วันสงกรานต์

วันที่ 13 เมย. พ.ศ.2550

     สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกกันรวม ๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทยก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้วันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

“ ตรุษ ” เป็นภาษาทมิฬ ใช้ในชนเผ่าหนึ่งทางอินเดียตอนใต้ แปลว่า ตัด หรือ ขาด คือตัดปี หรือขาดปี หมายถึง การสิ้นปีนั่นเอง ตามปกติการกำหนดวันตรุษหรือวันสิ้นปีจะถือหลักทางจันทรคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก) คือวันแรม

ส่วนคำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการเคลื่อนที่ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า “ มหาสงกรานต์” จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ดังนั้นการกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ซึ่งทั้ง ๓ วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้ คือ

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้ว ครบ ๑๒ เดือน

วันที่ ๑๔ เรียกว่าวันเนาหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว

วันที่ ๑๕ เรียกว่าวันเถลิงศกหรือวันขึ้นศกคือวันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่การที่ กำหนดให้ อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์ โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นสู่ ราศีเมษแน่นอนแล้วอย่างน้อย ๑ องศา

สงกรานต์เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน บรรพบุรุษของเราได้กำหนด ธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยอย่างแท้จริง เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทรทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราได้ถือปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมานั้น มีความมุ่งหมายให้เกิดความสงบสุขแก่จิตใจ ครอบครัว และ สังคมเป็นสำคัญ กิจกรรมที่ทำก็มีอย่างหลากหลายและมีเหตุผลในการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้น เริ่มจากก่อนวันสงกรานต์ เป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ข้าวของต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัด ศาลา บริเวณชุมชน เป็นต้น การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆนอกจากนี้ ยังมีผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำขอพรด้วย การเตรียมอาหารในการไปทำบุญ ทั้งของคาวของหวาน

เมื่อถึงวันสงกรานต์ เป็นเวลาที่ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส ทำใจให้เบิกบาน เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ การทำบุญ ตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้รู้จักการให้ การเสียสละ การทำบุญอัฐิ อาจจะทำตอนไหนก็ได้ เช่น หลังจากพระภิกษุ - สามเณรฉันเพลแล้ว หรือจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ ฉันเพลที่บ้าน แล้วบังสุกุลก็ได้ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

การสรงน้ำพระ มี ๒ แบบ คือ การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร และการสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา การก่อพระเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน โดยการขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่าง ๆ ในบริเวณวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง หรือถมพื้นต่อไป ถือเป็นการทำบุญอีกลักษณะหนึ่งที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการปล่อยนก ปล่อยปลาที่ติดกับดัก บ่วง ให้ไปสู่อิสระ หรือปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจจะตายได้ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบเดิม การรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความความเคารพและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะผู้อาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้อาวุโสมาก เช่น ลูกกับพ่อ-แม่-ปู่-ย่า-ตา-ยาย พุทธศาสนิกชนต่อพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เป็นการแสดงความสุภาพอ่อนน้อม อ่อนโยน และขอรับพร ซึ่งผู้อาวุโสกว่าเหล่านั้นจะได้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข และได้ข้อคิดเตือนใจเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างไม่ประมาท

การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่าง ๆแล้ว เป็นการเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความ สัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบา ๆ ด้วยความสุภาพ ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้ อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น การจะยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ

คุณค่าและสาระของวันสงกรานต์ จะเห็นถึงสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม

วันสงกรานต์เป็นวันแห่งความรัก ความผูกพันในครอบครัว อย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าใหม่พร้อมเครื่องประดับให้ลูกหลานไปทำบุญ ลูกหลานก็จะเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังการรดน้ำขอพร ปัจจุบันเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่รดน้ำขอพร เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่และเป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญูโดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นวันที่ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น การได้พบปะสังสรรค์ร่วมกันทำบุญ และการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงในยามบ่ายหลังจากการทำบุญ โดยการเล่นรดน้ำในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จักและการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น

สงกรานต์เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะในวันนี้ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างให้สะอาดหมดจดเพื่อจะได้ต้อนรับปีใหม่ด้วยความแจ่มใส เบิกบาน นอกจากนี้ยังควรช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ของหน่วยงาน

วันสงกรานต์ เป็นวันทำบุญครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และสรงน้ำพระ ศรัทธาในการทำบุญให้ทาน ซึ่งถือเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ และการถือศีลปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน

สงกรานต์ ปัจจุบันและอนาคต.. ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ส่งผลกับประเทศไทย ก่อให้เกิดภาวะวิกฤตกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ประเพณีสงกรานต์ก็ตกอยู่ในวัฏจักรนี้เช่นเดียวกัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประการที่ยังความเป็นห่วงให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่รักและเห็นคุณค่าของประเพณีนี้ จึงมีความพยายามที่จะรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อให้ทุกคนที่เป็นคนไทย รวมทั้งชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงความหมาย ความสำคัญ และคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ที่แท้จริง

เราคนไทยควรใช้ประเพณีสงกรานต์นี้ เป็นโอกาสในการสร้างความรัก ความกตัญญู ความเอื้ออาทร ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่ละเลยคุณค่า สาระ ที่เป็นแก่นแท้ของประเพณีสงกรานต์ที่งดงามมาและทรงคุณค่ามาแต่อดีต

 

ที่มา....สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021825850009918 Mins