มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องล่าง (ตอน ๒)

วันที่ 13 ตค. พ.ศ.2547


 

 

.....๓) ทำลายองค์กรทางอ้อม สงครามน้ำลายระหว่างลูกจ้างในองค์กรในลักษณะดังกล่าว ย่อมยากที่จะจบลงได้ง่ายๆ เพราะฝ่ายที่ก่อหวอดไม่มีความเกรงใจนายจ้าง ในที่สุดเรื่องก็อาจจะบานปลายไปถึงขั้นก่อการวิวาทและทำร้ายกัน จนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่กรณีที่วิวาทกันมีเพียง ๒-๓ คน ก็อาจจะมีการไกล่เกลี่ยให้เรื่องยุติได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่คู่กรณีเป็นลูกจ้างหมู่มากที่รวมหัวกันเป็นก๊กเป็นเหล่าก็ยากที่จะประสานรอยร้าวได้ และองค์กรแห่งนั้นก็ยากที่จะประสบความเจริญก้าวหน้า นี่คือส่วนหนึ่งแห่งโทษภัยอันเกิดจากความลำเอียงของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกจ้างบางคนหรือส่วนมาก ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ลูกจ้างเหล่านั้นก็อาจจะหาทางกลั่นแกล้งนายจ้างเป็นการตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อู้งาน คือ เข้าทำนองไม่หลบไม่อู้ ก็สู้ไม่ไหว ได้หลบ ได้อู้ ก็ตู๊กันไป หรือที่ร้ายกว่านั้น ก็อาจใช้วิธีทำลายคุณภาพสินค้าโดยใช้วัสดุต่ำกว่ามาตรฐานบ้าง ปลอมปนสินค้าบ้าง หรือมิฉะนั้นก็นัดกันลาป่วยพร้อมๆ กันหลายๆ คน หรือนัดกันลาออกจากงานอย่างกระทันหัน โดยไม่มีการจ้างให้นายจ้างทราบล่วงหน้า ลูกจ้างบางคนที่มีมิจฉาทิฏฐิอย่างหนักก็อาจถึงกับวางเพลิงอาคารสถานที่ที่ตนทำงานได้อย่างเหลือเชื่อ

องค์กรใดที่มีพนักงานหรือลูกจ้างมากๆ หรือแม้แต่ครอบครัวที่ต้องจ้างคนมาเป็นลูกจ้าง ถ้าผู้บริหารจัดการองค์กรนั้น หรือนายจ้างในครอบครัวนั้นขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ซ้ำร้ายยังบริหารงานด้วยความลำเอียง ไร้ความยุติธรรม ก็ย่อมจะเพาะอคติให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งจะพยายามหาทางแก้เผ็ดตอบโต้อยู่ตลอดเวลา ในที่สุดองค์กรนั้น หรือครอบครัวนั้นก็จะประสบปัญหายุ่งยากเดือดร้อนอยู่เป็นนิจ และอาจล่มสลายลงในที่สุด

๓. ลูกจ้างขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ

ถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้น ประการที่ ๓ คือ ลูกน้องหรือลูกจ้างไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมา ให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) ภูมิคุ้มกันจิตใจต่ำลงเรื่อยๆ ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ที่เป็นลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ในทิศเบื้องล่าง โดยทั่วไปจะเป็นผู้มีการศึกษาน้อย มาจากครอบครัวยากจน ส่วนมาเป็นชาวไร่ชาวนาที่แร้นแค้น เมื่อพ้นฤดูไถหว่านแล้ว ก็จะพากันไปหางานทำตามเมืองใหญ่เพื่อหารายได้เสริม ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวจึงค่อยกลับบ้าน ส่วนบางคนที่ไม่มีเรือกสวนไร่นาเป็นของตน ก็อาจจะย้ายไปฝังรกรากอยู่ในเมืองใหญ่อย่างถาวร

การเข้าไปสัมผัสชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งผู้คนส่วนมากมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย ก็มักจะทำให้บรรดาลูกจ้างหลงผิดคิดด้วยอวิชชาว่า การมีวิถีชีวิเช่นนั้นน่าจะเป็นความสุขอย่างยิ่ง จึงพยายามเลียนแบบ

สภาพความเป็นอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ของผู้คนในเมืองใหญ่ล้วนหนีไม่พ้นอบายมุข นับตั้งแต่การเสพสุรายาเมา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเล่นการพนัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีแต่ทางเสียเงิน บรรดาลูกจ้างซึ่งตามปกติก็มีรายได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข ก็แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม บรรดาลูกจ้างที่เริ่มเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ถ้าได้ทำงานกับนายจ้างที่เป็นมิตรแท้ ก็เท่ากับได้กัลยาณมิตรชี้ทางสว่างให้ ทำให้สามารถครองชีวิตถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มีสัมมาทิฏฐิ มีหิริโอตตัปปะในระดับหนึ่ง ย่อมไม่ตกเป็นทาสของอบายมุข ก็ถือได้ว่าการเข้ามาทำงานหาเงินของลูกจ้างเหล่านั้น บรรลุวัตถุประสงค์ คือได้เงินเป็นกอบเป็นกำ สามารถนำกลับไปทำนุบำรุงครอบครัวให้อยู่ดีกินดีขึ้นได้

ในทางกลับกัน ถ้าได้พบนายจ้างที่ขาดอริยวินัย ซึ่งนอกจากจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ของนายจ้างให้สมบูรณ์แล้ว ยังเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างคดโกงแรงงานลูกจ้าง หรือทำทารุณกรรมต่อลูกจ้างอีด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้บรรดาลูกจ้างที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จิตใจมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว ก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก ย่อมตกเป็นทาสของอบายมุขได้โดยง่าย ต่อจากนั้นปัญหาต่างๆ ก็จะรุมเข้ามา เป็นแรงบีบคั้นจิตใจบรรดาลูกจ้างให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดทำนองคลองธรรมออกมาทั้งทางกายและวาจา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020975601673126 Mins