เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

วันที่ 30 ธค. พ.ศ.2548

เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 

กรณีศึกษาตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า - ปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


ผลสำรวจโดยสรุป

         แหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนของประเทศเสี่ยงต่อการหลงผิดใช้ความรุนแรงก่ออาชญากรรมทั้งสิ้น หากปัญหาไม่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ยากที่บุคคลเหล่านั้นจะเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง การที่มีกระแสแนวทางควบคุมสถานบันเทิงและร้านจำหน่ายเหล้าบุหรี่ รวมทั้งขจัดแหล่งอบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชนให้หลงผิดจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตื่นตัวหาทางเร่งดำเนินการ

 

          สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ทำการวิจัยภาคสนามหาข้อมูลเชิงสถิติศาสตร์เพื่อประเมินตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อการลดทอนคุณภาพของเยาวชนไทย ด้วยการสำรวจประสบการณ์ ทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับแหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดรอบๆ สถาบันการศึกษา เพื่อสำรวจกิจกรรมของนักเรียน/นักศึกษาที่กระทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสำรวจแหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดรอบสถานบันการศึกษาและสำรวจความยาก/ง่ายในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขในบริเวณที่ใกล้เคียงกับสถานศึกษา

 

          โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง "โครงการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังรักษาคุณภาพเยาวชนไทยกับปัจจัยเสี่ยงต่ออบายมุขและสิ่งเสพติดรอบสถาบันการศึกษา: กรณีศึกษาตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า - ปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจวันที่ 10-23 กรกฎาคม 2548 ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียน / นักศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายหรือเทียบเท่า - ปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่างได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ จำนวน 2,743 ตัวอย่าง พบว่า ผลวิจัยพบว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.5 ติดตามข่าวสารประจำวันผ่านสื่อมวลชนบ่อยๆ ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.7 ระบุไม่ได้มีสมาธิในการเรียนบ่อยนัก (ร้อยละ 47.3) และไม่เคยมีสมาธิในการเรียนเลย (ร้อยละ 3.4) นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.7 ไม่ได้ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในห้องสมุดบ่อยนัก (ร้อยละ 53.6) และไม่เคยหาความรู้ในห้องสมุดเลย (ร้อยละ 7.1) อย่างไรก็ตาม นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากหรือร้อยละ 44.2 ใช้เวลาเล่นกีฬา/เล่นดนตรีอยู่บ่อยๆ

 

           ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ หลังจากสอบถามนักเรียนนักศึกษาถึงแหล่งอบายมุข สิ่งเสพติด และแหล่งจำหน่ายเหล้าบุหรี่ในบริเวณสถาบันการศึกษาระยะไม่เกิน 500 เมตร พบว่า 5 อันดับแรก คือ สถานที่จำหน่ายบุหรี่ (ร้อยละ 85.5) สถานที่จำหน่ายสุราหรือสิ่งมึนเมา (ร้อยละ 83.7) สถานที่รับเล่นพนัน/สนุ้กเกอร์/จำหน่ายสลาก (ร้อยละ 51.5) สถานบันเทิง เช่น ผับ/เทค/ คาราโอเกะ (ร้อยละ 49.2) และสถานที่จำหน่ายสิ่งเสพติด ไม่รวมเหล้า บุหรี่ ไวน์ (ร้อยละ 18.7) ตามลำดับ ที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.8 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 21.2 ระบุไม่เคย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตัวอย่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข 5 อันดับแรก คือ อยากรู้ / อยากลอง (ร้อยละ 68.9) การชักชวนของเพื่อน (ร้อยละ 42.6) ค่านิยมที่ผิด เช่น คิดว่าเมื่อทำแล้วจะดูดี โก้ เท่ (ร้อยละ 34.8) เพื่อความบันเทิง (ร้อยละ 30.7) และถูกชักจูง (ร้อยละ 26.5) ตามลำดับ

 

          สำหรับความยากง่ายในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาห่างกันไม่เกิน 500 เมตรนั้น เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี และ อายุ 18 ปีขึ้นไป พบประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ นักเรียนนักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 18 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 สามารถซื้อเหล้าดื่มได้ง่าย และร้อยละ 56.3 สามารถซื้อบุหรี่สูบได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 53.9 และร้อยละ 50.2 ระบุสามารถเข้าถึงแหล่งพนันและแหล่งจำหน่ายสื่อลามกได้ง่าย นอกจากนี้ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.3 สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายยาเสพติดได้ง่ายเช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนนักศึกษาที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พบข้อมูลที่สอดคล้องกันคือ ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.2 สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายยาเสพติดในบริเวณใกล้สถาบันการศึกษาได้ง่าย

 

          ประเด็นที่สำคัญคือ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 เคยพบเห็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีซื้อบุหรี่/เหล้า จากแหล่งจำหน่ายที่ใกล้เคียงกับสถาบันการศึกษาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ไม่เคยพบเห็น นอกจากนี้ เอแบคโพลล์ยังได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษาต่อแนวโน้มของแหล่งอบายมุขใกล้กับสถาบันการศึกษาในระยะไม่เกิน 500 เมตรนั้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.5 ระบุว่ายังมีแหล่งอบายมุขอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่เพียงร้อยละ 10.5 ระบุว่าลดลง และร้อยละ 35.0 ไม่มีความเห็น

 

          ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ จากการวิจัยเพื่อประมาณการจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข สิ่งเสพติด และปัจจัยเสี่ยงต่อการทำลายคุณภาพเยาวชนไทย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเยาวชนที่เล่นการพนัน เช่นไพ่ ทายผลพนันบอล สลากหรือหวย จำนวนทั้งสิ้น 156,302 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่เล่นรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ (ไม่รวมเหล้า เบียร์ ไวน์ และบุหรี่) มีจำนวนทั้งสิ้น 73,348 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่ใช้รวมทั้งสิ้น 11 ครั้งเยาวชนที่เที่ยวสถานบันเทิง เช่น ผับ เทค คาราโอเกะ มีจำนวนทั้งสิ้น 255,846 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่เที่ยวรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งเยาวชนที่สูบบุหรี่ มีจำนวนทั้งสิ้น 80,333 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่สูบบุหรี่รวมทั้งสิ้น 35 ครั้งเยาวชนที่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ มีจำนวนทั้งสิ้น 227,904 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่ดื่มรวมทั้งสิ้น 9 ครั้งเยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 100,417 คน โดยเฉลี่ยจำนวนที่มีเพศสัมพันธ์รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง

 

          ดร.นพดล กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คุณภาพของเยาวชนนักเรียนนักศึกษาตกต่ำลงไป เพราะเยาวชนอยู่ใกล้กับแหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดมากจนเกินไป ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ชัดให้เห็นว่า สาเหตุที่เยาวชนเกี่ยวข้องกับอบายมุขและสิ่งเสพติดคือการอยากลอง และการชักชวนของเพื่อน รวมทั้งการมีค่านิยมที่ผิดๆ ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ ควรเร่งปรับทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนให้อยู่ในแนวทางที่สร้างสรรค์และหันทำกิจกรรมที่พึงประสงค์ต่อสังคมให้มากขึ้น "อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าคุณภาพของเยาวชนไทยกำลังถูกลดทอนจากการปล่อยปละ ละเลยของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้มีแหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดอยู่ใกล้ตัวเยาวชนรอบสถาบันการศึกษามากเกินไป ทั้งๆ ที่สถานบันการศึกษาควรเป็นสถานที่ที่เยาวชนของประเทศมีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับอยู่ใกล้กับสิ่งยั่วยุทำให้เยาวชนเสียสมาธิและขาดความตั้งใจที่ดีในการศึกษาหาความรู้ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเน้นการป้องกันปัญหาทางสังคมควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของขบวนการแหล่งอบายมุขและยาเสพติดจนกลับกลายเป็นแนวร่วมผู้กระทำการทำลายคุณภาพเยาวชนของประเทศไปเสียเอง" ดร.นพดล กล่าว


 

......เอแบคโพลล์รายงาน       

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013888335227966 Mins