สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย (ตอนจบ)

วันที่ 04 ธค. พ.ศ.2547


ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓

 

..... ๒.ปัญหาด้านทุนการศึกษา พบว่า สามเณรส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแหล่งทุนจากการทำบุญตามศรัทธาของประชาชนทั่วไป และพบว่าทุนการศึกษาที่ได้รับนั้น มีปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งคาดว่าจะไม่เพียงพอ

๓.ปัญหาด้านการศึกษา ได้แก่ ความล้มเหลวของการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรม ปัญหาการบังคับให้เรียนฝ่ายปริยัติธรรมโดยขาดความสมัครใจ พบว่า ส่วนใหญ่ยอมรับว่า บางส่วนถูกบังคับให้เรียนทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีโดยขาดความสมัครใจ และปัญหาความด้อยโอกาสในการศึกษาฝ่ายสามัญศึกษา พบว่า สามเณรส่วนใหญ่ ต้องการเรียนปริยัติธรรมควบคู่กับฝ่ายสามัญศึกษา

การศึกษาในส่วน “ทัศนคติของสามเณรต่อการบวชเรียน” ไม่พบประเด็นปัญหาในระดับที่รุนแรง เนื่องจากสามเณรส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อการบวชเรียน เห็นได้จากการพยายามชักชวนเยาวชนให้บวชเรียนเป็นสามเณรเช่นกับตนและคาดหวังว่า จะแนะนำบุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรในอนาคต

ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทย โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ประเด็นคือ การส่งเสริมการบวชเรียนโดยใช้การศึกษาฝ่ายสามัญศึกษาเป็นเหตุจูงใจ หน้าที่การส่งเสริมการบวชเรียน และกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการบวชเรียน โดยศึกษาข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของพระภิกษุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง

จากการศึกษาเรื่องมูลเหตุการณ์ตัดสินใจบวชและเป้าหมายชีวิตในอนาคตของสามเณรกลุ่มตัวอย่าง พบว่า สามเณรส่วนใหญ่ตัดสินใจบวชเป็นสามเณรเพราะต้องการศึกษาเล่าเรียนต่อในระดับสูงขึ้นกว่าระดับประถมศึกษา และพบว่า สามเณรส่วนใหญ่มีเป้าหมายลาสิกขาไปครองเพศเป็นฆราวาสในอนาคต โดยไม่พบสามเณรที่มีเป้าหมายครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต ดังนั้น หากคณะสงฆ์และชาวพุทธไม่พยายามส่งเสริมให้เยาวชนบวชเรียนเป็นสามเณรอย่างต่อเนื่อง คาดได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ สามเณรไทยจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นวิกฤต และจะส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพของสถาบันสงฆ์อย่างแน่นอน

การศึกษาเรื่อง “กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการบวชเรียน” ในทัศนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าเหมาะสมในการบวชเรียนมากที่สุด คือ เด็กกำพร้าและเด็กครอบครัวแตกแยก อันดับรองลงไป คือ บุตรหลานของกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม ส่วนอีก ๒ กลุ่มหลังคือ บุตรหลานของกลุ่มอาชีพข้าราชการและบุตรหลานของกลุ่มอาชีพค้าขาย ยังขาดแนวโน้มที่จะบวชเรียน เนื่องจากมีความพร้อมในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งทัศนคติของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนี้ ได้สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่า “กลุ่มชาวพุทธที่มีความพร้อมด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตชนบท ไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณร”

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016617019971212 Mins