.....ปัญหาทางเศรษฐกิจ หมายถึง ปัญหาการขาดแคลนในการใช้จ่าย กล่าวคือ การไม่รู้จักการขยันหมั่นหา รักษาเก็บไว้ใช้- ไม่รู้จักจ่ายในสิ่งที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าหัวหน้าครอบครัวคนใดคนหนึ่งไปติดกับอบายมุขคือ การดื่มสุรา การเล่นการพนัน การคบคนชั่ว เป็นต้นแล้ว ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยจักแสดงตัวอย่างในเรื่องนี้พอเป็นแนวศึกษาว่า สุรา ๑ ขวด มีค่าทางเศรษฐกิจมากมาย
๑ . มูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากการเสียคุณภาพชีวิต เป็นความสูญเสียในด้านคุณภาพชีวิต แต่มีผลทางเศรษฐกิจด้วย
๒ . ในการผลิตสุรานั้น โรงงานอาจทำให้เกิดมลพิษต่าง ๆ เช่น มีควันมาก กลิ่นเหม็น และปัญหาอื่น ๆ เกิดตามมาอีกมาก ซึ่งเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ มูลค่าความเสียหายกลับมีผลทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะต้องเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น
๓ . คนที่ดื่มสุราแล้วขับยานพาหนะทุกชนิด ย่อมนำพาให้เกิดอุบัติเหตุได้ เสียหายต่อทรัพย์สิน
๔ . ผลเสียหายทางสังคม เช่น การเกิดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก
๕ . สุดท้ายผู้เมาเพราะการดื่มสุรา ทำให้ขาดสติ ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งสิ้น
ผลสะท้อนจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ตามอำนาจเหตุเหล่านั้น เป็นการสูญเสียเงินตราและทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์ บั่นทอนประสิทธิภาพในการผลิตลง สูญเสียแรงงานโดยไร้ประโยชน์ การสูญเสียดังกล่าวนี้ กระทบกระเทือนต่อรายได้ของประชาชาติทีเดียว
และแม้เศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก แต่ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยปัจจุบันมิได้ลดลงแต่ประการใด หากกลับเพิ่มปริมาณขึ้น ขยายตัวมากขึ้นถึงร้อยละ ๔ - ๕ จึงเป็นอันว่าธุรกิจน้ำเมาจึงเป็นธุรกิจอย่างเดียวที่ยังดีและมีปริมาณเงินหมุนเวียนในธุรกิจมากถึง ๔๐, ๐๐๐– ๕๐, ๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ที่ถือว่าเป็นรายได้ที่ปรากฏเป็นผลดีทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ได้รับเป็นผลกระทบสะท้อนกลับนั้นมีค่าแห่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่สังคม มากกว่าการเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เป็นรายได้รวมของประชาชนโดยรวมนั้นอีก
ผลกระทบด้านสังคม เป็นโทษทางสังคมโดยรวม คือโลกวัชชะ ชาวโลกติเตียนนำความอับอายเสื่อมเสียมาสู่วงศ์สกุล เพราะผู้เสพของเมา ย่อมกระทำกรรมทุกอย่างได้โดยไม่รู้สึกตัว เช่น เสพสุราเมรัยแล้วฆ่าสัตว์เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ไปลักทรัพย์ ฉ้อโกง ทุจริตต่อหน้าที่ ปล้น จี้ ก่อความเดือดร้อนให้เกิดเป็นปัญหาแก่สังคม ไปประพฤติผิดในสตรีและบุรุษที่ต้องห้าม ทำให้เกิดความเสื่อมด้านจริยธรรมของสังคมสามีภรรยา เสพสุราแล้วพูดปด หลองลวง คำหยาบ เพ้อเจ้อ ส่อเสียด เป็นสาเหตุนำมาซึ่งปัญหาเสียทรัพย์ เกิดการวิวาท เป็นบ่อเกิดแห่งโรค เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียชื่อเสียง ที่สำคัญคือการทำให้หมดความละอาย หมดความเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่วทั้งปวง สุดท้ายสติปัญญาก็เสื่อมถอยกลายเป็นคนบ้า
ปัญหาสังคมส่วนรวม หมายถึง แนวทางหรือสภาวะที่เกิดขึ้น และเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาบุคลากรตามเหตุปัจจัย แก่สังคม เป็นปัญหาสำคัญของชาติที่ทุกคนต้องมีจิตสำนึกร่วมกัน ต้องร่วมกันแก้ไขสภาวะที่เกิดขึ้น
ลักษณะที่สำคัญของปัญหาสังคมมี ๔ ประการคือ
๑ . สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่นั้นมีผลร้ายต่อคนหมู่มาก
๒ . สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
๓ . สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีอยู่นั้นคิดกันว่าพอจะแก้ไขได้ สถานการณ์ใดหากไม่มีทางแก้ไข ก็ไม่เป็นปัญหาสังคม
๔ . การแก้ไขสถานการณ์ต้องกระทำร่วมกันทางสังคม หากมีผู้แก้ไขเพียงคนเดียว ก็ไม่เป็นปัญหาสังคม
ปัญหา อาชญากรรม มีสาเหตุ ๓ ประเด็นคือ
๑ . ทางด้านสรีระวิทยา โดยกล่าวถึงบุคคลซึ่งมีร่างกายสภาพไม่ปกติ หรือทุพพลภาพ ผู้มีความผิดปกติทางร่างกายย่อมเกิดปมด้อย จึงมักถูกชักจูงไปในทางไม่ดีงาม มั่วสุมอยู่กับพวกอาชญากรได้โดยง่าย
๒ . ทางด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางครอบครัว เป็นต้น
๓ . ทางด้านสังคมวิทยา กล่าวคือ การที่บุคคลก่ออาชญากรรมนั้น ไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ไม่สามารถต้านทานกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นภาพอดีตของสังคมไทยด้วย
สาเหตุแห่งปัญหาของสังคมที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรม มีดังนี้
๑ . ภูมิหลังของคนที่เคยทำผิด ได้แก่ การศึกษา สภาพแวดล้อม ตลอดจนมาตรฐานทางศีลธรรมของครอบครัวอีกด้วย
๒ . โรงเหล้า โรงน้ำชา การพนัน การค้าประเวณี และสถานเริงรมย์ทั้งหลาย มักพบว่า เป็นแหล่งมั่งสุม แล้วยังเป็นแหล่งที่รวมของการกระทำความผิดด้วย ซ่องโจร เป็นที่หลบหนีของอาชญากรรม แหล่งโจรกรรม การพนัน เป็นสถานที่จำหน่ายยาเสพย์ติด รวมถึงแหล่งการทุจริตต่อหน้าที่ของข้าราชการ นักการเมือง เป็นต้น
๓ . การติดสุราทำให้ผู้เสพขาดสติสัมปชัญญะ ขาดความรู้สึกนึกคิด ทำให้ผู้เสพกล้ากระทำความผิด และทำให้มีสุขภาพทรุดโทรมหมดประสิทธิภาพในการทำงาน
๔ . คนจรจัด และขอทาน เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม มักพบว่ากระทำความผิดอย่างอื่นด้วย เช่น เมาสุรา เสพยาเสพย์ติดให้โทษและประทุษร้ายต่อทรัพย์ นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมก็มีส่วนไม่น้อยกว่านี้เช่นกัน
อ้างอิง สำรวย ญาณสํวโร, ( พินดอน) พระมหา, การศึกษาเรื่องผลกระทบจากการล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๕ ที่มีต่อสังคมไทย , วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
สุมินต์ตรา