สุทัตตะผู้สร้างอารามเชตวัน

วันที่ 02 กย. พ.ศ.2567

สุทัตตะผู้สร้างอารามเชตวัน

670902_b184.jpg


                  พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่ท่านสุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย แล้วทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า“ดูก่อนสุทัตตะ! การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ! เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก”
 

                   “ดูก่อนผู้สืบอริยวงศ์” พระอานนท์กล่าวต่อไป “พระธรรมเทศนาของพระศาสดานั้นไพเราะจับใจและแจ่มแจ้งยิ่งนัก เพราะเหตุนี้ เมื่อพระองค์แสดงจบลงจึงมักมีผู้ชมเชยเสมอว่า แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้า เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืดเพื่อให้ผู้มีตาดีได้มองเห็นรูป ดังนี้” อนาถปิณฑิกเศรษฐี หรืออีกนัยหนึ่งคือสุทัตตะคฤหบดี ซึ่งบัดนี้ได้เป็นโสดาบันแล้วด้วยการฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียว ทูลอาราธนาพระตถาคตเจ้าเพื่อเสด็จสู่กรุงสาวัตถี ราชธานีแห่งโกศลรัฐ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับแล้ว เศรษฐีจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครตนล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางเศรษฐีให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่ง ๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พักเพื่อพระสงฆ์สาวกตามเส้นทางที่พระศาสดาจะเสด็จไปเมื่อถึงสาวัตถีแล้ว

 

                     อนาถปิณฑิกะก็มองหาสถานที่ที่จะสร้างอารามถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เห็นที่อยู่แห่งหนึ่งเป็นสวนของเจ้าชายในราชตระกูล ผู้ทรงพระนามว่า เชตะ ได้ลักษณะควรเป็นอารามสำหรับพุทธนิวาส คืออยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้าน มีทางเข้าออกได้สะดวกไม่อึกทึกในเวลากลางวัน และเงียบสงัดในเวลากลางคืน เหมาะสำหรับเป็นที่สำราญพระอิริยาบถ ของพระตถาคตเจ้า และเป็นที่ตรึกตรองธรรมอันลึกซึ้งสำหรับภิกษุสงฆ์อนาถปิณฑิกะได้เข้าเฝ้าเจ้าชายเซตะ ขอซื้อสวนสร้างอารามเบื้องแรกเจ้าชายทรงปฏิเสธแต่เมื่อเศรษฐีขอร้องวิงวอนหนักเข้าก็ทรงยอม แต่ทรงโก่งราคาแพงเหลือหลาย ถึงกับว่าถ้าจะซื้อให้ได้ก็ต้องให้ราคาเท่ากับเอาทองไปปลงให้เต็มสวนนั้น ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงดำริว่า ถ้าราคาแพงเกินไป

 

                      เศรษฐีคงไม่ซื้อ แต่พระองค์ทรงเข้าพระทัยผิดไป เศรษฐียอมตกลงซื้อ เมื่อตกลงแล้ว ก็วัดเนื้อที่ชำระเงินเป็นตอน ๆ ไป เหลือเนื้อที่อยู่อีกนิดหน่อย ซึ่งเศรษฐีกำหนดไว้ว่าจะทำซุ้มประตูตรงนั้นพอดีเงินหมด เศรษฐีกำลังจะไปยืมเพื่อนที่สนิทไว้ใจกันคนหนึ่งมา เจ้าชายเซตะทรงเห็นใจและสงสารเศรษฐี จึงทรงยกเนื้อที่ตรงนั้นให้ เมื่อสร้างอารามเสร็จแล้วก็ถึงเวลาทำซุ้มประตู เศรษฐีดำริว่าเจ้าชายเซตะมีคนเคารพนับถือมากในพระนครสาวัตถี ถ้ามีชื่อเจ้าชายอยู่ด้วยจะเป็นประโยชน์มาก จึงให้ยกป้ายขึ้นว่า “เชตวัน” แต่คนทั้งหลายมักจะต่อท้ายว่า “อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี” ด้วยประการฉะนี้
 

                       อันว่าเชตวันนี้เป็นอารามที่สวยงามที่สุดและใหม่ที่สุด อนาถปิณฑิกะให้สร้างกุฏิวิหารห้องประชุม ห้องเก็บของ ขุดสระใหญ่ ปลูกบัวขาว บัวขาบ บัวหลวง บัวเขียว บานสะพรั่ง ชูดอกไสวปลูกมะม่วง เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังพันธุ์ไม้หลายหลากเป็นทิวแถวที่ทำเป็นซุ้มเป็นพุ่มก็มีสะอาด สวยงาม และร่มรื่น ต้นไม้ส่วนมากมีผลอันจะเป็นประโยชน์แก่ภิกษุสามเณร รวมความว่าเชตวันเป็นอารามที่น่าอยู่น่าอาศัย มีสัปปายธรรมพร้อมทั้ง ๔ ประการคือ


๑. เสนาสนสัปปายะ ที่อยู่อาศัยสบาย
๒. บุคคลสัปปายะ มีมิตรสหายดี มีผู้เอาใจใส่พอสมควร
๓. อาหารสัปปายะ มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์
๔. ธัมมสัปปายะ มีธรรมเป็นที่สบาย ข้อนี้หมายความว่า ธรรมที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุคุณเบื้องสูงเหมาะแก่จริตอัธยาศัย และมีเรื่องราวต่าง ๆ โน้มน้อมใจไปเพื่อละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วเพื่อพยายามมิให้อกุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมี และเพื่อรักษากุศลที่เกิดแล้วให้คงอยู่และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

                    ดูก่อนอาคันตุกะ! กล่าวเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ ๒ คือ บุคคลสัปปายะนั้น ท่านอนาถปิณฑิกะ นอกจากจะถวายอารามแล้ว ยังบำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น จีวร อาหารและยารักษาโรค ท่านจะไปเฝ้าพระศาสดาทั้งเช้าและเย็น เมื่อไปตอนเช้าก็จะนำอาหาร เป็นต้นว่า ยาคูและภัตต์ เมื่อไปในเวลาเย็นก็จะนำปานะชนิดต่าง ๆ ไป เป็นต้นว่า น้ำผึ้งและน้ำอ้อย ท่านไม่เคยไปมือเปล่าเลย ด้วยละอายแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรจะดูมือ เมื่อไปเฝ้าก็ไม่เคยทูลถามปัญหาพระศาสดาเลย เพราะท่านคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ และบัดนี้เป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาล ถ้าจะถามปัญหาพระองค์ก็จะทรงดำริว่า เศรษฐีเป็นผู้มีอุปการะมากต่อเรา แล้วจะทรงแก้ปัญหาด้วยความเกรงพระทัย จะทำให้พระองค์ทรงลำบาก
 

                     ดูก่อนอาคันตุกะ! พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยอันนี้ของเศรษฐีแล้วทรงดำริว่า เศรษฐีนี้เกรงใจเราในฐานะที่ไม่ควรจะเกรง ก็เราบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายืดยาวนาน เคยควักลูกนัยน์ตาเคยตัดศีรษะอันประดับประดาแล้วด้วยมงกุฎ และเคยสละอวัยวะอื่น ๆ ตลอดถึงชีวิตให้เป็นทานบารมี ๑๐ เราบำเพ็ญมาแล้วอย่างเข้มงวดและบริบูรณ์ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะขนสัตว์ในสังสารสาครขึ้นสู่ที่อันเกษม คือ พระนิพพาน ทรงดำริเช่นนี้แล้วก็ทรงแสดงธรรมแก่เศรษฐีพอสมควรทุกครั้งที่เขาไปเฝ้า
 

“ดูก่อนพงศ์พันธุ์แห่งอารยะ! นอกจากท่านอนาถบิณฑิกะแล้ว ยังมีคนอื่น ๆ อีกมากมายที่เคารพเลื่อมใสในพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นกำลังสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาช่วยบำรุงรักษา และการเผยแผ่คำสอนของพระตถาคตเจ้า เป็นต้นว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกานางสุปปวาสา นางสุปปิยา ตลอดไปถึงพระราชาธิบดีปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาอัครราชเทวี”
 

“ข้าแต่ท่านผู้ทรงพรตอันประเสริฐ” พระกัมโพชะกล่าวขึ้น ข้าพเจ้าเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านเหล่านี้บ้างเป็นบางท่าน แต่ไม่ทราบรายละเอียด ถ้าท่านจะกรุณาอนุเคราะห์เล่าแก่ข้าพเจ้าบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038142983118693 Mins