไปไม่ได้ดอก”

“น้องหญิง” ข้าพเจ้าพูด “เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นี้มีค่ามาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องประดับของสตรี ไม่สมควรที่สมณะจะเก็บไว้ อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร จงรับคืนไปเถิด และบอกนางว่าอาตมาให้รับคืนไป น้องหญิงทำตามคำขอร้องของอาตมา นายของเธอคงไม่ว่ากระไรดอก”

“แม่นายสั่งไว้ว่าให้ถวายพระคุณเจ้า”

“อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร”


            หญิงคนใช้จำใจต้องรับเครื่องประดับคืนไป  นางเดินร้องไห้ไปพลางเพราะเกรงจะถูกลงโทษ  นางวิสาขาเห็นหญิงคนใช้เดินร้องไห้กลับไปพร้อมด้วยห่อของ นางก็คาดเหตุการณ์ได้โดยตลอด จึงกล่าวว่า

“พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้หรือ?”

“เจ้าค่ะ”

“แล้วเธอร้องไห้ทำไม?”

“ข้าเสียใจที่รักษาของแม่นายไว้ไม่ได้ แม่นายจะลงโทษข้าประการใดก็ตามเถิด ข้ายอมรับผิดทุกประการ เครื่องประดับนี้มีค่ายิ่งกว่าชีวิตของข้า มิใช่เพียงแต่ชีวิตของข้าเท่านั้น แต่มีค่ายิ่งกว่าชีวิตครอบครัวและญาติ ๆ ของข้าพเจ้าทั้งหมดรวมกัน” ว่าแล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้าของนางวิสาขา


             เวลานั้นเย็นมากแล้ว พระอาทิตย์โคจรลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกไปแล้ว แต่ความมืดยังไม่ปรากฏในทันที ท้องฟ้าระบายด้วยแสงสีม่วงสลับฟ้าในบางที่ และสีเหลืองอ่อนสลับฟ้าในบางแห่งกลุ่มเมฆลอยเลื่อนตามแรงลม และปลิวกระจายเป็นครั้งคราว มองดูเป็นรูปต่าง ๆ สลับสล้างสวยงามน่าพึงชม ลมเย็นพัดเฉื่อยฉิว สไบน้อยผืนบางของวิสาขาพลิ้วกระพือตามแรงลม ผมอันงอนงามสยายของนางไหวพลิ้วปลิวกระจาย ใบหน้าซึ่งอิ่มเอิบอยู่แล้วยิ่งเพิ่มความอิ่มเอิบมากขึ้น ประดุจศศิธรในวันปูรณมีดิถี มีรัศมียองใยเป็นเงินยวง และถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆ เสียงชะนีซึ่งอาศัยอยู่ในแนวป่าใกล้วัดเชตวันกู่ก้องโหยหวนปานประหนึ่งเป็นสัญญาณว่าทิวากาลจะสิ้นสุดลงแล้ว หมู่เด็กเลี้ยงแกะและเลี้ยงโคเดินดุ่มด้อนฝูงแกะและฝูงโคของตน ๆ เข้าสู่คอก อชบาลและโคบาลเหล่านั้นล้วนมีกิริยาร่าเริงฉันเดียวกันกับสกุณาทั้งหลาย ซึ่งกำลังโบยบินกลับสู่รวงรัง

           นางวิสาขายืนสงบนิ่ง  กระแสความรู้สึกของนางไหลเวียนเหมือนสายน้ำในวังวน  นางคิดถึงชีวิตทาส  อนิจจา!  ชีวิตทาสช่างลำบากและกังวลเสียนี่กระไร รับใช้ใกล้ชิดเกินไปก็หาว่าประจบสอพลอ เหินห่างไปหน่อยเขาก็ว่าทอดทิ้งธุระของนาย พูดเสียงค่อยเขาก็ว่าไม่เต็มใจตอบ พูดเสียงดังไปหน่อยเขาก็ว่ากระโชกโฮกฮาก ใครเล่าจะสามารถรับใช้นายได้อย่างสมบูรณ์ ชีวิตทาสเป็นชีวิตที่ลำเค็ญเหนื่อยยาก ทั้ง ๆ ที่เป็นอย่างนี้ คนทาสส่วนมากก็เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ และกตัญญูเสียด้วยซ้ำไป ที่ส่วนมากคอยแต่ตลบตะแลงเอารัดเอาเปรียบและคดโกง มีตัวอย่างที่หาได้ง่ายสำหรับทาสซึ่งซื่อสัตย์กตัญญูและเสียสละต่อนายของตน แต่สำหรับนายแล้วหาได้ยากเหลือเกินที่จะเพียงแต่เสียสละเพื่อทาสเท่านั้น อย่าพูดถึงความซื่อตรงเลย นายส่วนมากมักจะใช้ทาสไม่เป็นเวลา ใช้วาจาหว่านล้อมให้ทาสหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ เหนียวบำเหน็จ ทำความผิดน้อยเป็นผิดมาก ส่วนความดีความชอบนั้นมีค่อยจะได้พูดถึง

                “หญิงคนใช้ของเรานี้”   นางวิสาขาคิดต่อไป   “เพียงแต่ลืมเครื่องประดับไว้และนำคืนมาได้  มิใช่ทำของเสียหายอย่างใด  ยังยอมเอาชีวิตของตนมาถ่ายถอนความผิด เราจำจะต้องปลอบนางให้หายโศก และบำรุงหัวใจนางด้วยคำหวาน เพราะโบราณคัมภีร์กล่าวไว้ว่าแสงจันทร์ก็เย็น กลิ่นไม้จันทน์ก็เย็น แต่ความเย็นทั้งสองประการนั้น รวมกันแล้ว ยังไม่เท่ากับความเย็นแห่งมธุรสวาจา อนึ่ง การแสดงความรักใคร่แม้ต่อบุคคลที่มิได้รับใช้ตน เอื้ออารีกว้างขวาง เพิ่มความรักให้ระลึกถึงความดีแต่เก่าก่อน ให้อภัยในความผิดพลาด เหล่านี้เป็นลักษณะของผู้มีใจกรุณา”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013383034865061 Mins