ระหว่างหนทางสร้างพระบารมี (ตอน จบ)
..... ๓. เนกขัมมบารมี บุญอันยิ่งยวดที่ได้จากการประพฤติตนออกจากกาม กามไม่ได้หมายความแค่เรื่องทางเพศ แต่หมายรวมเอาทั้ง ๖ อย่าง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความนึกคิดที่เนื่องด้วยความพอใจ รักใคร่ ยินดีในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมีอยู่ในชีวิตของผู้ครองเรือนทุกคน
การไม่มีครอบครัว จึงเป็นอุบายอย่างดียิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะปลีกตนให้พ้นจากอำนาจกาม เมื่อปราศจากการครองเรือน ความต้องการสิ่งต่างๆ จะลดลงโดยปริยายทำให้เป็นผู้มักน้อยสันโดษได้ง่าย เมื่อชีวิตมีความมักน้อย รู้จักพอ ย่อมมีเวลาเหลือให้มีโอกาสประกอบบุญกุศลต่างๆ เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง
ถ้ามีครอบครัว มีบุตร ภรรยา หรือสามี ทรัพย์ที่หามาได้ก็ต้องใช้บำรุงเลี้ยงคนในบ้าน ที่จะมีเหลือบริจาคเป็นสาธารณะต่างๆ หรือบำรุงพระพุทธศาสนาก็น้อยลง หรือไม่มีเลย ทานบารมีจะถูกตัดออกไป
ครั้นจะถือศีล ๕ ถ้าคู่ครองไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ หรือที่สูงขึ้นไป ศีลบารมีก็หมดโอกาสกระทำบารมีต่อๆ ขึ้นไปยิ่งยากขึ้นทุกที หรือมิฉะนั้นก็ทำไม่ได้เลย
เนกขัมมบารมี จึงนับเป็นบารมีสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้สามารถสร้างบารมีอื่นๆ ได้ง่าย จึงให้ถือว่าชีวิตทุกขณะนี้เหมือนติดอยู่ในคุกในตะราง อยากหลุดพ้นออกไปให้ได้เร็วๆ ต้องบำเพ็ญเนกขัมมะนั่นเอง
๔. ปัญญาบารมี ปัญญาที่แท้จริง คือการรู้ตามความจริง ได้แก่การรู้ว่า ชีวิตที่ต้องเกิดมาไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ล้วนแต่ต้องพบกับความทุกข์ทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นความทุกข์ต่างระดับ มากน้อยไม่เท่ากัน ทางที่ดีที่สุดคือต้องสร้างบารมีรุดหน้าอย่างเดียว เพื่อให้เลิกเวียนว่ายตายเกิดให้ได้ จึงจะพ้นทุกข์ถาวร
ปัญญาที่จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ปัญญาจากการจำคำสอนของใครหรือปัญญามาจากการคิด แต่ต้องเป็นปัญญาที่เห็นแจ้ง เรียกว่า ตรัสรู้ด้วยการภาวนา (ภาวนามยปัญญา)
การภาวนาให้จิตหยุดจากความรู้สึกนึกคิดอื่นๆ ภายนอกตนเอง หยุดเข้าไปภายในเรื่อยไป กระทั่งจิตมีพลังอำนาจขึ้นมาด้วยตนเอง สามารถมองเห็นเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างในภพภูมิต่างๆ ตามความเป็นจริงที่มีอยู่ เมื่อนั้นเป้าหมายการเดินทางของชีวิตย่อมมั่นคง ไม่โลเลคลอนแคลน เพราะเมื่อได้พบประสบการณ์บางอย่าง เช่นการระลึกชาติย้อนหลัง การเห็นการเกิดการตายของสัตวโลกทั้งหลาย การทำกิเลสให้สิ้นไปย่อมเห็นความจริงทั้งปวงแจ่มแจ้ง เห็นแล้วย่อมขะมักเขม้นในการปฏิบัติตามเส้นทางที่ทำให้พ้นทุกข์
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติภาวนานั้นไม่ใช่จะเกิดปัญญาเห็นแจ้งทันทีทันใด ยังจำเป็นต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยแนะนำชี้ทางหรือตักเตือน กัลยาณมิตรผู้มีปัญญาเหล่านั้นไม่จำกัดอยู่ว่าต้องเป็นคนมียศ มีปริญญาหรือบรรดาศักดิ์อันใด อาจจะเป็นคนยากจน พิกลพิการ ไม่รู้หนังสือเลยด้วยซ้ำ แต่มีปัญญาบารมีในความรู้ที่แท้จริง (ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นสูง) ก็ควรเข้าใกล้คบหาสมาคมด้วย เพื่อรับคำสั่งสอนอบรม ผู้แสวงหาปัญญาจึงควรทำตัวเหมือนพระบิณฑบาต เดินภิกขาจารไปตามบ้านตามลำดับ ไม่เลือกรับบ้านโน้นบ้านนี้ เมื่อปรารถนามีปัญญาก็ต้องรับฟังคำสอนของผู้รู้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
๕. วิริยบารมี สร้างสมความเพียรไม่ย่อท้อ การสร้างบารมีชนิดใดก็ตาม จำต้องใช้ความเพียรเป็นหลักยึด มิฉะนั้นแล้วความเกียจคร้านท้อแท้จะเข้ามาทำให้เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อนั้นเถอะ เมื่อนี่เถอะ เวลาแต่ละนาทีสูญไปเปล่า
ความพากเพียรมีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเรื่องอกุศล ต้องพยายามกำจัดความชั่วที่มีติดตัวออกไป บางคนโลภมาก ขี้โมโห หลงใหลอะไรง่ายๆ อย่างนี้ต้องพยายามกำจัดให้น้อยลงหรือให้หมดไปได้ยิ่งดี เมื่อของเก่ากำจัดออกไป ของใหม่ก็ต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น ป้องกันด้วยอุบายต่างๆ เช่น พยายามสำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่ให้ไปเกี่ยวข้องคลุกคลีกับสิ่งที่จะยั่วเย้าให้ใจเขวไปทำความชั่ว ไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ
ฝ่ายกุศลก็ทำนองเดียวกัน พยายามรักษาความดีที่มีอยู่เดิมให้คงมั่นไว้ไม่เสื่อมถอย เคยทำทาน รักษาศีล ภาวนาอยู่เสมอ ต้องไม่เลิกทำ พยายามขวนขวายไปให้ตลอดชีวิต ส่วนความดีใหม่ๆ อะไรที่ยังไม่เคยทำ ให้พยายามทำเพิ่มพูน กุศลธรรมนั้นมีสันโดษไม่ได้เป็นอันขาด ต้องพอกพูนสั่งสมด้วยวิริยอุตสาหะ เคยทำทานเพียงเล็กน้อย เช่นใส่บาตรวันละองค์สององค์ ก็เพิ่มเป็นสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ขึ้นอีก ถ้ามีความรู้ความสามารถพอ ให้ธรรมเป็นทานก็ไม่ย่อท้อที่จะทำ
เคยรักษาแค่ศีล ๕ ก็ขวนขวายพยายามเพิ่มเป็นศีล ๘ หรือ ๒๒๗ บวชเป็นภิกษุ เคยภาวนาไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็พยายามกระทำให้ทุกอิริยาบถ ให้ดูตัวอย่างราชสีห์ มีความเพียรเป็นเลิศ เมื่อมันนอนนั้นมันจะจดจำท่านอนของมันไว้ ถ้าตื่นขึ้นมาร่างกายของมันไม่อยู่ในอิริยาบถเดิม มันจะนอนใหม่ ไม่ยอมออกไปหาอาหาร ต้องนอนตื่นขึ้นมาให้อยู่ในท่าเดิมจนได้ ความเพียรของดิรัจฉานแม้ในเรื่องไม่เป็นสาระ ยังเพียรได้มั่นคงขนาดนั้น แสดงให้เห็นพลังของความเข้มแข็งในทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน จึงควรถือเอาเป็นตัวอย่าง ให้เรามีความเพียรจะสั่งสมาธิให้เข้มแข็ง ดังราชสีห์เพียรรักษาอิริยาบถ
๖. ขันติบารมี การอดกลั้นอดทน ในการสั่งสมความดีอันเป็นบุญกุศลต่างๆ นั้น ไม่ใช่จะประสบความราบรื่นเสมอไป บางทีถูกมองในแง่ร้าย ถูกกลั่นแกล้งซ้ำเติมต่างๆ นานา คนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งจะหมดกำลังใจได้ง่ายๆ ขันติบารมีจึงต้องมีกำกับในจิตของเราอยู่ตลอดเวลา
ต้องอดทนทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ต้องไม่หลงใหลติดข้องอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นของสมมุติประจำโลกนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะพบโลกธรรมฝ่ายดีดังกล่าว หรือโลกธรรมฝ่ายเลวคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ต้องต้องสติมั่น อดทน ไม่หวั่นไหว ไม่ปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตาม