.....แต่มนุษย์มีปัญญาความรอบรู้อยู่ในเขตจำกัด มักรู้เฉพาะในประสบการณ์ชีวิตของตนที่ผ่านมาในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น ไม่รู้ไปถึงชาติในอดีตและชาติต่อไปในอนาคต มีบ้างบางรายเช่น ฤาษีชีไพร บำเพ็ญเพียรทางจิตพอรู้ได้บ้าง ก็ไม่ถึงสภาวะที่เรียกว่ารอบรู้ เพราะระลึกชาติย้อนหลังหรือไปข้างหน้าได้มีจำนวนชาติจำกัด ความรู้ที่ได้ไม่กว้างขวางถ่องแท้ ไม่ถูกต้องเต็มที่
หรือสัตว์บางภูมิ เช่น สัตว์นรก เปรต อสูรกาย เทวดา พรหม เหล่านี้ เวลาเกิดขึ้นไม่ได้เกิดในครรภ์มารดาเหมือนเหล่ามนุษย์ แต่เกิดผุดเป็นตัวโตเต็มที่ทันที สัตว์เหล่านี้สามารถจำเหตุการณ์ในชาติเก่าของตนได้ ก็จะจำได้เพียงชาติเดียว ที่เพิ่งตายมาหรือไม่กี่ชาติย้อนหลัง ไม่รู้ถึงอนาคต
เมื่อเป็นเช่นนี้ เหล่ามนุษย์หรือแม้สัตว์ในสุคติภูมิอื่น เช่นเทวดาหรือพรหม ย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่าภพสามเป็นที่คุมขังพวกตน ให้วนเวียนตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีวันจบสิ้น เกิดครั้งใดไม่มีทางรอดพ้นจากความทุกข์เลยแม้แต่ครั้งเดียว ความทุกข์เป็นสภาพที่ทนได้ยาก รู้จักกันดีก็จริง แต่ไม่รู้วิธีดับทุกข์
กระทั่งถึงยุคสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสรู้ขึ้นในโลกมนุษย์ชมพูทวีป พระปัญญาคุณของพระองค์กว้างขวาง ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีประมาณ ทรงทราบความเป็นไปของสรรพสิ่งและสรรพชีวิตทั้งปวง ทรงรู้แจ้งเห็นแจ้งพระนิพพาน ซึ่งอยู่นอกภพสามเป็นที่ไม่มีเกิดไม่มีตาย ตลอดถึงทรงทราบวิธีปฏิบัติเพื่อการเลิกเวียนว่ายตายเกิด
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นั้น เหล่าเวไนยสัตว์ สัตว์ที่พอรับคำสอนได้ จึงได้มีโอกาสปฏิบัติตาม และได้พบความหลุดพ้นจากที่คุมขังอันกว้างใหญ่นี้ ถึงความสิ้นทุกข์
ทุกข์ใหญ่ ๆ ของสรรพสัตว์ในภูมิต่าง ๆ คือ
สัตว์นรก ทุกข์เพราะถูกลงโทษ ทรมานด้วยประการต่าง ๆ เช่น ศาสตราวุธ ไฟกรด น้ำกรด นายนิรยบาลประหาร สุนัขนรก กานรก ( นกชนิดหนึ่ง) ฯลฯ
เปรต ทุกข์เพราะความหิวโหย ความห่วงใยในคนที่ยังอยู่
อสุรกาย ทุกข์เพราะความหวาดกลัว ไม่มีที่อยู่ ที่กิน
ติรัจฉาน ทุกข์เพราะเรื่องหาอาหารใส่ท้องเป็นสำคัญ
มนุษย์ ทุกข์เพราะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศกเสียใจด้วยเรื่องราวต่าง ๆ
เทวดา ทุกข์เพราะมีสมบัติทิพย์ไม่เท่าเทียมผู้อื่น ( ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์)
พรหม ทุกข์เพราะต้องแข่งว่าใครจะมีรัศมีสว่างไสวกว่ากัน ( มีสักกายทิฏฐิและมานะ)
อย่างไรก็ดี สรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ๆ มักจมอยู่กับทุกข์ในภพที่ตนอยู่จนเป็นความเคยชิน มองทุกข์ไม่พบ เมื่อไม่พบก็ไม่คิดจะหลีกหนี ทั้งยังแก้ไขไปผิดวิธียิ่งขึ้น เหมือนป่วยเป็นไข้ไม่รู้ว่าป่วย ก็ยิ่งหาแต่ของแสลงโรคให้ตนเอง อาการของโรคจึงเพียบหนัก
เมื่อใดมนุษย์มีปัญญาเห็นทุกข์ รู้จักทุกข์ เมื่อนั้นก็จะรู้พยายามหาต้นเหตุของทุกข์ให้พบแล้วกำจัดเสีย ปัญญาชนิดนี้เกิดเองได้ยาก ถ้ามีผู้ที่มีปัญญาเหนือกว่าชี้แจงแนะนำ บอกหนทางให้ก็จะทำตามได้ง่ายและสะดวก เหล่าพระอริยเจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีปัญญาพิเศษดังนี้ จึงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ สามารถชี้นำสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้
คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุมรรผลนิพพานเลิกเวียนว่ายตายเกิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม ก็ทรงสอนเหมือนกันทั้งสิ้น โดยมิได้ทรงสอนความรู้ทั้งหมดที่พระองค์ทรงรู้แจ้งหรือรอบรู้ แต่สอนเฉพาะข้อที่จำเป็นจริง ๆ ที่ให้เป็นประโยชน์เท่านั้น พระองค์ทรงเปรียบเทียบว่า ความรู้ที่ทรงมีอยู่มากเหมือนใบประดู่ลายทั้งป่า แต่นำมาสอนเพียงเท่าใบประดู่ลายเพียงกำมือเดียว
หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีใจความสำคัญว่า
๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. ทำแต่ความดีให้เต็มที่ และ ๓. ทำจิตของตนให้ผ่องใสบริสุทธิ์
และขันติ ( ความอดทน อดกลั้น) เป็นตบะ ( ความเพียรเผากิเลส) อย่างยิ่ง
พระนิพพาน ( การเลิกเวียนว่ายตายเกิด) เป็นบรมธรรม ( ธรรมที่ยิ่งใหญ่)
ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ( นักบวช) ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าสมณะ ( ผู้สงบปฏิบัติเพื่อเป็นพระอริยบุคคล สิ้นกิเลส)
การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในปาติโมกข์ ( ข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ) การรู้จักประมาณในการบริโภค การรู้จักนอน นั่งสมาธิในที่สงัด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ส่วนใหญ่แล้วเราถือ ๓ ข้อต้น เป็นใจความสำคัญของคำสอน คำสอนต่าง ๆ ที่พบว่ามีมากมายนอกจากนั้น เป็นการสอนขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
ความชั่วทั้งปวงมีอะไร ขยายความเป็น ชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐
ความดีเต็มที่ ขยายความเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ทำจิตให้บริสุทธ์ผ่องใส ขยายความเป็นเรื่องการทำความเพียรทางจิต ด้วยการทำสมาธิและวิปัสสนา