" ในยามสงบ ลูกชายคือผู้ฝังศพพ่อ ในยามสงคราม พ่อคือผู้ฝังศพลูกชาย"
เฮโรโดตัส ปราชญ์เรืองนามของโลก เคยกล่าวสะท้อนผลของสงครามที่ปลิดชีวิตคนรุ่นหนุ่มให้จากไปก่อนวัยอันควร มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล แต่ถ้าท่านนักปราชญ์อยู่ต่อมาจนได้เห็นโลกยุคใหม่ที่หมุนเร็วปรื้ออย่างทุกวันนี้ละก็ ท่านอาจต้องเปลี่ยนประโยคท้ายเสียใหม่ว่า
"…ในยุคโลกหมุนเร็ว พ่อแม่เป็นผู้ฝังศพลูกวัยเยาว์"
เพราะว่า ในโลกปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่ปลิดชีวิตคนวัยเยาว์ดุจใบไม้ร่วงก่อนวัยอันควร กลายเป็นเรื่องของ อุบัติเหตุจราจร ตัวเลขจากการศึกษาวิจัยที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องว่า วัยรุ่นของโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงสุด ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ลองมาดูในบ้านเราบ้าง…ร้อยละ 45 และ 55 ของการตายในวัยรุ่น 10-14 ปี และ 15-19 ปี มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และทุกๆ ปี เราจะสูญเสียวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จากอุบัติเหตุยานยนต์ทางบกถึง 2,000 ราย สถิติเหล่านี้ไม่ได้นำความสูญเสียมาสู่เฉพาะพ่อแม่ พี่น้องและคนในครอบครัวเท่านั้น มองภาพรวมแล้วจะเห็นว่าสังคม และโลกกำลังสูญเสียทรัพยากรที่ประเมินค่ามิได้ไปเป็นจำนวนมาก
ทำไม อะไร ทำให้วัยรุ่น "เสี่ยงตาย"
วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบความตื่นเต้น ท้าทาย แต่มีอะไรอีกไหมที่นำพาวัยรุ่นให้มีพฤติกรรมเสี่ยงตาย แพทย์หญิงเบญจพร ปัญญายง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต ในฐานะจิตแพทย์ ได้แจกแจงถึงปัจจัยต่างๆ ที่นำวัยรุ่นไปสู่ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้มากและรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ ว่า พัฒนาการตามวัยอย่างแรกสุดเป็นเรื่องของอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน ถ้าวัยรุ่นไปเจอกลุ่มเพื่อนที่ชอบดื่มเหล้า ชอบขับรถประลองความเร็ว แล้วรู้สึกว่าไปกับกลุ่มนี้ได้ดี ก็จะไปด้วยกันในลักษณะชวนกันไปสนุกต่อมาคือความรู้สึกของวัยรุ่นที่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ การขับรถได้เองทำให้เขารู้สึกว่าเขาโตแล้ว เก่งแล้ว ควบคุมชีวิตตัวเองได้ เด็กวัยรุ่นจึงมักอยากขับรถเป็นและเลยไปถึงขั้นอยากมีรถเป็นของตัวเอง จุดสำคัญคือกำลังคิดว่าควบคุมตนเองได้ เมื่อทำเรื่องเสี่ยงต่างๆ ก็คิดว่าไม่เสี่ยงหรอก จะลองยาเสพติดก็คิดว่า เลิกได้ ไม่ติดหรอก หรือจะดื่มเหล้าก็คิดว่าไม่เมาหรอก เพื่อนๆ ก็ทำกัน หรือผู้ใหญ่ก็ทำกัน ไม่เห็นเป็นไร
นอกจากนี้ ความคิดในเชิงต่อต้านที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ยังผลักดันให้วัยรุ่นพยายามแยกตัวห่างจากครอบครัว อยากเป็นอิสระจากการควบคุมของพ่อแม่ จึงอยากแยกจากพ่อแม่ ท้าทายและต่อต้านอำนาจของพ่อแม่ มีความรู้สึกตื่นเต้นหวาดเสียว เร้าใจเมื่อได้ทำผิดกฎ เพราะรู้สึกว่าเป็นรสชาติของชีวิตความอยากเก่ง อยากเด่น อยากรู้ อยากลอง อยากเท่ กว่าชาวบ้าน ก็เป็นตัวกระตุ้นอีกอันหนึ่ง ที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกันคำอธิบายนี้สอดคล้องกับข้อมูลของคุณหมออดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ แห่งศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่บอกว่า "วัยรุ่นมีแรงผลักดันภายในให้เกิดความต้องการ ที่จะเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น ซึ่งทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายทั้งในสถานการณ์การขับขี่ปกติ เช่น การใช้ความเร็วสูง การแซงกระชั้นชิด การเลี้ยวตัดหน้า ฯลฯ และในสถานการณ์ที่ท้าทายต่างๆ เช่น การขับแข่งขัน การขับโลดโผน การขับกลางคืน ฯลฯ"
ปมปัญหาทางจิตวิทยาบางอย่าง ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของวัยรุ่นยังอาจมาจากแง่มุมทางจิตวิทยาบางอย่าง แม้จะมีสัดส่วนน้อยกว่าความคึกคะนองตามวัยก็ตาม ซึ่งคุณหมอเบญจพรได้อธิบายว่า" บางทีก็เป็นบุคลิกภาพจำเพาะของคนบางคนที่ชอบความเสี่ยง ความตื่นเต้น ท้าทาย และบางคนอาจมีปัญหาบุคลิกภาพ มีภาวะผิดปกติทางจิตบางอย่าง เช่น ซึมเศร้า ก็ส่งผลให้ทำอะไรสุดโต่ง สุดขั้ว รุนแรง หรือแยกตัวได้"มีงานวิจัยที่พบว่า วัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้ามักเกิดจากปัญหาการปรับตัว ปัญหาบุคลิกภาพ ปัญหาครอบครัว นำไปสู่การทำอะไรเสี่ยงๆ แบบที่เรียกว่า Suicidal Behavior หรือพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองเสมือนการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่งนอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มองข้ามไม่ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น…
ความไม่พร้อมทางกายภาพวัยรุ่นเป็นนักขับมือใหม่ ขาดประสบการณ์ในการขับขี่ เป็นวัยที่มีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองอันตรายได้น้อย ความสามารถในการควบคุมเครื่องยนต์ไม่ดี การคาดประมาณความเร็ว การกะระยะในการหยุดยังไม่เหมาะสม และยังมีความสามารถในการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่ดีพอ
สิงห์มอเตอร์ไซค์วัยรุ่นมักชอบใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ เพราะให้ความรู้สึกเป็นอิสระ จากการศึกษาพบว่า วัยรุ่นร้อยละ 61.2 เริ่มขับขั้นเมื่ออายุน้อยกว่า 18 ปี การขับขี่จักรยานยนต์ถือว่าเป็นการขับขี่พาหนะแบบไร้สิ่งป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและตายสูงกว่าการใช้รถยนต์
เมินหลัก "ปลอดภัยไว้ก่อน"วัยรุ่นไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่จักรยานยนต์ และการใช้เข็มขัดนิรภัยในการขับขี่รถยนต์
"เมาแล้วขับ"วัยรุ่นมักมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาก่อนการขับขี่
พ่อแม่ไม่อยาก "หัวใจสลาย" ทำไงดี
พ่อแม่ไม่เพียงหัวใจสลายเมื่อลูกรักดังดวงใจเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ บางคนยังโทษตัวเองที่ตามใจลูก หากย้อนวันเวลาได้ เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่รายใดจะยอมให้ลูกวัยรุ่นขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์ แต่ก็นั่นแหละ การรับมือการอ้อนวอน การ "ตื้อ" ของวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องง่ายคุณหมอเบญจพรมีคำแนะนำวิธีรับมือกับการ "ตื้อ" ที่ได้ผล และไม่รุนแรงถึงกับหักด้ามพร้าด้วยเข่าอย่างนี้ต่อรองกับลูก ว่าต้องรอให้ถึงวัยที่รับผิดชอบตัวเองได้ มีรายได้ หรืออย่างน้อยถึงวัยที่กฎหมายอนุญาตให้มีใบขับขี่ คืออายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปก่อน จึงจะอนุญาตให้ขับรถ หรือเริ่มเรียนขับรถในกรณีที่ลูกถึงวัยและมีความพร้อมที่จะขับรถได้แล้ว ก็ให้ลูกไปเรียน และสอบใบขับขี่ แล้วมาขับรถให้พ่อแม่ที่สำคัญ ควรกำหนดกฎเกณฑ์หรือกติกากับลูก และคุยกับลูกเรื่องนี้ให้ชัดเจน เช่น ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ห้ามขับรถเวลาเมา ห้ามขับตอนกลางคืน ไม่อนุญาตให้ขับรถไปงานเลี้ยงสังสรรค์ ฯลฯ หากลูกทำผิดกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย พ่อแม่ก็มีสิทธิ์ยึดรถจากลูกได้ หรือมีการกำหนดให้ลูกต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถ ไม่ว่าจะเป็นเพียงบางส่วน หรือทั้งหมดก็ตามพูดคุยถึงกฎความปลอดภัยต่างๆ เช่น การใช้หมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย เมาไม่ขับ ฯลฯ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ในบ้านต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ทั้งเรื่องความระมัดระวังในการดื่มสุรา และการขับรถด้วยความไม่ประมาท
การป้องกันและลดอุบัติเหตุในวัยรุ่นจะเป็นจริงได้ คุณหมอกล่าวว่าต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายประกอบกัน พ่อแม่ต้องมีวินัยกับลูก รักลูกให้ถูกวิธี เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้มงวดในการจับเมื่อเด็กทำผิด เด็กเองก็ต้องเรียนรู้ถึงความเสี่ยงและเรียนรู้เรื่องกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องในการขับขี่ยวดยานอย่างน้อยที่สุด ในอันดับแรกเด็กต้องสอบใบขับขี่ให้ผ่านอย่างถูกต้องก่อน
เข้าใจวัยซ่าและรักลูกอย่างถูกวิธี
ท้ายที่สุดคุณหมอย้ำว่า อย่าลืมหัวใจสำคัญคือพ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศอบอุ่นในครอบครัว เพราะเด็กที่มีความอบอุ่นจะไม่เตลิด และต้องมีความเข้าใจว่า ลูกเติบโตและมีพัฒนาการตามวัยเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อจะได้หาวิธีรับมือ ฉุดรั้งความคึกคะนองตามวัย อย่างเช่น ดูแลเรื่องการคบเพื่อน สอนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามเพื่อน ชักจูงลูกให้นำพลังวัยรุ่นไปทำกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นดนตรี กีฬา ปลูกฝังความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ฯลฯเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการปลูกฝังและสร้างเสริม หากทำได้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะช่วยฉุดรั้งความคึกคะนองในช่วงวัยรุ่นได้มากแม้ "อุบัติเหตุ" จะหมายถึงเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด แต่ถ้าพ่อแม่และคนในครอบครัวมองเห็นต้นสายปลายเหตุ ก็จะสามารถช่วยกันลด "โอกาส" หรือ "ปัจจัยเสี่ยง" ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในวัยรุ่นได้มาหยุดปรากฏการณ์หัวใจสลายเพราะใบไม้ร่วงก่อนกาลอันควรกันเถอะค่ะ…
[ ที่มา.. life & family ปีที่ 8 ฉบับที่ 88 กรกฎาคม 2546 ]