เขาขายความเมากันอย่างไร

วันที่ 31 มค. พ.ศ.2549

 

 

จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีโรง

งานผลิตเครื่องดื่มประเภทเบียร์เกิดขึ้นมามากในประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ จาก 2 โรงงานปี พ.ศ. 2535 เพิ่มเป็น 4 โรงงานปี พ.ศ. 2536 และเพิ่มเป็น 6 โรงงานในปี พ.ศ. 2537 12 โรงงานปี พ.ศ. 2539 และ 18 โรงงานปี พ.ศ. 2542

กระตุ้นการบริโภคด้วยโฆษณา

มูลค่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปี 2539 – 2545 เฉลี่ยสูงกว่าสองพันล้านต่อปี โดยในปี 2542 มีมูลค่า 1,891.7 ล้านบาท ปี 2543 มีมูลค่า 2,751.6 ล้านบาท ปี 2544 มีมูลค่า 2,191.6 ล้านบาท ปี 2545 มีมูลค่า 2,360.4 ล้านบาทงบประมาณการโฆษณาแยกตามประเภทสุรา พบว่าเบียร์มีการใช้งบประมาณสูงที่สุด รองลงมาคือวิสกี้ และบรั่นดี

ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีค่าโฆษณาสูงสุด คือ เบียร์ โดยมีค่าโฆษณาระหว่าง 1849.9 – 1339.0 ล้านบาทต่อปี ในช่วง ปี 2543 – 2545 และเพียง 5 เดือนแรกของปี 2546 (ม.ค. – พ.ค.) มีค่าโฆษณาไปแล้วถึง 692 ล้านบาท การทุ่มโฆษณาเบียร์ดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายและการดื่มเบียร์ที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยอย่างต่อเนื่อง

มีผลวิจัยในประเทศไทยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า “โฆษณา” เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ชักนำเยาวชนให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชี้ว่าสื่อที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างอิทธิพลให้เยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ โทรทัศน์และภาพยนตร์

การวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2541) พบว่า โฆษณาเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการดื่มสุราของเยาวชนวัย 15-24 ปี ในกรุงเทพฯ นอกเหนือจาก เพื่อนชวน คล้อยตามบรรยากาศในสถานศึกษา ครอบครัวแตกแยก และดื่มตามสมาชิกในครอบครัว และยังมีงานวิจัยชิ้นอื่นในปีเดียวกัน ที่ยืนยันผลในลักษณะเดียวกัน (ประสิทธิ์ โพธิอาสน์,2541) และชี้ว่าสื่อที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างอิทธิพลให้เยาวชนดื่มสุราได้แก่ โทรทัศน์ และ ภาพยนตร์

ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์สุราผสมน้ำผลไม้เข้าสู่ตลาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีการโฆษณาทางตรงและทางอ้อมที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศหญิง น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการดื่มเพิ่มขึ้น 5.6 เท่าตัวใน 7 ปี (2539-2546) ของกลุ่มหญิงวัย 15 – 19 ปี

ทำไมการลดการบริโภคแอลกอฮอล์จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

     จากเอกสารข้อเท็จจริงเรื่องแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การบริโภคแอลกอฮอล์เกินควรเป็นสาเหตุของการตายและความพิการทั่วโลก ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 4 ของการตายและความพิการทั่วโลกเกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ซึ่งมากกว่ายาเสพติดถึง 5 เท่า โดย ร้อยละ 30 ของการตายจากมะเร็งหลอดอาหาร โรคตับ โรคชัก อุบัติเหตุจราจร ฆาตกรรม และการบาดเจ็บโดยเจตนา มีสาเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงบั่นทอนสุขภาพร่างกายให้เสื่อมลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสติปัญญาและสุขภาพจิตของผู้ดื่ม และก่อปัญหาสังคมอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่
การเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่า ร้อยละ 50 ของที่เกิดทั้งหมด การก่อความรุนแรงต่อครอบครัว และ การก่ออาชญากรรม แม้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลเสียต่อสุขภาพและสังคม แต่แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยกลับสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มเฉลี่ยสูงถึง 2.6 แสนคนต่อปี

     ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2543 คนไทยบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธ์ต่อหัวเท่ากับ 13.59 ลิตร สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก โปรตุเกต สาธารณรัฐไอร์แลนด์ บาฮาม่าส์ และสาธารณรัฐเชก ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยการบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธ์ (ก่อนผสมเป็นสุราประเภทต่าง ๆ ) ของคนไทยมีอัตราเพิ่ม 0.29 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่ง คิดเป็นเท่าตัว เมื่อเปรี่ยบเทียบกับการบริโภคในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มเพียง 0.14 ลิตร ต่อคนต่อปี

     จากการรวบรวมสถิติผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนพบว่า ในภาวะปกติ ร้อยละ 26 เกี่ยวข้องกับการ “เมาแล้วขับ” และเพิ่มเป็น ร้อยละ 60-65 ในช่วงเทศกาล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้วิเคราะห์ไว้ว่า หากสามารถลดอุบัติเหตุจราจรจากคนเมาได้ร้อยละ 50 จะลดการเสียชีวิตปีละ 2,900 ราย ลดการบาดเจ็บปีละ 29,625 ราย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 13,975 ล้านบาท

     ผลการวิจัยภาคสนามของมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อปี 2546 พบว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวที่มีผู้ดื่มสุราสูงถึง 100 – 300 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ดื่มขั้นต่ำประมาณ 13 ล้านคน และในอัตราความถี่ของการดื่มประมาณสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 4.68 หมื่นล้านบาท

 

ที่มา
องค์การอนามัยโลก
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อนหญิง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022038797537486 Mins