ปัจฉิมทัศนา ณ เวสาลี

วันที่ 20 กย. พ.ศ.2567

ปัจฉิมทัศนา ณ เวสาลี

2567%2009%2020%20b.jpg

 

                    พระอานนท์พุทธอนุชา ได้ติดตามพระศาสดาอยู่เป็นเวลานาน กระทำกิจทุกอย่างเพื่อพระพุทธองค์ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบากใด ๆ ท่านมีจิตใจอ่อนโยน บริสุทธิ์สะอาดในพระศาสดา ประดุจมารดาผู้ประเสริฐพึงมีต่อบุตรสุดสวาท มีความเคารพยำเกรงในพระผู้มีพระภาค ประดุจบุตรผู้เลื่อมใสต่อบิดาและอยู่ในโอวาทของชนกผู้ให้กำเนิดตนท่านปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างซื่อสัตย์เที่ยงตรงเฉกดวงตะวันและจันทรา จะหาผู้ใดปฏิบัติใดเล่าเสมอเหมือนพระอนุชาผู้นี้

               จวบจนพระพรรษายุกาลแห่งพระบรมศาสดาเข้าปีที่ ๗๙ ตอนปลาย เหลืออีกเล็กน้อยที่พระผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกจะปรินิพพาน เปรียบปานดวงสุริยาซึ่งทอแสง ณ ขอบฟ้าทิศตะวันตกก่อนจะอำลาทิวากาล

                   พระผู้พิชิตมารประทับ  ณ  คิชฌกูฏบรรพต  ใกล้กรุงราชคฤห์  คราวนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเวทหิบุตรกำลังเตรียมตัวจะรุกรานแคว้นวัชชี จึงส่ง วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อจะหยั่งดูว่าพระพุทธองค์จะตรัสอย่างไร พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเชื่อมั่นอยู่ว่าพระวาจาแห่งพระตถาคตนั้นไม่เป็นสอง

                  วัสสการพราหมณ์รับพระบัญชาเหนือเกล้า   แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า   “เวลานี้พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังเตรียมทัพจะบุกวัชชี ซึ่งมีนครเวสาลีเป็นเมืองหลวง ได้ส่งข้พระพุทธเจ้ามากราบทูลถามถึงผาสุวิหารคือความทรงพระสำราญแห่งพระองค์ และขอถวายบังคมพระมงคลบาทด้วยเศียรเกล้า”

                 สมัยนั้นพระอานนท์พุทธอนุชาถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง  พระพุทธองค์ไม่ตรัสกับวัสสการพราหมณ์ แต่กลับตรัสถามพระอานนท์ถึงความเป็นไปแห่งนครเวสาลีว่า

“อานนท์ ชาววัชชียังคงประพฤติวัชชีธรรมอปริหานิยธรรม คือธรรมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม แต่เป็นไปเพื่อความเจริญโดยส่วนเดียวอยู่หรือ?”

“ยังคงประพฤติอยู่พระเจ้าข้า” พระอานนท์ทูลตอบ

                      “ดูก่อนอานนท์! ชาววัชชีประพฤติมั่นในธรรม ๗ ประการ คือ

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็เลิกโดยพร้อมเพรียงกัน และพร้อมเพรียงกันทำกิจของชาววัชชีให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

๓. ชาววัชชีย่อมเคารพเชื่อฟังในบัญญัติเก่าของชาววัชชีที่ดีอยู่แล้ว ไม่เพิกถอนเสียและไม่บัญญัติสิ่งซึ่งไม่ดีไม่งามขึ้นมาแทน

๔. ชาววัชชีเคารพสักการะนับถือยำเกรงผู้เฒ่าแก่ผู้ผ่านโลกมานาน ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม

๕. ชาววัชชีประพฤติธรรมในสุภาพสตรี คือไม่ข่มเหงน้ำใจสุภาพสตรี

๖. ชาววัชชีรู้จักเคารพสักการะบูชาปูชนียสถาน

๗. ชาววัชชีให้ความอารักขาคุ้มครองพระอรหันต์สมณพราหมณาจารย์ผู้ประพฤติธรรม ปรารถนาให้สมณพราหมณาจารย์ผู้มีศีลที่ยังไม่มาสู่แคว้นขอให้มา และที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข


                    ดูก่อนอานนท์! ตราบเท่าที่ชาววัชชียังประพฤติปฏิบัติวัชชีธรรมทั้ง  ๗  ประการนี้อยู่  พวกเขาจะไม่ประสบความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญมั่นคงโดยส่วนเดียว”

                  แล้วพระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาตรัสกับวัสสการพราหมณ์  “พราหมณ์!  ครั้งหนึ่งเราพักอยู่ที่สารันทเจดีย์ใกล้กรุงเวสาลี ได้แสดงธรรมทั้ง ๗ ประการแก่ชาววัชชี ตราบใดที่ชาววัชชียังประพฤติตามธรรมนี้อยู่ พวกเขาจะหาความเสื่อมมิได้ มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว”

                “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค!”  วัสสการพราหมณ์ทูล  “ไม่ต้องพูดถึงว่า  ชาววัชชีจะบริบูรณ์ด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการเลย แม้มีเพียงประการเดียวเท่านั้น เขาก็จะหาความเสื่อมมิได้ จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว”

               เมื่อวัสสการพราหมณ์ทูลลาแล้ว  พระศาสดารับสั่งให้พระอานนท์ประกาศให้ภิกษุทั้งหมด  ซึ่งอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์มาประชุมพร้อมกัน แล้วพระมหาสมณะทรงแสดงอปริหานิยธรรม โดยอเนกปริยายเป็นต้นว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่พวกเธอยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม เคารพในสิกขาบทบัญญัติ ยำเกรงภิกษุผู้เป็นสังฆเถระสังฆบิดร ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่าปรารถนาให้เพื่อนพรหมจารีมาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข ตราบนั้นพวกเธอจะไม่เสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว”

“ภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจ ไม่พอใจในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูง ๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นพวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว”

                 พระผู้มีพระภาคประทับ  ณ  ภูเขาคิชฌกูฏ  กรุงราชคฤห์พอสมควรแล้ว โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะก็เสด็จบ่ายพระพักตร์สู่นครเวสาลี ผ่านเมืองอัมพลัฏฐิกา เมืองนาลันทาและปาฏลีคามซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองสำหรับใช้เป็นที่มั่นโจมตีแคว้นวัชชี

                  ณ  เมืองนาลันทานี่เอง  พระสารีบุตรเคยกล่าวอาสภิวาจา  คือถ้อยคำที่แสดงถึงความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสดาว่า ท่านมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธองค์ทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ใด ๆ เลย ที่จะเป็นผู้รู้ยิ่งไปกว่าพระพุทธองค์ในเรื่องสัมโพธิญาณ

                    เมื่อเสด็จถึงปาฏลีคาม  อุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมากมาเฝ้า  พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ คือ

๑. ผู้ไร้ศีลย่อมประสบความเสื่อมทางโภคะ

๒. ชื่อเสียงทางไม่ดีฟุ้งขจรไป

๓. ไม่แกล้วกล้าอาจหาญเมื่อเข้าประชุม

๔. เมื่อจวนจะตายย่อมขาดสติสัมปชัญญะคุ้มครองสติไม่ได้ เรียกว่าหลงตาย

๕. เมื่อตายแล้วย่อมไปสู่ทุคติ


                   ส่วนคุณแห่งศีลสมบัติ มีนัยตรงกันข้ามกับศีลวิบัติดังกล่าวแล้ว

                   พระพุทธองค์เสด็จผ่านโกฏิคาม  และนาทิกคามตามลำดับ  ในระหว่างนั้นได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ผู้มาเฝ้าบ้าง แก่ภิกษุสงฆ์ แก่พระอานนท์บ้าง เช่น อริยสัจและเรื่องให้เอาธรรมะเป็นกระจกเงาดูตนเอง จนกระทั่งเสด็จเข้าสู่เขตเวสาลี ประทับ ณ อัมพปาลีวันของหญิงนครโสเภณีนามอัมพปาลี ไม่เสด็จเข้าสู่นครเวสาลี แม้กษัตริย์ลิจฉวีจะทูลอาราธนาก็ทรงปฏิเสธ

                 ข่าวเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมทัพเพื่อตีวัชชีนั้น ทำให้พระพุทธองค์ผู้มีพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพ  ทรงห่วงใยวัชชียิ่งนัก เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่เสด็จวนเวียนอยู่ในแคว้นวัชชี ในที่สุดเสด็จประทับ ณ เวฬุวคาม ซึ่งมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยต้นมะตูมเรียงราย เมื่อจวนจะเข้าพรรษาจึงมีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุทั้งหลายเลือกที่จำพรรษาได้ตามชอบใจ ส่วนพระองค์จะประทับจำพรรษาในเวฬุวคาม

             การที่ไม่เสด็จเข้าภายในเมืองเวสาลีนั้น   น่าจะเป็นเพราะ   ไม่ทรงปรารถนาด้วยเรื่องการบ้านการเมือง ถ้าเสด็จเข้าไปอาจจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าอชาตศัตรูว่าพระองค์เอาพระทัยเข้าข้างเวสาลี แต่การที่พระองค์ทรงวนเวียนอยู่ในเขตวัชชีเป็นเวลาเกือบปีนั้น ก็ได้ผลสมพระประสงค์ คือพระเจ้าอชาตศัตรูมิได้ยาตราทัพเข้าสู่แคว้นวัชชีเลย พระบรมศาสดาของเรานั้นมิได้ทรงเกื้อกูลหมู่ชนเพียงแต่ในทางธรรมเท่านั้น แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์แม้ในทางโลกอีกด้วย สมแล้วที่พระองค์ได้พระนามว่า พระโลกนาถผู้เป็นที่พึ่งของโลก แม้ภายหลังจากที่พระองค์ได้ปรินิพพานแล้วแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ มีมนุษย์จำนวนนับไม่ได้ที่ได้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์แล้วได้วางมือจากการประกอบกรรมชั่ว แล้วตั้งหน้าทำความดี พระองค์ยังทรงเป็นที่พึ่งของโลกอยู่

                 ในพรรษานั้นเอง  ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ  พระตถาคตเจ้าทรงพระประชวรหนักด้วยโรคปักขันทิกาพาธ คือมีพระบังคนเป็นโลหิต แต่ทรงพิจารณาเห็นว่ายังไม่ถึงกาลอันสมควรที่พระองค์จะปรินิพพาน จึงทรงใช้สมาธิอิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธนั้นด้วยอธิวาสนขันติ (อธิวาสนขันติอดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ธีตีขันติ อดทนต่อหนาวร้อน การตรากตรำในการทำงานตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่กระทบกระทั่งจิตใจอดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี) เรื่องที่พระองค์ทรงใช้ความอดทนจนหายอาพาธนี้เป็นที่ประจักษ์แก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า

                   เมื่อหายแล้ว วันหนึ่งประทับนั่ง ณ ร่มเงาแห่งวิหารในเวลาเย็น พระอานนท์เข้าเฝ้ากราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! ข้าพระองค์ได้เห็นความอดทนของพระองค์แล้ว ความอดทนอดกลั้นอันใดที่พระองค์ทรงพร่ำสอนผู้อื่นอยู่เสมอ พระองค์ได้ทรงกระทำความอดทนนั้นให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว สมแล้วที่พระองค์ได้รับการยกย่องว่าตรัสอย่างใดทรงกระทำอย่างนั้น ทรงกระทำอย่างใดตรัสอย่างนั้น (ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที) ก็แต่ว่าพระองค์ผู้เจริญ! ในสมัยที่พระองค์ทรงพระประชวรหนักนั้น ข้าพระองค์มีความวิตกกังวลอย่างยิ่ง กายของข้าพระองค์งอมระงมไปหมดประหนึ่งความรู้สึกของหมู่ปักษีซึ่งอาศัยอยู่บนพฤกษา และต้นไม้นั้นไกวแกว่งเพราะแรงลม ทิศทั้งหมดปรากฏเหมือนมืดมนสำหรับข้าพระองค์ มองดูพระองค์แล้วเหมือนข้าพระองค์จะเจ็บด้วยและเจ็บลึกยิ่งกว่าพระองค์เสียอีก แต่ข้าพระองค์ยังเบาใจอยู่อย่างหนึ่งว่า พระองค์ยังไม่ให้ประชุมสงฆ์ปรารภข้อที่ควรปรารภในท่ามกลางมหาสมาคมตราบใด ตราบนั้นพระองค์คงจักยังไม่ปรินิพพานเป็นแน่แท้”

                    “อานนท์เอย!”  พระศาสดาตรัสอย่างช้า ๆ  “เธอและภิกษุสงฆ์จะหวังอะไรในเราอีกเล่า  ธรรมใดที่ควรแสดง เราได้แสดงหมดแล้ว ไม่มีกำมือของอาจารย์อยู่ในเราเลย คือเรามิได้ปิดบังซ่อนเร้น หวงแหนธรรมใด ๆ ไว้ เราได้ชี้แจงแสดงเปิดเผยหมดสิ้นแล้ว ธรรมวินัยซึ่งเป็นมรดกอันประเสริฐของบิดา ตถาคตได้มอบให้เธอและภิกษุทั้งหลายโดยสิ้นเชิงแล้ว อานนท์เอย! จงดูเอาเถิด ดูสรีระแห่งตถาคต บัดนี้มีชราลักษณะปรากฏอย่างชัดเจน ฟันหัก ผมหงอก หนังหดเหี่ยวหย่อนยาน มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัด เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมไว้ ผูกกระหนาบคาบน้ำไว้ จะยืนนานไปได้สักเท่าใด การแตกแยกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง อานนท์เอย! พวกเธอจงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่งเถิด อย่าคิดยึดสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลยแม้เราตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น”

                  พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวคามเป็นเวลานานถึง ๘ เดือน แม้ออกพรรษาแล้วก็มิได้เสด็จไปที่อื่น คงประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นฤดูเหมันต์ นับเป็นเวลานานมากที่ประทับอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เช่นเวฬุวคามนี้

                  พระองค์ทรงแน่พระทัยว่า  คงจะดำรงพระชนม์ชีพไปไม่ได้นานนัก  แต่มิได้ตรัสบอกพระอานนท์ในเวลานั้น เหลือเวลาอีก ๓ เดือนที่จะปรินิพพาน ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงถูกอาพาธคอยบีบคั้นเบียดเบียนอยู่เสมอ แต่ก็ทรงดำเนินไปอีกหลายแห่ง เสด็จโดยพระบาทเปล่าไม่มีใครแบกใครหามเลย เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยมากเข้าก็ทรงหยุดพัก ทุกหนทุกแห่งที่เสด็จไป จะมีพระอานนท์ตามเสด็จเสมือนพระฉายา แม้จะลำบากพระวรกายปานใด แต่น้ำพระทัยกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์เอ่อท้นในพระมนัส จึงทรงจาริกเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลชน

                 จากเวฬุวคาม   เสด็จไปยังกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน   ซึ่งกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลีสร้างถวายเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาเป็นครั้งคราว รับสั่งให้พระอานนท์ประกาศประชุมสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด ทรงโอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยอภิญญาเทสิตธรรม คือธรรมที่พระองค์แสดงไว้เพื่อการตรัสรู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ให้ภิกษุทั้งหลายหมั่นอบรมประพฤติธรรมดังกล่าวนี้

                รุ่งขึ้นเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ชาวนครเวสาลีมีความรู้สึกระทึกใจเป็นที่ยิ่งเมื่อทราบว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้เห็น ได้เฝ้ารับโอวาทานุสาสน์จากพระพุทธองค์บางพวกร่ำไห้ บางพวกตีอกชกตัว ประหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้าแห่งตนจะเดินทางไปสู่สมรภูมิและรู้แน่นอนว่าจะไม่กลับมา

             พระจอมมุนีประทานเทศนาให้เขาเหล่านั้นคลายโศก   โดยทรงย้ำให้ระลึกถึงพระโอวาทที่เคยประทานไว้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การเศร้าโศกคร่ำครวญ ย่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับมิให้แตกดับได้”

                 แลแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จออกจากนครเวสาลี ทรงยืนอยู่ ณ ประตูเมืองครู่หนึ่ง ผินพระพักตร์มองดูเวสาลีเป็นนาคาวโลกนาการ ปานประหนึ่งพญาคชสารตัวประเสริฐเหลียวดูแมกไม้เป็นปัจฉิมทัศนา เมื่อถูกนำพาไปสู่นครเพื่อเป็นราชพาหนะ

                 พระตถาคตเจ้าทอดทัศนาการเวสาลีพลางทรงรำพึงว่า  “ดูก่อนเวสาลี!  นครซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นนครที่มีนามกระเดื่องเลื่องลือว่า มีคนแต่งกายงามที่สุดปานหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มีสระโบกขรณีมากหลายเป็นที่รื่นรมย์ ปราสาทแห่งเจ้าลิจฉวีเสียดยอดระดะดูงามตาพิลาสพิไล โดยเฉพาะลิจฉวีสภาซึ่งจงใจทำอย่างประณีตบรรจงงามวิจิตร เป็นที่ประชุมแห่งกษัตริย์ลิจฉวีผู้พร้อมใจกันปกครองบ้านเมืองโดยสามัคคีธรรม ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมีปราการสามชั้น มีเบื้องหลังเป็นป่าใหญ่ทอดยาวเหยียดสูงขึ้นไปจนถึงหิมาลัยบรรพตอันได้นามว่ามหาวัน ซึ่งตถาคตแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ การได้เห็นเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการสำหรับตถาคตแล้ว ตถาคตจะไม่ได้เห็นเวสาลีอีก” ทรงรำพึงดังนี้แล้วจึงผันพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า

“อานนท์! การมองดูเวสาลีครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว อานนท์เอย! ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อได้มีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมจะมีการสิ้นสุด ใครเล่าจะสามารถหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็นมิให้เป็นได้ มาเถิดอานนท์! เราจักเดินทางไปสู่ปาวาลเจดีย์” พระตถาคตเจ้าตรัสเท่านี้ แล้วเสด็จดำเนินด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ

             พระพุทธอนุชาตามเสด็จพระศาสดาด้วยอาการสงบและเคร่งขรึม  ใครเล่าจะทราบว่าภายในดวงจิตของท่านจะปั่นป่วนรวนเร ซึมเซา เศร้าโศก อ่อนไหวหวิวหวั่นสักเพียงใด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052110648155212 Mins