วันหนึ่งก่อนวันประชุมสังคายนา
เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปได้ให้ประชุมสงฆ์ปรารภเพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย นัดหมายให้ทรงจำกันได้ว่า ธรรมอันใด วินัยอันใด พระผู้มีพระภาคทรงสั่งและทรงสอนไว้ว่าอย่างไร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงคำกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและพระศาสดาของภิกษุชรานามว่าสุภัททะ ท่านกล่าวท่ามกลางมหาสมาคมว่า
“ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย! สมัยเมื่อข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงปาวามาสู่กุสินารานครนี้มีภิกษุเป็นอันมากเป็นบริวาร ขณะมาถึงกึ่งทาง ข้าพเจ้าได้สดับข่าวปรินิพพานของ พระผู้มีพระภาค ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชนยังมีอาสวะอยู่ ไม่อาจอดกลั้นความโศกไว้ได้ ต่างก็ปริเทวนาการคร่ำครวญถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ส่วนภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้วก็ปลงธรรมสังเวชแบบอริยชน แต่มีภิกษุนอกคอกรูปหนึ่ง บวชแล้วเมื่อชรา นามว่าสุภัททะได้กล่าวขึ้นว่า ท่านทั้งหลายอย่าเสียใจ อย่าเศร้าโศกเลย พระสมณโคดมนิพพานเสียก็ดีแล้ว พวกเราจะได้เป็นอิสระ พระสมณโคดมยังอยู่คอยจู้จี้ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ข่มขู่ ขนาบพวกเราทั้งหลายด้วยระเบียบวินัยมากหลายเหมือนจะเหยียดมือเหยียดเท้าไม่ออก บัดนี้พระสมณโคดมนิพพานแล้ว เป็นลาภของพวกเราทั้งหลายต่อไปนี้พวกเราต้องการทำอะไรก็จะได้ทำ ไม่ต้องการทำอะไรก็ไม่ต้องทำ
“ดูก่อนผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร!” พระมหากัสสปกล่าวต่อไป ความจริงสุภัททะผู้ชราไม่พอใจพระศาสดาเป็นส่วนตัว เพราะเธอไม่เข้าใจในพระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องมีว่า
“ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยเมื่อพระพุทธองค์เที่ยวจาริกโปรดเวเนยนิกรชน เสด็จจากเมืองกุสินารานี้ไปยังเมืองอาตุมา สมัยนั้นสุภัททะภิกษุบวชแล้ว และลูกชายของเธอทั้งสองคนก็บวชเป็นสามเณร เมื่อพระศาสดาเสด็จมาถึงเมืองอาตุมา สุภัททะภิกษุก็จัดการต้อนรับพระพุทธองค์เป็นการใหญ่ เที่ยวป่าวประกาศชาวเมืองให้เตรียมขัชชโภชนาหารถวายพระองค์ และให้สามเณรลูกชายทั้งสองออกเที่ยวเรี่ยไรชาวนคร นำเอาข้าวสาร ปลาแห้ง และเครื่องบริโภคอื่น ๆ อีกมากชาวบ้านผู้ศรัทธาในพระศาสดา แม้จะไม่ศรัทธาในสุภัททะภิกษุก็ถวายของมาเป็นจำนวนมากสุภัททะรวบรวมของได้เป็นกองใหญ่แล้ว จัดการทำเอง ปรุงอาหารเอง เตรียมการโกลาหล
รุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตตามปกติมีภิกษุตามเสด็จพอประมาณ สุภัททะได้ทราบข่าวนี้จึงออกจากโรงอาหาร ถือทัพพีด้วยมือข้างหนึ่ง มีกายขะมุกขะมอมด้วยเขม่าไฟ รีบวิ่งออกไปตามพระศาสดาในละแวกบ้าน เมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์ เขาคุกเข่าข้างหนึ่งลง และชันเข่าอีกข้างหนึ่งในท่ายองพรหม ประนมมือทั้ง ๆ ที่มีทัพพีอยู่กราบทูลว่า
“พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ! ขอพระองค์เสด็จกลับเถิด อย่าออกบิณฑบาตเลย ขัชชโภชนาหารข้าพระองค์ได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ข้าพระองค์อาศัยความเลื่อมใสในพระองค์เป็นที่ตั้ง จึงขวนขวายเพื่อพระองค์ แม้อาหารทุกอย่างข้าพระองค์ก็ปรุงเอง ทำด้วยมือของตนเองขอพระองค์เสด็จไปสู่อารามเถิด อาหารพร้อมอยู่แล้ว”
พระจอมมุนีประทับอยู่ระหว่างทาง ทรงมองดูสุภัททะด้วยสายพระเนตรที่แสดงอาการตำหนิ และทรงห้ามถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ จึงตรัสว่า
“อย่าเลย สุภัททะ เธออย่ายินดีพอใจให้ตถาคตทำอย่างนั้นเลย การบิณฑบาตเป็นพุทธวงศ์อาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาตเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ยิ่ง”
“ดูก่อนสุภัททะ! อาหารที่ทวยนาครหุงเตรียมไว้เพื่อมุนีก็มีอยู่ เรือนละนิดเรือนละหน่อย เมื่อกำลังแข้งของเรายังมีอยู่ เราจะเที่ยวไปแสวงหาอาหารด้วยปลีน่องนี้”
“ดูก่อนสุภัททะ อาหารที่เธอทำนั้นไม่สมควรที่สมณะจะพึงบริโภค เป็นอกับปิยโภชนะอนึ่ง ทางที่เธอได้อาหารมาก็ไม่สุจริต เธอไปขอของจากคฤหัสถ์ซึ่งมิใช่ญาติ และมิใช่ปวารณา คือ เขาไม่ได้บอกอนุญาตไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมณะไม่ควรทำอาหารบริโภคเอาเอง ดูก่อนสุภัททะแม้ไส้ของเราจะขาดสะบั้นลงเพราะความหิว เราก็ไม่ยินดีบริโภคโภชนะของเธอ กรรมที่ไม่ถูกไม่ควรน่าตำหนิ เธอได้ทำแล้ว อนึ่งเล่า ดูซิอาการของเธอนี้เหมาะสมกับความเป็นสมณะนักหรือ วิ่งออกมาทั้ง ๆ ที่มือถือทัพพีอยู่ จีวรก็มิได้ห่มให้เป็นปริมณฑล ช่างรุ่มร่ามเสียเหลือเกิน”
“ดูก่อนสุภัททะ! อย่านึกว่าเราไม่เข้าใจในเจตนาดีของเธอ เรารู้และเห็นเจตนาดีของเธอแต่เธอทำไม่ถูก เจตนาดีนั้นก็พลอยก่อให้เกิดผลร้ายไปด้วย การเตรียมขัชชโภชนาหารไว้ต้อนรับนั้น เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ที่เขาจะทำกัน ถ้าเธอต้องการบูชาเราก็จงตั้งหน้าปฏิบัติตามธรรมวินัยทำตนเป็นคนว่าง่าย และเลี้ยงง่าย เรียกว่าปฏิบัติบูชาเถิด”
“ดูก่อนสุภัททะ! คนที่ปราศจากหิริโอตตัปปะ มีความกล้าประดุจกา มักจะมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย แต่ไร้ความสุขใจและภาคภูมิใจ ส่วนผู้ที่มีหิริโอตัปปะ สงบเสงี่ยมแบบมุนี เข้าสู่สกุลมิให้กระทบกระทั่งศรัทธาและโภคะของคฤหัสถ์ เหมือนแมลงผึ้งเข้าไปในป่าดูดเอาน้ำหวานในเกสรดอกไม้ แต่มิให้บุปผชาติชอกช้ำนั้นย่อมเป็นอยู่ยาก แต่มีความสุขใจแล้วภาคภูมิใจ”
พระตถาคตเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้วเสด็จเลยไป โดยมิได้สนพระทัยกับสุภัททะภิกษุอีกเลย พระสุภัททะทั้งเจ็บและทั้งอาย แต่พูดอะไรไม่ออก จึงผูกใจเจ็บพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
“ดูก่อนผู้มีอายุ! พระผู้มีพระภาคมีพระทัยเป็นธรรมาธิปไตย คือทรงถือความถูกความควรเป็นใหญ่อย่างแท้จริง แม้ใครจะทำอะไร ๆ เพื่อพระองค์ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมพระองค์ก็ไม่ทรงยินดีด้วย แต่การกระทำของภิกษุบางรูป ซึ่งในสายตาของผู้อื่นดูเหมือนจะเป็นการขาดความเคารพรักในพระศาสดา ดูเหมือนจะไม่ห่วงใยพระองค์ แต่การกระทำอันนั้นถูกต้องตามทำนองคลองธรรมพระองค์ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการ อย่างเรื่องพระธัมมารามเป็นอุทาหรณ์”
“ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย!” พระมหากัสสปกล่าวต่อไป “พระศาสดานิพพานเพียง ๗ วัน เท่านั้น ยังมีโมฆบุรุษกล้ากล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและพระศาสดาถึงเพียงนี้ ต่อไปภายหน้า ภิกษุผู้ลามก มีจิตทราม คิดว่าศาสนาปราศจากศาสดาแล้ว พึงเหยียบย่ำพระธรรมวินัยสักปานใด เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจงประชุมกันเพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระศาสดาเคยทรงสอนและบัญญัติไว้”
ต่อจากนั้นก็มีการประชุมปรึกษากันว่า ควรจะทำสังคายนาที่ใด ในที่สุดตกลงกันว่า ควรจะทำที่กรุงราชคฤห์ เหลือเวลาอยู่อีกเดือนครึ่งจะเข้าพรรษา ที่ประชุมตกลงกันว่า จะทำสังคายนาในพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือน พระมหากัสสปพาภิกษุหมู่หนึ่งมุ่งไปสู่กรุงราชคฤห์ พระอนุรุทธะพาภิกษุอีกหมู่หนึ่งไปสู่กรุงราชคฤห์เช่นเดียวกัน
ส่วนพระอานนท์ พุทธอนุชา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวารเดินทางไปสู่นครสาวัตถีทุกหนทุกแห่งที่ท่านผ่านไปมีเสียงคร่ำครวญประดุจวันที่พระศาสดานิพพาน ทุกคนมีใบหน้าชุ่มด้วยน้ำตากล่าวว่า “พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ท่านนำเอาพระศาสดาไปทิ้งเสีย ณ ที่ใดเล่า” คำพูดเพียงสั้น ๆ แต่กินความลึกซึ้งนี้ ทำให้จิตใจของพระพุทธอนุชาหวั่นไหวและตื้นตัน ความเศร้าของท่านซึ่งสงบระงับลงบ้างแล้ว กลับฟื้นตัวขึ้นอีกเหมือนโรคอันสงบลงด้วยฤทธิ์ยา และกลับกำเริบขึ้นเพราะของแสลง ถึงกระนั้นท่านก็พยายามให้ความโศกสลดสงบระงับลงด้วยการน้อมเอาโอวาทของพระศาสดาประคับประคองใจ และแล้วก็ปลอบโยนพุทธศาสนิกชนให้คลายโศกด้วยเทศนาอันกล่าวถึงไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา แล้วเดินทางมาโดยลำดับจนกระทั่งลุถึงสาวัตถีราชธานี เข้าไปสู่เชตวนาราม มีพุทธบริษัทมาแวดล้อมแสดงอาการเศร้าโศกถึงพระศาสดาอีก
พระอานนท์ พุทธอนุชา เข้าไปสู่พระคันธกุฎีที่พระผู้มีพระภาคเคยประทับ หมอบลงกราบที่พุทธอาสน์ เก็บกวาดเสนาสนะให้เรียบร้อย ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้เหมือนอย่างที่เคยทำ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ประชาชนชาวสาวัตถีได้เห็นอาการดังนี้แล้วหวนคิดถึงความหลังครั้งเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ สุดที่จะหักห้ามความตื้นตันและเศร้าหมองได้ จึงหลั่งน้ำตาอีกครั้งหนึ่งประหนึ่งว่าน้ำตาข้างหนึ่งหลั่งไหลเพราะสงสารพระพุทธอนุชา และอีกข้างหนึ่งเพราะคำนึงถึงด้วยความอาลัยรักในพระผู้มีพระภาค ความอาลัยรักและความสงสารเมื่อรวมกัน ลองคิดดูเถิดว่าสภาพจิตใจของผู้นั้นจะเป็นประการใด
เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยทรมานกายมานาน ตั้งแต่พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวร จนถึงพระองค์ปรินิพพาน และงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ล้วนแต่เป็นงานหนักทั้งสิ้น พระพุทธอนุชามีสิ่งหมักหมมในร่างกายมาก จึงต้องฉันยาระบายเมื่อมาถึงเชตวนารามนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อขับถ่ายสิ่งหมักหมมในร่างกายออกเพื่อให้สรีระกระปรี้กระเปร่าขึ้น
วันรุ่งขึ้นจากวันที่ฉันยาระบายแล้ว สุภมานพบุตรแห่งโตไทยยพราหมณ์ ส่งคนมาอาราธนาพระอานนท์เพื่อไปฉันที่บ้านของตน พระอานนท์ขอเลื่อนเวลาไปอีกวันหนึ่ง โดยแจ้งให้ทราบว่าเพิ่งฉันยาระบายใหม่ ๆ ไม่อาจเข้าสู่ละแวกบ้านได้ อีกวันหนึ่งจึงเข้าไปสู่นิเวศน์ของสุภมานพโตเทยยบุตรพร้อมด้วยพระเจตกะ สุภมานพถามว่าพระผู้มีพระภาคเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั้นทรงสอนเรื่องอะไรอยู่เป็นเนืองนิตย์ พระพุทธอนุชาวิสัชนาว่า พระองค์ทรงย้ำหนักเรื่องศีลสมาธิปัญญา จุดมุ่งหมายแห่งพรหมจรรย์นี้อยู่ที่ความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งมวล ส่วนศีลสมาธิและปัญญานั้นเป็นเพียงมรรค หรือทางสำหรับเดิน สุภมานพมีความเลื่อมใสในธรรมเทศนาของพระอานนท์
จวนจะเข้าพรรษา พระอานนท์จึงจาริกสู่เบญจคีรีนครเพื่อประชุมทำสังคายนา พระภิกษุที่ล่วงหน้าไปก่อนได้ขออุปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรูให้ซ่อมแซมที่พักสงฆ์ถึง ๑๘ แห่ง และตกลงใจจะประชุมสังคายนาที่หน้าถ้ำสัตตบรรณ เชิงเวภารบรรพต พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับเป็นศาสนูปถัมภกโดยตลอด ทั้งเรื่องอาหารและที่พักที่ประชุม
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงให้สร้างมณฑปงดงามอำไพพรรณ ประหนึ่งเนรมิตโดยหัตถ์แห่งวิศวกรรมเทพบุตร มีฝาเสาและบันไดจัดแจงเป็นอย่างดีอร่ามด้วยมาลากรรมและลดากรรมประเภทต่าง ๆ งามชดช้อย พระราชมณเฑียรสถานหรือวิมานแห่งเทพผู้มีศักดิ์ปานได้ เจิดจ้าสง่ารุ่งเรือง ประหนึ่งจะรวมเอาความงามในโลกทั้งมวลมาไว้ในที่แห่งเดียว
ทรงให้ตกแต่งมณฑปเพริศพรายดังวิมานพรหม มีเพดานทอง ประดุจคาบพวงดอกไม้อันมีกลิ่นหอมประทินใจลงมา บุปผชาตินานาพันธุ์หลากสีต่างมาชุมนุมกัน ณ ที่นั้น ภูมิสถานละลานแวววาวประดุจปูลาดด้วยแก้วมณีอันสุกใส เสร็จแล้วทรงให้ปูเครื่องลาดอาสนะอันควรแก่สมณะมีค่าประมาณมิได้ ๕๐๐ ที่เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูปในมณฑปนั้น ทรงให้จัดอาสนะแห่งพระเถระชิดทางด้านทิศทักษิณผินพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงให้จัดที่ประทับสำหรับพระผู้มีพระภาคศาสดา หันพระพักตร์ไปทางด้านบูรพา ณ ท่ามกลางมณฑปนั้น เสร็จแล้วทรงประกาศแก่สงฆ์ว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย! กิจของข้าพเจ้าสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เรื่องต่อไปแล้วแต่พระคุณเจ้าเถิด”
เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวจะถึงวันประชุมสังคายนา แต่พระพุทธอนุชายังมิได้สำเร็จอรหัตตผล คงเป็นเพียงโสดาบัน ภิกษุบางรูปได้เตือนพระอานนท์ว่า ขอให้ท่านเร่งทำความเพียรพยายามเข้าเถิด พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันมหาสันนิบาต มีระเบียบว่าผู้เข้าประชุมทั้งหมดจะต้องเป็นพระขีณาสพ
ตั้งแต่เดินทางมาถึงเบญจคีรีนคร พระอานนท์ได้ทำความเพียรอย่างติดต่อเพื่อให้ได้บรรลุพระอรหัตต์ แต่หาสำเร็จตามประสงค์ไม่
ในคืนสุดท้ายนั่นเอง ท่านได้เริ่มทำความเพียรตั้งแต่อาทิตย์อัสดง ตั้งใจอย่างมั่นคงว่าจะให้ถึงพระอรหัตต์ในคืนนั้น ปฐมยามล่วงไปแล้วก็ยังไม่อาจทำอาสวะให้สิ้น ล่วงเข้าสู่มัชฌิมยามพระพุทธอนุชาทำความเพียรต่อไปท่านระลึกถึงพระดำรัสของพระศาสดาที่ประทานไว้ก่อนปรินิพพานว่า “อานนท์! เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้บำเพ็ญสั่งสมมาแล้วมาก เธอจะได้บรรลุอรหัตตผลในไม่ช้าหลังจากเราปรินิพพานแล้ว”
พระพุทธดำรัสนี้ ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่พระอานนท์เป็นอันมาก และความมั่นใจอันนี้อีกเหมือนกัน กระตุ้นจิตเร้าใจให้ท่านทำความเพียรอย่างไม่หยุดยั้งจวนจะถึงกึ่งมัชฌิมยามนั่นเองท่านคิดว่าจะพักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งแล้วจะทำความเพียรตลอดราตรี ท่านจึงลงจากที่จงกรม ล้างเท้าให้สะอาดแล้วทอดกายลง ขณะล้มตัวลงศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและยกเท้าขึ้นจากพื้นนั่นเองจิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาสมาบัติ
พระพุทธอนุชาประสบปีติปราโมชอย่างใหญ่หลวง ความรู้สึกปรากฏแก่ใจว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำในทำนองเดียวกันนี้ไม่มีอีกแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ภพทั้งสามคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ปรากฏแก่ท่านผู้บรรลุแล้วซึ่งอริยภูมิ ประหนึ่งมีเพลิงโหมอยู่ทั่ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งมวลออกไปแล้ว ได้ถอนอาลัยในกามคุณอันเป็นที่อาลัยยินดีอย่างยิ่งของมวลสัตว์ได้แล้ว ตัดวัฏฏะอันทำให้หมุนเวียนมาเป็นเวลานานได้แล้ว ตัณหาความดิ้นรนร่านใจได้หมดสิ้นไปแล้ว คลายความกำหนัดได้แล้ว ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งความเยือกเย็นอย่างยิ่ง ดวงจิตที่เคยเร่าร้อนดิ้นรน บัดนี้ได้อาบแล้วซึ่งธัมโมทกอย่างเต็มที่ ประหนึ่งหิมะละลายลงสู่ศิลาแท่งทึบ ซึ่งเคยถูกแดดเผามาเป็นเวลานาน อา! ภาวะแห่งผู้ปลดเปลื้องตนจากกิเลสเสียได้เป็นอย่างนี้เอง ช่างประสบกับภาวะสงบเย็นอย่างเต็มที่เสียนี่กระไร! สงบเหมือนน้ำในแอ่งน้อยซึ่งอยู่ในป่าลึก สดใสเหมือนหยาดน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ อบอุ่นประดุจแสงแดดเมื่อยามเช้า อะไรเล่าจะน่าปรารถนาของชีวิตยิ่งไปกว่านั้น นี่เองที่พระศาสดาตรัสอยู่เสมอว่า “พระนิพพานซึ่งสงบเย็นอย่างยิ่ง การสำรอกตัณหา โดยไม่เหลือเชื้อ การสละและการบอกคืนตัณหา การพ้นไปอย่างปราศจากอาลัยในตัณหาเป็นความสุขชื่นบานเกินเปรียบ”
บุคคลผู้ใดบรรลุแล้วซึ่งธรรมอันประเสริฐคือพระนิพพานนี้ย่อม
- เป็นผู้ที่มีความอดทนอย่างยิ่งต่อความเย็น ร้อน หิวกระหาย และสัมผัสร้ายอันเกิดจากเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
- เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง อดกลั้นได้อย่างสงบต่อถ้อยคำล่วงเกิน ถ้อยคำเสียดสี คำด่าว่าของผู้อื่น
- เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อทุกขเวทนา ที่เกิดจากอาพาธประเภทต่าง ๆ อันเกิดขึ้นอย่างกล้าแข็ง ทำให้หมดความสำราญ ยากที่บุคคลทั่วไปจะทนได้
- เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่ออารมณ์อันมายั่วยวน
- เป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้วอย่างเด็ดขาด มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝนอันตนสำรอกออกได้แล้ว เป็นผู้ควรรับของขวัญ ควรได้รับการต้อนรับ ควรแก่ของที่ทายกผู้มีศรัทธาจะทำบุญ ควรเคารพ กราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
จุดมุ่งหมายอันใดเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดสำหรับผู้บวช บัดนี้พระพุทธอนุชาได้บรรลุแล้วซึ่งจุดหมายอันนั้น คืนนั้นท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอดราตรี
ในที่สุด วันมหาสังคายนาก็มาถึง เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่ง ของพระพุทธศาสนาภิกษุล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยอภิญญาและสมาบัติ ๕๐๐ รูป ประชุมเป็นมหาสันนิบาต ณ หน้าถ้ำสัตตบรรณ เชิงภูเขาเวภาระ ธงแผ่นผ้าสีกาสายะ คือเหลืองหม่น สะบัดพลิ้วตามแรงลมดูงามรุ่งเรือง
เสียงเภรีสลับเสียงระฆังดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าสงฆ์ทั้งมวลพร้อมแล้ว ก่อนจะเริ่มมหาสังคายนา พระมหากัสสปประธานสงฆ์ได้ตั้งปัญหาถามพระอานนท์พุทธอนุชาในนามของสงฆ์ว่า
“อานนท์! เมื่อสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เธอเคยเย็บหรือปะหรือชุนผ้าสำหรับพระพุทธองค์ทรงใช้สรงมิใช่หรือ?”
“ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าเคยทำอย่างนั้น” พระอานนท์รับ
“ในขณะที่เย็บหรือปะหรือชุน เธอใช้เท้าหนีบผ้าของพระตถาคตใช่ไหม?”
“สงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทำอย่างนั้น”
“ดูกรอาวุโส อานนท์” พระมหากัสสปกล่าว “ในนามของสงฆ์ สงฆ์เห็นว่าเธอกระทำไม่สมควร เธอไม่ควรใช้เท้าหนีบผ้าของพระตถาคต ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฏแก่เธอ เธอจงแสดงอาบัติเสีย
พระอานนท์ พุทธอนุชา ลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประณมมือแล้วกล่าวว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ! ข้าพเจ้าทำอย่างนั้นด้วยความจำเป็น การใช้เท้าหนีบผ้าแห่งพระตถาคตแล้วเย็บนั้น จะเป็นเพราะไม่เคารพก็หามิได้ แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้นจะเย็บได้อย่างไร ในเมื่อข้าพเจ้าทำเพียงผู้เดียวเท่านั้นข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เอาเถิด ท่านทั้งหลาย! ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงในสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติทุกกฏในเพราะเรื่องนี้”
“อานนท์! ยังมีอีกหลายข้อ” พระมหากัสสปกล่าว “ข้อหนึ่งคือ เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงนิมิตโอภาส คือให้นัยแก่เธอถึง ๑๖ ครั้ง เพื่อให้ทูลให้พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ต่อไป แต่เธอมิได้ทูลไว้ สงฆ์เห็นว่าเธอกระทำไม่สมควร เป็นความผิดของเธอ เธอต้องแสดงอาบัติในเรื่องนี้”
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!” พระอานนท์กล่าว “เหตุที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลอาราธนาพระศาสดาให้ทรงพระชนม์ต่อไปนั้น เป็นเพราะเวลานั้นข้าพเจ้ากำลังระทมทุกข์และกังวลถึงเรื่องอาพาธขอพระศาสดา มิได้เฉลียวใจในเรื่องนั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความเกรงและความเคารพในมติของสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าก็ยอม และขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้”
“อานนท์” พระมหากัสสปกล่าว “ยังมีอีก คือเธอเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวช ในพระศาสนาเธอพยายามอ้อนวอน ข่มขี่พระศาสดา ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงห้ามตั้งหลายครั้งว่าอย่าพอใจขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยนี้เอง เธอก็ไม่ยอมฟัง พยายามขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชได้ ก่อความยุ่งยากในภายหลังมิใช่น้อย ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ”
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! ข้อนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าใจอ่อน ทนดูสภาพของพระมหาปชาบดีโคตมีพระน้านางแห่งพระทศพลเจ้ามิได้ พระนางได้ปลงพระเกศามาแล้วมีร่างกายขะมุกขะมอมบอบช้ำ ทรงพิลาปรำพันอย่างเหลือล้น ปรารถนาจะบวชด้วยศรัทธาอันแรงกล้า และเห็นว่าพระนางทรงมีอุปการะต่อพระศาสดามากล้น ข้าพเจ้าจึงขวนขวายให้พระนางได้บวช และเมื่อพระนางเป็นภิกษุณีแล้ว ก็สามารถขจัดกิเลสบรรลุพระอรหันต์ได้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ข้าพเจ้าก็ยอมและขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้”
“อานนท์ ยังมีอีก” ประธานสงฆ์กล่าว “คือเมื่อพระศาสดาบรรทม ณ เตียงเป็นที่ปรินิพพาน พระองค์ทรงเปิดโอกาสทรงอนุญาตไว้ว่า เมื่อพระองค์นิพพานแล้วสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อสงฆ์พร้อมใจกันจะถอนเสียบ้างก็ได้ เธอได้ทูลถามหรือไม่ว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นพระองค์ทรงหมายถึงสิกขาบทอะไร?”
“ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามเลย ท่านผู้เจริญ” พระอานนท์ตอบ
“นี่ก็เป็นความผิดของเธอ” ประธานสงฆ์กล่าว
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! ที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามถึงสิกขาบทเล็กน้อยนั้น เป็นเพราะข้าพเจ้ากลุ้มใจกังวลใจในเรื่องพระศาสดาจะนิพพานจนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติของสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิดข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ”
“อานนท์! ยังมีอีก” ประธานสงฆ์กล่าว “คือในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เธอจัดให้สตรีเข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน สตรีเหล่านั้นร้องไห้น้ำตาเปื้อนพระพุทธสรีระ ข้อนี้ก็เป็นความผิดของเธอ”
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! การที่ข้าพเจ้าจัดให้สตรีเข้าถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนนั้น เป็นเพราะคิดว่าธรรมดาสตรีไม่ควรอยู่นอกบ้านจนมืดค่ำ ข้าพเจ้าจัดให้ถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน เพื่อเธอจะได้กลับบ้านก่อนตะวันตกดิน และได้ไปหุงหาอาหารเพื่อสามีหรือมารดาบิดา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงในสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ”
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา ของคนโปรดปรานของผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อผู้ยิ่งใหญ่สิ้นชีพหรือล้มลงเพื่อนก็จะเริ่มรังแก ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่ผู้ยิ่งใหญ่ยังคงยิ่งใหญ่อยู่ จะไม่มีใครกล้าแตะต้องคนโปรดของท่าน พระอานนท์เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระศาสดา เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว ดู ๆ เหมือนว่าท่านจะถูกสงฆ์รังแกมาให้รับผิดในท่ามกลางมหาสันนิบาตแม้ในสิ่งที่ท่านไม่ผิดถ้ากฎที่กล่าวข้างต้นเป็นความจริงและกฎทุกอย่างมีข้อยกเว้น เรื่องพระอานนท์ควรเป็นข้อยกเว้นในกฎนี้ ที่ว่าดู ๆ เหมือนท่านจะถูกรังแกนั้น ความจริงมิได้เป็นอย่างนั้นเลย เรื่องที่สงฆ์ลงโทษพระอานนท์ พระมหากัสสปให้พระอานนท์ยอมรับผิดนั้น อย่างน้อยมีผลดีทั้ง ๒ ประการคือ
๑. เป็นกุศโลบายของพระมหากัสสป พระเถระผู้เฒ่า ที่ต้องการจะวางระเบียบวิธีปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่าอำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของคณะสงฆ์เป็นคำเด็ดขาด แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะดำเนินตาม
๒. เรื่องนี้ได้ส่งเสริมเกียรติคุณของพระพุทธอนุชาให้ก้องยิ่งขึ้น เป็นตัวอย่างในทางเป็นผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใคร ๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในพระอานนท์
รวมความว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระอานนท์ในคราวปฐมสังคายนานั้น ทำให้เกียรติประวัติของท่านจับใจยิ่งขึ้น น่ารักเคารพยิ่งขึ้น
แล้วการสังคายนาก็เริ่มขึ้น โดยพระมหากัสสปเป็นผู้ซักถาม พระอุบาลีซึ่งได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นผู้เลิศทางวินัยได้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์พุทธอนุชาวิสัชนาพระธรรม โดยตลอดสังคายนาครั้งนี้ทำอยู่ ๓ เดือน จึงเสร็จเรียบร้อยด้วยประการฉะนี้