นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยู่เหนือความคาดหมายตามที่ศาสนิกชนหลายองค์กร รวมถึงพระสงฆ์ ได้ตักเตือนเอาไว้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการนำ "เบียร์ข้าง"เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะเป็นการระดมทุนเม็ดเงินมหาศาลจากนักลงทุนเพื่อผลิตสินค้าที่มีราคาถูก ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคเพิ่มขึ้น สร้างโทษภัยต่อผู้บริโภค และความหายนะที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนและสังคมไทย
เพราะขนาดยังไม่เข้าตลาดหุ้นระดมทุน ยังมีเงินมหาศาลทุ่มตลาดขายราคาถูก เป็นที่ถูกใจคอนักดื่ม โดยเฉพาะคนใช้แรงงาน ทำให้เกิดปัญหากับสังคมตามมา
เครื่องสิ่งบ่งชี้คนใช้แรงงานหันมาดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกจำนวนมาก ยืนยันได้จากข้อมูลจากการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตามโครงการ "เมาไม่ขับ"ของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์จากผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ทั่วกรุงเทพฯ พบว่า คนไทยหันมาดื่ม"เบียร์"มากที่สุดติดต่อกัน 7 เดือน รองลงมาเป็น "วิสกี้" และ "ไวน์"
จากข้อมูลดังกล่าวสื่อความหมายได้ 2 ประการคือ ประการแรก ชีวิตการเดินทางสัญจรไปมาโดยรถยนต์ไม่มีความปลอดภัย พร้อมเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเวลา เพราะยังมีคนจำนวนมากเมาแล้วขับรถ แม้ส่วนใหญ่ผู้ที่ตอบแบบสอบถามจะรู้ว่ามีการตั้งด่านตรวจจับ "เมาไม่ขับ" และรู้ว่า "มีโทษตามกฏหมาย"
ประการที่ 2 ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มก่อนขับรถผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ดื่ม "เบียร์"มากที่สุด โดยเฉพาะ"เบียร์ช้าง" โดยให้เหตุผลว่า มีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถบันทึกอย่างเป็นทางการได้
โดยแหล่งข่าวระดับสูงจากบก.จร.ในการประชุมหารือการบังคับใช้กฏหมายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ เปิดเผย "สยามธุรกิจ"ว่า ในการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์แต่ละแห่งของบก.จร.จะมีข้อมูลแบบสัมภาษณ์ผู้ขับขี่ โดยผู้ที่ถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้สัมภาษณ์ว่า ดื่ม"เบียร์"ส่วนใหญ่บอกว่าดื่มว่าดื่ม "เบียร์ช้าง" เพราะมีราคาถูก แต่ที่ประชุมไม่สามารถจดบันทึกเป็นยี่ห้อได้ เพราะหวั่นจะมีผลกระทบต่อการค้าได้ จึงมีการบันทึกไว้เพียงแค่ชนิดของเครื่องดื่มแบ่งเป็นเบียร์,วิสกี้ ,ไวน์ และอื่นๆ เท่านั้นจากข้อมูลของผู้ขับขี่ที่ที่ถูกตรวจวัดแอลกอฮอร์พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ จากบก.จร.ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2548 พบว่า 7 เดือนแรกผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ดื่มเบียร์มากที่สุดจากทั้งหมด 9 เดือน โดยในเดือนมกราคม ได้มีการเรียกตรวจ 6,147 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 436 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 126 ราย โดยมีผู้ดื่มที่เป็นชายมากสูงสุด และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งชนิดของเครื่องดื่มจะเป็นเบียร์มากที่สุด 72 รายหรือประมาณ 57.14% รองลงมาเป็นวิสกี้ 47 ราย หรือประมาณ 37.30%
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ได้มีการเรียกตรวจ จำนวน 1,863 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 194 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 146 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และเป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยชนิดของเครื่องดื่มที่ตรวจสอบพบเป็นเบียร์มากที่สุด 85 ราย หรือประมาณ 43.81% รองลงมาเป็นวิสกี้ 80 ราย หรือประมาณ 41.24%
เดือนมีนาคม มีการเรียกตรวจ 1,946 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 181 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 130 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่จะดื่มเป็นเครื่องดื่มเบียร์มากที่สุด 81 ราย หรือประมาณ 44.75% รองลงมาเป็นวิสกี้ 66 ราย หรือประมาณ 36.47%
เดือนเมษายน มีการเรียกตรวจ 6,942 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 359 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 262 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นเบียร์มากสุด 172 ราย หรือประมาณ 47.91% รองลงมาเป็นวิสกี้ 133 ราย หรือประมาณ 37.05%
เดือนพฤษภาคม มีการเรียกตรวจ 1,348 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 114 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 78 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นเบียร์มากสุด 62 ราย หรือประมาณ 54.38% รองลงมาเป็นวิสกี้ 40 ราย หรือประมาณ 35.09%
เดือนมิถุนายน มีการเรียกตรวจ 1,307 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 130 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 99 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นเบียร์มากสุด 82 ราย หรือประมาณ 63.08% รองลงมาเป็นวิสกี้ 35 ราย หรือประมาณ 26.92%
เดือนกรกฎาคม มีการเรียกตรวจ 3,800 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 241 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 164 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นเบียร์มากสุด 132 ราย หรือประมาณ 54.77% รองลงมากเป็นวิสกี้ 100 ราย หรือประมาณ 41.49%
ส่วน 2 เดือนสุดท้ายจากการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ปรากฏว่าคนดื่มเบียร์ลดลง ทำให้ยอดคนดื่มวิสกี้เพิ่มขึ้น โดยเดือนสิงหาคม มีการเรียกตรวจ 2,182 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 171 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 127 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นวิสกี้มากสุด 88 ราย หรือประมาณ 51.46% รองลงมากเป็น เบียร์ 77 ราย หรือประมาณ 45.03%
เดือนกันยายน มีการเรียกตรวจ 2,188 ราย พบมีแอลกอฮอร์ 166 ราย มีแอลกอฮอร์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 123 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประกอบอาชีพรับจ้าง และมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งพฤติกรรมการดื่มส่วนใหญ่เป็นวิสกี้มากสุด 87 ราย หรือประมาณ 52.41% รองลงมาเป็นเบียร์ 77 ราย หรือประมาณ 46.39%
จากจำนวนคนดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่รถยนต์เพิ่มขึ้น ทำให้ตำรวจจราจรต้องทำงานหนัก เพื่อป้องกันอุบัติที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงงานอื่นๆ ที่กลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับตำรวจในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ครอบครัวทะเลาะวิวาท เยาวชนมั่วสุม รวมถึงเป็นบ่อนทำลายสุขภาพตัวเองด้วย
ดังนั้น จึงมีการเสนอให้ออกกฏหมายเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับให้เข้มงวดมากขึ้น โดยพ.ต.ท.สงคราม เสงี่ยมพักตร์ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า การผลักดันให้คนไทยดื่มสุราน้อยลงหรือดื่มให้พอดีกับสภาวการณ์ ยังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข โดยเฉพาะประชาชนที่ดื่มโดยไม่ระมัดระวัง จนส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับมีให้เห็นอยู่ทุกวัน และคงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากเรื่องนี้ยังไม่รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นแรก คือ สิ่งชักจูงใจให้คนไทยส่วนใหญ่หันมาดื่มสุรา เบียร์ แต่สิ่งที่คนไทยนิยมหาซื้อมาดื่มกันมากที่สุด ก็เป็นเครื่องดื่มจำพวกเบียร์ ที่มีราคาถูก และหาซื้อได้ง่าย ซึ่งตามนิสัยคนไทยก็ประมาณว่า "ถ้ายิ่งถูกยิ่งดี ดื่มได้หลายขวด"
ประเด็นที่สอง คือ การดื่มสุรารัฐบาลไม่ได้มีกฎหมายห้ามดื่ม ประมาณว่าใครมีเงินมากอยากจะดื่มเมื่อไหร่ก็สามารถหาซื้อดื่มได้ตามใจชอบ เพียงแต่มีการกำหนดระยะเวลาการซื้อไว้บ้างเท่านั้น แต่ก็ยังมีการลักลอบซื้อขายอยู่ดี ซึ่งควรที่จะมีการออกกฎหมายกำกับไว้ว่าหากผู้ใดที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ในอัตราที่สูงเกินมาตรากำหนดไม่ควรจะขับขี่รถให้เข้มงวดกว่าเดิม และในส่วนของประชาชนก็ควรจะปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด
"ก็เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูกหาซื้อดื่มง่าย จะซื้อดื่มเมื่อไหร่ก็ได้ จึงทำให้สถิติคนไทยที่ดื่มแอลกอฮอร์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าภายใน 14 ปี"