ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย

วันที่ 19 กย. พ.ศ.2567

ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย

2567%2009%2019%20b.jpg

 

             ย้อนหลังไปเพียงเล็กน้อยจากเวลาที่พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์เรื่องอสรพิษ  ณ  ปัจฉิมยามแห่งราตรี ฝนซึ่งตกหนักมาแต่ปฐมยาม ได้เริ่มสร่างซาลงบ้างแล้ว ทวยนาครกำลังเข้าสู่นิทรารมณ์อันสนิท ใครจะนึกบ้างว่าในยามนี้มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง กำลังทำความพยายามเข้าไปสู่พระนครเพื่อทรัพย์สมบัติซึ่งตนมิได้ลงแรงหามาเลย ถูกแล้ว! เขามีอาชีพเป็นโจร ประตูเมืองปิดสนิท มียามรักษาการณ์แข็งแรง เขาประชุมปรึกษากันตั้งแต่ปฐมยามว่าจะหาทางเข้าพระนครได้โดยวิธีใด ในที่สุดเมื่อใกล้ปัจฉิมยามเข้ามา เขาจึงตกลงกันว่าจะต้องเข้าไปทางท่อระบายน้ำ คืนนั้นพวกเขามิได้นอนเลย

                   จริงทีเดียว! บุคคลผู้หลับน้อยตื่นนาน หรือบางที่มิได้หลับเลยในราตรีนั้นมีอยู่ ๕ จำพวก คือ

๑. หญิงผู้ปฏิพัทธ์ชายหวังให้เขาชม


๒. ชายผู้ปฏิพัทธ์หญิง รำพึงถึงเธอด้วยดวงจิตที่จดจ่อ


๓. โจรมุ่งหมายทรัพย์ของผู้อื่น หาทางจะขโมยหรือปล้น


๔. พระราชากังวลด้วยพระราชภารกิจ


๕. สมณะผู้ทำความเพียรเพื่อละกิเลส
 

                                         หญิงชายปฏิพัทธ์ชู้                 หวังชม   เชยนา
                              โจรมุ่งหมายทรัพย์สม                           บัติปล้น
                              ราชันกิจกังวล                                      มากอยู่
                              พระอยากละกิเลสพัน                            หลับน้อยตื่นนาน 


                 บุคคล ๓ ประเภทหลัง คือโจร พระราชา และสมณะนั้น แม้จะหลับน้อย แต่เมื่อถึงเวลาที่จะหลับ คือสิ้นภาระหน้าที่แล้ว ก็สามารถหลับได้อย่างง่ายดายและสงบ แต่สองประเภทแรกซิ เมื่อยังไม่หลับก็ยากที่จะข่มตาหลับลงได้ เมื่อหลับก็หลับได้ไม่สนิท คอยพลิกฟื้นตื่นผวาอยู่ร่ำไป เต็มไปด้วยความกระสับกระส่ายกระวนกระวายรุ่มร้อน ภาพแห่งคนรักคอยแต่ฉายเข้ามาในความรู้สึกตลอดเวลา ความรักเป็นความร้ายที่เที่ยวทรมานคนทั้งโลกให้บอบช้ำตรอมตรม

                โจรพวกนั้นเข้าไปอยู่ในท่อน้ำได้สำเร็จสมประสงค์  แล้วทำลายอุโมงค์ในตระกูลที่มั่งคั่งตระกูลหนึ่ง ได้แก้วแหวนเงินทองไปเป็นจำนวนมากพร้อมทั้งถุงเงินด้วย ก็นำไปแบ่งกัน ณ ที่แห่งหนึ่ง แต่บังเอิญเขาได้ลืมถุงเงินไว้เพราะมีของอื่นมากหลาย จนนำไปแทบจะไม่หมด

                  เมื่อเจ้าของทรัพย์ตื่นขึ้นทราบเหตุในตอนเช้าจึงออกติดตาม   และมาพบร่องรอยตรงที่โจรแบ่งของกัน  แล้วตามรอยของชาวนาคนนั้นไป พอดีรอยเท้าไปหยุดลงที่กองฝุ่น เขาลองเขี่ยดูก็ปรากฏถุงเงินมากหลาย จึงแน่ใจว่าชาวนาซึ่งกำลังไถนาอยู่นั้นเป็นโจร ช่วยกันตีเสียจนบอบช้ำแล้วนำตัวไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงทราบเรื่องราวแล้วรับสั่งให้ประหารชีวิต ราชบุรุษเฆี่ยนเขาด้วยหวายครั้งละหลาย ๆ เส้น แล้วนำตัวไปสู่ตะแลงแกง

                  ในขณะที่กำลังถูกนำไปที่ฆ่านั่นเอง เขาพร่ำอยู่เรื่องเดียว คือข้อความที่พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์  “ดูก่อนอานนท์!  เธอเห็นอสรพิษไหม?”  “เห็นพระเจ้าข้า”  เมื่อถูกเฆี่ยนด้วยหวายเขาก็พูดคำนี้ “ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นอสรพิษไหม?” “เห็นพระเจ้าข้า” จนราชบุรุษประหลาดใจจึงถามข้อความนั้น เขาบอกว่าถ้านำเขาไปเฝ้าพระราชาเขาจึงจะบอก ราชบุรุษนำตัวไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ตรัสว่า

“ดูก่อนกสะกะ! เพราะเหตุไรเธอจึงกล่าวพระดำรัสแห่งพระศาสดาและพระพุทธอนุชาอานนท์?”

“เทวะ!” เขาทูล “ข้าพระองค์มิได้เป็นโจร แต่ข้าพระองค์เป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต” แล้วเขาก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ

                จอมเสนาแห่งแคว้นโกศลสดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า ชายผู้นี้อ้างเอกอัครบุรุษรัตน์  คือ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพยาน การลงโทษบุรุษเห็นปานนี้โดยมิได้สอบสวนให้แน่นอน อาจเป็นเหตุให้เราต้องเสียใจไปจนตลอดชีวิต ทรงดำริอย่างนี้แล้วรับสั่งให้คุมบุรุษผู้นั้นไว้ก่อน

                     เย็นวันนั้นพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา  และให้นำชาวนานั้นไปด้วย  เมื่อถวายบังคมแล้วจึงทูลถามว่า

“พระองค์ผู้เจริญ เช้าวันนี้พระองค์และพระคุณเจ้าอานนท์ เสด็จไปที่นาของชายผู้นี้หรือ?”

“อย่างนั้นมหาบพิตร” พระศาสดาทรงตอบ

“พระองค์ได้ทรงเห็นอะไรบ้างพระเจ้าข้า” พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถาม

“เห็นถุงเงิน มหาบพิตร”


                 แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล่าเรื่องทั้งหมดตรงกับชาวนาเล่า  พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบ  เรื่องนี้ ทรงสลดสังเวชพระทัย กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลก! ข้าพระองค์รู้สึกเสียใจและไม่สบายใจมากที่สั่งลงโทษบุรุษผู้นี้โดยที่เขาไม่มีความผิดเลย ถ้าเขาถูกประหารชีวิต และข้าพระองค์มาทราบภายหลังว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ข้าพระองค์จะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นที่พึ่งของบุรุษผู้นี้เท่านั้น แต่ทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ให้พ้นจากบาปอีกด้วย ข้าแต่พระจอมมุนี พระองค์ช่างอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของโลกโดยแท้” ตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ซบพระเศียรลงแทบพระยุคลบาทพระศาสดาทรงจุมพิตพระบาทของพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสอย่างสูง ซึ่งพระองค์มักทรงกระทำเสมอเมื่อไปเฝ้าพระศาสดา

              พระตถาคตเจ้าทรงปลอบ  ให้พระราชาเบาพระทัยด้วยพระพุทธดำรัส  เป็นอเนกปริยายตอนสุดท้ายตรัสว่า

“มหาบพิตร! คฤหัสถ์ผู้ยังบริโภคกามเกียจคร้าน ๑ พระราชาทรงประกอบกรณียกิจโดยมิได้พิจารณาโดยรอบคอบถี่ถ้วนเสียก่อน ๑ บรรพชิตไม่สำรวม ๑ ผู้อ้างตนว่าเป็นบัณฑิตแต่มักโกรธ ๑ สี่จำพวกนี้ไม่ดีเลย”

“มหาบพิตร! กรรมอันใดที่ทำไปแล้วต้องเดือดร้อนใจภายหลัง ต้องมีหน้าที่ชุ่มด้วยน้ำตาเสวยผลแห่งกรรมนั้น ตถาคตกล่าวว่ากรรมนั้นไม่ดี ควรเว้นเสีย


“มหาบพิตร นานมาแล้วมีพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “ปิงคละ” ทวยนาครถวายสร้อยพระนามให้ว่า “อกัณหเนตร-ผู้มีพระเนตรไม่ดำ” หมายความว่าทรงดุร้าย และประกอบราชกิจโดยมิได้ทรงพิจารณา สั่งฆ่าประหารคนโดยมิได้พิจารณาให้รอบคอบ จนเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลาย เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ชาวนาครต่างชื่นชมโสมนัสเล่นมหรสพเจ็ดวันเจ็ดคืนยกธงทิวตามประทีปโคมไฟหลากสี มีการเล่นเต้นรำอย่างเบิกบานใจ ในท่ามกลางความบันเทิงนั่นเอง คนเฝ้าประตูคนหนึ่งไปยืนเกาะบานประตูร้องไห้อยู่ เมื่อถูกคนทั้งหลายซักถามถึงสาเหตุที่ร้องไห้เขาตอบว่า เขาร้องไห้เพราะพระราชาอกัณหเนตรสิ้นพระชนม์ นั่นเอง เขากลัว กลัวว่าพระองค์เสด็จไปสู่ยมโลกแล้ว จะไปทำทารุณกรรมต่าง ๆ จนยมบาลเอาไว้ไม่ไหว แล้วจะส่งกลับขึ้นมาก่อกวนความสงบสุขในโลกนี้อีก เขาคิดไปอย่างนี้แล้วจึงร้องไห้ หาได้ร้องไห้เพราะความเสียใจหรือจงรักภักดีไม่”

“มหาบพิตร! เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์”


                  พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงบันเทิงด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดาเป็นที่ยิ่ง ทรงสนทนาต่อไปอีกครู่หนึ่งแล้วถวายบังคมลากลับ ส่วนชายชาวนาผู้นั้นส่งกระแสจิตไปตามพระดำรัสของพระศาสดา สามารถถอนสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการได้ สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ด้วยประการฉะนี้

                    แม้จะทรงมีพระทัยกรุณาประดุจห้วงมหรรณพก็ตาม   แต่พระบรมศาสดาทรงรังเกียจอย่างยิ่ง   ซึ่งบุคคลผู้ไม่บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสาวกที่ทรงเพศเป็นภิกษุมีเรื่องสาธกดังนี้.-

                  วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พอพระอาทิตย์ตกดิน พระสงฆ์ทั้งมวลก็ประชุมพร้อมกัน ณ อุโบสถคารเพื่อฟังพระโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงเองทุกกึ่งเดือน พระมหาสมณเจ้าเสด็จสู่โรงอุโบสถ แต่ประทับอยู่เฉย หาแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาจึงนั่งคุกเข่าประนมมือถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

“พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงแสดงปาฏิโมกข์เถิด”

                   แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงเฉยอยู่   เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว   พระอานนท์ก็ทูลอีก   แต่ก็คงประทับเฉย ไม่ยอมทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระอานนท์จึงทูลว่า

“พระองค์ผู้เจริญ! บัดนี้ปฐมยามและมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว กาลเวลาย่างเข้าสู่ปัจฉิมยามภิกษุทั้งหลายคอยนานแล้ว ขอพระองค์อาศัยความอนุเคราะห์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เถิด”

                    พระมหามุนีจึงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์! ในชุมนุมนี้ภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์มีอยู่ อานนท์! มิใช่ฐานะที่ตถาคตจะแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางบริษัทอันไม่บริสุทธิ์” ตรัสอย่างนี้แล้วก็ประทับเฉยต่อไป

                  พระมหาโมคคัลลานะ  อัครสาวกเบื้องซ้าย  นั่งเข้าฌาณตรวจดูว่าภิกษุรูปใดเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์  อันเป็นที่รังเกียจของพระศาสดา เมื่อได้เห็นแล้ว จึงกล่าวขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุท่านออกไปเสียเถิด พระศาสดาเห็นท่านแล้ว” แม้พระมหาเถระจะกล่าวอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ยอมออกไปจากชุมนุมสงฆ์ พระมหาโมคคัลลานะจึงลุกขึ้นแล้วดึงแขนภิกษุรูปนั้นออกไป เมื่อภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระอานนท์จึงทูลให้แสดงปาฏิโมกข์อีก พระศาสดาตรัสว่า

“อัศจรรย์จริง โมคคัลลานะ หนักหนาจริง โมคคัลลานะ เรื่องไม่เคยมีได้มีขึ้นแล้ว โมฆบุรุษผู้นั้นถึงกับต้องถูกกระชากออกไปจากหมู่สงฆ์ เธอช่างไม่มีหิริโอตตัปปะสำรวจตนเองเสียเลยภิกษุทั้งหลาย เป็นอฐานะเป็นไปไม่ได้ที่ตถาคตจะพึงทำอุโบสถแสดงปาฏิโมกข์กลางชุมนุมสงฆ์ที่ไม่บริสุทธิ์ แม้จะมีเพียงรูปเดียวก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษผู้นั้นทำให้เราลำบากใจ ภิกษุทั้งหลายเราขอประกาศให้เธอทั้งหลายทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราตถาคตจะไม่ทำอุโบสถแสดงปาฏิโมกข์อีก ขอให้ภิกษุทั้งหลายทำกันเอง”

                    แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย  ๘  ประการ  เปรียบด้วยความอัศจรรย์แห่งมหาสมุทรดังนี้.-

“ภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรย่อมลึกลงตามลำดับลาดลงตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาดฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาตามลำดับ การปฏิบัติตามลำดับ การบรรลุตามลำดับ ลุ่มลึกลงตามลำดับ ๆ”

“ภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรแม้จะมีน้ำมากอย่างไรก็ไม่ล้นฝั่งคงรักษาระดับไว้ได้ ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น ภิกษุสาวกของเราย่อมไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แม้จะต้องลำบากถึงเสียชีวิตก็ตาม”

“ภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรย่อมซัดสาดซากศพที่ตกลงไปขึ้นฝั่งเสีย  ไม่ยอมให้ลอยอยู่นานฉันใด  ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น สงฆ์ย่อมไม่อยู่รวมด้วยภิกษุผู้ทุศีล มีใจบาป มีความประพฤติไม่สะอาดน่ารังเกียจ มีการกระทำที่ต้องปกปิดไม่ใช่สมณะ ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี เป็นคนเน่าใน รุงรังสางได้ยากเหมือนกองหยากเยื่อ สงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ย่อมขับภิกษุนั้นออกเสียจากหมู่ภิกษุเช่นนั้น แม้จะนั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากภิกษุเช่นกัน”

“ภิกษุทั้งหลาย! แม่น้ำสายต่าง ๆ  ย่อมหลั่งไหลลงสู่มหาสมุทร  และเมื่อไปรวมกับน้ำในมหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อเดิมของตนเสีย ถึงซึ่งการนับว่ามหาสมุทรเหมือนกันหมดฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น กุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะบวช ออกจากตระกูลต่าง ๆ วรรณะต่าง ๆ เช่น วรรณะพราหมณ์บ้าง กษัตริย์บ้าง ไวศยะบ้าง ศูทรบ้าง คนเทหยากเยื่อบ้าง จัณฑาลบ้าง แต่เมื่อมาบวชในธรรมวินัยนี้แล้ว ละวรรณะ สกุล และโคตรของตนเสีย ถึงซึ่งการนับว่าสมณะศากยบุตรเหมือนกันหมด”

“ภิกษุทั้งหลาย!   ความพร่องหรือความเต็มเอ่อ  ย่อมไม่ปรากฏแก่มหาสมุทร  แม้พระอาทิตย์จะแผดเผาสักเท่าใด  น้ำในมหาสมุทรก็หาเหือดแห้งไปไม่ แม้แม่น้ำสายต่าง ๆ และฝนจะหลั่งลงสู่มหาสมุทรสักเท่าใด มหาสมุทรก็ไม่เต็ม ฉันใดในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น แม้จะมีภิกษุเป็นอันมากนิพพานไปด้วยอนุปาทิเสส นิพพานธาตุ แต่นิพพานธาตุก็คงอยู่อย่างนั้นไม่พร่องไม่เต็มเลย แม้จะมีผู้เข้าถึงนิพพานอีกสักเท่าใด นิพพานก็คงมีให้ผู้นั้นอยู่เสมอไม่ขาดแคลนหรือคับแคบ”

“ภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทร มีภูตคือสัตว์น้ำเป็นอันมาก มีอวัยวะใหญ่และยาวเช่นปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาวาฬ เป็นต้น ฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีภูตคือพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมาก มีพระโสดาบันบ้าง พระสกิทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง จำนวนมากหลายเหลือนับ”

“ภิกษุทั้งหลาย! มหาสมุทรมีนานารัตนะ เช่นมุกดา มณี ไพฑูรย์เป็นต้น ฉันใดในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีนานาธัมมรัตนะ เช่นสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปาธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น

“ภิกษุทั้งหลาย! น้ำในมหาสมุทรย่อมมีรสเดียวคือรสเค็ม ฉันใด ธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น มีรสเดียวคือวิมุติรส หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นจุดมุ่งหมาย สำคัญแห่งพรหมจรรย์ที่เราประกาศแล้ว”


                  เพราะเหตุที่ธรรมวินัยหรือพรหมจรรย์ของพระองค์สมบูรณ์ด้วยนานาคุณลักษณะ และสามารถช่วยแก้ทุกข์แก่ผู้มีทุกข์ได้นี่เอง พระองค์จึงเรียกพรหมจรรย์ว่าเป็นกัลยาณมิตร และเรียกกัลยาณมิตรเป็นพรหมจรรย์ เพราะกัลยาณมิตรที่แท้จริงของคนคือธรรม และบาปมิตรที่แท้จริงของคนก็คืออธรรมหรือความชั่วทุจริต

 

จะมีศัตรูใดแรงร้ายเท่าพยาธิคือโรค

จะมีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม

จะมีมิตรใดเสมอด้วยมิตรคือธรรม


                  พระอานนท์เคยคิดว่า กัลยาณมิตรนั้นน่าจะเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ แต่พระศาสดาตรัสว่า “อย่าคิดอย่างนั้นเลยอานนท์ กัลยาณมิตรเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว เพราะผู้ได้อาศัยกัลยาณมิตรอย่างเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล”

                     พระอานนท์พุทธอนุชา  ได้รับการยกย่องจากพระศาสดามากหลาย  เป็นที่รู้จักกันว่าท่านเลิศใน ๕ สถานด้วย คือ

๑. เป็นพหูสูต สามารถทรงจำพระพุทธพจน์ไว้ได้มาก


๒. แสดงธรรมได้ไพเราะ คนฟังไม่อิ่มไม่เบื่อ


๓. มีสติรอบคอบ รู้สิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ


๔. มีความเพียรพยายามดี


๕. อุปัฏฐากบำรุงพระศาสดาดียิ่ง ไม่มีข้อบกพร่อง

                   เมื่อมีโอกาสท่านมักจะสนทนาธรรมกับพระสารีบุตรเสมอ  ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย  มีเรื่องที่พระอานนท์สนทนากับพระสารีบุตรหลายเรื่อง เช่นเรื่องเกี่ยวกับนิพพานและสมาธิ ภิกษุผู้ฉลาดและภิกษุผู้ไม่ฉลาด

                   จากการสนทนากันบ่อย  ๆ  นี้ พระสารีบุตรได้ประจักษ์ชัดว่า พระอานนท์เป็นผู้ควรแก่การยกย่อง และได้ยกย่องเชิดชูพระอานนท์ว่า มีคุณธรรม ๖ ประการ คือ

๑. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก


๒. เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง โดยพิสดาร


๓. เป็นผู้สาธยายโดยพิสดาร


๔. เป็นผู้ชอบตรึกตรองเพ่งพิจารณาธรรม


๕. เป็นผู้ยินดีอยู่ใกล้กับพระเถระที่เป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย


๖. ท่านพยายามเข้าหาท่านที่เป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย เพื่อเรียนถามข้อที่ควรถามในโอกาสอันสมควร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018615019321442 Mins