พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(ตอนที่1)

วันที่ 06 ธค. พ.ศ.2548

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(ตอนที่1)

           เป็นที่ยอมรับกันโดยพสกนิกรประชาชนคนไทยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาญาณ ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพในวิชาการแขนงต่างๆ มากมายหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นวิชาการวิศวกรรม เกษตรกรรม กสิกรรม ชลประทาน แผนที่ การสื่อสารโทรคมนาคม รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อุตุนิยม ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ การทหาร กีฬาแข่งเรือใบ แบดมินตัน ดนตรี ฯลฯ ซึ่งในโบราณกาลนั้น รัชทายาทของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ในอินเดียจะต้องไปศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยตักสิลา ซึ่งเป็นตลาดวิชา ใช้เวลาเรียนถึง ๘ ปี มีหัวข้อวิชา ๑๘ หัวข้อ เสียค่าเล่าเรียนแพง คิดเป็นเงินตราปัจจุบันหลายล้านบาทต่อหลักสูตร

 

          แต่พระองค์ท่านมิได้มีโอกาสดังเช่นรัชทายาทเหล่านั้น เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่เมื่อมีเหตุการณ์มาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพระองค์ท่านโดยฉับพลัน โดยสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จสวรรคตก่อนกาลสมัยอันควร พระองค์ท่านจึงต้องเสด็จขึ้นครองราชย์ ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้นยังทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษาเท่านั้น แผนการศึกษาเล่าเรียนของพระองค์ท่านจึงต้องเปลี่ยนแปลงทิศทางไป และประการสำคัญ คือ ไม่สามารถทรงเข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาใดๆ ได้ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและได้ทรงเสด็จออกผนวช มีฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” ที่วัดบวรนิเวศฯในระยะเวลาอันสั้น ตลอดเวลาที่ทรงผนวช และหลังจากที่ได้ลาสิกขาสละสมณเพศแล้ว ได้ทรงศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเข้าพระทัยในหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกและที่ได้ทรงสดับตรับฟังจากพระภิกษุสงฆ์ ครูบาอาจารย์อย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้ทรงน้อมนำเอาหลักธรรมต่างๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้า เพื่อพัฒนาพระปัญญาของพระองค์ท่านอยู่เป็นประจำ การที่ได้ทรงศึกษาปฏิบัติธรรมดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้พระองค์ท่านประสบความสำเร็จในวิชาการทุกแขนงที่ทรงตั้งพระทัยไว้

 

        องค์ธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสำเร็จในวิชาการแขนงต่างๆ ได้แก่ “อิทธิบาท ๔” คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา องค์ธรรมนี้ได้มีการกล่าวถึง มีการอบรมสั่งสอนในห้องเรียนหลักสูตรสามัญในโรงเรียนต่างๆ ผมเชื่อว่า ผู้อ่านคงเคยได้ยินได้เล่าเรียนมาแล้ว บางท่านคงยังจำได้ ระลึกได้แต่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจความหมายขององค์ธรรมนี้อย่างแท้จริง

 

อิทธิบาท ๔ เป็นองค์ธรรมง่ายๆ เป็นองค์ธรรมสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้การดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำงานบรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้ ประกอบด้วย

๑. ฉันทะ คือ ความยินดีพอใจใฝ่ที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นบุญเป็นกุศลไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน การทำงานทั้งที่เป็นงานใหม่ และการแก้ไขอุปสรรคปัญหาของงานเก่าที่สะสมคั่งค้างอยู่ให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่วางไว้

๒. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามที่จะกระทำสิ่งที่ตนมีความยินดีพอใจให้สำเร็จลุล่วงไปตามที่ตนได้ตั้งใจปรารถนาไว้ วิริยะนี้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติติดตามมาพร้อมกับความฉันทะ

๓. จิตตะ คือ ความสนใจเอาใจใส่ในเรื่องราวข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ตนกำลังพอใจใฝ่ศึกษา ซึ่งจะหาได้จากการที่ได้ยิน ได้ฟังจากกัลยาณมิตร คือ ครูบาอาจารย์ ผู้ที่ทรงคุณวุฒิต่างๆ ทั้งทางตรง หรือ ผ่านทางสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ การอ่านศึกษาจากหนังสือตำราต่างๆ ทั้งที่มีอยู่ในห้องสมุด ผ่าน Internet แล้วจดจำเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ให้แม่นยำฝังใจ เมื่อได้ยินผู้ใดกล่าวถึงเรื่องนั้น ก็ระลึกได้ฉับพลัน สามารถเรียกความจำมาคุยสนทนากันได้อย่างติดปาก จิตตะนี้จะมีพลังมากเมื่อจิตใจอยู่ในภาวะที่เป็นสมาธิ

๔. วิมังสา คือ การเรียกข้อมูลที่รวบรวมไว้ในหน่วยความจำของสมอง ซึ่งพระท่านเรียกว่า “สัญญา” มาวิเคราะห์ทดลองปฏิบัติค้นคว้าหาความจริงโดยนำเอาเหตุมาวิเคราะห์หาผลด้วยตนเองจนเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ตนกำลังสนใจอยู่อย่างลึกซึ้ง

        ผู้ที่เจริญในอิทธิบาท ๔ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จะมีอายุยืนนานได้ชั่วอายุกัป (อายุกัปของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี) ผู้ใดก็ตามไม่เจริญในอิทธิบาท ๔ แล้วอย่าหวังเลยว่า จะประสบความสำเร็จในเรื่องที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานตั้งใจปรารถนาไว้

 

        การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประสบความสำเร็จในวิชาการแขนงต่างๆ นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พระองค์ท่านได้ยึดถือปฏิบัติตามองค์ธรรม คือ อิทธิบาท ๔ อย่างจริงจังต่อเนื่องซึ่งผมขอยกตัวอย่างมาเพียงหนึ่งเรื่องคือ พระราชอัจฉริยภาพในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เนื่องจากผมได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในด้านนี้อย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ จึงได้มีโอกาสรับทราบว่า พระองค์ท่านทรงประสบความสำเร็จในวิชาการแขนงนี้ได้อย่างไร

 

         เหตุปัจจัยที่เกื้อกูลให้พระองค์ท่านทรงประสบความสำเร็จในด้านการสื่อสารอย่างแท้จริง เนื่องจากได้ทรงยึดหลักธรรม “อิทธิบาท ๔” ซึ่งได้แก่

๑. ฉันทะ : ความพอพระทัยและสนพระทัยในกิจการวิทยุสื่อสารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงตระหนักในความสำคัญของการสื่อสารทางวิทยุว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พระองค์ท่านรับทราบข่าวสารความทุกข์สุขของพสกนิกรได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่านจะทรงสั่งการให้หน่วยงานในพระองค์ เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯลฯ ดำเนินการช่วยเหลือไปก่อนให้ทันต่อเหตุการณ์

๒. วิริยะ : ธรรมฉันทะดังกล่าวในข้อ ๑ จึงกระตุ้นให้ทรงมีความเพียรพยายามศึกษาค้นคว้าให้เกิดความรู้ความเข้าใจ รู้จักธรรมชาติของคลื่นความถี่วิทยุซึ่งเป็นแก่นแท้ของวิชาการแขนงนี้ให้มากที่สุด รวมทั้งยังทรงเพียรพยายามศึกษาติดตามวิวัฒนาการเทคโนโลยีของเครื่องมืออุปกรณ์ในระบบวิทยุสื่อสารที่ทรงใช้งานอยู่อย่างใกล้ชิดเพื่อนำมาพัฒนาระบบที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

๓. จิตตะ : ทรงใฝ่พระทัยสดับตรับฟังความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับกิจการวิทยุสื่อสารจากผู้ที่ทรงคุณวุฒิในวิชาการแขนงนี้จากสถาบันต่างๆ เก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการสื่อสารโทรคมนาคมจากหนังสือ ตำรา และจากสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ บทความ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประกอบการศึกษาด้วยพระองค์เองเป็นการพัฒนาพระปัญญาคุณ

๔. วิมังสา : ทรงหมั่นสืบสวนทดลองค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย หาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของคลื่นความถี่วิทยุด้วยพระองค์เองมาโดยตลอดบนรากฐานข้อมูลที่ได้ทรงสะสมไว้ดังกล่าวในข้อ ๓ จนกระทั่งได้คำตอบที่ถูกต้องอย่างแน่ชัด

 

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดทุกประเภทที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่ไม่มีใจครอง ได้แก่ แหล่งน้ำ ป่าไม้ แผ่นดิน พืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งปวง และทรัพยากรที่มีใจครอง ได้แก่ มนุษย์และสัตว์โลกต่างๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ผู้ที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ก็คือ มนุษย์ หากไม่รู้ไม่เข้าใจในธรรมชาติที่แท้จริง ย่อมเป็นเหตุให้ธรรมชาตินั้นถูกทำลายไป สร้างผลให้เกิดภัยพิบัติ สร้างปัญหาให้แก่ธรรมชาติส่วนรวมคือโลกด้วย เสมือนกับไฟ ถ้าเรารู้จักใช้ก็นำมาใช้ในการประกอบหุงหาอาหาร ใช้เป็นพลังงานได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราใช้ไม่เป็น ไฟก็จะเผาผลาญทำลายทุกอย่าง ไม่ใช้เฉพาะบ้านเรือน แต่ลุกลามไปทั่วชุมชนสังคม สร้างความเดือดร้อนไปอย่างกว้างขวางได้ ป่าไม้ก็เช่นกัน ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้ความร่มเย็นและเอื้ออำนวยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่ากับความเจริญของพืชพรรณไม้ดอกผล ทั้งเป็นเครื่องควบคุมป้องกันกระแสของน้ำป่าที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฝนตกมากเกินไป ถ้าเราไม่รู้จักอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ให้ถูกต้องตามหลักวิชา จะเกิดอุทกภัยพิบัติ เกิดน้ำป่าไหลหลาก ท่วมทำลายอาคารบ้านเรือน สูญเสียทั้งทรัพย์สมบัติและชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก

        ดังกล่าวข้างต้น ทรัพยากรที่มีใจครอง คือ มนุษย์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นผู้ควบคุมกลไกการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018516302108765 Mins