พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นพระมหากษัตรีย์พระองค์ที่ ๙ แห่งหระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชโอรสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมาท์ ออร์เบิน เมืองเครมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ทท์สหรัฐอเมริกา ตามเวลาท้องถิ่น ๘ นาฬิกา ๔๕ นาที ตรงกับเวลาในประเทศไทย ๒๐ นาฬิกา ๔๕ นาที ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพ ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช พระนาม “ภูมิพล” นี้มีความหมายว่า “พลังแห่งแผ่นดิน” มีสมเด็จพระเชษฐภคนีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชดังนี้
๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้นสาเด็จพระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระบรมราชชนนี ประทับทรงศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ ถึงพุทธศักราช ๒๔๗๑ ขณะมีพระชนพรรษาประมาณ ๒ พรรษา ได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมชนกนาถ และ สมเด็จพระบรมราชชนนี (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็น หม่อนสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา)
ครั้งถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก (ขณะนั้นดำรงพระยศ เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ )เสด็จทิวงคต สมเด็จพระราชชนนี ซึ่งขณะนั้นทรงพระยศเป็น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงต้องทรงรับภาระเลี้ยงดู อภิบาลพระโอรส ธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ ทั้ง ๓ พระองค์ แต่โดยลำพัง
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ พรรษา ได้ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียน มาแตร์เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ ในปีนี้ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การเมืองผันผวน ในเดือน กันยายน ๒๔๗๖ หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงทรงนำพระธิดา พระโอรส เสด็จไปประทับ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงเข้ารับการศึกษา ชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียน เมียร์มองต์ ชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน เอโกล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองต์ และโรงเรียน ยิมนาส กลาซีค กังโตนาล ตามลำดับ และทรงได้รับประกาศนียบัตร บาเชอลิเย เอ แลทร์ จากการศึกษา ดังกล่าวทรงรอบรู้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และ ละติน ต่อจากนั้น ทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์
ครั้นถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติรัฐบาลจึงกราบทูลอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งสืบสายราชสันตติวงศ์ ลำดับที่ ๑ และมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช ได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ นิวัฒพระนคร เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ เดือน พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ประทับ ณ พระตำหนัก จิตลดารโหฐาน สวนจิตลดา เป็นเวลา ๒ เดือน แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ต่อมาได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ ในครั้งนี้ ปวงชนชาวไทยในแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับเป็นประมุขยาวนานกว่า สิบปี ต่างปลาบปลื้มปิติชื่นชมโสมนัส ที่ได้ชื่นชมพระบารมี สมเด็จพระยุวกษัตริย์ ซึ่งมีพระชนมพรรษา เพียง ๒๐ พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระชนมพรรษา ๑๘ พรรษาทั้งสองพระองค์เสด็จเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่กันไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ ที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง แต่ความชื่นชมโสมนัสนั้น ดำรงอยู่มินาน ครั้งถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขณะนั้นพระชนมพรรษา ๑๘ พรรษา ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน นั้น ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และรัฐบาล ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ บริหารราชกาลแผ่นดินแทนพระองค์ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ และต้องทรงศึกษา ต่อ ณ ต่างประเทศ
ครั้งเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน กลับไปทรงศึกษา ต่อ ณ กรุงโลซานน์ แม้พระองค์จะทรงโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์แต่เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษา วิชาการปกครองแทน เช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ ทรงศึกษา และฝึกฝนการดนตรีด้วยพระองค์เองด้วย
ในระหว่างทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง ทรงบาทเจ็บที่พระพักตร์พระเนตรขวา และพระเศียร ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมอร์เซส์ และต่อมาได้ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๙๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระราชชนนี จึงมีพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง และมีพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมทุกประการ ซึ่งน้อมนำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติเพียบพร้อมด้วยทศพิศราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรมและราชสังคหวัตถุ ทรงเจริญด้วยพระเกียรติคุณบุญญาธิการเจิดจำรัส ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญทุกทิศานุทิศในเวลาต่อมาตราบจนปัจจุบัน
เสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ โปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ มีนาคม ๒๔๙๓ ครั้งถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกันนั้น ได้ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ที่วังสระปทุม โดย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทรงจดทะเบียนสมรส ตามกฏหมายเช่นเดียวกับประชาชนได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ขึ้นเป็น พระราชินีสิริกิติ์
หลังจากนั้น ได้เสด็จไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และ ณ หัวหินนี้เอง เป็นแหล่งเกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ พระราชทาน “ถนนสายห้วยมงคล”ให้แก่ “ลุงรวย”และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถพระที่นั่งขึ้นจากหล่มดิน ทั้งนี้เพราะแม้ “ห้วยมงคล” จะอยู่ห่างอำเภอหัวหินเพียง ๒๐ กิโลเมตร แต่ไม่มีถนนหนทาง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตมาก ถนนสายห้วยมงคล นี้จึงเป็นถนนสายสำคัญ ที่นำไปสู่โครงการในพระราชดำริ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรอีกจำนวนมากกว่า ๒,๐๐๐ โครงการในปัจจุบัน
วันที่ ๕ พฤษภา ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามทรงพระประชวร ก็มิได้ทรงหยุดยั้งพระราชดำริเพื่อขจัดความทุกข์ผดุงสุขแก่พสกนิกร กลางแดดแผดกล้า พระเสโทหลั่งชุ่มพระพักตร์และพระวรกาย หยาดตกต้องผืนปถพี ประดุจน้ำทิพย์มนต์ ชโลมแผ่นดินแล้งร้าง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ ตราบจนปัจจุบันนานก้าวเข้าปีที่ ๖๐ ปี แล้วนี้
ปวงชนชาวไทยต่างมีความจงรักภัคดีเป็นที่ยิ่งดังปรากฏว่า ในวาระสำคัญ เช่น ศุภวาระเถลิงถวัลยราชครบ ๒๕ ปี พระราชพิธีรัชดาภิเษก ๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทรงดำรงค์สิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ มหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล ด้วยความกตัญญูกตเวที สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม อย่างสมพระเกียรติทุกวาระ รวมถึงในปีนี้เป็นปีที่จะทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พระเกียรติแผ่ไพศาล เป็นมิ่งขวัญร่มเกล้าเหล่าพสกนิกรตราบรัฐิติกาลเทอญ
สิริพิมพ์