แอลกอฮอล์ในเหล้าเมื่อไหลผ่านจากปากแล้ว ก็จะถูกซึมซ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดภายในเวลาเพียง 5 นาที ก่อนจะส่งต่อไปยังเซลล์ เนื้อเยื่อ ของเหลวทุกแห่งในร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ ภายในเวลา 10-30 นาที ทั้งนี้จะสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดได้ภายในเวลา 5 นาทีหลังจากเริ่มดื่ม และเริ่มก่อให้เกิดผลต่ออวัยวะทั่วร่าง กล่าวคือ
ช่องปากและลำคอ เกิดอาการระคายเคืองในช่องปากและลำคอ อย่างที่นักดื่มเรียกกันว่า “เหล้าบาดคอ”
ผิวหนังและหลอดเลือด ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้เห็นชัดเจนเริ่มได้ตั้งแต่ผิวหนังหลอดเลือดที่ขยายตัวจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ส่งผลให้หน้าแดง ตัวแดง ในทางตรงข้าม ผู้ดื่มบางรายอาจมีอาการเส้นโลหิตหดตัว ทำให้หน้าซีด ซึ่งจัดเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่า
เซลล์ เมื่อการหมุนเวียนของเลือดเร็วขึ้นไปยังเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายเซลล์ทุกเซลล์จะทำงานไวขึ้นกว่าปกติจนเกินความจำเป็นในช่วงระยะสั้น ๆ ทำให้การทำงานของอวัยวะแปรปรวนไปจากปกติในเวลาต่อมา และกดการทำงานของเซลล์ให้ทำงานน้อยลง และทำลายเซลล์ไปในที่สุด
สมอง แอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงต่อสมอง ทำให้เซลล์สมองขยายตัวขึ้น เกิดอาการที่เรียกว่า “สมองบวม” นานเข้าจะเกิดการสูญเสียของเหลวในเซลล์สมอง เซลล์สมองลีบเหี่ยว เสื่อม และตายลง จากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากสุราจะพบภาวะเนื้อสมองลีบเหี่ยว มีสีซีดจาง จากการถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ได้อย่างชัดเจน
หัวใจ หัวใจจะถูกกระตุ้นให้สูบฉีดโลหิตเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจแปรปรวน สารที่มีหน้าที่สำคัญในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดต่ำลง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิต เมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มหนาขึ้น เกิดโรคหัวใจโต มีอาการหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด
กระเพาะอาหาร โรคที่พบได้บ่อยในหมู่นักดื่ม คือ โรคกระเพาะ แอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้นต่ำเพียงร้อยละ 10 จะทำให้มีการกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดแผลทั้งในกระเพาะและลำไส้ ขณะที่แอลกอฮอล์ในความเข้มข้นสูงจะทำให้เกิดอาการเยื่อกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลันเมื่อดื่มจัดติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะ อาเจียนเป็นสีดำ อุจจาระดำ อาการน่ากลัวที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ดื่มบางรายก็คือ การฉีกขาดของเยื่อหลอดอาหาร อันเกิดจากการอาเจียนหรือขย้อนอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะอาเจียนมีเลือดปนออกมาบ่อย ๆ อาจเสียเลือดมาก ต้องทำการรักษาโดยผ่าตัดเย็บรอยฉีกขาดของเยื่อบุดังกล่าว
ตับ เนื่องจากตับเป็นแหล่งสันดาปที่สำคัญของแอลกอฮอล์ ตับจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับพิษจากเหล้ามากที่สุด เซลล์ตับที่ถูกทำลายจะมีไขมันเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดการคั่งของไขมันในตับซึ่งเป็นสาเหตุแรก ๆ ของอาการตับอักเสบ ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเซลล์ตับตายลงถึงระดับหนึ่ง จะมีการสร้างพังผืดขึ้นที่บริเวณนั้นในลักษณะคล้ายแผลเป็น ทำให้เนื้อตับที่เคยอ่อนนุ่ม แข็งตัวขึ้น เกิดอาการที่เรียกว่า “ตับแข็ง” ในที่สุด
ตับเป็นเสมือนโรงงานสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย สร้างสารเคมีที่จำเป็น เช่น น้ำดี วิตามิน สารที่ทำให้เลือดแข็งตัว ทั้งยังช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย การสูญเสียเซลล์ตับทุกเซลล์เป็นการสูญเสียที่ถาวรและไม่มีการสร้างขึ้นทดแทน ความรุนแรงของโรคตับแข็งจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อตับที่สูญเสียไป ยิ่งเนื้อตับถูกทำลายมากเท่าไร โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
ระบบอวัยวะ
แอลกอฮอล์ในเหล้ามีผลทำให้เกิดพิษต่อระบบสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน ระบบประสาทต่าง ๆ ขาดการควบคุม ดังนี้
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (หน่วย : มก.% - มิลลิกรัมเปอร์เซนต์) |
ผลต่อร่างกาย |
30 มก. % |
รู้สึกสนุกสนานรื่นเริง |
50-150 มก. % |
เดินไม่ตรงทาง โซเซ เนื่องจากเสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว การตัดสินใจช้าลง สมรรถภาพในการมองเห็นลดลง |
150-300 มก. % |
สับสน ง่วงงง ซึม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ พูดไม่ชัด การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ประสานกัน |
300-500 มก. % |
เสียการควบคุมกล้ามเนื้อ การมองเห็นเลือนลาง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระบบหายใจถูกกด บางรายอาจหายใจไม่ออกและเสียชีวิต |
500 มก. % ขึ้นไป |
สภาพร่างกายวิกฤต สูญเสียประสาทสัมผัส ต่าง ๆ ไม่รู้สึกตัว หายใจช้าลง และอาจถึงแก่ชีวิตได้หากแก้ไขไม่ทัน |
ในการบริโภคเหล้ารวมไปถึงเครื่องดื่มมึนเมาต่าง ๆ ที่ปรากฏในสังคม และต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนที่นำเสนอได้จาก ประสบการณ์จริง...เรื่อง เหล้า
“.....ที่บ้านเรามีพี่ชายกินเหล้า กินทุกครั้งไม่ต่ำกว่า 5 ขวด กินแล้วชอบเปิดเพลงเสียงดัง(ดังมากๆ) จนข้างบ้านต้องออกมาบอกแม่เราว่า "บอกให้ลูกชายเปิดเพลงเบาๆหน่อย มันรบกวนชาวบ้าน" แม่เราก็บอกแล้ว แต่พี่ชายก็ไม่ฟัง เมาแล้วทำลายข้าวของ ทำลายความสัมพันธ์ ทำลายคนรอบข้างบางวันเมามากๆ ถึงกับแก้ผ้าเหลือแต่กางเกงในตัวเดียว ออกไปเดินหน้าบ้าน เราไม่อยากให้ใครรู้เลยว่า ไอ้ขี้เหล้าคนนี้แหละเป็นพี่ชายเราเอง เบื่อและเซ็งมากๆเลย ขนาดเราไม่ใช่พ่อ-แม่นะ แล้วท่านล่ะจะรู้สึกอย่างไร
มีอยู่วันหนึ่ง พี่ชายก็กินมาก มากจนต้องพ่อต้องห้าม พูดจาให้สติให้คิดบ้าง พี่ชายก็โมโห หาว่าพ่อมาดุมาด่า มาว่า .. ก็เกิดการใช้กำลังกัน พ่อก็อายุมากแล้ว60 กว่าๆแล้วด้วย ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงและผอมอีกต่างหาก ไม่รู้ว่าพี่ชายจะใช้กำลังกับพ่อทำไม พี่ชายกำหมัดและผลักพ่อล้มลง เราและพี่น้องอื่นๆก็เข้าไปห้าม พี่ชายก็แรงเยอะต้านแรงไม่อยู่ พ่อก็กระเด็นไปทางโน้นทีทางนี้ที จะตัวพ่อแดงไปหมด บางวันก็ใช้กำลังกับแม่และพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย เราคนนึงล่ะ ที่ไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เลย เมาอาละวาด ขอตังแม่จะไปซื้อเหล้า พอแม่ไม่ให้ก็ใช้กำลังอีก โวยวายเสียงดัง บางวันก็ขโมยตังแม่ไปโดยไม่บอก...
วันนี้ พ่อไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ไม่มีผู้ชายตัวผอม ไม่มีผู้ชายคนแก่อยู่ในบ้านอีกต่อไป พ่อจากไปด้วยวัย 70 ปัจจุบันนี้ เหลือแม่คนเดียว ตอนนี้แม่ก็อายุ 70กว่าแล้ว อยากให้ทุกคนลดและเลิกกินเหล้า ขยันทำงาน หันมาดูแลครอบครัวให้มากขึ้น
บางทีเราก็โมโหว่า ทำไมแม่เลี้ยงพี่ชายแบบตามใจมากไป ตอนเด็กๆพี่ชายอยากได้อะไรก็ได้ จะได้ขนมและอื่นๆเยอะกว่าพี่น้องทุกคน พอไม่ได้ก็โวยวาย - นี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีส่วนทำให้พี่ชายเป็นแบบทุกวันนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เล่าให้ฟัง แค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่า "เราไม่อยากเป็นน้องของพี่ชายคนนี้เลย" ไม่อยากให้ครอบครัวอื่นๆต้องเป็นแบบครอบครัวของเรา มันไม่มีความสุขเลยจริงๆ “
จากการสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ หากทุกครอบครัวควรเอาใจใส่สมาชิก รวมไปถึงให้ความสำคัญกับพิษภัยต่าง ๆ ของเครื่องดื่มมึนเมาที่ก่อโทษมากมาย แก่ผู้บริโภครวมไปถึงวงกว้างในระดับต่าง ๆ ของสังคม ร่วมมือกันป้องกันและกำจัดสิ่งไม่ดีนับจากเหล้า อบายมุขต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป ด้วยจากทุก ๆ ฝ่ายเป็นอย่างดีโดยเร่งด่วนต่อเนื่อง
อ้างอิง...สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
โดย.. เตชนา-อนุธิดา.