สถานภาพ บทบาท และปัญหา ของสามเณรในสังคมไทย (ตอนที่ ๔)

วันที่ 13 พย. พ.ศ.2547

ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓


.....หากมีคำถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องเพิ่มจำนวนหรือรักษาระดับจำนวนของสามเณรไทย คำตอบคือ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๓ ประการคือ การบวชเรียนตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เป็นกระบวนการเตรียมบุคลากรสงฆ์ไว้รับใช้พระศาสนาในอนาคต ซึ่งเคยใช้อย่างได้ผลจนเป็นที่ปรากฏมาแล้วในสมัยหลังพุทธกาลเรื่อยมา สามเณรมีบทบาทโดดเด่นกว่าพระภิกษุอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทในการศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อสืบต่อพระศาสนา ซึ่งพิสูจน์ได้จากสถิติผลการสอบในแต่ละปีการศึกษา และสามเณรกำลังอยู่ในวัยที่เหมาะสมแก่การฝึกฝนอบรมเพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ง่าย ผลกระทบจากการขยายโอกาสทางการศึกษาของภาครัฐ เป็นเหตุให้เยาวชนขาดโอกาสที่จะบวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คณะสงฆ์ไทยจะต้องตระหนักถึงปัญหาและเร่งหาแนวทางเพื่อรับมือกับภาวะการแข่งขันทางการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากการเตรียมบุคลากรสงฆ์ไว้รับใช้พระศาสนา จำเป็นต้องส่งเสริมให้เยาวชนบวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อยคือ ระหว่าง ๑๒–๑๓ ปี เพราะหากเด็กมีอายุมากเกิดกว่านี้แล้ว ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ตัวอย่างเช่น สร้างความลำบากแก่พระภิกษุผู้อบรมสั่งสอน เนื่องจากเด็กที่อายุมากขึ้นและย่างเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวแล้ว จะมีนิสัยรักสนุกสนานและคึกคะนองมากกว่าที่จะสนใจบวชเรียนและใช้ชีวิตอย่างผู้มักน้อยสันโดษในเพศบรรพชิต

ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ผู้วิจัยพบว่า ในทุกพื้นที่ซึ่งใช้ในการเก็บข้อมูลนั้น มีการขยายโอกาสทางการศึกษาจากระดับประถมศึกษา ไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว จากการสอบถามและพูดคุยกับชาวบ้านได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว เด็กในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน มักจะไม่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ เพราะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และต้องสิ้นเปลืองมากขึ้นอีกในกรณีที่ต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวเมือง ดังนั้น การสิ่งเสริมการบวชเรียนในกลุ่มเยาวชนที่ครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในภาคสนาม

จากการพูดคุยกับเด็กนักเรียนชายเกี่ยวกับความสนใจในการบวชเรียนเป็นสามเณร ผู้วิจัยได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เด็กได้ให้ความสนใจในการบวชเรียน และคิดว่าตนเองยินดีจะบวชเรียนหากมีกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันในหมู่บ้านหรือในโรงเรียนเดียวกันบวชเรียนด้วย ดังนั้น การส่งเสริมเยาวชนให้บวชเรียนเป็นสามเณร จะเป็นผลสำเร็จอย่างสูงได้ ก็ต่อเมื่อคณะสงฆ์ได้จัดทำเป็นโครงการเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้บวชเรียนเป็นกลุ่ม ตัวอย่างเช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งพบว่า หลังสิ้นสุดโครงการแล้ว มีสามเณรจำนวนหนึ่งที่ไม่ลาสิกขาแล้วบวชเรียนต่อไป

จากการสนทนากับผู้ปกครองของเด็กบางส่วน ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากมีสำนักศาสนศึกษาตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก สามารถไปมาหาสู่เพื่อเยี่ยมเยียนบุตรหลานที่บวชเรียนได้สะดวก จะยินดีส่งเสริมให้เด็กบวชเรียน แต่หากตั้งอยู่ไกลจากหมู่บ้านหรือห่างไกลภูมิลำเนา ก็จะไม่อนุญาตให้เด็กบวชเรียน เพราะห่วงใยในตัวเด็กซึ่งอายุยังน้อย ดังนั้น การส่งเสริมการบวชเรียนของเยาวชนในระยะเริ่มแรก วัดหรือสำนักศาสนศึกษาซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย จึงน่าจะทำหน้าที่ส่งเสริมการบวชเรียนของเยาวชนได้ดีที่สุด

หากข้อมูลเกี่ยวกับสังคมไทยมีพฤติกรรมการมีบุตรลดน้อยลงอันมีสาเหตุจากการรณรงค์วางแผนครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ สตรีไทย ๑ คนมีบุตรโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ๒ คนแล้ว ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงจากยุคที่เคยมีเด็กมาก มีผู้ใหญ่และคนแก่น้อย เข้าสู่ยุคที่มีเด็กน้อย มีผู้ใหญ่และคนแก่มากขึ้นในทุกขณะ ก็อาจทำให้คาดการณ์ได้ว่า ถ้าคณะสงฆ์ไทยไม่เริ่มแสวงหาแนวทางส่งเสริมการบวชเรียนของเยาวชน เพื่อป้องกันปัญหาการลดจำนวนลงองสามเณรไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ ค่านิยมในการบวชเรียนเป็นสามเณรอาจสูญสิ้นไปจากสังคมไทยก่อนเวลาอันควรก็เป็นได้

ในงานวิจัยนี้ มุ่งศึกษาเรื่องสถานภาพบทบาทและปัญหาของสามเณร โดยเห็นว่า สามเณรคือประชากรในสถาบันสงฆ์ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างน้อย ๒ ประการคือ

๑.เป็นฐานกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

๒.เป็นกลุ่มที่สามารถสร้างสรรค์ให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ โดยง่าย

สำหรับประเทศไทย สามเณรส่วนใหญ่ เป็นเยาวชนจากครอบครัวชาวชนบทที่มีฐานะค่อนข้างยากจนถึงปานกลาง เยาวชนเหล่านั้นได้อาศัยสถาบันพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและวิชาการแขนงอื่น ๆ ภายในวัดและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ หลังบวชเรียนเป็นสามเณรในระยะหนึ่งแล้ว ส่วนหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพระภิกษุที่มีบทบาทต่อสังคมและพระศาสนา อีกส่วนหนึ่งได้ลาสิกขาเพื่อทำหน้าที่รับใช้ชาติบ้านเมืองต่อไป จึงนับได้ว่า การบวชเรียนเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ได้อุ้มชูเยาวชนส่วนหนึ่งของชาติให้มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อรับใช้พระศาสนาและชาติบ้านเมือง

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.



สุมินต์ตรา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020289933681488 Mins