ประเพณีทอดกฐิน (ตอนที่ 3)

วันที่ 05 พย. พ.ศ.2548

                                                                                        

         

        ส่วนสมเด็จพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่ที่ใกล้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวาย บังคมด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์ แล้วได้ทรงตั้งพระราชปณิธานความปรารถนาขึ้นว่า อิมินา กฐินทาเนน พุทฺโธ โหมิ อนาคเต ยทา สพฺพญฺญุตปตฺโต ตารยิสฺสามิ ปาณินํ ซึ่งมีเนื่อความว่า ด้วยอำนาจกฐินทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลโน้นเถิด ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูญุตญาณเจ้าแล้วใน กาลใด ก็จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏในกาลนั้น

 

     ครั้นจบคำอธิษฐานลง พระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงพิจารณาดูไปใน อนาคตกาล ก็ได้ทรงทราบด้วยพุทธจักษุญาณว่า ความ ปรารถนาของบรมกษัตริย์องค์นี้จักสำเร็จสมพระประสงค์ จึงได้ทรงพยากรณ์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่ง 3อสงไขยแสนกัลป์ นับแต่กัลป์นี้ไปในอนาคตกาลภายหน้า บรมจักรพรรดิ์พระองค์นี้ จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “โคดม” พระนครที่ประสูตินั้นมีนามชื่อว่า “กบิลพัสดุ์” พระพุทธบิดาจักทรงพระนามว่า “สุทโธทนมหาราช” พระพุทธมารดาจักทรงพระนามว่า “สิริมหามายาเทวี” จักมีพระอัครมเหสีพระนามว่า “พิมพา” จักมีพระราชโอรสพระนามว่า “พระราหุลกุมาร” พระโคดมพุทธเจ้านั้น จักเป็นฆราวาสครองเรือนอยู่ 29 ปี แล้วจักเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ด้วยม้ากัณฐกะ จักทรงทำมหาทุกกรกิริยาอยู่ 6 ปี แล้วก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาในโลก ในวันแห่งวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือน 6 และจะมีปริพาชกทั้ง 2 ซึ่งมีชื่อว่า “โกลิตะ” (พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า) และ ชื่อว่า “อุปติสสะ” (พระสารีบุตรเถรเจ้า) เป็นพระอัครสาวกซ้าย-ขวา จักมีภิกษุผู้อุปัฏฐากประจำชื่อว่า “อานนท” จักมีอัครสาวิกาทั้ง 2 ชื่อ “เขมาภิกษุณี” และชื่อว่า “อุบลวัณณาภิกษุณี” จักมีมหาอุบาสกชื่อว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” จักมีมหาอุบาสิกาชื่อว่า “วิสาขา” ดังนี้

     ครั้นสมเด็จพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ์ ได้ทรงสดับพระพุทธพยากรณ์ดังนั้นแล้ว ก็ทรงมั่นพระราชหฤทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระปิติปราโมทย์ ได้ยกพระหัตถ์ทั้ง 2 ขึ้นถวายนมัสการ ๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีทานกถา เป็นต้น ครั้นจบพระธรรมเทศนาลง หมู่มหาชนคนทั้งหลายก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัย คือ มรรคผล เป็นอันมาก ส่วนสมเด็จ พระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ได้เสวยราชสมบัติอยู่ใน รัมมวดีมหานครตลอดกาลนาน และได้ทรงบำเพ็ญมหาทานอันยิ่งใหญ่ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนมายุสังขารแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในเทวโลก ได้เสวยทิพยสมบัติเป็นอนุโลม ปฏิโลม ไป ๆ มา ๆ อยู่ในฉกามาพจรสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ซึ่งบริบูรณ์ด้วยสังคีตและดนตรีอันเป็นทิพย์ ทั้งนี้ก็ด้วยอานิสังสผลแห่งทานการบริจาคนั้น ๆ อำนวยผลส่งให้ ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว ก็ได้ลงมาบังเกิดในมหานครชื่อว่า “กุสาวดี” ได้เป็นบรมจักรพรรดิ์ราช ทรงพระนามว่า “อติเทวบรมจักรพรรดิ์” คอรบครองราชสมบัติอยู่ในกุสาวดีราชธานีโดยยาวได้ 33 โยชน์ โดยกว้างได้ 17 โยชน์ พระเจ้าอติเทวจักรพรรดิราชนั้นทรงเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว 1 ช้างแก้ว 1 ม้าแก้ว 1 แก้วมณี 1 นางแก้ว 1 ขุนคลังแก้ว 1 ขุนพลแก้ว 1 รวมเป็นแก้ว 7 ประการด้วยกัน ดังนี้

     ในตอนนี้ ได้มีคำปุจฉาสอดถามเข้ามาว่า การที่พระเจ้าอติเทวบรมกษัตริย์ ได้เป็นพระบรมจักรพรรดิราชนั้น ด้วยทำบุญกรรมอะไรไว้ หนึ่งรันตะ 7 ประการ มีจักรแก้วเป็นต้นนั้นได้บังเกิดแก่พระเจ้าอติเทวจักรพรรดิ์นั้น เพราะอานิสังสผลแห่งบุญกรรมอะไร ? จึงมีคำวิสัชนาว่า พระเจ้าอติเทวราช ได้เป็นพระบรมจักรพรรดิ์ และทรงเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการนั้น เพราะอานิสังสผลที่พระองค์ได้ถวายผ้ากฐินทาน ไว้แก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้งเมื่อพระองค์เป็นพระราชาจักรพรรดิ์ ทรงพระนามว่า “จิตรราช” เมื่อพระเจ้าอติเทวจักรพรรดิ์ ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในทวีปทั้ง 4 มีเมืองกุสาวดีราชธานีเป็นประธานนั้น เมื่อท้าวเธอเสด็จไปสู่ทวีปใด ๆ ก็ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ให้แก่ประชาชน ในทวีปนั้น ๆ จน เพียงพอ แล้วได้ทรงสั่งสอนให้ประชาชนพลเมืองในทวีปนั้น ๆ ให้บำเพ็ญทานรักษาศีล ตามเยี่ยงอย่างของพระองค์ทุกประการ เมื่อพระเจ้าอติเทวบรมจักรพรรดิ์ ได้เสวยสมบัติอยู่ใน มนุษย์โลกอันยิ่งใหญ่ไพศาลเห็นปานฉะนี้ ครั้นเมื่อพระองค์ ทรงสวรรคตแล้วก็ได้ขึ้นไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์ แต่ได้เป็นท้าวสักกเทวราชอยู่นั้น นับได้ถึง 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นพระบรมจักรพรรดิราชอีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นพระราชาเอกราชอยู่อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีอยู่อีก 8 หมื่น4 พันชาติ ได้เป็นอัครปุโรหิตาจารย์อยู่อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ ได้เป็นมหาเศรษฐีอยู่อีก 8 หมื่น 4 พันชาติ

     กฐินทาน มีผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จะนับประมาณมิได้ ทั้งจะให้บุคคลผู้บริจาคสิ้นจากทุกขภัย พ้นจากความพิบัติและยากจนขัดสน จนได้ล่วงถึงพระอมตมหานิพพานในอวสานชาติที่สุด จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะพร้อมใจกันประกอบตามประเพณีการทอดกฐินนี้ ซึ่งนอกจากจะได้บำเพ็ญกุศลอันมีผลานิสงส์มากยิ่งแล้ว ยังจะได้ชื่อว่า ได้รักษาประเพณีที่บรรพบุรุษของเราได้ กระทำกันมาจนถึงพวกเราเหล่าลูกหลานทุกวันนี้ และยังได้ชื่อว่าช่วยกันดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเราอีกด้วย.

คัดจากหนังสือประเพณีไทยฉบับพระมหาราชครู

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028579982121785 Mins