กามโภคีสูตร

วันที่ 19 กพ. พ.ศ.2546

 

.....เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธแล้ว จำเป็นต้องหยิบเอากามโภคีสูตรขึ้นมาพูดด้วย เพราะเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการพัฒนาจิตใจควบคู่กันไปกับเศรษฐกิจ แต่ก่อนอื่น ขอให้เราทำความเข้าใจกับคำว่า "กาม" กันเสียก่อน

 

.....คำว่า กาม หมายถึง ความน่าใคร่ น่าปรารถนา หรือหมายถึงสิ่งที่น่าปรารถนาก็ได้ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. กิเลสกาม ๒. วัตถุกาม

 

.....๑. กิเลสกาม คือ ความอยาก ความใคร่ เป็นตัวกิเลสเอง สิงสถิตอยู่ในใจคนเรา คอยบีบคั้นให้ใจคิดอยาก เกิดความอยาก ความใคร่อยู่ร่ำไป ได้แก่ราคะ โลภะ เป็นต้น

 

.....๒. วัตถุกาม หมายถึง วัถตุอันน่าใคร่ น่าได้มา ชวนให้อยากได้มา ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รถ สัมผัส รูปที่น่าใคร่ อาจจะเป็นดอกไม้สวยๆ คนสวยๆ เพชรเม็ดงามๆ เสียงที่น่าใคร่ อาจจะเป็นเสียงคน เสียงดนตรี เสียงนกร้อง เสียงน้ำตกตามธรรมชาติ กลิ่นที่น่าใคร อาจจะเป็นกลิ่นดอกไม้ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นอาหาร รสที่น่าใคร่ อาจจะเป็นรสอร่อยทั้งหลาย เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็มต่างๆ ฯลฯ สัมผัสที่น่าใคร่ มีศัพท์เฉพาะว่าโผฏฐัพพะ หมายถึง สัมผัสที่ถูกต้องด้วยกาย เสื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม เป็นต้น

 

.....วัตถุกามยังแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท

 

.....- ที่ไม่มีชีวิต เช่นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่ดิน น่าไร่ เงินทอง บ้านเรือน แว่นแคว้น สมบัติในคลัง ทะเล ภูเขา

 

.....- ที่มีชีวิต เช่นคนและสัตว์ คนได้แก่ทาสกองพลรบ สัตว์ได้แก่แพะ แกะ ไก่ ช้าง ม้า วัวควาย เป็นต้น

 

.....อย่างไรก็ตาม สิ่งสวยงามทั้งหลายในโลกเรานั้น มิใช่เป็นกามไปทั้งหมด ความกำหนัดอันเกิดจากความอยาก เป็นกามคุณของบุรุษ สิ่งสวยงามทั้งหลายย่อมดำรงอยู่ในโลกอย่างนั้นแล เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ผู้รู้ทั้งหลายพึงกำจัดความพอใจในสิ่งสวยงามเหล่านี้เสีย

 

.....นั่นคือ เมื่อไรที่เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสสักแต่ว่าได้รส ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส เมื่อนั่นก็ไม่มีกามวัตถุ

 

.....เพราะ "ความรู้สึกสักแต่ว่า" ทำให้กิเลสกามไม่สามารถกำเริบขึ้นมาได้ แต่ถ้ารู้สึกว่า "เข้าท่าดีจังเลย" เมื่อไหร่ ก็แสดงว่ากิเลสกามกำเริบแล้ว

 

.....นั่นก็คือที่มาแห่งคำว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ"

 

.....โทษของกาม

 

.....เป็นธรรมชาติว่า บุคคลผู้กำหนัดแล้ว ถูกราคะครอบงำแล้ว มีจิตถูกราคะครอบงำ ย่อมจงใจเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง หรือย่อมจงใจเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง

 

.....บุคคลผู้กำหนัดแล้ว ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมลักทรัพย์บ้าง ย่อมทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่นบ้างย่อมกล่าวมุสาบ้าง ฯลฯ

 

.....เมื่อเราไม่กำหนัดก็ไม่มีโทษ

 

.....ในการปราบกิเลสกามให้พินาศไปนั้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งว่า

 

....."เธอทั้งหลายจงตัดป่า อย่าตัดต้นไม้ ภัยย่อมเกิดแต่ป่า พวกเธอตัดป่าน้อยและป่าใหญ่แล้ว จงเป็นผู้หมดป่าเถิด ภิกษุทั้งหลาย กามกิเลสตัณหาได้ชื่อว่าป่า วัตถุทั้งหลายเป็นเพียงต้นไม้"

 

.....กามโภคีสูตร

 

.....ในเมื่อชาวโลกถูกกามกิเลสคุกคามอยู่ทุกลมหายใจ ทำให้ต้องแสวงหาความสุขจากกามวัตถุอยู่ไม่รู้จบ จึงเรียกว่ากามโภคีบุคคล เมื่อเป็นกามโภคีบุคคล ก็เลยมีเรื่องวุ่ยวายไม่เว้นว่าง ทั้งเรื่องการหา การเก็บ การใช้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงตรัสกามโภคีสูตรกับท่านอนาถบิณฑิตเศรษฐี

 

.....ท่านอนาถบิณฑิตเศรษฐีเป็นผู้สร้างเชตวันมหาวิหาร ยิ่งกว่านั้นท่านฉลาดมาก ได้ฟังเทศน์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่เพราะว่าท่านมีกิจการมาก จึงไม่ได้ออกบวช แต่ท่านก็เป็นกองทุนให้กับพระพุทธศาสนา เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาตลอดชีวิต

 

.....ท่านเศรษฐีมีปกติคือ เช้าขึ้นท่านก็บำรุงเลี้ยงพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เพลก็ ๕๐๐ รูป บ่ายๆ ก็นำน้ำปานะมาถวาย นอกจากนั้นเมื่อกองคาราวานการค้าของท่านไปค้าขายที่เมืองไหนก็ตาม ก็จะมีพระภิกษุร่วมเดินทางไปด้วย เพราะไปกับท่านนั้นหมดห่วง ไม่ว่าเรื่องอาหารการขบฉัน เรื่องโจรร้ายทั้งหลายที่จะดักปล้นดักทำร้าย เพราะกองคาราวานของท่านใหญ่ ควบคุมกันอย่างรัดกุม นอกจากนั้นพอไปถึงเมืองไหนที่ทำเลดี ท่านก็ได้ตั้งสาขาศูนย์การค้าของท่านขึ้นในแว่นแคว้นนั้นๆ

 

.....เพราะฉะนั้นพระภิกษุใหม่ก็ได้อาศัยศูนย์สาขาของท่านนี่แหละ เป็นที่พักพิงในขั้นต้น จนกระทั่งคุ้นกับภูมิประเทศดีแล้ว ก็ได้อาศัยญาติโยมที่ท่านไปอบรมสั่งสอนเขาสร้างวัดอารามให้ต่อไป

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018501083056132 Mins