ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย คือ คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ประวัติชีวิตของท่านงดงาม สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ทั้งชีวิต
บนผืนแผ่นดิน ๑๙๖ ไร่ ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี คือ จุดเริ่มต้นของวัดพระธรรมกาย หากย้อนอดีตกลับไป เมื่อ ๓๒ ปีก่อน ในวันขุดดินก้อนแรกเพื่อสร้างวัด ภาพแจ่มชัดในอดีตคือ ภาพของแม่ชีท่านหนึ่ง รูปร่างผอมบาง อายุราว ๖๐ ปี แววตาของท่านสุกสว่าง เป็นแววตาของผู้ทรงภูมิธรรมลึกซึ้ง มีความเด็ดเดี่ยวหากแต่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ในขณะนั้นท่านคือ ผู้นำในการสร้างวัดพระธรรมกาย
คุณยายอาจารย์ เกิดในครอบครัวชาวนา ที่อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นลูกคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้อง ๙ คน ของพ่อพลอย และแม่พัน คุณยายเป็นคนขยันและอดทน ช่วยพ่อแม่ดูแลงานบ้านและเป็นเรี่ยวแรงหลักในการทำนา
เมื่อคุณยายอายุได้ ๒๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๘) ท่านตัดสินใจออกจากบ้าน เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อมาฝึกสมาธิที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนได้พบและฝึกสมาธิกับคุณยายทองสุก สำแดงปั้น ซึ่งเป็นครูสอนสมาธิ จากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย แล้วใช้วิชชาธรรมกายตามหาพ่อ ได้ขอขมาและช่วยพ่อขึ้นจากนรกได้
จากนั้นคุณยายทองสุกได้พาคุณยาย ซึ่งตอนนั้นอายุได้ ๒๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๑) ไปกราบหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อหลวงพ่อพบคุณยายครั้งแรก ท่านก็รับคุณยายเป็นศิษย์ และให้เข้าศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูงในโรงงานทำวิชชาทันที
ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และความเป็นคนทำอะไรทำจริงของคุณยาย ทำให้ท่านศึกษาวิชชาธรรมกายได้อย่างรวดเร็วและเชี่ยวชาญยิ่ง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าเวรในการทำวิชชา และได้รับคำชมจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญว่า “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง”
เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำใกล้มรณภาพ ท่านมีคำสั่งให้ศิษย์ทุกคนช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์ไปให้ทั่วโลก คุณยายจึงตั้งใจอบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติวิชชาธรรมกายแก่ศิษย์อย่างเต็มที่ตลอดมา ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์
ปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๖ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งในขณะนั้นจบการศึกษาจาก ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อที่ ม.เกษตรศาสตร์ ได้มาฝึกธรรมปฏิบัติกับคุณยายอย่างต่อเนื่อง ด้วยความตั้งใจจริง รักการปฏิบัติธรรมมาก และได้ผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม คุณยายจึงถ่ายทอดวิชชาธรรมกายที่ศึกษามาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำให้แก่ท่านอย่างเต็มที่ จากนั้นหลวงพ่อธัมมชโยจึงได้ชักชวนเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดียวกันมาร่วมปฏิบัติธรรมกับคุณยายที่บ้านธรรมประสิทธิ์ มากขึ้นจนบ้านหลังเล็กในวัดปากน้ำไม่สามารถรองรับได้
พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงพ่อธัมมชโยบวช คุณยายจึงได้รวบรวมคณะศิษย์มา สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ โดยได้รับบริจาคพื้นที่จากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี และตั้งชื่อว่า “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธรรมกาย”
คุณยายท่านทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ในการสร้างวัดเป็นอย่างมาก เป็นทั้งที่ปรึกษา และเป็นศูนย์รวมใจให้แก่หมู่คณะผู้บุกเบิกให้ทำงานสร้างบารมีร่วมกันอย่างมีความสุข ท่านยังวางกฎระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ ภายในวัดอย่างรัดกุมตั้งแต่ต้น ทั้งยังคอยช่วยดูแลเรื่องความเป็นอยู่ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของงานทุกอย่าง และเมื่อต้องขยายพื้นที่ออกมาอีก ๒,๐๐๐ ไร่ เพื่อรองรับงานพระศาสนาใช้อบรมศีลธรรมเยาวชนและบุคคลทั่วไป กฎระเบียบต่างๆ ที่คุณยายได้ตั้งไว้ยังเป็นหลักในการสร้างงานพระศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
ในวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ หากคุณยายท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นปีที่ท่านจะมีอายุครบ ๙๗ ปี และในโอกาสนี้ลูกหลานคุณยายผู้มีความเคารพรักและตระหนักถึงพระคุณความดีของท่าน จึงปรารภเหตุเพื่อตั้งใจขวนขวายสั่งสมความดีในรูปแบบต่าง ๆ ให้เต็มที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน ตั้งใจรักษาศีล รวมไปถึงการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา อันเป็นสิ่งที่คุณยายท่านเฝ้าเพียรสอนสั่ง และกระทำเป็นแบบอย่างที่ดีงามอยู่เสมอ ตลอดมา
บุญรักษา