ทอดกฐิน

วันที่ 06 พย. พ.ศ.2548

 

  .....ความเป็นมาของการทอดกฐิน

     ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นก็เดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก ระยะนั้นมีฝนตกชุก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลให้ทรงทราบ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาต ให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส โดยกำหนดระยะเวลา คือ นับจากวันออกพรรษาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นระยะเวลา ๑ ดือน กฐิน จึงได้ชื่อว่าเป็น กาลทาน

 

ความหมายของ “ กฐิน”

กฐิน มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้

    • กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูป ลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
    • กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้ 
    • กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาศ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก
    • กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔

สร้างมหาทานบารมี หนึ่งปีมีเพียงครั้ง

ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจานั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่

๑ จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

๒ จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา ๑ เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป

๓ จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

๔ จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้

๕ จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป

๖ จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

๗ เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

     เมื่อเล็งเห็นแล้วว่า เป็นโอกาสบุญที่หาได้ยาก มีเพียงปีละครั้ง เฉพาะในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้สร้างบุญใหญ่เช่นนี้ จึงขอเชิญท่านสาธุชนผู้ใฝ่ในบุญกุศลได้สร้างมหาทานบารมีในเทศกาลทอดกฐินกันเถิด

 

ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน

     ช่วงเช้าเหล่าอุบาสก อุบาสิกา จะเริ่มต้นเช้าอันเป็นวันมงคลด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ณ อาวาสดังกล่าว ภาพพระภิกษุและสามเณรเดินเรียงรายเป็นทิวแถวด้วยอาการสงบ สีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสต์ต้องแสงตะวันยามเช้า สร้างเลื่อมใสศรัทธาให้เอิบอาบในใจจิตพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ได้พบเห็นอย่างไม่เสื่อมคลาย

     พิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อถวายผ้ากฐินตามพระบรมพุทธานุญาต บางวัดจัดขึ้นในช่วงสายพร้อมและต่อด้วยการถวายสังฆทาน เพื่อถวายภัตตาหาร ซึ่งเป็นบุญอีกงบหนึ่ง โดยธรรมเนียมแล้ว มักมี “ บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายภายในวัดเป็นค่าน้ำค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง ทั้งส่วนซ่อมแซมและต่อเติมเสริมใหม่กิจการพระศาสนาขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางวัดนำมาเป็นกุศโลบายให้สาธุชนได้ปฏิบัติธรรมกัน อย่างเช่นที่วัดพระธรรมกาย กิจกรรมทอดกฐินจะทำในช่วงบ่าย ส่วนช่วงสายนั้นให้ทุกคนได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเพื่อกลั้นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ก่อนจะทำบุญใหญ่กัน กิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณีกฐินคือ “ ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” ซึ่งขึ้นกับแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่นจะบรรลุสิ่งสวยงาม ทรงคุณค่า คู่ควรกับความสำคัญของพิธีทอดกฐินซึ่งจัดพียงปีละครั้ง ริ้วขบวนอาจประกอบด้วย ขบวนธงธิว ถ้าภาคเหนืออาจเป็นตุง ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยใช้ทั้งสาธุชนและบุตรหลานเยาวชนมาร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนใกล้วัดตั้งแต่เล็ก

     การได้ผ้ากฐินแบบมีเจ้าภาพ ถือเป็นคฤหบดีกฐินนั้น เมื่อมีผู้มาทอดผ้า ณ เบื้องหน้าคณะสงฆ์ โดยไม่ได้เจาะจงถวายแก่รูปใดรูปหนึ่ง คณะสงฆ์ต้องทำพิธีอปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่า ผ้ากฐินในปีนี้ควรถวายแก่ภิกษุรูปใด ส่วนพิธีกรานกฐิน เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์ จะทำพิธีกันในพระอุโบสถ โดยพระภิกษุผู้ได้รับการเลือกสรรจากคณะสงฆ์ ว่าเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถที่จะกรานกฐินได้

     ชาวไทย ชาวพุทธคุ้นกับบุญ กาลทานเช่นนี้มายาวนานนับพันปี สืบจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ที่ต้องรักษาและส่งต่อให้ชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม เพื่อให้พระพุทธศาสนายังคงเจริญรุ่งเรืองในโลกนี้สืบไป

 

ภัทรา ประภาสชล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013544996579488 Mins