โทษและผลเสียจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีมากมายในหลายมิติ ดังนี้
1.ด้านกายภาพ (physical)
- ภาวะโรคเฉียบพลัน ได้แก่ ตาย บาดเจ็บ อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท
- ภาวะโรคเรื้อรัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตก ตีบ ถูกทำลาย มะเร็ง –คอ-กระเพาะ-ตับ-เต้านม-ลำไส้ ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
2.ด้านประสาทและจิตใจ (psychological)
- ภาวะโรคเฉียบพลัน ได้แก่ ปฏิกิริยาสนองตอบช้าลง การควบคุมอารมณ์ผิดปกติ
- ภาระโรคเรื้อรัง ได้แก่ ความจำระยะสั้น/ระยะยาว บกพร่อง /เสื่อม ประสาทหลอน ลงแดง คลุ้มคลั่งจากพิษสุราเรื้อรัง
3.ด้านสังคม (social)
- ภาวะโรคเฉียบพลัน ได้แก่ เมาแล้วขับ อาชญากรรมความรุนแรง ปัญหาการทำงาน ความรุนแรงในครอบครัว
- ภาวะโรคเรื้อรัง ได้แก่ หนี้สิน สูญเสียหน้าที่การงาน ครอบครัวแตกแยก จรจัดไร้ที่อยู่
พิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากกว่า 60 โรค เมื่อดื่มเข้าไปแล้วแอลกอฮอล์จะซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและกระจายในกระแสเลือดในเวลา 5 นาที ก่อผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย อวัยวะที่จะได้พิษจากแอลกอฮอล์มากที่สุด ได้แก่ ตับ ทำให้ตับอักเสบ และกลายเป็นโรคตับแข็ง เนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลาย ช่องปากลำคอมีการระคายเคือง ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการที่น่ากลัวที่อาจเกิดขึ้นในผู้ดื่มบางราย ก็คือการฉีกขาดของเยื่อหลอดอาหาร อันเกิดจากการอาเจียนหรือขย้อนอย่างรุนแรง ผลของแอลกอฮอล์ยังทำให้ระดับเชาว์ปัญญาหรือที่เรียกว่า “ไอคิว” ลดลง หากดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย
จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทางจิตในแต่ละประเทศ เช่น โรคประสาทหลอน โรคหวาดระแวง โรคซึมเศร้า มีสาเหตุมาจากสุรา โดยเมื่อแอลกอฮอล์ถูกเผาผลาญในร่างกายจะมีสารพิษเกิดขึ้นมีชื่อว่า “เตตราไฮโดร ไอโส ควิโนลีนส์” (tetrahydroisoquinolines) สารตัวนี้จะไปทำลายสารเคมีในสมองที่ช่วยให้คนเรารู้สึกเป็นปกติสุขและสงบ เป็นเหตุให้คนติดสุรามีอารมณ์อ่อนไหว ขาดสมาธิ บุคลิกภาพเสื่อมโทรม เมื่อเป็นแล้วจะรักษาให้หายขาดยาก
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลการวิจัยปัญหาครอบครัวที่น่าสนใจว่า ผู้ที่ติดสุรามีการทำร้ายคู่สมรสโดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กล่าวคือ ผู้หญิงที่ติดสุรา 6.2% ทำร้ายร่างกายสามี ในขณะที่ผู้ชายที่ติดสุรามีการทำร้ายร่างกายภรรยา 5.7% ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้าง เกิน 50% ของคนติดสุรา นอกจากนี้ยังพบว่าหญิงที่ติดสุราแล้ว แม้ว่าจะตั้งครรภ์ก็ตาม พบว่า 1 ใน 4 ยังคงดื่มสุราต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งลูกสูงกว่าคนไม่ดื่มประมาณ 2 เท่าตัว และเสี่ยงคลอดเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1 เท่าตัว
จากคดีอาญาศาลจังหวัดพบว่า การดื่มสุรามีการเกี่ยวข้องกับคดีอาญาในฐานความผิดต่าง ๆ ประกอบด้วยทำให้เสียทรัพย์ร้อยละ 59.1 ความผิดเกี่ยวกับเพศร้อยละ 34.8 ความผิดต่อร่างกายร้อยละ 20.8 ความผิดฐานบุกรุก ร้อยละ 16.1 และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราร้อยละ 10.5 และจากการสำรวจของโรงพยาบาลชุมชนพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมประมาณร้อยละ 7 ของคดีอาญาทั้งหมด เป็นรูปแบบความผิดเกี่ยวกับเพศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 35 และความผิดต่อร่างกายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 20 และเชื่อว่ากรณีอาชญากรรมและการก่อความรุนแรงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสูงกว่านี้อีกมาก เนื่องจากผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความรุนแรงในครอบครัวและการถูกละเมิดทางเพศ
สำนักโรคไม่ติดต่อ
โทร. 0-2590-3109-10