ความสำคัญของวันวิสาขบูชา ในมุมที่นักสร้างบารมีควรมอง

วันที่ 21 พค. พ.ศ.2548

.....เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันพุธที่ ๑๗ เดือนพฤษภาคม พ . ศ . ๒๕๔๘

 

วันวิสาขบูชาเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องราวของพระพุทธองค์เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธตลอดมา แต่เนื่องจากชาวพุทธไม่ได้มีทั่วทั้งโลก และในอดีตการไปมาหาสู่ติดต่อสื่อสารยังไม่ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายภูมิภาคในโลกนี้ ไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชาวโลกทุกๆ คน

ปัจจุบันนี้ การติดต่อสื่อสารของคนทั้งโลกเป็นไปอย่างทั่วถึง พระกิตติศัพท์ เกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นทั่วทุกมุมโลก จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชานี้ จึงมีมติให้ปีพุทธศักราช 2543 เป็นปีแรกที่กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก

หลวงพ่อจึงขอถือโอกาสทบทวนถึงความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พวกเราได้เกิดกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป ให้เราลองนึกย้อนยุคสมัยก่อนพุทธกาลยุคนั้นความรู้เรื่องศีลธรรมของชาวโลกยังมีไม่มากมนุษย์แยกไม่ออกว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรบุญ อะไรบาป จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้น แสงสว่างแห่งธรรมจึงได้เริ่มฉายให้กับโลกเข้าสู่จิตใจคน

เรื่องราวของพระพุทธองค์ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกอย่างชัดเจนทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ความรู้นี้ทรงคุณค่าแก่ชาวโลกอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังส่องถึงหลักธรรมอันลึกซึ้งให้แก่ชาวโลกอีกด้วย

 

วันประสูติ

ในพระไตรปิฎกได้บันทึกเรื่องราวก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะประสูติ พระพุทธมารดาได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตนแบบของการเป็นแม่ให้ชาวโลกรู้ คือ

๑. เมื่อพระพุทธมารดาแพ้ท้อง พระองค์อยากจะทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาให้ยิ่งๆขึ้นไป แทนที่จะทรงนึกอยากเสวยโน่นนี่ หรืออยากทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งผิดจากชาวบ้านทั่วไป

๒. จากพื้นฐานที่พระพุทธมารดารักษาศีลและฝึกสมาธิมามาก ครั้งใดที่ท่านหลับตาทำสมาธิ พระองค์จะทรงเห็นพระโพธิสัตว์ในครรภ์กำลังนั่งสมาธิอย่างชัดเจน เหมือนอย่างกับพระโพธิสัตว์นั่งสมาธิอยู่นอกพระครรภ์

๓. ตั้งแต่พระพุทธมารดาทรงพระครรภ์จะมีโชคลาภตลอดมา คือทั้งพระญาติหรือ กษัตริย์ตามแว่นแคว้นต่างๆ เมื่อทราบข่าวก็จะส่งบรรณาการมาถวาย

๔. พระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือนเต็มพอดี พวกเราที่จะตั้งครรภ์ให้ครบ ๑๐ เดือน คงเป็นการยาก ยิ่งแม่บางคนคลอดก่อนกำหนดต้องถูกผ่าท้องออกมาอีก แต่ในขณะที่ผู้ที่สร้างบารมีมาดี ขณะที่อยู่ในครรภ์รู้สึกสบายทั้งแม่ทั้งลูก

๕. เมื่อถึงคราวพระโพธิสัตว์จะประสูติปรากฏว่า พระพุทธมารดารทรงประทับยืน แทนที่จะนอนเหมือนอย่างคนอื่นๆ แล้วพระโพธิสัตว์ประสูติโดยเอาพระบาทออกมาก่อนทันทีที่พระบาทเหยียบถึงพื้น ก็สามารถยืนและเดินได้เลยทันที ซึ่งผิดกับพวกมนุษย์ทั้งหลายเวลาคลอดก็เอาหัวออกมา และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีก

๖. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติและยืนได้ถนัดแล้ว ทรงเปล่งวาจาไดทันทีว่า “ เราเป็นผู้เลิศ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่เราอีกแล้ว ”

๗. ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังประสูติได้บังเกิดความสว่างไสวขึ้นในโลกและไปถึงหมื่นโลกธาตุ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ในวันที่เรายังอยู่ในท้องแม่และวันเกิดของเรา มีนิมิตหมายแห่งความดีงามเจริญรุ่งเรืองอย่างนี้บ้างไหม ที่พูดมาทั้งหมดนี้พวกเราแทบจะไม่มีเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังสร้างบุญบารมีมาไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นขอให้เราสร้างบุญบารมีให้เต็มที่ ชาติใดชาติหนึ่งเราคงมีโอกาสอย่างพระพุทธองค์บ้าง

 

วันตรัสรู้

อันดับต่อมา เราจะย้อนระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในพระไตรปิฎกได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า

๑. พระโพธิสัตว์ทรงสละบุคคลอันเป็นที่รักเพื่อแสวงหาอมตธรรม เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา ได้มีเรื่องราวที่เป็นตัวอย่าง แสดงถึงจิตใจนักสร้างบารมี คือในวันที่พระองค์จะเสด็จออกบวช คืนนั้นเป็นวันที่พระโอรสของพระองค์คือพระราหุลประสูติเป็นวันแรก ความรู้สึกของคนที่เป็นพ่อแม่ ทั้งหลายพอเห็นหน้าลูกวันแรกเกิดก็เกิดความรักเป็นชีวิตจิตใจ อยากให้ลูกเจริญรุ่งเรืองและมีความสุข แต่พระโพธิสัตว์ไม่คิดเหมือนกับคนทั่วไป กลับคิดว่า “ เรามีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา ยังหาความเป็นอมตะอะไรไม่ได้เลย อีกหน่อยลูกเราก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนอย่างกับเรา อย่ากระนั้นเลย ไปหาทางพ้นแก่ เจ็บ ตาย ให้กับลูกเรากันเถิด ” แล้วพระองค์ทรงตัดใจจากลูกแล้วก็ออกบวชแสวงหาอมตธรรมเลย

๒. วันตรัสรู้ทรงอธิษฐาน ถ้าไม่บรรลุธรรมขอยอมตาย มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกอย่างชัดเจนว่า วันตรัสรู้ทรงตั้งจิตอธิษฐานรวมบุญ บารมีที่สั่งสมมานับอสงไขยไม่ถ้วนว่า “ แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะเหือดแห้งหายไป เหลือแต่หนังเอ็นกระดูกก็ตาม หากเรายังไม่ตรัสรู้ธรรม ก็ขอยอมตายไปตรงนี้ ” คืนนั้นเองพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมไปตามลำดับๆ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมดกิเลสอย่างเด็ดขาดตอนรุ่งสางพอดี

๓. วันตรัสรู้ธรรม หมื่นโลกธาตุสว่างไสว วันที่พระองค์ตรัสรู้ธรรมได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือหมื่นโลกธาตุหวั่นไหว เกิดความสว่างไสวจากรัศมีกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สว่างจับท้องฟ้าแข่งกับรัศมีของดวงอาทิตย์ทีเดียว

 

วันดับขันธปรินิพพาน

ในวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพาน เพื่อให้งานของพระองค์สำเร็จลุล่วงทุกขั้นตอนอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงทำหน้าที่ของพระสัมมมสัมพุทธเจ้าบรมครูของชาวโลกไว้อย่างสวยงาม น่าประทับใจอย่างยิ่ง คือ เมื่อลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระอรหันต์ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาพร้อมกัน พระองค์ทรงให้โอวาททั้งๆที่ทรงพระประชวรอยู่ ซึ่งคนป่วยส่วนมากเมื่อใกล้จะตาย ยากนักที่จะทำใจให้สงบ หรือกล่าวธรรมะละเอียดลออได้ แต่บรมครูของเราทำได้ พระองค์ให้โอวาทว่า “ สังขารคือร่างกายของเราไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอจงยังความประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นต้นแบบอย่างที่ดีให้พวกเราได้ทำตาม พระองค์เป็นบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อขอให้พวกเราสร้างบารมีเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ อย่างเต็มกำลัง ซึ่งสรุปไว้มีอยู่ทั้งหมด ๔ ประการ ดังนี้

๑. ตั้งใจทำทานอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เพื่อเป็นเสบียงติดตัวข้ามภพข้ามชาติ

๒. ตั้งใจรักษาศีล ทั้งศีล ๕ ศีล ๘ เพื่อให้กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์

๓. ตั้งใจนั่งสมาธิให้มากๆ จนเข้าถึงธรรมเพื่อให้ใจสว่าง

๔. เมื่อทำทั้ง ๓ ข้อข้างต้นได้แล้ว จึงจะเกิดปัญญา คือ ความสงบขึ้นในใจ ที่จะ พิจารณาธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป

ทั้ง เสบียง สะอาด สว่าง สงบ เป็นงานที่พวกเราจะต้องทำกันอย่างสุดชีวิตจิตใจ ใครทำได้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันวิสาขบูชานี้ เราได้มาระลึกถึงการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นกำลังใจสำหรับเรา เพื่อให้พวกเรามุ่งมั่นการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เหมือนอย่างกับที่พระพุทธองค์ทรงทำให้ดูเป็นต้นแบบแล้วนั่นเอง

 

พระภาวนาวิริยคุณ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022839466730754 Mins