“สรรพสามิต” เอาจริง! 1 มกราคม 2549 ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศหมื่นแห่งห้ามขายเหล้า-เบียร์ ส่วนร้านค้าปกติห้ามขายหลังเที่ยงคืน
นายอุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ได้ลงนามในประกาศกระทรวงการคลังเรื่องข้อกำหนดการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 โดยสั่งห้ามไม่ให้ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน สถานศึกษา และศาสนสถาน จำหน่ายสุรารวมไปถึงเบียร์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว กรมสรรพสามิตจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้กับร้านค้าในปั๊มน้ำมันประมาณ 1 หมื่นราย จากใบอนุญาตทั้งหมด 5.8 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งปกติแล้วกรมสรรพสามิตจะมีการต่ออายุให้ในเดือนธันวาคมของทุกปี
“จะประสานกระทรวงมหาดไทยเพื่อตรวจสถานประกอบการที่ฝ่าฝืน โดยจะจับกุมและดำเนินคดี นอกจากนี้ อาจจะขอให้กระทรวงมหาดไทยถอนใบอนุญาตสถานประกอบการน้ำมัน หากไม่ได้รับความร่วมมือ” นายอุทิศ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ออกประกาศกำหนดการขายสุราใหม่ โดยกำหนด ให้ขายได้ 2 ช่วงเวลาเหมือนเดิม คือตั้งแต่ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. จากเดิมที่ให้ขายได้ 17.00-02.00 น.
นายประสิทธิ ฉกาจธรรม รองผู้จัดการทั่วไป สำนักงานประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า หากหน่วยงานภาครัฐออกมาตรการที่ชัดเจนและให้ร้านค้าแต่ละแห่งปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในส่วนของร้านค้าสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ก็พร้อมปฏิบัติตาม ปัจจุบัน เซเว่นฯ มีสาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. ทุกสาขาทั่วประเทศ และมีแผนเปิดสาขาใหม่ร่วมกับ ปตท.เช่นกัน
“หากนโยบายนี้ใช้จริงในปีหน้าอาจไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายนัก เพราะเป็นสินค้ารองรับเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ภายในร้านเซเว่นฯ ยังมีสินค้าอื่นๆ ให้บริการอีกเป็นจำนวนมากตามความ ต้องการของลูกค้าที่ในปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม” นายประสิทธิ กล่าว
แหล่งข่าววงการร้านค้าปลีกหรือมินิมาร์ท กล่าวว่า ภาครัฐต้องการเข้ามาจัดระเบียบและป้องปรามการจำหน่ายสินค้ากลุ่มสุราและบุหรี่ ภายในร้านค้าสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันจริงจังมากขึ้น หลังออกกฎหมายให้ร้านค้าสะดวกซื้องดจำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ หลัง 24.00 น. มาก่อนหน้านี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคบางกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นยอดขายอยู่ที่ประมาณ 20-30% ของจำนวนสินค้าเบ็ดเตล็ดทั้งหมดภายในร้าน
เหล้า สาเหตุการตาย-พิการของคนไทยมากสุด
สธ.ชี้ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการตายและพิการกว่ายาเสพติดชนิดอื่นหลายเท่าตัว ระบุร้อยละ 30 ตายจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคตับ โรคชัก อุบัติเหตุจราจรจากเมาแล้วขับ มากกว่าการฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย อีก 1 ใน 3 มีปัญหาทางสุขภาพจิต ขณะนี้มีคนไทยอายุ 11 ปีขึ้นเป็นนักดื่มเกือบ 19 ล้านคน เร่งหามาตรการควบคุมเพื่อคุ้มครองคนหมู่มาก เตรียมออกกฎหมายควบคุมการบริโภคสุราของไทย ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การขาย การบริโภค การจำกัดพื้นที่ดื่ม การโฆษณา การลด-บำบัดนักดื่ม และบทลงโทษ
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้านกฎหมายคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาครวม 90 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและทันต่อสภาพสังคมและสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
นางสุดารัตน์ กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ต่อปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 แสนคน บริโภคเฉลี่ยเกือบคนละ 42 ลิตรต่อปี จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พบว่าคนไทยดื่มสุรา 18.61 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป จัดอยู่ในอันดับ 5 ของโลก
จากการวิเคราะห์ความรุนแรงของการดื่มสุราพบว่า การดื่มสุราเป็นสาเหตุการตายและพิการมากกว่ายาเสพติดถึง 5 เท่าตัว โดยร้อยละ 30 ตายจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคตับ โรคชักอุบัติเหตุจราจรจากเมาแล้วขับ การฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย อีก 1 ใน 3 มีปัญหาทางสุขภาพจิต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นรูปธรรม
นางสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุราของไทยกับต่างประเทศเช่นสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย พบว่าต่างประเทศมีกฎหมายควบคุมตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย มาตรการภาษี การควบคุมการบริโภค การจำกัดพื้นที่ในการบริโภค การจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การลดการบริโภคและการบำบัดผู้ติดสุรา
ซึ่งในส่วนกฎหมายไทยยังต้องปรับปรุงความเข้มข้นอีกหลายประการ ทั้งในด้านการควบคุมการผลิต การจำกัดพื้นที่ในการบริโภคแอลกอฮอล์ ซึ่งยังไม่มีและไม่มีมาตรการในการลดการบริโภคและการบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ รวมทั้งการกำหนดเวลาในการจำหน่ายสุราของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ก็ยังไม่สอดคล้องกัน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 36 (พ.ศ.2504) ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 กำหนดขายได้ 11.00-14.00 น.และ 17.00-02.00 น. ขณะที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 (พ.ศ. 2515) กำหนดขายได้เวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น. จึงทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างกฎหมายว่าด้วยการควบคุมและการคุ้มครองผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีสาระสำคัญคร่าว ๆ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตทั้งเรื่องมาตรฐานและระดับแอลกอฮอล์และคุณภาพ
การควบคุมการขาย การควบคุมการบริโภค ได้แก่ ห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์และผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมา การห้ามดื่มสุราในสถานศึกษา วัด บนทางหลวงหรือสถานที่ที่ประกาศ โดยทางการมาตรการลดการบริโภค ได้แก่ นำเงินภาษีที่เก็บได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการลดการบริโภค และกำหนดมาตรการในการบำบัดผู้ติด รวมทั้งการกำหนดการลงโทษให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดทั้งในทางปกครองและทางอาญา
ที่มา
หนังสือผู้จัดการออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548
ที่มา
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต