อุปกาชีวกกับพวงดอกไม้มาร

วันที่ 26 กย. พ.ศ.2567

อุปกาชีวกกับพวงดอกไม้มาร

2567%2009%2026.b.jpg

 

                  อุปกะ  นั่งเศร้าซึมอยู่หน้าอาศรม  ความร่มรื่นของราวป่าในยามนี้  ซึ่งเคยเป็นที่พออกพอใจของเขายิ่งนักนั้น ได้กลายเป็นที่ทรมานไปเสียแล้ว เสียงนกเล็ก ๆ วิ่งไล่จับกัน และส่งเสียงร้องด้วยความชื่นบานบนกิ่งไม้ เขาเคยมองดูและฟังเสียงมันด้วยความนิยมชมชื่น แต่บัดนี้มันเป็นของแสลงสำหรับเขา นาน ๆ เขาจะสะดุ้งขึ้นครั้งหนึ่ง เพราะได้ยินเสียงหวาดแว่วเหมือนสำเนียงของสุชาวดี แต่แล้วเขาคงเศร้าซึมต่อไป เพราะมันเป็นเพียงเสียงลมหวีดหวิวพัดผ่านมาเท่านั้น เขาก้มลงสำรวจตัวเอง เอามือลูบคลำแขนและปลีน่อง รู้สึกตัวว่าย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว แม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่ความรักเพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา

                 ในโลกียวิสัย อะไรเล่าจะทำให้คนซึมเศร้าและชื่นบานมากไปกว่าความรัก ในความรักมีทั้งความขมและความหวาน มีทั้งเรื่องร้อนเร่า ตื่นเต้น และเยือกเย็นละเมียดละไมความรักจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันยังมีอิทธิพลครอบคลุมจิตใจของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยแทรกแซงอยู่ในทุกหนทุกแห่งไม่ว่าในทุ่งนา หรือป่าเขา ในปราสาทราชมณเฑียรอันโอ่อ่าของวีรกษัตริย์ หรือกระท่อมของขอทาน ในหมู่โจรผู้เหี้ยมโหด หรือในหมู่นักพรตผู้มีกาสาวพัสตร์เป็นธงชัย ความรักเป็นความหวัง เป็นความชุ่มชื่น แม้มันจะกลับกลายเป็นขมขื่นปวดร้าวระบมในภายหลัง แต่ก็ยังเป็นความหลังที่ให้บทเรียนอันล้นค่าควรแก่การทรงจำและระลึกถึงความรักเหมือนน้ำใสเย็นจืดสนิท แต่มีพิษยาแทรกซึมอยู่ด้วยเพียงบาง ๆ เย้ายวนชวนเชิญให้กระหายใคร่ดื่ม แล้วยาพิษก็ค่อย ๆ แสดงฤทธิ์ทีละน้อยพอกระวนกระวาย ดั่งที่อุปกะกระวนกระวายอยู่ ณ บัดนี้

                 ความรักเหมือนสุรา ผู้ที่ดื่มแก้วแรกแล้วก็อยากจะดื่มอีก และดื่มอีก การเมารักก็เหมือนเมาเหล้า ทำให้ใจกล้า และตาลาย ตัดสินใจอะไรง่ายๆ ขาดสติคุ้มครองตน คิดเอาแต่ความสุขเฉพาะหน้า

                  ใบหน้าและกิริยาพาทีของสุชาวดีน้อยปรากฏในห้วงนึกเหมือนภาพจำลอง   เขานั่งและเดินกลับไปกลับมาด้วยความรู้สึกที่วุ่นวายและเศร้าหมอง ความจริงคนอายุวัยนี้ มีความสำนึกในการสำรวมตน และหักห้ามใจได้ดีพอใช้แล้ว แต่น้ำรักก็เหมือนน้ำสุรา มักทำให้คนฟั่นเฟือนหลงใหลและปล่อยตัว ขาดพลังในการหน่วงเหนี่ยวจิตใจ

               เขาเดินกระวนกระวายอยู่จนย่ำสนธยา ท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเป็นสีแสดเข้ม ฝูงวิหคนกกาเริ่มทยอยกลับสู่รวงรัง เสียงชะนีโหยหวนก้องป่า วิเวกวังเวงเตือนให้อุปกะระลึกถึงตนว่าช่างเหมือนชะนีน้อยเสียเหลือเกิน ทินกรลับขอบฟ้าไปแล้ว ความมืดปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณไพรไม่นานนัก ดวงจันทร์ก็แผ่รัศมีกระจายไปทั่ว อุปกะนั่งอยู่หน้าอาศรมมองดูดวงจันทร์ แต่ใจนั้นระลึกถึงสุชาวดีอยู่มิได้ว่างเว้น จันทราและหน้านางนั้นต่างกันมากนัก เมื่อมองดูจันทร์งาม ความรู้สึกจะมีเพียงว่าสดชื่น แจ่มใส และร่มเย็น คลายกังวลได้บ้าง และไม่เคยมีใครอยากได้ดวงจันทร์มาเป็นของตน แต่ใบหน้าอันพริ้มเพรางามเฉิดฉายของสาวน้อย เมื่อมองดูแล้วทำให้จิตใจกระวนกระวายเร่าร้อนดิ้นรน แม้จะแฝงไว้ด้วยความสุขที่ระคนด้วยความระทึกใจก็ตาม และแล้วความรู้สึกที่ใคร่ได้ใคร่เป็นเจ้าของก็มีขึ้น แต่ที่ยับยั้งไว้ได้ก็เพราะศีลธรรม มโนธรรมคอยกระซิบอยู่ ถ้าไร้เสียซึ่งศีลธรรมและมโนธรรม และประกอบด้วยความมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยเงินและอำนาจ บุคคลผู้นั้นจะปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไป ตามความปรารถนาในโลกิยารมณ์อันหาขอบเขตมิได้...โลกิยารมณ์ซึ่งประกอบด้วย กาม กิน และเกียรติ เรื่องทั้งสามนี้เป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของโลกียชน

                   บัดนี้อุปกะแม้จะอยู่ในเพศและภาวะแห่งผู้สละแล้วซึ่งโลกีย์  แต่จิตใจของเขาได้ดื่มด่ำล้ำลึกลงไปในโลกิยารมณ์ อันสุดจะถอน อะไรเล่าจะเป็นความทุกข์ทรมานยิ่งไปกว่านี้ ประดุจพยัคฆราชซึ่งถูกกักขังอยู่ในกรงเหล็กกำลังหิวกระหาย มองดูนางกวางเยื้องย่างอยู่ไปมา มันจะกระวนกระวายสักปานใด หรือประหนึ่งบุคคลผู้เดินทางไกลกันดารเหน็ดเหนื่อยเร่าร้อนมีเหงื่อโทรมกาย มองดูสระโบกขรณีที่หวงห้าม ด้วยความกระวนกระวายสุดกังวล

                  กิ่งมัชฌิมยามแห่งราตรีแล้ว  อากาศซึ่งเยียบเย็นได้เย็นเยียบลงไปอีก  อุปกะดึงผ้าห่มขึ้นคลุมร่างพลิกกลับไปกลับมา กระสับกระส่าย ไม่อาจจะหลับตาลงสู่นิทรารมณ์ได้ แน่นอนทีเดียว หู ตา จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือราคะบ้าง โทสะบ้างโมหะบ้าง... ไฟที่ปราศจากควันและไร้แสง แต่มีความรุนแรงเผาใจให้ร้อนรุ่ม คือไฟราคะนี่เองไม่อาจจะดับได้ด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในโลกนี้

                   จนกระทั่งอรุณรุ่ง   ลมเช้าพัดแผ่วกระทบกายประสาท   อุปกะสลัดผ้าห่มลุกขึ้นนั่งตรึกตรองอยู่อย่างลึกซึ้ง ตลอดราตรีผ่านมาเขามิได้หลับเลย คำกล่าวที่ว่า “ความรักเป็นบ่อเกิดแห่งความกระวนกระวาย ดิ้นรนหนักหน่วงและซึมเศร้า” นั้น ช่างเป็นความจริงเสียเหลือเกิน

                 เขามิได้ไปรับภิกษาที่บ้านของสุชาวดีในเช้าวันนั้น แต่ไปแสวงหาภิกษาที่อื่น ทั้งนี้เพราะความละอายต่อสุชาวดี  และละอายตนเอง นักพรตผู้มีภาชนะภิกษาในมือเมื่อมีความรักเกิดขึ้นคนที่เขาละอายที่สุดคือคนที่เขาหลงใหลนั่นเอง เพราะเพศและภาวะได้ประกาศอยู่อย่างชัดแจ้งแล้วว่า เขาไม่ควรปล่อยใจไปในเรื่องรักใคร่เสน่หา ถ้าใครล่วงรู้ถึงความรู้สึกภายในอันขัดกับอาการภายนอกที่ปรากฏแก่ตาโลก ก็จะรู้สึกสังเวชเศร้าสลดและพิศวง ประดุจผู้มีอาการภายนอกเป็นบุรุษเพศ แต่ความจริงเขาเป็นสตรีที่บุรุษพึงชมเชยได้ แม้จะไม่สู้สนิทใจนัก และอาจจะเป็นที่สนิทเสน่หาของบุคคลบางพวกที่มีความรู้สึกแปลกไป

                  จริงอยู่คนที่มีความรักย่อมอยากอยู่ใกล้คนที่ตนรัก   แต่เมื่อความละอายเกิดขึ้น   ดูเหมือนเขาอยากจะไปให้ห่างมากกว่าอยากพบ โดยเฉพาะนักพรตอย่างอุปกะนี้ แต่ความรักก็มีอิทธิพลมากพอที่จะหน่วงเหนี่ยวอุปกะให้วนเวียนอยู่ในหมู่บ้านพรานเนื้อนั่นเอง

                   ๗  วันล่วงไป  นายพรานกลับมาพร้อมด้วยเนื้อจำนวนมาก  มีคนหาบหามกันมาเป็นทิวแถว คำแรกที่นายพรานถามเมื่อพบสุชาวดีคือ

“พระของพ่อมารับอาหารอยู่หรือลูกรัก?”

“ตั้งแต่พ่อไปแล้ว เขามารับภิกษาเพียง ๒ วัน แล้วไม่เห็นมาอีกเลย” สุชาวดีรายงานสวมกอดพ่อด้วยความรักและคิดถึง


นายพรานมีท่าตรองก่อนจะพูดว่า “ลูกมิได้ไปดูที่อาศรมของท่านหรือ?”

“ก็ลูกเป็นผู้หญิงจะให้ไปอย่างไร”

“เออ จริงซินะ พ่อลืมไป” นายพรานพูดเรื่อย ๆ “เออ, แล้วลูกมิได้ให้คนไปดูหรือ?”

“ไม่ พ่อ” สุชาวดีตอบ

“นี่เป็นข้อบกพร่องของลูก”

                   สุชาวดีมีอาการตกใจ นายพรานเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า

“เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ลูกรัก อย่าตกใจเลย คืออย่างนี้ ท่านอุปกะนั้นเหมือนมาอาศัยเราอยู่ เราเป็นเจ้าของถิ่น เมื่อท่านหายไปไม่ได้มารับอาหารอย่างเคย ถ้าท่านจาริกไปที่อื่นก็แล้วไปแต่ถ้าเจ็บไข้ไม่สบาย ท่านจะให้ใครมาบอก ท่านอยู่คนเดียว คราวนี้จะเป็นข้อบกพร่องของเราลูกรัก แม้เราจะเป็นชาวป่าชาวเขา หาเนื้อขายและกิน แต่เรื่องปฏิสันถาร เราต้องเคารพและกระทำให้เหมาะสมเสมอ ลูกจำได้มิใช่หรือที่พ่อเคยสอนว่า บ้านใดแขกกลับไปด้วยความเสียใจ ชื่อว่าทิ้งเอาอัปมงคลไว้ที่บ้าน ส่วนบ้านใดแขกกลับไปด้วยความชื่นบาน ชื่อว่าได้ทิ้งมงคลไว้ที่บ้าน ลูกรักขึ้นชื่อว่าอาคันตุกะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไพร่หรือผู้ดีอย่างไร เราต้อนรับและกระทำให้เหมาะสมเสมอ"

                  นายพรานพูดเท่านั้นแล้ว รีบไปหาอุปกะที่อาศรม ขณะนั้นจวนค่ำแล้ว เห็นประตูอาศรมปิด ด้วยความเกรงใจ นายพรานไม่กล้าเรียก นั่งคอยอยู่หน้าอาศรม คิดว่าถ้าท่านอยู่คงจะออกมาในไม่ช้า ครู่หนึ่งผ่านไป นายพรานได้ยินเสียงครางและเสียงเพ้อตามออกมาเหมือนคนจับไข้นายพรานก้าวเข้าไปจะเปิดประตู ก็พอดีได้ยินเสียงออกชื่อสุชาวดี เขาจึงหยุดชะงัก

                   “สุชาวดี...” เสียงออกมาจากอาศรม “สุชาวดี ฉันคิดถึงเธอ ฉันรักเธอ” อุปกะพูดเพ้อวนเวียนอยู่อย่างนี้

                  ในที่สุด นายพรานก็ตัดสินใจเปิดประตูเข้าไปมอง เห็นอุปกะนอนกระสับกระส่ายอยู่บนเตียงน้อย นายพรานนั่งลงนมัสการแล้วถามว่า

“พระคุณเจ้าไม่สบายไปหรือ?”

                   อุปกะพลิกตัวกลับมา “สุชา...” พอมองอย่างชัดเจนอุปกะต้องอ้าปากค้าง ลุกขึ้นนั่งเฉยอยู่

“พระคุณเจ้าไม่สบายไปหรือ?” นายพรานถามซ้ำ

“ปวดศีรษะเล็กน้อย ท่านกลับมานานแล้วหรือ?” อุปกะพูด

“กลับมายังไม่ได้นั่งที่บ้านทราบจากสุชาวดีว่าพระคุณเจ้าไม่ไปรับภิกษาที่บ้านหลายวันแล้ว คิดว่าคงไม่สบายจึงรีบมาเยี่ยม สักครู่นี้ข้าพเจ้าได้ยินเสียงพระคุณเจ้าออกชื่อสุชาวดีบุตรีของข้าพเจ้า นางได้ทำอะไรให้พระคุณเจ้าเดือดร้อนหรือ”

“ไม่เลย นางมิได้ทำอะไรให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน แต่...” อุปกะหยุดคิดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อไปว่า “แต่ดูเหมือนนางจะเป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนอยู่บ้าง

“เรื่องอะไรหรือ พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าจะลงโทษเธอเอง” นายพรานพูดอย่างหนักแน่นซ่อนยิ้มไว้ในหน้า

“ท่านจะให้ข้าพเจ้าพูดตรง หรือพูดอ้อมค้อม?” อุปกะถาม

“พูดตรงดีกว่า พระคุณเจ้า”

“ข้าพเจ้าเคยตั้งใจไว้ว่าจะมอบกายมอบชีวิตในเพศนักพรต” อุปกะหยุดนิดหนึ่งเหมือนจะตรองหาคำพูด “แต่แล้วคงจะรักษาความตั้งใจนั้นไว้ได้ไม่ตลอด เพราะความรู้สึกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก”

“เพราะเหตุไรหรือ พระคุณเจ้า?” นายพรานถาม

“เพราะสุชาวดี ธิดาของท่าน”

“แปลว่าท่านพอใจในธิดาของข้าพเจ้าหรือ?”

                อุปกะนิ่ง การนิ่งของนักพรต ถือว่าเป็นการรับคำ นายพรานรู้สึกกระวนกระวายเล็กน้อยด้วยความเจนจัดในชีวิต เพราะมีวัยสูง นายพรานมิได้กล่าวโทษอุปกะเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่ถามว่า

“แล้วพระคุณเจ้าจะทำอย่างไร?”

“ข้าพเจ้าคิดว่า จะสละเพศนักบวชในไม่ช้านี้”

“เวลานี้พระคุณเจ้าอายุเท่าไร?”

“๔๕” อุปกะตอบ รู้สึกกระดากใจมากอยู่

“พระคุณเจ้ามีศิลปวิทยาอะไรบ้างไหมในการที่จะนำไปใช้ในเพศคฤหัสถ์”

“ไม่มีเลย” อุปกะตอบ

“เมื่อไม่มีศิลปศาสตร์ พระคุณเจ้าจะอยู่ครองเรือนได้อย่างไร”

“หาบเนื้อพอจะได้ แม้อายุจะย่างเข้า ๔๕ แล้ว แต่กำลังยังดีอยู่”

“หาบเนื้อพอจะได้” นายพรานทวนคำเบา ๆ เหมือนครางอยู่ในลำคอ

“เรื่องสำคัญยังมีอยู่อีกเรื่องหนึ่ง” นายพรานปรารภ “คือสุชาวดีเขาจะปลงใจกับพระคุณเจ้าหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ”

“ดูท่าทางที่แสดงออกมาก็ดูไม่น่าจะรังเกียจ” อุปกะพูดแล้วยิ้มออกมานิดหนึ่ง

“พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่รังเกียจ” นายพรานถาม

“สังเกตจากกิริยาท่าทีเมื่อข้าพเจ้าสนทนาด้วย” อุปกะตอบ

“พระคุณเจ้าเป็นนักพรต ใคร ๆ เขาก็ต้องให้เกียรติ แสดงอาการคารวะสงบเสงี่ยมและต้อนรับดี เป็นเรื่องของคนที่มีมารยาทดี”

“เรื่องนี้ก็แล้วแต่ท่านจะช่วยเหลือ แต่ข้าพเจ้าแน่ใจในสติปัญญาและความสามารถของท่าน ข้าพเจ้าไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่ได้สุชาวดี ท่านให้ข้าพเจ้าพูดตรง ๆ ข้าพเจ้าก็พูดตรง ๆ อย่างนี้”

               สังเกตจากอาการซูบผอมลงของอุปกะ  ทำให้นายพรานเชื่อว่าอุปกะอาจจะตายได้จริง  ถ้าไม่ได้ธิดาของตน ประกอบด้วยความรักที่มีในอุปกะ นายพรานจึงรับคำว่า จะลองไปพูดกับสุชาวดีถ้าตกลงจะส่งข่าวให้ทราบวันพรุ่งนี้

                ขณะรับประทานอาหาร นายพรานมิได้พูดอะไรเลย เขาคงนั่งรับประทานอาหารอย่างเคร่งขรึมจนผิดสังเกต  สุชาวดีสาวน้อยจึงกล่าวขึ้นว่า

“พ่อเป็นอะไรไป วันนี้ไม่เห็นชวนลูกสนทนาเหมือนก่อน ๆ เลย พ่อไม่สบายหรือ?”

“มิได้ลูกรัก การเข้าป่าครั้งนี้ทำให้พ่อรู้สึกว่ากำลังของพ่อเหลือน้อยเพราะชรา เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ไม่เท่าไรนัก พ่อคงตาย พ่อคิดถึงลูกว่าจะอยู่อย่างว้าเหว่เดียวดาย แม่ของเจ้าก็ตายไปนานแล้วเราเหลือกันเพียงสองคนเท่านั้น”

“พ่ออย่าพูดอย่างนั้นซิคะ พลอยทำให้ลูกไม่สบายใจไปด้วย พ่อยังจะคงอยู่อีกนาน พ่อยังแข็งแรง” สุชาวดีปลอบพ่อ แต่ก็อดเศร้ามิได้ เมื่อนึกถึงแม่ที่ตายไปแล้วและคิดต่อไปว่า ถ้าบิดาสิ้นชีวิตลงอีกเธอจะอยู่อย่างไร

“ลูกจำได้ไหม?” นายพรานถาม “ว่าพ่ออายุเท่าไรแล้ว”

“ดูเหมือน ๖๒ ใช่ไหมคะ?”

“ใช่” นายพรานรับ “คนอายุ ๖๒ จะอยู่ต่อไปได้อีกสักกี่ปี พ่อเป็นห่วงลูก”


                  สุชาวดีทำตาแดง ๆ เหมือนจะร้องไห้ เธอรู้สึกเศร้าซึมตามคำปรารภของพ่อไปด้วย

“เวลานี้ลูกอายุเท่าไรแล้ว?” นายพรานถาม

“๑๗ ค่ะพ่อ” สุชาวดีมองหน้าพ่ออย่างสงสัย “ทำไมคะ?”

“พ่อคิดว่า” นายพรานหยุดนิดหนึ่งเหมือนจะสรรหาคำพูดที่เหมาะสม “ลูกควรจะมีครอบครัวได้แล้ว”

“พ่อเกลียดลูกคะ จึงอยากให้ลูกแต่งงาน มีครอบครัว เพื่อจะได้พ้นความรับผิดชอบของพ่อ ลูกอยู่อย่างนี้เป็นที่น่าหนักใจของพ่อหรือ?” สุชาวดีพูดด้วยเสียงอ่อนโยนระคนน้อยใจแล้วเธอก็ร้องไห้ น้ำตาหลั่งไหลลงสู่ภาชนะอาหารโดยเธอมิได้รู้สึก

“ลูกรัก” นายพรานปลอบ ลุกขึ้นมาโอบไหล่ของสุชาวดีน้อยอย่างถนอมรัก “มีหรือที่พ่อไม่รักลูก โดยเฉพาะพ่อคนนี้รักลูกสุชาวดีเป็นที่สุด จะสรรหาคำใดมาพูดให้สมกับที่พ่อรักลูกนั้นหาไม่ได้แล้ว เพราะพ่อรักลูกนั่นเอง พ่อจึงอยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา ตั้งแต่เวลาที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ลูกอย่าน้อยใจเลย พูดถึงเรื่องรักพ่อมีความรักทุ่มเทให้ลูกมากที่สุด”

“ลูกยังไม่เคยรักผู้ชายคนใด นอกจากพ่อ” สุชาวดีหาทางออก แต่กลับเปิดช่องให้นายพรานเดิน

“แต่มีผู้ชายเขารักลูก” นายพรานพูดอย่างหนักแน่น

                  สุชาวดีตกใจ เธอไม่เคยนึกว่าจะมีใครปองรักเธอ เพราะไม่เคยเกี่ยวข้องกับชายใดเลย

“ใครคะพ่อ” สุชาวดีถาม

“พระคุณเจ้า อุปกะ” นายพรานตอบไม่ค่อยเต็มเสียงนัก

“พระคุณเจ้าอุปกะ!!” สุชาวดีอุทาน นัยน์ตาเบิกกว้าง อาหารซึ่งเธอกำลังจะส่งเข้าปากอยู่แล้วร่วงหล่นลงมา

“ทำไมหรือลูกรัก ทำไมลูกตื่นเต้นตกใจเหลือเกิน?” นายพรานถามด้วยน้ำเสียงธรรมดา

“ก็ท่านเป็นนักพรต” สุชาวดีพูดเสียงเครือ “แล้วก็...เอ้อ...แล้วก็ท่านก็แก่มากแล้วด้วย”

“๔๕ เท่านั้น ลูกรัก ผู้ชาย ๔๕ ยังไม่แก่”

“แต่แก่กว่าลูกถึง ๒๘ ปี เป็นพ่อของลูกได้” สุชาวดีแย้ง

“ก็ไม่เห็นเป็นไร ผู้ชายสูงอายุมักจะเอาใจตามใจภรรยาสาวดี ความรักของคนวัยนี้เป็นความรักที่มั่นคงไม่เหมือนความรักของวัยรุ่น ซึ่งเกิดเร็วและดับเร็ว อีกอย่างหนึ่ง ลูกเชื่อได้อย่างหนึ่งว่าเขาจะไม่ทารุณโหดร้ายต่อลูก”

“แต่การที่พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับคนคราวพ่อนั้น เป็นการโหดร้ายเกินไปมิใช่หรือ ลูกขอประทานโทษด้วย ที่กล่าวคำนี้กับพ่อ ลูกไม่อยากพูดคำนี้เลย”

“ไม่เป็นไรลูกรัก พ่อเข้าใจลูกดี แต่ที่พ่อพูดถึงพระคุณเจ้าอุปกะ ก็เพราะท่านรักลูกมากการแต่งงานกับคนที่เขารักเรานั้น ดีกว่าแต่งกับคนที่เรารักเขา เมื่อเขาเป็นคนดี ลูกอยู่ไปก็รักเขาเอง”

“รอไว้จนกว่าจะรักกันทั้งสองฝ่ายจะมีดีกว่าหรือพ่อ ลูกก็ยังไม่แก่เฒ่าอะไร” สุชาวดีท้วง

“ผู้หญิงในแถบนี้ คราวลูกเขาแต่งงานกันไปหมดแล้ว เหลือแต่ลูกคนเดียว อีกอย่างหนึ่งถ้าลูกยอมแต่งงานกับท่านอุปกะ ชื่อว่าลูกได้ช่วยชีวิตของคน ๆ หนึ่งไว้”

“ช่วยชีวิตใครคะ” สุชาวดีถาม

“ชีวิตของท่านอุปกะ”

“ท่านถึงกับจะต้องตายทีเดียวหรือ ถ้าไม่ได้ลูก”

“เห็นจะเป็นอย่างนั้น” นายพรานยืนยัน

“ลูกไม่เชื่อ ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา” สุชาวดีย้ำคำหลังอย่างหนักแน่น

“ลูกยังมีความเข้าใจในชีวิตน้อยเกินไป คนที่ฆ่าตัวตายเพราะเรื่องรักก็มีอยู่มาก เป็นแต่แตกต่างกันในวิธีตายเท่านั้น”

“นั่นเป็นเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ตายเพราะอดเสน่หา” สุชาวดีแย้ง เธอมีอารมณ์สนุกขึ้นมาบ้างแล้ว

“แต่ความเสน่หาเป็นเหตุใช่ไหมลูก?”

                คราวนี้สุชาวดีนิ่ง ภาพและวัยของอุปกะนักพรตปรากฏขึ้นในห้วงนึกของเธอ เธอไม่เคยเถียงพ่อ ถึงจะขัดแย้งบ้างก็เป็นไปอย่างสุภาพอ่อนโยน แม้เธอจะเป็นสาวชาวป่าไม่เคยได้รับแสงสีแห่งอารยธรรมที่มนุษย์บางกลุ่มหลงใหลกันยิ่งนักก็ตาม แต่เธอก็เข้าใจดีว่ามารดาบิดามีบุญคุณต่อบุตรธิดาอย่างไร เคยถนอมเลี้ยงตนเองมาอย่างไร จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่บุตรจะพึงกล่าววาจาหยาบคาย ขาดความเคารพต่อท่าน การทำให้ท่านผู้มีคุณช้ำใจ ปวดร้าวใจ เพราะวาจาของตนนั้นถือว่าเป็นบาป โดยเฉพาะเกี่ยวกับมารดาบิดาแล้ว บุตรธิดาควรจะยำเกรงอยู่เสมอการไม่เชื่อฟังบิดามารดา แสดงอาการโอหังอวดดีต่อพ่อแม่นั้น เป็นการประกาศความเลวทรามของตนเอง

“ลูกรัก” นายพรานทำลายความเงียบขึ้น “ลูกเข้านอนเสียก่อนก็ได้ พรุ่งนี้เช้าค่อยพูดกันใหม่ พ่อก็เหนื่อยเหลือเกิน เดี๋ยวจะเข้านอนเหมือนกัน”

             สุชาวดีเข้านอนแต่เธอนอนไม่หลับ   ความรู้สึกของเธอขณะนี้สับสนวุ่นวาย   ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร เรื่องรักนั้นเธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า เธอมิได้รักอุปกะเลย อยากจะหนีไปเสียให้พ้น แต่สงสารพ่อ จะอยู่ต่อไปและจะต้องแต่งงานกับอุปกะ ก็รู้สึกสงสารความสวยและความสาวของตน ที่จะต้องถูกทำลายลงด้วยน้ำมือคนชรา ปัญหาคงเหลืออยู่สองอย่าง คือจะเลือกเอาพ่อแล้วยอม สละตัว หรือจะยอมสละพ่อแล้วรักษาตัวไว้ เธอตัดสินใจไม่ถูก อัดอั้นตันใจ ในที่สุดก็ต้องระบายความอึดอัดนั้นด้วยน้ำตา...เธอร้องไห้

                  ผู้หญิงเมื่อระทมทุกข์ตรอมใจก็หันเข้าหาเพื่อนคือน้ำตา  ดูเหมือนความระทมเศร้าของเธอจะไหลหลั่งตามน้ำตาออกมาด้วย นี่แหละโลก! โลกซึ่งระงมอยู่ด้วยพิษไข้... ความรักมิได้ก่อทุกข์ให้เพียงแก่ผู้รักเท่านั้น แม้ผู้ไม่รัก ก็ต้องระทมทุกข์เพราะความรักอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน ดูชีวิตของสุชาวดีน้อยนี้เป็นตัวอย่างเถิด

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038626213868459 Mins