..... ผลสรุปประการที่สี่ โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่มักจะมองสตรีใน ๓ แง่ที่กล่าวมา คือ แตกต่างจากชาย ด้อยกว่าชาย ที่ใจกว้างยุติธรรมก็อาจจะมองว่าเท่าเทียมชาย แต่น้อยคนนักที่จะเห็นว่าสตรีนั้นเหนือกว่าชายในบางอย่าง พุทธปรัชญายอมรับว่าสตรีนั้นเหนือกว่าชายในบางด้านคือยกย่องว่าในระหว่างผู้ให้กำเนิดที่มีพระคุณทั้งสองคือบิดามารดาแล้ว สตรีผู้เป็นมารดาเป็นผู้กระทำกิจที่ยากยิ่งกว่า และเป็นผู้ที่มีอุปการะแก่บุตรมากยิ่งกว่า ทั้งในด้านความรัก ความผูกพัน ความเสียสละที่ผู้ให้กำเนิดมีต่อบุตรนั้น มารดามีความรักความผูกพันกับบุตรที่ลึกซึ้งกว่าผู้บิดา ความเหนือกว่าของสตรีในฐานะมารดานี้จะเห็นได้จากการกล่าวถึงพระคุณและการทดแทน
คุณมารดา โดยความเป็นประธาน คืออุปมาให้มารดาอยู่บนจะงอยบ่าขวาในขณะที่บิดานั้นอยู่ทางซ้าย นับเป็นการแสดงให้เห็นและยอมรับสตรีในด้านนี้
นอกเหนือจาก ๔ แง่ที่กล่าวไปแล้วในงานวิจัยนี้ ยังมีข้อสังเกตที่ควรพิจารณาอยู่อย่างหนึ่งคือ จากหลักฐานทางศาสนานั้นจะเห็นว่ามีการกล่าวตำหนิถึงโทษ ความร้ายกาจเลวทรามของสตรีไว้มาก คือกล่าวไว้มากกว่า รุนแรงและเน้นมากกว่าทางฝ่ายชาย ในประเด็นนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วก็พอจะวินิจฉัยและสันนิษฐานได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมนั้นเป็นสังคมของภิกษุมาก่อน และสมาชิกในสังฆมณฑลส่วนใหญ่ก็เป็นภิกษุ ธรรมะส่วนใหญ่จึงแสดงแก่ภิกษุ เมื่อเป็นเช่นนี้ ธรรมะเรื่องราวต่าง ๆ นั้น จึงเป็นการกล่าวต่อภิกษุและเพื่อประโยชน์ของฝ่ายภิกษุ คือกล่าวตักเตือนเรื่องสตรีในด้านที่จะมีผลต่อชาย เป็นการเตือนให้ตระหนักไม่ประมาทในอิทธพลแห่งหญิงที่จะครองงำและมีผลต่อพรหมจรรย์ของชาย
ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว มนุษย์ก็ย่อมมีดีและเลวทั้ง ๒ เพศ และโทษของชายหญิงก็มีพอ ๆ กัน แต่ที่ได้กล่าวถึงโทษแห่งหญิงไว้มากว่าก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว นอกจากข้อสันนิษฐานแรกแล้ว ในการตัดสินสรุปทรรศนะนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงว่าการกล่าวนั้นมักเป็นการกล่าวตามท้องเรื่อง ในกรณีของหญิงที่กระทำความเลวร้ายจึงได้มีการกล่าวตำหนิเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าพุทธวจนะหรือเรื่องราวต่าง ๆ นั้นเป็นการตรัสประทานแก่ใคร พร้อมทั้งคำนึงถึงด้วยว่า สังคมนั้นเป็นสังคมของใครประกอบการพิจารณาก่อนที่จะถือเอาพุทธวจนะเป็นหลักฐานยืนยัน หรือเป็นข้อพิสูจน์สำหรับสรุปทรรศนะที่พุทธปรัชญามีต่อสตรีโดยทั่วไป
อนึ่งในการกล่าวถึงสตรีนั้นพุทธปรัชญาก็ไม่ได้กล่าวถึงแต่สตรีในทางเลวร้ายอย่างเดียว แต่ได้กล่าวถึงโทษและอันตรายของบุรุษไว้เช่นกัน นอกจากนั้นพุทธปรัชญายังได้มีการกล่าวชมเชย ยกย่องสรรเสริญสตรีที่ประพฤติปฏิบัติดี ทำประโยชน์แก่ครอบครัว สังคม ศาสนาไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าพุทธปรัชญาไม่ได้ลำเอียง กล่าวถึงแต่ส่วนเสียหรือความเลวร้ายของสตรีแต่ด้านเดียว และไม่ได้เห็นว่าสตรีเป็นเพศเลวทรามอย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน แต่ทว่าได้กล่าวไว้ทั้งส่วนดีและส่วนเสีย โดยมิได้ลำเอียง บิดเบือน หากแต่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงแห่งบุรุษเพศและสตรีเพศ
สิ่งที่พุทธศาสนาได้ทำไว้แก่สตรีคือการช่วยยกระดับสถานภาพของสตรีในฐานะต่าง ๆ โดยเริ่มเปิดยุคแห่งเสรีภาพ เสมอภาคนั้น นับว่าให้ผลดี ๒ ด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นผลดีต่อสตรีโดยมาก อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลดีต่อพุทธศาสนาเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใจกว้าง ยุติธรรม มีเหตุผลของศาสนา อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้พุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับของคนโดยมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน
สิ่งที่พุทธศาสนาได้ทำไว้แก่สตรีนี้แม้คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็น หรือละเลยมองข้ามไปโดยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น แต่ก็นับว่าได้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของสตรี คือเป็นการเริ่มกรุยทาง เปิดยุคแห่งการยอมรับและให้ความยุติธรรมแก่สตรีที่เป็นครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติ
อนึ่งหลักธรรม แนวความคิดในพุทธศาสนา วิธีการเผยแพร่ศาสนา , แนวความคิดและการปฏิบัติเพื่อแก้ไขสภาพสังคมให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมทั้งในทางชั้นวรรณะและทางเพศ คำแนะนำหรือข้อปฏิบัติที่ทรงกำหนดไว้ให้บุคคลในฐานะต่าง ๆ ถือเป็นข้อปฏิบัติและอีกหลาย ๆ สิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงกระทำไว้นั้นเป็นการแสดงให้เห็นและยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นทั้งโลกวิทู ธรรมวิทู และพุทธปรัชญาก็ถูกต้องเหมาะสมทั้งสำหรับผู้ที่อยู่ในทางโลกและในทางธรรม
ท้ายสุดการวิจัยถึงแนวความคิดที่พุทธปรัชญามีต่อสตรีนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า แนวความคิดเรื่องความยุติธรรม สิทธิเสมอภาคระหว่างเพศ และความพยายาม การกระทำที่จะปรับปรุงยกระดับสตรีในฐานะต่าง ๆ ให้ดีขึ้นและเท่าเทียมบุรุษนั้นได้มีมาแล้ว แต่ครั้งพุทธกาล มิใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดมีขึ้นในศตวรรษนี้หรือในไม่กี่ปีมานี้ ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่าแนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญาโดยหลักใหญ่แล้ว ก็สอดคล้องไปกันได้ดีกับความคิดหรืออุดมการณ์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการ และกำลังเรียกร้องหาความยุติธรรม สิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วนับเป็นสิบ ๆ ศตวรรษ แต่แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา ( โดยหลักใหญ่ ) นั้นไม่ขัดกับกระแสของสังคมในปัจจุบัน การวิจัยนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า คำกล่าวที่ว่า พุทธปรัชญาทันสมัยอยู่เสมอนั้นเป็นความจริงที่แสดงให้เห็นได้
อ้างอิง ปาริชาต นนทกานันท์ . “ แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
สุมินต์ตรา