ครอบครัวได้รับอะไรจาก “เหล้า”

วันที่ 07 กพ. พ.ศ.2549

                               

     ครอบครัวไม่เพียงเป็นหน่วยสังคมแรกที่มีอิทธิพลต่อการทำให้คนดื่มหรือไม่ดื่มเหล้า แต่ครอบครัวยังเป็นหน่วยสังคมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการดื่มของคนในบ้าน

ดื่มเหล้าเพิ่มค่าใช้จ่ายในบ้าน

     ในสภาพสังคมปัจจุบันแทบทุกครอบครัว สามี ภรรยาต่างก็ต้องช่วยเหลือกันทำงานเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็มีอยู่มากมาย จนต้องทำงานกัน “ตัวเป็นเกลียว” แทบทุกบ้านอยู่แล้ว ยิ่งถ้าหากสมาชิกคนใดคนหนึ่งในบ้านริอ่านเป็นนักดื่ม ก็จะเพิ่มรายจ่ายขึ้นมากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และซ้ำร้ายยังมีโทษอื่นๆตามมาอีกร้อยแปดพันเก้า

      เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย ถ้าพ่อหรือแม่ดื่มหล้า แน่นอนว่าครอบครัวย่อมหาความสงบได้ยาก เพราะเมื่อเหล้าเข้าปากสติยั้งคิดก็ไม่เต็มร้อย ความอดทนต่อสิ่งต่างๆลดลง การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้ง่าย เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ มีการทุบตีทำร้ายกันจนบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ก็คือลูก ซึ่งเมื่อเติบโตไปในวันข้างหน้า เด็กจะเกิดความเคยชินกับพฤติกรรมทำนองนี้และดูดซับความรุนแรงเอาไว้ในบุคลิกภาพของตนเองเหล้าทำลายอนาคตครอบครัวทุกด้านจากงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง เรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”(2545)พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว 3 ด้าน คือ

1.ปัญหาสุขภาพ เช่น สมรรถภาพของร่างกายและจิตใจลดลง เพราะบาดเจ็บตามร่างกายจากการทุบตี คิดมาก อารมณ์เสียง่าย ซึมเศร้า คิดสั้น ประสิทธภาพการทำงานลดลง เป็นโรคต่างๆ

2.ปัญหาการใช้ความรุนแรง เช่น เกิดการทะเลาะเบาะแว้งด่าว่ากันด้วยถ้อยคำหยาบคายระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน เกิดการละเมิดสิทธิทางเพศ และทำลายสิ่งของ

3.ปัญหาทางเศรษฐกิจ ครอบครัวจะเริ่มมีปัญหาเรื่องรายได้ ตั้งแต่ระดับไม่มีเงินเก็บ รายได้ไม่พอใช้จ่าย จนกระทั่งถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินในที่สุด

ถ้าพ่อแม่ดื่ม “ลูกเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า”

     การเผชิญหน้ากับการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพ่อแม่จาการมึนเมา ทำให้เด็กเกิดการตึงเครียดด้านอารมณ์ เกิดความรู้สึกหวาดกลัว ตกใจ โดดเดี่ยว ซึมเศร้า ไม่สบายใจ ขณะเดียวกันพ่อแม่ที่มีความเครียดก็จะไม่

สามารถตอบสนองทางด้านอารมณ์ให้กับเด็กได้

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า เด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มจะเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าครอบครัวทั่วไป และเด็กจะมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ช้า มีปัญหาเรื่องการเรียน

ผลวิจัยภาคสนามของมูลนิเพื่อนหญิง เมื่อปี พ.ศ.2546 พบว่า ค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครัวที่มีผู้ดื่มสุราสูงเฉลี่ยประมาณวันละ 100-300 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณจากจำนวนผู้ดื่มขั้นต่ำประมาณ 13 ล้านคน ในอัตราความถี่ของการดื่มประมาณสัปดาห์ละครั้ง คิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 4.68 หมื่นล้านบาท ในแต่ละปี ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้างโรงเรียนได้ประมาณ 7,000-20,000 โรง

คุณได้ประโยชน์อะไรบ้าง “ถ้าดื่มน้อยลงหรือเลิกดื่ม”

1.มีเวลามากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆกับครอบครัว

2.ทำให้ปัญหาในครอบครัวลดลง

3.เป็นตัวอย่างทีดีต่อผู้อื่น

4.แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

5.นอนหลับดีขึ้น

6.ความจำดีขึ้น

7.น้ำหนักลดลง รูปร่างดีขึ้น

8.ไม่มีอาการเมาค้าง

9.ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้าย เช่น ตับแข็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม เป็นต้น

10.ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ (ของตัวเองและผู้อื่น) จาการขับรถ

11.มีเงินเก็บมากขึ้น

ฯลฯ

ทุกคนเลิกดื่มได้ ถ้าอยากเลิก

1.มีความดังใจแน่วแน่(คือทางสู่ความสำเร็จ)

2.มีเป้าหมายชัดเจน(ทำเพื่อใคร เพราะอะไร)

จากนั้น

3.ทบทวนเหตุผลต่างๆก่อนลด ละ เลิกดื่ม(ตลอดไป)

4.ชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสียของเหล้า

5.เปรียบเทียบชีวิต ระหว่างที่ดื่มและไม่ดื่มเหล้า

6.นึกถึงความปรารถนาดีของคนรอบข้าง

7.นึกถึงภารกิจและอนาคตตนเอง

8.นึกถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัว

9.แล้วสัญญากับตนเองและสัญญากับคนที่รักว่าจะเลิกดื่ม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซ้ำร้ายยังทำร้ายครอบครัวและมีผลกระทบต่อสังคมในหลายด้าน จึงขอฝากบอกพ่อแม่นักดื่มทั้งหลายที่เผลอใจไปเกี่ยวข้อง หรือยึดเอาเหล้ามาเป็นเพื่อนคลายเครียด ค่อยๆลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง หรือหากใจแข็งพอก็เลิกอย่างเด็ดขาดไปเลย เพื่อครอบครัวที่แข็งแรงมีความอบอุ่น เพื่ออนาคตที่สดใสของลูกที่จะเจริญเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีต่อสังคม เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเลิกดื่มได้ตลอดไป .

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0023658355077108 Mins