วันที่ วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549

วันที่ 05 กพ. พ.ศ.2549

                                    

เมื่อพบหน้าใครๆ ข้าพเจ้ามักชอบตั้งคำถาม "เมื่อนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะนึกถึงอะไรในพระองค์ท่าน" ข้าพเจ้าจะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันออกไป

คนแรกตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า "ผมนึกถึงภาพในหลวงกับหยดเหงื่อ" พร้อมขยายความว่า รู้สึกประทับใจและซาบซึ้งต่อการทรงงานของท่าน พระองค์ทรงงานหนักอย่าง มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จริงของเขา เพราะเวลาพระองค์ทรงทำงาน จะทรงอย่างจริงจัง ทรงมีความประณีต สุขุม รอบคอบ จะทรงศึกษาเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียด เมื่อทรงสั่งงานใดแก่ใครไปแล้ว จะทรงตามผลอย่างใกล้ชิด เช่นเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ปลายปี 2538 ทรงมีพระราช กระแสรับสั่งให้ข้าพเจ้า ไปถ่ายรูปบริเวณ ที่มีปัญหา เช่น ในซอยต่างๆ ของถนนเจริญนคร และถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณลาดกระบัง บางกรวย บางยี่ขัน บางอ้อ บางพลัด เป็นต้น ทรงกำชับให้ไปหาสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมน้ำจึงท่วม พื้นที่บริเวณนั้นมีสภาพอย่างไร น้ำเคยท่วมมาแล้วกี่ครั้ง ระยะห่างกันเท่าไร ดูความเสียหายมีมากน้อยแค่ไหน ต้องสำรวจความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนว่าเขาต้องการอะไร และต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร ตอนนั้นข้าพเจ้าเดินลุยน้ำถือกล้องพระราชทาน มาไปถ่ายรูปสภาพน้ำท่วม พร้อมกับซักถามพูดคุยกับประชาชน ไม่มีใครทราบว่าข้าพเจ้ามาทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ให้มา เพราะทรงเป็นห่วงพวกเขา

"ท่านทรงมองการณ์ไกล" อีกคนหนึ่งกล่าว ทรงนึกถึงแต่ ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน การที่ทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลนี้เอง ในระหว่างเสด็จฯผ่านที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯงานพระราชพิธี การเสด็จฯส่วนพระองค์ หรือในการเสด็จฯแปรพระราชฐาน ทรงสังเกตภูมิประเทศที่ทรงพบ ไม่ว่าจะเป็นผืนน้ำ พื้นดิน ป่าเขา หรือแม้กระทั่งถนนหนทาง จะทอดพระเนตรลึกเข้าไปถึงสภาพที่แท้จริง รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรทั้งชาวเขาและชาวเมือง ทรงเริ่มโครงการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ เพื่อให้กินดีอยู่ดี มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขสะดวกสบาย ปลอดภัยจากอันตรายและปราศจากความเดือดร้อน บางโครงการก็เป็นโครงการของพระองค์ท่านเอง บางโครงการก็เพียงแต่ "ทรงแนะ" และโปรดเกล้าฯให้หน่วยราชการต่างๆไปดำเนินการต่อไป ทำให้เกิด "โครงการในพระราชดำริ" เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนนับร้อยๆโครงการ

สำหรับโครงการหลวงนั้น เป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ด้วยทรงต้องการให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชผักเมืองหนาว โดยช่วยเหลือแนะนำส่งเสริมอาชีพการเกษตรแก่ชาวเขา เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้มีรายได้ที่มั่นคง ไม่หากินด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายเป็นอันตรายต่อชีวิตของพวกเขาเองและเป็นภัยต่อประเทศชาติ ปัจจุบันชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพเพาะปลูกเป็นหลักแหล่ง และเป็นล่ำเป็นสัน เลิกปลูกฝิ่น หยุดทำไร่เลื่อนลอย ไม่ตัดไม้ ไม่ทำลายป่า แต่มีฐานะดีขึ้นมากกว่าเดิม

รายที่สามที่ข้าพเจ้าถาม ซาบซึ้งที่พระเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดความสุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย คำว่าพอเพียงของพระองค์ท่านนั้น ถ้าคิดให้ลึกแล้ว ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจเท่านั้นที่ต้องพอเพียง แต่รวมถึงความพอเพียงในความประพฤติ ในการปฏิบัติตนและในการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคน กล่าวคือเราต้องไม่ทำอะไรที่ "เกินไป" แต่จะต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องพอเหมาะและพอดีกับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง ทรงให้รู้จักประมาณตน ต้องไม่ทำอะไรเกินตัว ต้องประหยัดและรู้จักใช้ความรู้ความสามารถให้เต็มที่ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จและได้ประโยชน์สูงสุดในการงาน

ยามเย็นที่พระราชวังไกลกังวล เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ จะประทับพักผ่อนพระอิริยาบถริมทะเลสาบน้อย มี "ทองแดง" สุนัขไทยธรรมดาที่ทรงเก็บมาเลี้ยง หมอบอยู่แทบพระบาทด้วยความจงรักภักดี เมื่อได้ยินเสียงปลากระโดดขึ้นเหนือน้ำ ทองแดงก็จะลุกพรวดขึ้นจ้อง คอยปกป้องระวังภัย เมื่อมีแมลงบินผ่าน ก็จะไล่งับ ตัวแล้วตัวเล่า ไม่ยอมให้แมลงได้เฉียดใกล้พระวรกาย จนกระทั่งค่ำจึงทรงพระดำเนินกลับขึ้นพระตำหนัก

อีกคนหนึ่งกล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่แท้จริง" ทรงทำทุกอย่างเพื่อราษฎร แววพระเนตรเปี่ยมด้วยความเมตตา ทรงมีแต่ความนุ่มนวล พระองค์ทรงเล่าว่าเมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสอนพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ คือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และพระองค์ท่านว่า "เป็นผู้ชายต้องอ่อนโยน แต่ต้องไม่อ่อนแอ"

โปรดทำอะไรด้วยพระองค์เอง ไม่โปรดทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เช่น ไม่โปรดให้ปิดถนนหรือกั้นรถไว้นานๆ ในเส้นทางที่จะเสด็จฯผ่านข้าพเจ้าจำได้ดี วันนั้นเย็นวันที่ 29 กรกฎาคมปีนี้เอง ข้าพเจ้าอยู่ในรถซึ่งจอดนิ่งแทบไม่ขยับเขยื้อน อยู่บนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ใจก็วิตกเกรงจะไปถึงที่หมายไม่ทันเวลา วันนั้นฝนตกหนัก รถติดมาก ในเส้นทางตรงข้ามบนสะพานเดียวกัน ข้าพเจ้าเห็นรถตำรวจ 2-3 คัน นำขบวนสวนทางมา ข้าพเจ้าเพ่งมอง จึงเห็นว่าเป็นขบวนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเพียงขบวนสั้นๆ รถพระที่นั่งแล่นช้าๆ ปะปนมากับรถของประชาชนเช่นพวกเรา ไม่มีการกั้นรถปิดถนน ข้าพเจ้าขนลุกซู่ นึกถึงน้ำพระราชหฤทัย ทรงเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน ยังทรงต้องเจอรถติดเช่นเดียวกับพวกเรา

ผู้ที่ข้าพเจ้าถามรายต่อมาเป็นหญิงสาว ตอบข้าพเจ้าเมื่อได้ยินคำถามว่า "หนูนึกถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่านค่ะ" พระอารมณ์ขันนี้ ข้าพเจ้าจำได้ดีเรื่องหนึ่ง พ่อของข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่า หลายปีมาแล้วคราวเสด็จฯเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัด มีราษฎรคนหนึ่งเรียกตนเองในการกราบบังคมทูลว่า "ยาย" ทรงถามกลับว่า "ยายน่ะ อายุเท่าไหร่" "60 กว่าแล้ว" ยายกราบบังคมทูล "60 กว่าเป็นได้แค่น้า เป็นยายไม่ได้" รับสั่งต่อ (เพราะตอนนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงมีพระชนม์กว่า 70)

อีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอเล่าถึงความเฉียบ และพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่าน ที่ข้าพเจ้าประสบเองเมื่อคราวที่ทรงใช้ไปทำงานถ่ายรูปที่มหาชัย (จ.สมุทรสาคร) ระหว่างทางซึ่งใกล้จะถึงที่หมาย เกิดหิวข้าว ข้าพเจ้าจึงแวะรับประทานอาหารที่เพิงเล็กๆ ข้างทางไม่ไกลจากวัดพันท้ายนรสิงห์ จวนจะอิ่มแล้ว นึกอยากรับประทานปลาเก๋า จึงสั่งปลาเก๋าราดพริก ระหว่างรอปลาเก๋า ตาก็มองไปที่รถ ทันใดนั้นก็เห็นรถตู้บรรทุกขนมปังคันหนึ่ง พุ่งเข้าชนรถของข้าพเจ้าที่จอดอยู่อย่างแรง แล้วรถก็ตกลงไปในคูน้ำข้างทาง รถพังยับเยิน วันนั้นไปทำงานถวายต่อที่มหาชัยไม่ได้ ต้องเรียกรถอีกคันจากกรุงเทพฯให้มารับ ส่วนรถที่ถูกชนก็ต้องลากกลับ รุ่งขึ้นได้ถวายรูปรถที่พังยับเพื่อทอดพระเนตร พร้อมกับกราบบังคมทูลถามว่า สมควรจะเลิกรับประทานปลาเก๋าหรือไม่ เพราะปลาเก๋าทำให้รอดจากอุบัติเหตุ รับสั่งตอบว่า "เลิกกินตัวนั้นก็พอ"

และสำหรับตัวข้าพเจ้าเองนั้น ชื่นชมพระองค์ท่านอย่างยิ่งที่ทรงใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องชัดเจน ไม่เคยได้ยินรับสั่งภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ไม่เคยรับสั่งภาษาไทยคำภาษาฝรั่งคำเลย ทั้งๆ ที่ทรงคล่องทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ด้วยทรงศึกษาในต่างประเทศมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษา แม้เมื่อทรงเขียนภาษาไทย ตัวเลขที่ทรงใช้ก็เป็นเลขไทย

รายสุดท้ายที่ข้าพเจ้าถาม เปรียบได้อย่างชัดเจนจับใจ "ผมนึกถึงพ่อครับ"

ในนามประชาชนของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาท ถวายพระพร ให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ขออย่ามีสิ่งใดทำให้ต้องทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัย เพื่อทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงข้าพระพุทธเจ้าไปนานแสนนาน.

 

โดย ม.ร.ว.ดัจฉราพิมล ตุงคนาค

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013977682590485 Mins