เบญจกัลยาณีนามวิสาขา

วันที่ 06 กย. พ.ศ.2567

เบญจกัลยาณีนามวิสาขา

2567%2009%2006.b.jpg

 

          “ดูก่อนภราดา!   สำหรับท่านแรกคือ   นางวิสาขามหาอุบาสิกานั้น   มีเรื่องค่อนข้างจะมากอยู่   เป็นสตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธจักร เป็นผู้มีบุญและรูปงาม สมบูรณ์ด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ ประการคือ ผมงาม หมายถึงผมซึ่งยาวสลวยลงมาแล้วมีปลายช้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ ฟันงาม หมายถึงฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบเรียงรายประดุจไข่มุกที่นายช่างจัดเข้าระเบียบแล้ว ริมฝีปากงาม หมายถึงริมฝีปากบาง โค้งเป็นรูปกระจับสีชมพูเรื่อคล้ายผลตำลึงสุก เป็นเองโดยธรรมชาติ มิใช่เพราะตกแต่งแต้มทา ผิวงาม หมายถึง ผิวขาวละเอียดอ่อนเหมือนสีดอกกรรณิการ์ ลักษณะนี้มี ๒ อย่าง คือ ถ้าผิวดำก็ดำอย่างดอกอุบลเขียว อมเลือดอมฝาด เปล่งปลั่งคล้ายสีน้ำผึ้งซึ่งนำมาจากรังผึ้งใหม่ ๆ วัยงามหมายถึงเป็นคนงามตามวัย งามทุกวัย เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็งามอย่างเด็ก เมื่ออยู่ในวัยสาวก็งามอย่างหญิงสาว เมื่ออยู่ในวัยชราก็งามอย่างคนชรา

          นางวิสาขามิใช่ชาวสาวัตถีโดยกำเนิด  แต่เป็นชาวสาเกต  ต้นตระกูลดั้งเดิมของนางอยู่กรุงราชคฤห์  สมัยเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปขอเศรษฐีจากกรุงราชคฤห์นั้น จอมเสนาบดีแห่งแคว้นมคธได้มอบธนัญชัยเศรษฐีบิดาวิสาขาให้มา เมื่อเดินทางมาถึงเขตกรุงสาวัตถี ธนัญชัยเห็นสถานที่แห่งหนึ่งมีทำเลดีเหมาะที่จะสร้างเมืองได้ จึงทูลขอพระเจ้ากรุงสาวัตถีเพื่อสร้างที่พักตรงนั้น พระเจ้าปเสนทิทรงอนุญาต ต่อมาจึงสร้างเป็นเมืองให้ชื่อว่า “สาเกต” เพราะนิมิตที่มาถึงที่ตรงนั้นเมื่อตะวันรอน

       วิสาขาเจริญเติบโตขึ้นที่กรุงสาเกตนั้นเอง  เจริญวัยขึ้นด้วยความงาม  งามอย่างจะหาหญิงใดเสมอเหมือนได้ยาก  แต่เป็นผู้ไม่หยิ่งทะนงในความงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสัย มีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย สมเป็นกุลสตรีที่ได้รับการอบรมดี จนกระทั่งมีอายุพอสมควรจะแต่งงานแล้ว บิดาแห่งปุณณวัฒนกุมารในกรุงสาวัตถีจึงส่งทูตไปขอนางเพื่อบุตรของตน

           การแต่งงานของนางวิสาขาเป็นเรื่องมโหฬารยิ่ง  ธนัญชัยเศรษฐีให้นายช่างทำเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์เป็นชุดวิวาห์แห่งธิดา เครื่องประดับนี้แพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากหลาย ไม่มีผ้าด้ายผ้าไหมหรือผ้าใด ๆ เจือปนเลย ที่ๆ ควรจะใช้ผ้า เขาก็จะใช้แผ่นเงินแทน ในเครื่องประดับนี้ต้องใช้เพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน

            ลูกดุมทำด้วยทอง  ห่วงทำด้วยเงิน  เครื่องประดับนี้คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดหลังเท้า  บนศีรษะทำเป็นรูปนกยูงรำแพน ขนปีกทั้งสองข้างทำด้วยทองข้างละ ๕๐๐ ขน จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน นกยูงนั้นประดิษฐ์อยู่เหนือเศียรเหมือนนกยูงรำแพนอยู่บนยอดเขา เครื่องประดับนี้มีค่า ๙๐ ล้านกหาปณะ ค่าจ้างทำหนึ่งแสนกหาปณะและทำอยู่ถึง ๔ เดือน โดยนายช่างจำนวนร้อยจึงสำเร็จลง

       คืนสุดท้ายที่วิสาขาจะจากไปสู่ตระกูลสามีนั่นเอง    ธนัญชัยเศรษฐีผู้บิดาได้ให้โอวาทแก่นางเป็นที่ประทับใจ   และเป็นประโยชน์ในการครองเรือนยิ่งนัก โอวาทนั้นมี ๑๐ ข้อดังนี้


           วิสาขา! เมื่อลูกไปสู่ตระกูลสามี ชื่อว่าอยู่ไกลหูไกลตาพ่อ ลูกจงจำโอวาทของพ่อไว้เพื่อเป็นตัวแทนของพ่อ เป็นเกราะป้องกันภยันตรายสำหรับลูก

๑. จงอย่านำไฟในออก
๒. จงอย่านำไฟนอกเข้า
๓. จงให้แก่คนที่ให้
๔. จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้
๕. จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้
๖. จงนั่งให้เป็น
๗. จงนอนให้เป็น
๘. จงบริโภคให้เป็น
๙. จงบูชาเทวดา
๑๐. จงบูชาไฟ


           นางวิสาขาเข้าสู่พิธีอาวาหะวิวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่  การต้อนรับทางกรุงสาวัตถีนั้นมโหฬารเหลือคณนา  แต่บังเอิญตระกูลของปุณณวัฒนกุมารนั้นมิได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่นับถือศาสนาของนิครนถ์นาฏบุตรหรือศาสนาเชน มักจะเชื้อเชิญนักบวชผู้ไม่นุ่งห่มอะไรมาเลี้ยงภัตตาหารเสมอ นางวิสาขามีความละอายเป็นล้นพ้นจนไม่สามารถออกมากราบไหว้และเลี้ยงสมณะที่มิคารเศรษฐีบิดาแห่งสามีเลื่อมใสได้ จึงเป็นที่ตำหนิของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาเลื่อมใสพระรัตนตรัยตั้งแต่สมัยอยู่เมืองราชคฤห์แล้ว เรื่องนี้เป็นข้อยุ่งยากในครอบครัวประการเดียวที่ยังแก้ไม่ตก

          วันหนึ่งเวลาเช้า   พระภิกษุรูปหนึ่งออกบิณฑบาตมาทางเรือนของมิคารเศรษฐี   เวลานั้นนางวิสาขากำลังปฏิบัติบิดาแห่งสามีซึ่งบริโภคอาหารอยู่ เมื่อพระมายืนอยู่ที่ประตูเรือนตามอริยตันติแบบอย่างของพระอริยะ เศรษฐีมองเห็นแล้วแต่ทำเฉยเสีย และหันหน้าเข้าฝาบริโภคอย่างไม่สนใจนางวิสาขาหาอุบายให้พ่อผัวมองไปทางประตูเรือนด้วยวิธีต่าง ๆ โดยวาจาเช่นว่า

“ท่านบิดา ดูที่ซุ้มประตูนั้นซิ เถาวัลย์มันเลื้อยรุงรังเหลือเกินแล้ว ยังไม่มีเวลาให้คนใช้ทำให้เรียบร้อยเลย”

“ช่างมันเถิดไว้อย่างนั้นก็สวยดี” เศรษฐีพูดโดยมิได้มองนางวิสาขา และมิได้เหลียวไปดูที่ซุ้มประตูเลย

“ท่านบิดา ดูนกตัวนั้นซิ สีมันสวยเหลือเกิน เกาะอยู่ที่ริมรั้วใกล้ซุ้มประตูนั่นแน่ะ”

“เออ พ่อเห็นแล้ว เห็นมันมาจับอยู่เสมอจนพ่อเบื่อที่จะดูมัน” เศรษฐียังคงก้มหน้าบริโภคต่อไป

เมื่อนางเห็นว่าหมดหนทางที่จะให้บิดาของสามีเห็นพระภิกษุอย่างถนัดได้ จึงกล่าวขึ้นว่า

“นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิดพระคุณเจ้า ท่านมิคาระกำลังบริโภคของเก่า”


        เพียงเท่านี้เอง  เรื่องได้ลุกลามไปอย่างใหญ่หลวง  เศรษฐีหยุดรับประทานอาหารทันที  ตวาดนางวิสาขาด้วยอารมณ์โกรธ

“วิสาขา! เธออวดดีอย่างไร จึงบังอาจพูดว่าเรากินของเก่าไม่สะอาด มีเรื่องหลายเรื่องที่เราเห็นเธอและบิดาของเธอทำไม่สมควร ต่อแต่นี้ไปเธออย่าได้อาศัยอยู่ในบ้านของเราอีกเลย ขอให้เตรียมตัวกลับไปบ้านของเธอได้” เศรษฐีพูดเท่านี้แล้วก็ลุกขึ้นให้คนไปตามพราหมณ์พี่เลี้ยงของนางมาแล้วบอกให้พราหมณ์นำนางวิสาขากลับไป

            พราหมณ์ทราบความแล้วเดือดร้อนใจเป็นนักหนา  รีบเข้าพบนางวิสาขา  ถามด้วยจิตกังวลว่า

“แม่เจ้า มีเรื่องอะไรรุนแรงนักหรือ ท่านมิคาระจึงให้ส่งแม่เจ้ากลับเมืองสาเกต?”

“ดูก่อนพราหมณ์!” นางพูดอย่างเยือกเย็นปราศจากความสะทกสะท้านใด ๆ ทั้งสิ้น


“เมื่อข้าพเจ้ามาก็ด้วยเกียรติอันใหญ่หลวง มีข้าทาสบริวารเป็นจำนวนร้อย เมื่อถึงคราวกลับไป จะ
กลับอย่างผู้ไร้ญาติขาดที่พึ่งหาควรแก่ข้าพเจ้าไม่ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าอยากให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาเสียก่อน เมื่อเป็นที่แน่นอนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ถูกหรือผู้ผิดก็ตาม ข้าพเจ้าจะขอลาไป และไปอย่างมีเกียรติอย่างคราวที่มา”

       พราหมณ์ได้นำนางวิสาขาเข้าหาท่านเศรษฐี  เพื่อซักฟอกความผิดให้เห็นแจ้ง  มิคารเศรษฐีนั่งหน้าถมึงทึงมีอาการเกรี้ยวกราดฉายอยู่ทั้งใบหน้าและแววตา

“มีอะไรอีก พราหมณ์” เศรษฐีตั้งคำถามกระชาก ๆ

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี! แม่เจ้ายังไม่ทราบความผิดของตนว่าได้กระทำผิดประการใด จึงต้องถูกไล่กลับ” พราหมณ์ตอบ

“ความผิดประการใด?” เศรษฐีทวนคำ “ก็การที่เธอบังอาจว่าเรากินของเก่าของสกปรกนะ ยังไม่พบอีกหรือ?”


“ข้าแต่ท่านบิดา” นางวิสาขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบเป็นปกติ “คำที่ลูกพูดนั้นมิได้หมายความว่าท่านบิดาบริโภคของสกปรก แต่ลูกหมายความว่า ท่านบิดากำลังกินบุญเก่า ลูกคิดว่าการที่ท่านบิดามั่งมีศรีสุข มีเงินทองล้นเหลืออยู่ในปัจจุบันชาตินี้ โดยที่ท่านบิดามิได้ลงทุนลงแรงทำอะไรมากนัก ทรัพย์สมบัติล้วนแต่เป็นมรดกตกทอดมาทั้งสิ้นนั้น เป็นเพราะบุญเก่าของท่านบิดาอำนวยผลให้ ถ้าท่านบิดาไม่สั่งสมบุญใหม่ให้เกิดขึ้น บุญเก่านั้นก็จะต้องหมดไปสักวันหนึ่ง ลูกหมายถึงบุญเก่านี่เอง จึงพูดว่าบิดากำลังบริโภคของเก่า”

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี! ข้อนี้หาเป็นความผิดแห่งแม่เจ้าไม่” พราหมณ์พูดขึ้น

“เอาเถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนก่อนนี้นางก็ได้ทำสิ่งที่น่ารังเกียจ คือเราเห็นนางลงไปที่คอกลาเวลาดึกดื่นเที่ยงคืน นางลงไปทำไม เพราะนั่นเป็นกิจที่กุลสตรีไม่พึงกระทำ”

“ข้าแต่บิดา! คืนนั้นลามันออกลูกและออกด้วยความทรมาน ลูกเพียงแต่ลงไปดูมันและช่วยมันเท่าที่ลูกพอช่วยได้ ในการลงไป ลูกมิได้ลงไปเพียงคนเดียว มีหญิงคนใช้ไปด้วยหลายคน และนำประทีปโคมไฟสว่างไสวลงไปด้วย”

“ข้าแต่ท่านเศรษฐี! แม้ข้อนี้ก็จะถือเป็นความผิดของนางหาได้ไม่” พราหมณ์กล่าว

“เอาเถิด แม้นางจะไม่ผิดในข้อนี้ แต่เมื่อคืนสุดท้ายที่นางจะมาสู่ตระกูลเรา เราได้ยินบิดาของนางพูดสั่งเสียข้อความถึง ๑๐ ข้อซึ่งเราไม่พอใจ เราไม่ต้องการสตรีที่พยายามปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ในบ้านเรือนของเรา เพราะจะนำภัยพิบัติมาสู่ตระกูลอย่างแน่แท้ เป็นไปได้หรือที่จะห้ามมิให้เรานำไฟภายในออก เมื่อเพื่อนบ้านมาขอจุดไฟ และเมื่อไฟในบ้านดับ เราก็ต้องไปขอจุดไฟภายนอกบ้านเข้ามาในบ้าน บิดาของนางห้ามนางมิให้นำไฟในออกและไฟนอกเข้า เราทนไม่ได้ที่จะให้นางปฏิบัติเช่นนั้น เป็นการใจแคบเกินไป”


           นางวิสาขายิ้มน้อย ๆ แล้วกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านบิดา! ข้อนี้บิดาของลูกหมายความว่า ถ้าหากมีเรื่องยุ่งยากในครอบครัว หรือเกิดระหองระแหงกับสามีหรือบิดาแห่งสามี หรืออันโตชนใด ๆ ก็อย่าได้นำเรื่องเหล่านั้นไปเที่ยวเล่าให้ชาวบ้านฟัง เพราะเป็นเรื่องประจานตัวเอง ส่วนข้อที่ไม่ให้นำไฟนอกเข้านั้น หมายความว่า อย่าได้นำเรื่องยุ่ง ๆ ภายนอกบ้านมาก่อความรำคาญแก่สามี หรือบิดามารดาแห่งสามี”

“และข้ออื่น ๆ อีกล่ะ?” เศรษฐีถามโดยมิได้มองหน้า


           นางวิสาขาชี้แจงให้ฟังตามลำดับดังนี้

          “ข้อว่า จงให้แก่คนที่ให้ นั้น หมายความว่า เมื่อมีผู้มายืมของใช้หรือเงินทอง ถ้าเขาใช้คืนก็ควรจะให้เขายืมต่อไปในคราวหน้า

           “ข้อว่า จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้ นั้น  หมายความว่า  ถ้าใครยืมเงินทองของใช้ไปแล้วไม่ใช้คืนนำไปแล้วเฉยเสีย  แสดงถึงความเป็นคนมีนิสัยไม่สะอาด คราวต่อไปอย่าให้ยืมอีก โดยเฉพาะเงินทองเป็นของที่ทำให้มิตรรักกันก็ได้ แตกกันก็ได้

           “ข้อว่า จงให้แก่คนที่ทั้งให้และไม่ให้ นั้น  หมายความว่า  เมื่อญาติพี่น้องประสบความทุกข์ยากบากหน้ามาพึ่ง  จะเป็นการกู้ยืมหรือขอก็ตาม ควรให้แก่ญาติพี่น้องนั้น เขาจะใช้คืนหรือไม่ก็ช่างเถิด เพราะเป็นญาติพี่น้อง ต้องสงเคราะห์เขาตามควรแก่ฐานะ

         “ข้อว่า  จงนั่งให้เป็น  หมายความว่า  เมื่อสามีหรือบิดามารดาของสามี  หรือผู้ใหญ่อันเป็นที่เคารพนับถือนั่งอยู่ในที่ต่ำ  ก็อย่าได้นั่งบนที่สูงกว่า เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม ไม่สมเป็นกุลสตรี

         “ข้อว่า  จงนอนให้เป็น  นั้น  หมายความว่า  เมื่อมารดาบิดาของสามีหรือสามียังไม่นอนก็ยังไม่ควรนอน  ควรปฏิบัติท่านเหล่านั้นให้มีความสุข เมื่อท่านนอนแล้วจึงค่อยนอนทีหลัง และนอนวางมือวางเท้าให้เรียบร้อย พยายามตื่นก่อนสามีและมารดาบิดาของสามี จัดแจงน้ำและไม้ชำระฟันไว้คอยท่าน เสร็จแล้วดูแลเรื่องอาหารเครื่องบริโภคไว้สำหรับท่าน

           “ข้อว่า  จงบริโภคให้เป็น  นั้น หมายความว่า อย่าบริโภคก่อนสามีหรือมารดาบิดาของสามี คอยดูแลให้ท่านบริโภคแล้วจึงค่อยบริโภคทีหลัง หรืออย่างน้อยบริโภคพร้อมกัน ในการบริโภคนั้นควรสำรวมกิริยาให้เรียบร้อยไม่มูมมาม ไม่บริโภคเสียงจับ ๆ เหมือนอาการแห่งสุกร ไม่บริโภคให้เมล็ดข้าวตกเรี่ยราดดังอาการแห่งเป็ด

          “ข้อว่า จงบูชาเทวดา นั้น  มีความหมายว่า  ให้บูชาสามีทั้งกายและใจ  มีความเคารพ  และจงรักในสามีเหมือนเทวดา  จึงมีคำพูดติดปากกันมานานแล้วว่า สตรีที่แต่งงานแล้วและสามีรักนั้นชื่อว่าเทวดารักษาคุ้มครอง ตรงกันข้ามถ้าสามีไม่รัก ก็ชื่อว่าเทวดาไม่คุ้มครอง

            “ข้อว่า  จงบูชาไฟ  นั้น  หมายความว่า  ให้บูชามารดาบิดาของสามี   ท่านทั้งสองเปรียบเหมือนไฟ  มีทั้งคุณและโทษ  อาจจะให้คุณให้โทษได้ ถ้าปฏิบัติดีก็จะให้คุณ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็จะให้โทษมาก เพราะฉะนั้น จึงควรปฏิบัติต่อท่านด้วยดี มีสัมมาคารวะ ไม่ดูหมิ่น”

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0097615639368693 Mins